ศาลปกครอง ไม่รับฟ้อง “เขื่อนปากแบง” กระทบแม่น้ำโขง

ระบุ หน่วยงานทำตามกระบวนการรับฟังความเห็นครบถ้วนแล้ว ชี้ ผู้ฟ้องคดีไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะโครงการก่อสร้างนอกราชอาณาจักรไทย

24 ก.พ. 2564 – ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งไม่รับคำฟ้องกรณีที่ กลุ่มรักษ์เชียงของ และเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ยื่นฟ้องศาลปกครอง เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2560 ขอให้ศาลพิพากษาหรือมีคำสั่งให้เพิกถอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าปากแบง ในพื้นที่ประเทศลาว เนื่องจากการจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ครอบคลุม และละเลยดำเนินการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ

เฉลิมศรี ประเสริฐศรี ทนายความ มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน กล่าวภายหลังเข้ารับฟังคำสั่งว่า ศาลให้เหตุผล 3 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1. การจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการปรึกษาแจ้ง ปรึกษาหารือล่วงหน้า (PNPCA) เป็นการดำเนินการตามข้อตกลงแม่น้ำโขง ซึ่งพันธกรณีระหว่างประเทศ ที่รัฐไทยไปลงนามเป็นภาคีไว้ จึงไม่อาจจำเอากฎหมายไทยมาบังคับใช้ และรัฐไม่ได้มีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาต เพิกถอนโครงการดังกล่าวได้ เนื่องจากไม่อยู่ในอธิปไตย

ประเด็นที่ 2. การฟ้องให้ผู้ถูกฟ้องคดี ออกข้อบังคับต่าง ๆ ในกรณีผลกระทบข้ามพรมแดน เช่น การออกกฎหมายการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดน ไม่สามารถทำได้ เนื่องจาก พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2535 ไม่มีการบัญญัติเรื่องการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนไว้ และหน่วยงานผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ใช่หน่วยงานตามกฎหมายที่จะออกได้

ประเด็นที่ 3. สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ที่ปฏิบัติงานในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงแห่งประเทศไทย ดำเนินการในฐานะตัวแทนของรัฐบาล การทำความเห็นเกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ตามที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องนั้น ถือเป็นการดำเนินการตามอำนาจบริหารของรัฐบาล ไม่ถือเป็นการกระทำทางปกครอง ที่ศาลปกครองจะรับฟ้องได้ คำขอที่ให้ สทนช. มีข้อแนะนำ หรือข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานภายในของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และหน่วยงานอื่น ให้พิจารณาการดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับเขื่อนปากแบง ก็ไม่ใช่เป็นการกระทำทางการปกครองที่จะรับฟ้องได้ และถือว่าคำสั่งไม่รับฟ้องนี้ เป็นที่สุดแล้ว

ทนายความกล่าวเพิ่มเติมว่า แม่น้ำโขงตอนล่างมีกำหนดก่อสร้างทั้งหมด 5 เขื่อน โดย 2 เขื่อนที่สร้างเสร็จแล้ว คือ เขื่อนไซยะบุรี และ เขื่อนดอนสะโฮง ส่วนอีก 3 เขื่อนที่ยังรออยู่และยังไม่ได้ก่อสร้าง คือ เขื่อนปางแบง เขื่อนหลวงพระบาง และเขื่อนสานะคาม โดยกรณีเขื่อนหลวงพระบางและเขื่อนสานะคาม กระบวนการ PNPCA ดำเนินการเสร็จแล้ว ซึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ เขื่อนสานะคาม เนื่องจากตั้งห่างประเทศไทยเพียงแค่ 2 กิโลเมตร และอาจส่งผลกระทบต่อไทย จึงอาจจะหาช่องทางในการฟ้องคดีเขื่อนสานะคาม เพื่อคุ้มครองประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ทั้งปัญหาน้ำโขงแห้ง หรือตลิ่งริมน้ำโขงพังเสียหายจากระดับน้ำที่ลดลง

นอกจากนี้ ในส่วนของเขื่อนไซยะบุรี ที่ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ก็ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดอยู่ ขณะที่เขื่อนไซยะบุรีได้เริ่มเปิดเดินเครื่องตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 และก่อให้เกิดผลกระทบต่อแม่น้ำโขงอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้ ทั้ง 5 เขื่อน เป็นเขื่อนเพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ซึ่งประเทศไทยโดย กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจากลาวทั้ง 5 เขื่อน

ขณะที่สถานการณ์แม่น้ำโขงปีนี้ถือว่าวิกฤตหนักที่สุดในรอบ 10 ปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากการการกักเก็บน้ำของเขื่อนบนแม่น้ำโขง ส่งผลให้ระดับน้ำลดระดับอย่างรวดเร็วเฉลี่ยระดับน้ำต่ำสุดแค่ 1 เมตร ทำให้พื้นที่บางจุดเกิดหาดทรายกว้างเป็นพื้นที่กว้าง นอกจากนี้ยังเกิดน้ำนิ่ง ไม่ไหลเชี่ยว ตกตะกอนเป็นสีฟ้าครามคล้ายสีน้ำทะเล แม้จะดูสวยงาม แต่ในอีกด้านหนึ่ง คือ สัญญาณอันตรายต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขง และส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงของชุมชนริมน้ำโขง

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว