ศาลชี้ การไม่ลงชื่อ-ไม่ยอมรับกระบวนการพิจารณา ทำให้สืบพยานเป็นไปอย่างยากลำบาก คำแถลงต่อศาลว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไข จึงไม่น่าเชื่อถือ ให้ยกคำร้องขอประกันตัว
เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 ที่ ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ จากกรณีร่วมชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เมื่อวันที่ 19-20 ก.ย. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวง ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และฐานยุยงปลุกปั่นฯ มาตรา 116 ฯลฯ โดยศาลกำหนดวงเงินประกัน 200,000 บาท มีเงื่อนไขไม่ให้กระทำการในลักษณะเช่นเดียวกับที่ถูกกล่าวหาตามฟ้องเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ซ้ำอีก หรือไปร่วมกิจกรรมที่อาจทำให้เสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากศาล และให้มาศาลตามกำหนดนัดโดยเคร่งครัด
การยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ครั้งนี้ ยังมี สมยศ พฤกษาเกษมสุข จำเลยที่ 4 และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน จำเลยที่ 7 ด้วย โดยให้ถ้อยคำในชั้นไต่สวนขอปล่อยชั่วคราวเช่นเดียวกับจำเลยที่ 3 (ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม) แต่ศาลเห็นว่าทั้งสองไม่ยอมลงลายมือชื่อในรายงานกระบวนพิจารณาโดยไม่มีเหตุอันสมควร และมีพฤติการณ์จะไม่ยอมไปกำหนดวันนัดสืบพยานที่ศูนย์นัดความ และยื่นคำร้องขอถอนทนายความ ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ถึงที่ 22 ที่ไม่ขอลงชื่อในรายงานกระบวนพิจารณา เพราะไม่ยอมรับกระบวนพิจารณา ทำให้การกำหนดวันนัดสืบพยานเป็นด้วยความยากลำบาก ซึ่งเป็นอุปสรรคและก่อให้เกิดความเสียหายต่อการดำเนินคดีในศาล
ข้อความและคำแถลงของจำเลยที่ 4 และที่ 7 ว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่แถลงไว้ต่อศาล จึงไม่น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตามที่แถลงไว้ต่อศาลได้ ศาลจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้องของจำเลยที่ 4 และที่ 7
สำหรับการพิจารณาของศาลวันนี้ ยังมี วิบูลย์ บุญภัทรรักษา บิดาของไผ่, สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน รวมถึง ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ และ ผศ.อดิศร จันทรสุข อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาศาลด้วย
ผศ.ประจักษ์ กล่าวว่า กรณีที่จำเลยขอถอนทนายความในการทำคดีออก ยกเว้นนายปติวัฒน์นั้น เพื่อสื่อสารให้สังคมได้รับรู้ว่าขณะนี้คดีขาดความยุติธรรมในทุกกระบวนการ ตั้งแต่ทนายความไม่สามารถปรึกษาการสู้คดีกับจำเลยได้ ผู้ปกครองหรือผู้สังเกตการณ์ไม่สามารถเข้าห้องพิจารณาคดีได้ จำเลยจึงมีสถานะเหมือนผู้ที่ถูกพรากสิทธิ์ เมื่อทุกคนได้ร่วมลงความเห็นแล้ว ว่าหลังจากนี้จะไม่ขอมีส่วนร่วมในกระบวนการที่ไม่ยุติธรรมต่อไป
โรม ชี้ ศาลที่ซ่อนตัวจากการตรวจสอบย่อมเป็นโทษต่อประชาชน
ด้าน รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เปิดเผยก่อนศาลมีคำสั่งว่า เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 จำเลยคดีชุมนุมทางการเมือง #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร จำนวน 21 คน ได้ขอถอนทนายความที่ช่วยสู้คดี เพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้น โดยตลอดการพิจารณาคดี ไม่ว่าจะเป็นการไม่ให้ประกันตัวโดยไม่มีเหตุตามกฎหมาย, การละเมิดสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับระหว่างทนายความและลูกความ, การคุกคามทนายความโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์, การกีดกันไม่ให้ครอบครัวของจำเลยเข้าพบจำเลยหรือเข้าฟังการพิจารณาคดี ทั้งที่ศาลไม่ได้สั่งให้พิจารณาเป็นการลับ ฯลฯ โดยมองว่ากระบวนการยุติธรรมที่ไร้การตรวจสอบ ย่อมส่งผลต่อการพิจารณาคดี
“ผมคิดว่าสังคมเราพูดกันมามากพอแล้วถึงเรื่องของการไม่อำนวยความยุติธรรมในการดำเนินคดีต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง พูดกันมาจนเสียงแหบแห้ง บางคนถึงกับยอมทรมานตัวเองอย่างต่อเนื่องยาวนานเกือบเดือนเพื่อกระตุ้นเตือนให้ตระหนักถึงความไม่ถูกต้องที่เกิดขึ้น แต่ปัญหาคือบรรดาบุคลากรของกระบวนการยุติธรรม ไม่ว่าจะเป็นตำรวจ, อัยการ, ศาล หรือราชทัณฑ์ ต่างไม่เคยรับฟัง การกระตุ้นเตือนใดๆ แม้กระทั่งที่เอาชีวิตเป็นเดิมพัน ไม่เคยปลุกมโนธรรมสำนึกของพวกเขาได้”