ผู้ประกาศข่าว “ไทยพีบีเอส” ประกาศพักหน้าจอ 2 สัปดาห์ แสดงความรับผิดชอบ รายงานข่าววัคซีนคลาดเคลื่อน

วราวิทย์ ฉิมมณี “ขอโทษ” ออกอากาศ หลังรายงานข่าวข้อมูลประสิทธิภาพวัคซีนโควิด-19 ผิดพลาด

เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 วราวิทย์ ฉิมมณี ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ประกาศพักหน้าจอ 2 สัปดาห์ หลังเกิดความผิดพลาดในการนำเสนอข้อมูลประสิทธิภาพของวัคซีนที่มีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ พร้อมกล่าวขออภัยในความผิดพลาดผ่านรายการข่าวของสถานีฯ เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมา

วราวิทย์ กล่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา เขาได้นำเสนอข้อมูลการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งขณะนี้เริ่มพบการระบาดในมาเลเซีย ซึ่งทำให้ประเทศไทยต้องเฝ้าระวังเชื้อจะข้ามแดนมา แต่ข้อมูลที่นำเสนอไปมีข้อท้วงติงถึงตัวเลขที่อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ จึงขอโทษและขออภัยในความผิดพลาด พร้อมอธิบายที่มาของข้อมูลอีกครั้ง

เขาระบุว่า ข้อมูลที่นำเสนอก่อนหน้านี้ อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ Health Data หรือ IHME ซึ่งเป็นสถาบันเพื่อการชี้วัดและประเมินผลด้านสุขภาพ ศูนย์วิจัยด้านข้อมูลสุขภาพระดับโลก และยังเป็นสถาบันด้านการแพทย์ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐวอชิงตัน ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งช่วงการระบาดของโควิด-19 สถาบันแห่งนี้ได้สร้างฐานข้อมูลที่น่าเชื่อถือ และได้รับการอ้างอิงจากสื่ออื่น ๆ ในโลกเช่นกัน

“จุดที่ผิดพลาดคือตารางข้อมูลการป้องกันการป่วยหนัก ในเว็บไซต์ต้นฉบับใช้คำว่า Preventing disease ซึ่งถ้าแปลให้ถูกความหมายต้องแปลว่า ป้องกันการติดเชื้อแบบมีอาการ ไม่ใช่ป้องกันการป่วยหนัก ขออภัยที่แปลความหมายนี้ทำให้เข้าใจผิดไป”

ส่วนอีกจุดที่อาจจะไม่ได้อธิบายที่มาโดยรายละเอียด เนื่องจากบางตัวเลขที่มาจากการใช้งานจริง แต่บางตัวเลขมาจากการคาดการณ์ของ Health Data เอง

วรวิทย์ กล่าวว่า หากสรุปใหม่ให้เข้าใจชัดเจนขึ้น ช่องสีขาวเท่านั้น คือ ข้อมูลตัวเลขการใช้จริง ส่วนจุดอื่น ๆ ที่เป็นช่องสีแดง เป็นการอนุมานประสิทธิภาพวัคซีนด้วยการไปเอาข้อมูลการใช้จริงของวัคซีน Novavax กับวัคซีน Johnson & Johnson แล้วมาทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ คำนวณออกมาเป็นประสิทธิภาพของวัคซีนตัวอื่นต่อเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้

รายการข่าวค่ำมิติใหม่ทั่วไทย 10 พ.ค. 2564

“ถ้ามีความผิดพลาด ผมขออภัยที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด และจะใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอมากขึ้น แต่เป้าหมายการนำเสนอข่าวนี้เพื่อย้ำเตือนเรื่องเชื้อแอฟริกาใต้ที่ระบาดในมาเลเซีย ประเทศไทยจะรับมืออย่างไร ถ้าวัคซีนที่มีอยู่ประสิทธิภาพลดลง แต่ก็เน้นย้ำว่า การฉีดวัคซีนมีผลดีมากกว่าผลเสีย ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนชนิดใดก็ตาม”

ส่วนการพักหน้าจอ 2  สัปดาห์นั้น วราวิทย์ กล่าวว่า เป็นการตัดสินใจของตนเองเพื่อแสดงความรับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับการลงโทษหรือแรงกดดันใด ๆ

ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นหลังจาก ผศ.วรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความเมื่อช่วงเช้า (10 พ.ค.) บนเฟซบุ๊ก วรัชญ์ ครุจิต ระบุว่า รายงานข่าวชิ้นดังกล่าว มีข้อผิดพลาดหลายจุด เช่น ประสิทธิภาพของวัคซีนแอสตราเซเนกาในการป้องกันการติดเชื้อ และการป้องกันการป่วยหนัก

นอกจากนี้ ผศ.วรัชญ์ ยังได้โพสต์ข้อความต่อมาว่า ได้ส่งอีเมลเพื่อร้องเรียนรายการข่าวของไทยพีบีเอส ถึง กสทช. ให้พิจารณา

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว