รศ.ธนพร ชี้ อุทยานฯ แก่งกระจาน ฝืน พ.ร.บ.อุทยานฯ ไม่สำรวจสิทธิ “ใจแผ่นดิน”

ระบุ ข้าราชการ​-อำนาจการเมือง​ ทำ​ MOU ไร้ผล​ อุทยานฯ ต้อนชาวบ้านลงจากใจแผ่นดิน​ ด้านที่ปรึกษาพีมูฟ​ เผยพื้นที่แก่งกระจาน​เดิมพันสูง ทั้ง​ รัฐ-ชาวบ้าน​ ยากจะถอยคนละก้าว​

ภาพเหตุการณ์​ “ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะตัวแทน “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ประธานคณะทำงานแก้ไขปัญหาของกลุ่มพีมูฟ ออกมาเจรจากับชาวกะเหรี่ยง​บางกลอย​ที่ชุมนุม​หน้าทำเนียบรัฐบาล​ เมื่อวันที่​ 15​ ก.พ.​ 2564 และมีการยกหูโทรศัพท์ถึง​ “วราวุธ​ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม​ เพื่อเจรจา ​”ถอยคนละก้าว” พร้อมตั้งวงเจรจา​ และลงนามในบันทึกข้อตกลง หรือ MOU มีการลงนามของทั้งสองรัฐมนตรี รวมทั้งปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช นั้น

MOU ดังกล่าว ระบุข้อเรียกร้อง 3 ข้อ​ ทั้งถอนกำลัง หยุดกีดขวางทางขึ้นเสบียง​ และหยุดดำเนินคดีชุมนุมหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ​ แต่ 2 วัน หลังมีการเซ็น MOU เจ้าหน้าที่ชุดพญาเสือ ก็สนธิกำลัง​นำเฮลิคอปเตอร์เข้าไปรับชาวบ้านลงมา แม้จะเป็นการกระทำการอย่างละมุนละม่อมโดยเจ้าหน้าที่ผู้หญิง แต่ยังพบการติดอาวุธขึ้นไปด้วย​ เหล่านี้ คือ คำถามสำคัญว่าเหตุใด​ MOU ที่เคยที่ลงนามโดย 2 รัฐมนตรีไปก่อนหน้านี้​ ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ

รศ.ธนพร ศรียากูล อดีตประธานคณะทำงานเฉพาะกิจขับเคลื่อนนโยบายการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี​ เปิดเผยในรายการ Active Talk เมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 โดยตั้งข้อสังเกตว่า ก่อนจะเซ็น​ MOU​ มีการพูดคุยไม่ใช่แบบส่วนตัว และเนื้อหาในร่าง MOU มีการตรวจสอบ ด้วยความรอบคอบทั้งจากฝ่ายรัฐและฝ่ายชาวบ้านก่อนที่จะให้รัฐมนตรีลงนาม นั่นหมายความว่าผู้มีอำนาจยืนยันแล้วว่าสามารถปฏิบัติตาม MOU ได้​

ครั้งนี้มีความต่างไปจากครั้งอื่น จากเดิมลงนามแค่ฝ่ายนโยบายซึ่งไม่เพียงพอ ประสบการณ์ของชาวบ้านพบว่าต้องให้หัวหน้าส่วนราชการลงนามด้วย ถึงจะเกิดผลในเชิงปฏิบัติ​ นอกจาก 3 ข้อเรียกร้องแล้ว ยังมี 4 ข้อเสนอหลัก คือ การศึกษาแนวทางการกลับขึ้นไป​ “ทำไร่หมุนเวียน” บนบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดิน

“อีกข้อสังเกต​ที่เจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตาม MOU เพราะเป็นการตอบโต้จากฝ่ายข้าราชการ ที่ไม่เห็นด้วยและไม่คุ้นชิน แต่ในเมื่อรัฐมนตรีเมื่อเซ็น MOU ไปแล้วก็ถือเป็นนโยบายของรัฐ​ ที่ข้าราชการต้องปฏิบัติตาม”

ด้าน​ “พฤ โอ่โดเชา” ชาวกะเหรี่ยง อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่​ กล่าวถึงการปล่อยข่าวสาร​ เผยแพร่ภาพที่ถูกเรียกว่าเป็นการบุกรุกแผ้วถางป่า ซึ่งความจริงแล้วบริเวณนั้นเป็น​ “ซากไร่” ที่เคยเป็นไร่หมุนเวียนมาก่อน เรามีการเตรียมแปลงเพื่อปลูกข้าว ตามวิถีดั้งเดิมไม่ใช่การบุกรุกป่าใหม่

