วันเด็ก 2567 เมื่อเด็กอย่างน้อย 2 คนยังอยู่ในสถานพินิจฯ ระหว่างการต่อสู้คดี

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ฯ เผยตั้งแต่ปี 63-66 เด็กอย่างน้อย 286 ราย ถูกดำเนินคดีทางการเมือง และวันเด็กปีนี้ มีเยาวชนอย่างน้อย 2 คน อยู่ในสถานพินิจฯ รอต่อสู้คดี 112

เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รายงานการติดตาม ในปี 2567 ระบุว่ายังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 24 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน โดยพบว่ามีเยาวชน 2 รายที่ถูกคุมขังตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล โดยถูกคุมขังที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา ได้แก่

  • ‘ภัทรชัย’ ในคดีมาตรา 112 กรณีวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางลงด่วนดินแดง เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2564 โดยศาลเยาวชนฯ กำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 6 เดือน
  • ‘ภูมิ หัวลำโพง’ ในคดีมาตรา 112 กรณีร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว ‘นิว’ สิริชัย นาถึง ที่หน้าสภ.คลองหลวง โดยศาลเยาวชนฯ กำหนดให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร

The Active ได้นำข้อมูลสถิติเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุม ปี 2563 – 2567 ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มาประมวลให้เห็นถึงจำนวนเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยจากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 ซึ่งเป็นการชุมนุม เยาวชนปลดแอก ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนถึงวันที่ 20 ธ.ค. 2566 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 215 คดี รวม 286 ราย จากจำนวนประชาชนถูกดำเนินคดี 1,902 คน หรือคิดเป็น 15.04%

และจากการติดตามสถานการณ์การดำเนินคดีของเด็กและเยาวชนจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุม โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้มีการติดตามตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2563 – 10 พ.ย. 2566 สามารถแบ่งประเภทตามข้อกล่าวหาได้ ดังนี้

‘ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ’ เป็นข้อกล่าวหาที่ถูกใช้ในการดำเนินคดีมากที่สุด ซึ่งถูกประกาศใช้ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2563 – 1 ต.ค. 2565 ในช่วงระยะเวลาสองปีเศษ มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากพ.ร.ก.ดังกล่าวอย่างน้อย 241 คน ใน 157 คดี นอกจากนี้ยังมีข้อหา ‘พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรงในเขต กทม.’ อย่างน้อย 4 คน ใน 2 คดี และแม้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะถูกยกเลิกแล้ว แต่การดำเนินคดีดังกล่าวก็ไม่ได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด

รองลงมาคือข้อกล่าวหา ‘หมิ่นประมาทกษัตริย์ กฎหมายอาญา ม. 112’ อย่างน้อย 20 คน ใน 23 คดี ซึ่งในข้อกล่าวหานี้ มีการดำเนินคดีควบคู่ ‘พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ’ อยู่ที่ 9 คนใน 9 คดี และควบคู่ ‘ยุยงปลุกปั่น กฎหมายอาญา ม. 116’ อย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี ซึ่งปัจจุบันมีเยาวชนจำนวน 2 คนที่ถูกส่งตัวเข้าสถานพินิจฯ บ้านเมตตา ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น

และข้อกล่าวหา ‘ฝ่าฝืนพ.ร.บ.ชุมนุมฯ’ ที่มีอย่างน้อย 8 คน ใน 4 คดี

นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนที่ถูกจับกุมและบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ที่บริเวณแยกดินแดงในทุกเย็นของช่วงเดือน ส.ค. – ต.ค. 2564 เพื่อเรียกร้อง โดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในด้านเศรษฐกิจ การชุมนุมดังกล่าวมีเยาวชนถูกจับกุมอย่างน้อย 69 ราย และบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม 222 ราย

นอกจากการดำเนินคดีด้วยกระบวนการทางกฎหมายแล้ว ข้อมูลจากการติดตามสถานการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และงานวิจัยของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังมีการระบุผลกระทบในด้านอื่น ๆ ที่เด็กและเยาวชนต้องพบเจอจากการเข้าร่วมการชุมนุม ไม่ว่าจะเป็น การถูกคุกคามในหลากหลายรูปแบบ เช่น ถูกติดตามสอดแนม ถูกข่มขู่ว่าจะโดนดำเนินคดีหากเข้าร่วมการชุมนุม กดดันผู้ปกครองและการเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง พบว่ามีเด็กและเยาวชนถึง 68 คนที่ถูกคุกคาม

นอกจากนี้การกดดันจากเจ้าหน้าที่รัฐ ยังนำมาสู่การที่เยาวชนถูกกระทำความรุนแรงจากครอบครัว เช่น โดนตบตี โดนริบเงินค่าใช้จ่าย โดนไล่ออกจากบ้าน หรือในบางกรณีเป็นเด็กเองที่ต้องออกจากบ้านเพราะปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งในส่วนตรงนี้ไม่ได้มีการรายงานจำนวนของเยาวชนแต่อย่างใด

ผลกระทบจากสถานการณ์ดังกล่าวนำมาสู่ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เด็ก เยาวชน และครอบครัวต้องเผชิญ ทั้งภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี การถูกทำให้เป็นอาชญากรรมจากการโดนดำเนินคดี บาดแผลทางจิตใจจากการถูกจับกุมและถูกติดตาม การเสียโอกาสทางการศึกษา และร้ายแรงที่สุดคือการเสียชีวิต จากกรณีของวาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ถูกยิงเสียชีวิตขณะเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อ 16 ส.ค. 2564

อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active