เสวนา #ถ้าการเมืองดี ชี้ ประชาชนย่อมเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย หวังกระตุ้นสังคมไทยตระหนักถึงความสำคัญและเคารพหลัก “นิติรัฐ” ศูนย์ทนายฯ เปิดตัวเลขครึ่งปี ดูแลคดีการเมืองแล้ว 223 คดี กระทบ 382 คน
เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 คณะสังคมวิทยาและมนุษยวิทยา ร่วมกับ ศูนย์วิจัย ดิเรก ชัยนาม คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเสวนาเฉพาะกิจ ในชุดโครงการเสวนา #ถ้าการเมืองดี ตอน เฉพาะกิจ ที่ ลาน 50 ปี คณะสังคมวิทยาฯ ศูนย์รังสิต เพื่อสื่อสาร และเล่าประสบการณ์การถูกคุกคามรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการถูกดำเนินคดีอาญา มาตรา 112 และ 116 พร้อมรับฟังข้อมูลและสถิติตัวเลขของผู้ที่ถูกดำเนินคดี จากตัวแทน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เกี่ยวกับการใช้อำนาจรัฐที่มีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ
พูนสุข พูนสุขเจริญ หรือ ทนายเมย์ ตัวแทนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ภาพรวมตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 28 ก.พ. 2564 ที่ศูนย์ทยายความติดตามทั้งหมด อย่างน้อย 223 คดี จากบุคคลทั้งหมด 382 คน ซึ่งในจำนวนนี้ แต่ละคนไม่ได้ถูกดำเนินคดีเพียงคดีเดียวเท่านั้น
อีกทั้งยังเปิดเผยตัวเลขคนที่ถูกดำเนินคดี ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งหมด 60 คน จาก 47 คดี, ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” มาตรา 116 มี 92 คน ใน 22 คดี, ข้อหา “มั่วสุมกันใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดการวุ่นวาย” มาตรา 215 จำนวน 152 คน ใน 25 คดี
ข้อหา “ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” ที่ประกาศมาตั้งแต่ มี.ค. 2563 มีคนถูกดำเนินคดีมากกว่า 301 คน ใน 118 คดี และ ข้อหาตาม “พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ” ถึง 84 คน ใน 57 คดี
โดยจาก 223 คดีดังกล่าว มี 35 คดีสิ้นสุดแล้ว เพราะผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจหรือในชั้นศาล ขณะที่คดีส่วนใหญ่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน และเริ่มมีคดีที่ทยอยถูกสั่งฟ้องต่อศาลมากขึ้นในเดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังพบว่า จำนวนคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด ยังพบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาทับซ้อนไปพร้อมกับพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ จำนวน 32 คดี ทั้งที่ตามมาตรา 3 (6) ของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กำหนดให้กฎหมายไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะในระหว่างเวลาที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ
พูนสุข ยังเปิดเผยอีกว่า พบจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีภายในระยะเวลา 1 ปีนี้ มีมากกว่าช่วง 6- 7 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และเป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย การเก็บข้อมูลหรือเข้าไปช่วยเหลือของศูนย์ทนายฯ เป็นเพียงปลายทางของสิ่งที่เกิดขึ้นเท่านั้น เธอคาดว่า นอกจากข้อมูลสถิตินี้ อาจมีคดีที่เกิดขึ้น แต่ศูนย์ทนายฯ ไม่ได้เก็บข้อมูล และเป็นตัวแทนทางกฎหมาย อาจจะมีมากกว่านี้อีกจำนวนไม่น้อย
“สิ่งที่เราเผชิญ ตลอดระยะเวลาเกือบ 7 ปี ปัญหาที่เราพบมากที่สุด คือ นิติรัฐ หรือการปกครองโดยกฎหมาย ที่ถูกทำลายลงไป ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา คือ การปกครองโดยอำเภอใจ มาตรา 112 เป็นหนึ่งในตัวอย่างของการใช้กฎหมายตามอำเภอใจ”
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง หนึ่งในแกนนำของกลุ่มราษฎร อธิบายสถานการณ์ที่ถูกคุกคามหลังออกมาทำกิจกรรมทางการเมืองว่า ตนเองถูกคุกคามทั้งในทางวัฒนธรรมและกฎหมาย โดยระบุว่า ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ แม้ในขณะนั้นเธอเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านอำนาจเผด็จการทหาร ยังไม่ได้กล่าวถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์
เธอยกตัวอย่างรูปแบบการคุกคาม เช่น การจอดรถแล้วโดนใบสั่ง ทั้งที่บริเวณนั้นมีรถจอดก่อนอยู่แล้ว การถูกติดตามที่บ้านพักโดยการติดกล้องวงจร เพื่อติดตามความเคลื่นไหวของเธอ ตั้งแต่ทางเข้าหมู่บ้านจนถึงหน้าบ้าน ซึ่งรอบที่น่ากลัวที่สุด คือ หลังอ่านประกาศคณะราษฎร เมื่อ 24 มิ.ย. 2563 ที่ สกายวอล์ก ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง หรือ MBK
“วันนั้นพอเราประกาศเสร็จ เราก็ขับรถจะกลับมาที่มหาวิทยาลัย แต่เรากลับไม่ได้ เพราะว่าเราถูกต้อนจากรถมอเตอร์ไซค์หลายคันมาก รวมถึงรถกระบะด้วย ขับตามแบบน่ากลัวมาก ตอนนั้นมีเพนกวินอยู่ เขาก็บอกว่ามันเป็นการขับตามเพื่อทำให้เรากลัว คงไม่ได้มีอะไร”
ปนัสยา ยังระบุอีกว่า พฤติการณ์และการบังคับใช้กฎหมายบางครั้งเกินกว่าเหตุ การเรียกร้องบางอย่างเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่มีการใช้กฎหมายเหล่านี้อยู่เสมอ ซึ่งก่อนจะมีการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 คือการใช้ 116 มาก่อน เพราะอาจยังไม่แน่ใจว่ามาตรา 112 จะสามารถใช้ได้ไหม ซึ่งหลังจากทดลองใช้แล้ว มีคนกลัว การประกาศใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 ก็มีมาอย่างต่อเนื่อง ภายใน 1 เดือน มีถูกดำเนินนคดีไปมากกว่า 20 คน ซึ่งความเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดีและความเสี่ยงในการถูกคุมขังในเรือนจำมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
ทนายพูนสุข กล่าวเพิ่มเติมว่า เหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมาตั้งแต่เหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เป็นเรื่องเดียวกันตั้งแต่ ปี 2553 และเป็นเรื่องเดียวกับใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่รัฐและผู้มีอำนาจพยายามจะใช้อำนาจในการจำกัดเราทุกวิถีทาง พยายามใช้กฎหมายในการดำเนินคดี และอีกทางหนึ่งเขาใช้กฎหมายที่จะยกเว้นความผิดของตัวเอง