เขาบอกอีกว่าความเข้าใจผิดของคนไทยชอบบอกว่าเป็นการ​ “ทำไร่เลื่อนลอย” และมีการให้ข้อมูลทำนองว่า ชาวกะเหรี่ยงบางกลอยต้องการพื้นที่ถึง 120 ไร่ต่อครอบครัว ในการปลูกข้าว ซึ่งไม่เป็นความจริง ข้อเท็จจริง คือ ความต้องการพื้นที่ในการปลูกข้าวจะขึ้นอยู่กับความต้องการบริโภคข้าวในแต่ละครอบครัว​

“เจ้าหน้าที่ถามชาวบ้านว่าต้องการใช้ที่ปลูกข้าวกี่ไร่ ชาวบ้านบอก 4-5 ไร่ เจ้าหน้าที่ก็ฟังเป็น 15 ไร่ ด้วยฟังสำเนียงของชาวกะเหรี่ยง แล้วเพี้ยนไปทำให้ข้อมูลล่าสุดที่ออกมาผ่านการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ​ ที่บอกว่าชาวกะเหรี่ยงบางกลอยขอพื้นที่ถึง 5,400 ไร่นั้น จึงเป็นข้อมูลที่คำนวณผิดไปจากความจริงที่เหมารวมไปหมด​ แต่ที่จริงใช้​ 4-5 ไร่ต่อรอบการผลิต​เท่านั้น​ แต่หมุนเวียนไปในพื้นที่ 120 ไร่ ดังกล่าว”

“ประยงค์​ ดอกลําใย”​ ที่ปรึกษากลุ่มพีมูฟ บอกว่าอีกข้อมูลหนึ่งที่ผิดพลาดมาจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ​ คือ ระบุว่ามีชาวบ้านแค่ 6% ที่ไม่พอใจต่อการจัดสรรที่ดินของรัฐ แต่ความจริงหลังการอพยพโยกย้ายชาวกะเหรี่ยงบางกลอยและใจแผ่นดิน​ ลงมาตั้งแต่ปี 2539 มีการจัดสรรคที่ดิน 600 ไร่โดยไม่มีแผนที่และพิกัดที่ชัดเจน

“ตัวเลข 5,400 ไร่ เห็นได้ชัดว่าเจ้าหน้าที่นำเอา 15 ไร่ คูณ 10 แปลง​ คูณ 36 ครอบครัวสะท้อนความไม่มีองค์ความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำไร่หมุนเวียน การแถลงข่าวของรัฐมนตรีด้วยข้อมูลแบบนี้ คิดได้ 2 อย่าง คือ ไม่รู้จริง ๆ หรือไม่ก็ข้าราชการวางยา”

เขายังบอกอีกว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านบางกลอยเคยยื่น​หนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ​ เมื่อปี 2563 ถึง​ 6​ ครั้ง​ ครั้งแรกเดือนมกราคม​ โดยลงมารับด้วยตัวเอง เพราะฉะนั้นการที่ออกมาแถลงข่าวในลักษณะแบบนี้ ทำให้ตนรู้สึกผิดหวังและเป็นห่วงว่าการแถลงข่าวที่มีข้อมูลไม่รอบด้านจะทำให้ปัญหาบางกลอยไม่ถูกแก้ไขและหาจุดสมดุลไม่ได้

ขณะที่ “พงศ์เมธ ล่องเซ่ง” ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส เล่าบรรยากาศการเจรจาระหว่างชาวบ้าน กับคณะของผู้ตรวจราชการ​ จงคล้าย วรพงศธร ผู้ตรวจราชการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ โดยของให้วงเจรจา​มีเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ​ และกลุ่มชาวบ้านเท่านั้น​ โดยขอให้กลุ่มภาคประชาสังคม​ (NGO)​ กลับออกไปจากพื้นที่

“เมื่อชาวบ้านเริ่มอธิบายถึงประวัติความเป็นมาของหมู่บ้านใจแผ่นดิน​ ว่ามีก็มีการตั้งถิ่นฐานอายุนับร้อยปี​ รองอธิบดีกรมอุทยานฯ​ ถามชาวบ้านว่า คนที่อธิบายเรื่องนี้อายุเท่าไร​ ชาวบ้านตอบว่าอายุไม่เกิน 40​ ปี แต่เรื่องนี้มีมานานแล้ว​ เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าข้าราชการระดับสูงในกรมอุทยานฯ มีมายาคติกับคนกะเหรี่ยงอย่างมาก”

