ศูนย์ทนายฯ เผยปัญหาการติดตามคดี จากบันทึกการสืบพยานด้วยวิดีโอ

กระทบสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม คู่ความไม่สามารถคัดถ่ายสำเนาวิดีโอบันทึกการสืบพยานได้ พบเจ้าหน้าที่สรุปประเด็นตกหล่นจำนวนมาก

วันนี้ (14 ส.ค. 2566) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการคัดถ่ายไฟล์บันทึกวิดีโอการสืบพยานในศาล ว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2565 ท่ามกลางการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองที่มีคดีจำนวนมากขึ้นสู่ชั้นศาล และมีการสืบพยานในหลายคดีในหลายศาลทั่วประเทศ สถานการณ์ในกระบวนการพิจารณาคดีที่พบว่ามีมากขึ้น คือการที่ศาลต่าง ๆ เริ่มทำการบันทึกคำเบิกความในการสืบพยาน โดยใช้การบันทึกวิดีโอ คือบันทึกทั้งภาพและเสียงระหว่างพยานเข้าเบิกความในศาลเอาไว้

สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในคดีบางส่วนซึ่งยังไม่มากนัก โดยจากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าเริ่มต้นในต่างจังหวัดก่อน ก่อนในช่วงปี 2566 ศาลในกรุงเทพฯ ก็เริ่มมีการบันทึกวิดีโอในบางคดีแล้ว โดยขณะนี้ พบการใช้วิธีการนี้ทั้งในคดีตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, คดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 116

การดำเนินการดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้ ข้อบังคับของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการบันทึกคำเบิกความพยานในคดีอาญาโดยใช้วิธีการบันทึกลงในวัสดุซึ่งสามารถถ่ายทอดออกเป็นภาพและเสียง พ.ศ. 2564 ลงนามโดย เมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2564 ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564

ข้อบังคับดังกล่าว ระบุว่าเป็นไปเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรับฟังพยานหลักฐาน อันเป็นหลักประกันให้การพิจารณาพิพากษาคดีเป็นไป โดยเที่ยงธรรมและสามารถตรวจสอบถึงความถูกต้องได้

การเลือกใช้วิธีการดังกล่าว ข้อบังคับดังกล่าวระบุว่า ใช้ได้เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่ามีคู่ความร้องขอหรือไม่ก็ตาม โดยเฉพาะในคดีอาญาที่มีความสำคัญเป็นพิเศษที่ต้องอาศัยความรู้เห็นของพยานบุคคล เช่น คดีความผิดเกี่ยวกับชีวิต คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ และคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง, คดีที่เป็นสนใจของประชาชน และคดีที่สมควรบันทึกคำเบิกความพยานไว้ด้วยวิธีการนี้ เช่น ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องสังเกตอากัปกิริยาขณะที่พยานเบิกความ หรือคดีที่ข้อเท็จจริงที่พยานเบิกความมีความยุ่งยากซับซ้อน เป็นเรื่องทางเทคนิค หรือพยานต้องเบิกความผ่านล่าม

การเลือกใช้วิธีการบันทึกวิดีโอนี้ จึงขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลในแต่ละคดี และความพร้อมของแต่ละศาลและห้องพิจารณาที่จะใช้ระบบดังกล่าวด้วย

แม้การบันทึกวิดีโอจะทำให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แตกต่างจากการที่ต้องคอยศาลสรุปคำเบิกความด้วยเครื่องบันทึกเสียง และรอเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์พิมพ์ถ้อยคำออกมาเป็นเอกสาร “บันทึกคำเบิกความ” ไปเป็นการทำให้กระบวนการทั้งหมดถูกบันทึกไว้ทั้งภาพและเสียง โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการเรียบเรียงหรือเลือกสรรโดยศาลผู้พิจารณาเหมือนก่อนหน้านี้

แต่ก็พบปัญหาติดตามมาในการต่อสู้คดี โดยเฉพาะอาจส่งผลกระทบต่อสิทธิในการต่อสู้คดีของฝ่ายจำเลยด้วย ได้แก่ ปัญหาที่คู่ความไม่สามารถคัดถ่ายสำเนาวิดีโอบันทึกการสืบพยานดังกล่าว เพื่อใช้ในชั้นหลังจากสืบพยานได้ อาทิ การใช้ประกอบการเขียนคำแถลงปิดคดี หรือการเขียนอุทธรณ์และฎีกาคำพิพากษาในคดี ซึ่งจะต้องมีการอ้างอิงการเบิกความของพยานปากต่าง ๆ ประกอบ

ในข้อที่ 7 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกาดังกล่าว ได้กำหนดว่า “การสืบพยานโดยใช้วิธีการบันทึกภาพและเสียง ศาลไม่ต้องบันทึกคำเบิกความพยานแบบเก็บใจความสำคัญอีก และให้ถือว่าภาพและเสียงคำเบิกความของพยานที่บันทึกไว้นั้นเป็นคำเบิกความของพยาน โดยไม่ต้องจัดพิมพ์เป็นเอกสารเพื่ออ่านให้พยานหรือคู่ความฟัง

“คู่ความหรือพยานสามารถขออนุญาตศาลตรวจดูบันทึกภาพและเสียงดังกล่าวได้ภายใต้ การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่ แต่ไม่สามารถบันทึกภาพและเสียงหรือทำซ้ำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์นั้น”

กระบวนการที่เกิดขึ้น คือหลังมีการบันทึกวิดีโอในการสืบพยานไว้แล้ว พบว่าเจ้าหน้าที่ของศาลจะมีการสรุปประเด็นคำเบิกความของพยานแต่ละปาก แต่ในหลายคดี เป็นไปแบบสั้นๆ บางคดีเพียงระบุว่าพยานปากนั้นเบิกความประเด็นใดจบในหนึ่งย่อหน้า โดยไม่ได้ระบุถึงข้อถามค้านของฝ่ายจำเลย หรือแม้แต่ข้อถามติงของฝ่ายโจทก์เอง ทำให้ตกหล่นประเด็นต่างๆ จำนวนมากไป

การดำเนินการในลักษณะนี้ เป็นไปตามข้อที่ 9 ของข้อบังคับประธานศาลฎีกาดังกล่าว ที่กำหนดว่า “เพื่อประโยชน์แก่การพิจารณาคดี การทำคำพิพากษา และการอุทธรณ์ฎีกา ให้เจ้าหน้าที่จัดทำสรุปคำเบิกความแบบเก็บใจความสำคัญของพยานจากภาพและเสียงที่ได้บันทึกไว้ หรืออาจจะสรุปคำเบิกความดังกล่าวทันทีในขณะที่พยานเบิกความแล้วจึงให้เจ้าหน้าที่จัดพิมพ์ขึ้นโดยเร็วในภายหลังก็ได้…”

โดยที่วรรคสองของข้อนี้ ระบุว่า “สรุปคำเบิกความที่จัดทำขึ้นตามวรรคหนึ่ง เป็นเพียงเอกสารเพื่อความสะดวกในการที่จะทราบถึงสาระสำคัญที่พยานเบิกความ และช่วยให้การย้อนกลับไปดูภาพและเสียงของพยานที่บันทึกไว้เป็นไปได้อย่างรวดเร็วเท่านั้น โดยมิให้ถือว่าเป็นบันทึกคำเบิกความของพยานดังกล่าว”

สำหรับฝ่ายจำเลยในคดีอาญาที่ใช้การบันทึกวิดีโอในการสืบพยานดังกล่าว หลังจากการสืบพยาน หากต้องการนำเนื้อหาการสืบพยานมาใช้อ้างอิงในการจัดทำอุทธรณ์หรือฎีกาต่าง ๆ จำเป็นต้องไปยื่นคำร้องขอตรวจดูบันทึกวิดีโอดังกล่าวที่ศาล และใช้เวลานั่งดูบันทึกอยู่ภายในศาลในห้องที่เจ้าหน้าที่จัดเตรียมไว้ให้ โดยไม่สามารถสำเนาไฟล์บันทึกดังกล่าวได้

บางคดีหากมีการสืบพยานจำนวนมาก และใช้ระยะเวลาหลายวัน การนั่งดูบันทึกวิดีโอและจดบันทึกเนื้อหามาใช้ ก็อาจต้องใช้ระยะเวลานานด้วยเช่นกัน นอกจากนั้น สถานที่และระบบอำนวยความสะดวกของศาลก็มีจำกัด บางที่จะต้องเปิดห้องพิจารณาทั้งห้อง และมีเจ้าหน้าที่ศาลมาคอยควบคุมในระหว่างการตรวจดูวิดีโออีกด้วย

ในขณะที่ยังไม่แน่ชัดว่าในศาลที่สูงขึ้นไป อย่างศาลอุทธรณ์หรือฎีกา ที่ไม่ใช่ศาลที่นั่งพิจารณาระหว่างการสืบพยานด้วยตนเองนั้น จะนั่งดูบันทึกวิดีโอดังกล่าวทั้งหมดด้วยตนเองหรือไม่ เพื่อจัดทำคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หรือเพียงแต่พิจารณาจากสรุปคำเบิกความสั้น ๆ ที่เจ้าหน้าที่จัดทำขึ้น

อ้างอิง

ปัญหาการคัดถ่ายไฟล์บันทึกวิดีโอการสืบพยานในศาล ส่งผลต่อสิทธิการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active