สดชื่นสถาน นิทรรศการอธิบายความ ‘ไร้บ้าน’

ม.ศิลปากร ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา กรุงเทพมหานคร และภาคี จัดนิทรรศการสถาปัตยกรรมชุมชนใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า สะท้อนปัญหาคนไร้บ้าน ชวนเรียนรู้ เข้าใจ และให้โอกาสคนไร้บ้านมีที่ยืนทางสังคม พร้อมพัฒนาเป็นสวน 15 นาที และสถานีสวัสดิการคนไร้บ้านย่านพระนคร

ไร้บ้าน

วันนี้ (28 พ.ย. 2566) The Active ลงพื้นที่สำรวจนิทรรศการสถาปัตยกรรมชุมชน ในโครงการสดชื่นสถาน ใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

ผศ.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร กล่าวว่า ในอนาคตกรุงเทพมหานครมีแผนปรับปรุงพื้นที่บริเวณนี้เป็นสวน 15 นาที เพื่อรองรับทั้งคนไร้บ้านและคนทั่วไป ให้สามารถอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างไม่แบ่งแยก คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร จึงได้รับโอกาสในการนำนักศึกษาวิชาสถาปัตยกรรมชุมชนร่วมออกแบบพื้นที่ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีภาคีร่วมสนับสนุน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สำนักงานเขตพระนคร และกลุ่ม we!park คือ 1. ระยะสั้น เสนอแนวทางการปรับปรุงพื้นที่โครงการสดชื่นสถาน ของมูลนิธิกระจกเงา บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้า ให้มีความสดชื่นยิ่งขึ้น และชวนให้ผู้คนเข้าถึงพื้นที่ได้มากขึ้น 2. ระยะกลาง เสนอแนวทางและทดลองปรับใช้พื้นที่โกดังเก็บของในปัจจุบันเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อเนกประสงค์ และ 3. ระยะยาว เสนอแนวทางปรับปรุงพื้นที่ทั้งหมด ในภาพรวมเป็นพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมกับกิจกรรมของมูลนิธิฯ ภายใต้นโยบาย สวน 15 นาที ของกรุงเทพมหานคร

โดยนิทรรศการ และชิ้นงานที่ถูกออกแบบมีทั้งหมด 5 ส่วน คือ

1. Refresh/Reflect ผลงานศิลปะแบบจัดวาง ที่ใช้กระจกมาสะท้อนภูมิทัศน์โดยรอบของบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า และมีการใช้เครื่องฉายภาพเพื่อฉายภาพดอกไม้ไปที่บริเวณท้องสะพานโดยให้กระจกทำหน้าที่สะท้อนดอกไม้เพิ่มความสดชื่นให้กับบริเวณของโครงการ สดชื่นสถาน สร้างประสบการณ์ร่วมของคนในชุมชนและผู้คนในบริเวณนั้น และการใช้กระจกเงาในงานยังสะท้อนภาพแนวคิดหลักของมูลนิธิกระจกเงาเพื่อเป็นสื่อกลางในการแก้ปัญหาในสังคม

2. Light Up & Play สนามหมากฮอสขนาดใหญ่ แบบเคลื่อนที่ได้ จัดทำให้สามารถเล่นได้ทุกเพศทุกวัยทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนไร้บ้าน โดยนำมาขยายขึ้นจนมีขนาดที่ใหญ่จนสามารถใช้เป็นกิจกรรมครอบครัวหรือกิจกรรมที่สามารถเล่นโดยคนกลุ่มใหญ่ได้ ซึ่งตัวตารางจะเป็นการใช้แผ่นหญ้าเทียมปูเต็มพื้นที่ 5×5 เมตร นำแผ่นตาข่ายสีขาวปูบนแผ่นหญ้าเพื่อแบ่งช่อง 8×8 ขนาด 4×4 เมตร จากนั้นติดเส้นไฟ LED เพื่อสร้างตารางที่ส่องแสงสว่างสำหรับช่วงฟ้ามืด ตัวหมากทำจากถังกระดาษ ใช้นั่งได้ และเคลื่อนย้ายได้โดยสะดวก แบ่งฝั่งด้วยการใช้สีบนฝาถัง

3. Story Telling: Participatory Art ผลงานศิลปะสื่อผสม ที่ต้องการสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับคนไร้บ้านว่า การเป็นคนไร้บ้านไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ แต่เป็นเพราะการไม่มีทางเลือก แต่ละคนมีเรื่องราวที่หลากหลาย และแตกต่างกัน ความเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญเปรียบเสมือนกำลังใจที่เราสามารถมอบให้ได้ ผลงานศิลปะชิ้นนี้จึงได้เกิดขึ้นมาเพื่อที่จะสามารถเรียนรู้ เข้าใจ และโอบกอดไปพร้อม ๆ กัน โดยการนำเศษผ้ามาปะติดปะต่อกันจนแสดงออกมาเป็นรูปใบหน้าตัวแทนของคนไร้บ้าน เพื่อแสดงถึงการมีอยู่ของคนเหล่านั้น

4. Art Space ผลงานทดลองปรับและจัดสรรพื้นที่โกดังเก็บของเดิม เป็น Art Space ที่ใช้งานได้อเนกประสงค์ โดยได้รับความอนุเคราะห์จากศิลปิน “คุณเตยยี่” มอบชิ้นงานศิลปะที่เคยทำกับมูลนิธิกระจกเงาร่วมจัดแสดง โดยข้อความที่จัดแสดงผลงานศิลปะได้แรงบันดาลใจจากบทสัมภาษณ์ของอดีตคนไร้บ้าน แนวคิดต้องการให้บุคคลภายนอกตระหนักถึงชีวิตของคนไร้บ้าน

5. Long-Term Design แนวทางการออกแบบปรับปรุงพื้นที่เป็นพื้นที่สาธารณะที่เหมาะสมในระยะยาว กล่าวคือ กรุงเทพมหานครและโครงการสดชื่นสถาน มีแผนปรับปรุงพื้นที่ให้เป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับบุคคลทั่วไป ที่ทุกคนสามารถใช้สอยได้ในระยะยาว ทางทีมผู้จัดทำ ได้ทำการวิเคราะห์พื้นที่ตั้ง เพื่อให้เหมาะสมแก่การใช้สอยของบุคคลแต่ละประเภทให้ได้มากที่สุด และยังออกแบบปรับปรุงโดยมีความสอดคล้องกับพื้นที่ใช้สอยเดิมของโครงการสดชื่นสถาน ได้แก่ พื้นที่ซักผ้า พื้นที่ห้องน้ำหญิง และพื้นที่ห้องน้ำชาย โดยมีการเพิ่มพื้นที่ใช้สอย หรือกิจกรรมใหม่ ทั้งหมากสนามกระดานหมากฮอส พื้นที่ดูหนังกลางแปลงเอนกประสงค์ พื้นที่นั่งไล่ระดับชมวิวแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่ขายของ และพื้นที่ของพี่ ๆ พนักงานสดชื่นสถาน

รวมถึงการมีส่วนหมากสนามกระดานหมากฮอสเพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมา สามารถเข้ามาทำกิจกรรม และแม้กระทั่งคนไร้บ้าน ก็สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการเล่นกิจกรรมนี้ได้ ส่วนที่สองคือ พื้นที่ดูหนังกลางแปลงอเนกประสงค์ เพื่อเป็นประโยชน์ ให้ความบันเทิงแก่ผู้ที่ผ่านไปมา และเพิ่มกิจกรรมพักผ่อนหย่อนใจให้กับกลุ่มคนไร้บ้าน โดยจะมีฉากหลังที่ทำการฉายหนัง และเก้าอี้ที่เคลื่อนย้ายได้วางอยู่ในบริเวณเพื่อการนั่งชม ส่วนที่สาม พื้นที่ไล่ระดับ บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยจะไล่ระดับความสูงต่ำ เพื่อจุดประสงค์การใช้งานที่ต่างกัน ส่วนที่สี่ พื้นที่ขายของ เพื่อที่จะจัดการพื้นที่นี้ให้มีความเป็นระบบ ระเบียบมากยิ่งขึ้น ไม่ปะปนกับส่วนอื่น ๆ และส่วนที่ห้า พื้นที่ทำงาน/ประชุมชั่วคราวของเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ

“การออกแบบมีผลมากในการกระตุ้นให้เมืองน่าอยู่ขึ้น มีชีวิตชีวาขึ้น เพราะการออกแบบพอจะช่วยเปลี่ยนแปลงบรรยากาศได้ นักออกแบบสามารถออกแบบสถานที่เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมและปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในเมือง สร้างจุดร่วมทางความรู้สึกร่วมกัน ให้คนรู้สึกพิเศษกับสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น มีความทรงจำที่เปลี่ยนไป ด้วยกิจกรรมต่าง ๆ และทำให้เมืองค่อย ๆ เปลี่ยนไปตามธรรมชาติ กายภาพ พฤติกรรม และบริบทของย่านที่จะค่อย ๆ เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น”

ถิรนันท์ ช่วยมิ่ง ผู้จัดการฝ่ายงานบริหารนโยบายและวางแผนงาน โครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า เราทำงานกับคนไร้บ้าน เพื่อส่งเสริมให้คนไร้บ้านมีงานทำ และมีเงินเพื่อที่จะมีบ้านอยู่ ผ่านโครงการจ้างวานข้า ซึ่งเราพบว่าสามารถช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้คนไร้บ้านได้ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่อีกส่วนหนึ่งที่เข้าไม่ถึงโครงการ และสวัสดิการทางสังคม เราจึงจัดทำพื้นที่สวัสดิการเพื่อรองรับดูแลคนไร้บ้านในเรื่องสุขอนามัน จัดให้มีห้องน้ำ รถซักผ้า และเป็นพื้นที่เปิดรับให้คนไร้บ้านที่มาสมัครงาน โดยเชื่อว่าสุขอนามัยคือต้นทุนชีวิตอย่างหนึ่ง

“ถ้าเขาจะไปสมัครงานสักที่หนึ่ง แต่หากไปแบบตัวเหม็น เสื้อผ้าไม่ได้ซักก็คงไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน เราจึงเกิดสดชื่นสถานขึ้นเพื่อสร้างต้นทุนทางสังคมให้กับพวกเขา”

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active