รศ.ธนพร​ มองว่า​การแก้ปัญหาชาวกะเหรี่ยงบางกลอยในช่วงเวลานี้ เป็นเกมอำนาจการเมืองเห็นได้จากที่ชาวบ้านเข้ามาชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลแล้ว​ “ร้อยเอก ธรรมนัส” ซึ่งเป็นหนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจในขณะนั้น​ ลงมารับหนังสือจากชาวบ้าน​ ด้านหนึ่งถูกมองว่าเป็นการทำหน้าที่ตามปกติหลังได้รับมอบหมายจาก​ “พลเอก ประวิตร” แต่ถ้าหากมองมุมการเมืองในพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี​ เขต 3​ พรรคพลังประชารัฐ​ชนะเลือกตั้ง​ยกจังหวัด​ ขณะที่​ สุชาติ​ อุสาหะ​ ส.ส.จังหวัดเพชรบุรี​ เขต​ 3​ พรรคพลังประชารัฐ​ มีจุดยืนพูดชัดเจนหลายเวที​เข้าข้างชาวบ้านบางกลอย ทั้งหมดจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทั้งตัวข้าราชการและโครงสร้างทางการเมือง จึงทำให้ MOU ไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริง

รศ.ธนพร ระบุอีกว่า อย่างไรก็ตามมีข้อมูล​ งานวิจัยเยอะมากเกี่ยวกับแนวทางการจัดการปัญหากะเหรี่ยง​บางกลอย​ บนผืนป่าแก่งกระจาน อีกทั้งในมุมมองของกฎหมาย​ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ มาตรา 64 ให้สำรวจพื้นที่ทำกินของชาวบ้านในพื้นที่ในเขตอุทยานภายใน 240 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อออก พ.ร.ก. ให้ชาวบ้านได้อยู่อย่างถูกกฎหมาย​ แต่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไม่ได้ขึ้นไปสำรวจ ถึงบ้านบางกลอยบน​และใจแผ่นดิน​ โดยอ้างว่ามีการอพยพ ลงมาแล้วครั้งสุดท้ายปี 2554 กรณีนี้เครือข่ายภาคประชาชนได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ขอให้มีการสำรวจเพิ่มเติม ซึ่งนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งเห็นชอบให้มีการสำรวจ แต่กรมอุทยานฯ ก็ไม่ทำตามคำสั่งดังกล่าว

ด้าน ประยงค์​ ระบุว่า พื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มีเดิมพันที่สูงมากทั้งสองฝ่าย​ ฝ่ายอุทยานฯ มองว่า สามารถอพยพชาวบ้านลงมาสำเร็จแล้วจะไม่ยอมให้ขึ้นไปอย่างแน่นอน คำตอบของผู้ตรวจจงคล้ายฯ มีเพียงแต่บอกว่าจะพัฒนาหมู่บ้านบางกลอยล่าง แต่ไม่พูดถึงแนวทางที่จะให้ชาวบ้านกลับขึ้นไปที่ใจแผ่นดิน​ ขณะที่ฝ่ายชาวบ้านบอกว่า 10 ปีที่อพยพลงมาอยู่ในหมู่บ้านบางกลอยล่าง​ ไม่มีกิน​ ทุกคนต้องเป็นหนี้ร้านค้าและสิ่งของที่ขอติดหนี้ไว้ก่อน ก็คือข้าวสารซึ่งเคยปลูกเองได้ในวิถีกะเหรี่ยง​ บางคนเป็นหนี้หลักหมื่นกับร้านค้า​

“ตลอดการต่อสู้ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงบางกลอยมีหลายบาดแผล​ ชาวบ้านมักตั้งคำถามว่า​ ถ้าบ้านของตนถูกเผา​ ลูกหลานที่เคยต่อสู้ถูกอุ้มฆ่า​แล้วไม่พอ ยังถูกไล่ให้ออกไปอยู่ในที่ที่ไม่ใช่ถิ่นฐานบ้านเกิด​ เหล่านี้กลายเป็นบาดแผลที่ฝังลึก”

ประยงค์​ ระบุตอนท้าย​ หลังชาวบ้านอพยพมาบางกลอยล่าง​ มี​ “โครงการปิดทองหลังพระ​” เข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ใช้งบประมาณไปแล้วกว่า​ 500 ล้านบาท​ แต่ไม่สำเร็จ ชาวบ้านไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น​ ทั้งหมดนี้มากพอที่จะตอบคำถามว่าความล้มเหลวที่เกิดขึ้นเกิดจากอะไร​ และควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร


Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS