แม่น้ำโขงพังแน่! สมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ค้านลาวเดินหน้า “เขื่อนสานะคาม-เขื่อนภูงอย”

ไทยเตรียมถกลาว เช็กผลกระทบข้ามแดน สทนช. ยันรักษาผลประโยชน์ของชาติสูงสุด “ลาว” ตั้งเป้าสร้างเขื่อนกั้นโขงครบ 9 แห่ง ตามยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” มีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าขายไทยเป็นหลัก

วันนี้ (24 เม.ย. 2564) กฤษกร ศิลารักษ์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูล จ.อุบลราชธานี เปิดเผยกับ The Active ถึงกรณีที่ประเทศลาว เตรียมเดินหน้าสร้างเขื่อนกลางลำน้ำโขงเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย ว่าจะซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงที่วิกฤตอยู่แล้ว เห็นได้จากน้ำกลายเป็นสีฟ้าไร้ตะกอนดิน ระดับน้ำขึ้นลงผิดปกติไม่เป็นไปตามฤดูกาล ระบบนิเวศเริ่มรวน ปลาไม่รู้ฤดูวางไข่ บางชนิดใกล้สูญพันธุ์ ขณะที่แม่น้ำมูล ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง ก็ได้รับลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูลปิดกั้นทางเดินของปลา ทำให้อาชีพประมงเกือบสูญสิ้น นับเป็นบทเรียนว่าการสร้างเขื่อนส่งผลกระทบต่อทั้งสิ่งแวดล้อม และวิถีประมงดั้งเดิมอย่างมาก

ที่ผ่านมาแม้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผ่านกลไกที่เรียกว่า คณะกรรมาธิการแม่น้าโขง ถึงกระบวนการแจ้งการปรึกษาหารือล่วงหน้าและข้อตกลง (PNPCA) ร่วมกันหลายประเทศที่มีส่วนได้เสีย ซึ่งสมัชชาคนจนเขื่อนปากมูล ได้ส่งหนังสือคัดค้านไปในทุกการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง แต่ไม่ว่าจะเป็นเขื่อนไซยะบุรีและเขื่อนดอนสะโฮง ที่อยู่ในประเทศลาว ก็ถูกสร้างขึ้นจนเสร็จ สะท้อนว่าการรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น แต่ก็จะยื่นหนังสือคัดค้านต่อไปกับโครงการ 2 เขื่อนใหม่ที่จะสร้างเพิ่ม โดยจับตาเวทีการรับฟังความคิดเห็นที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยที่ หลังจาก เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 2564 สทนช. จัดเวทีเสวนา “ล้อมวงคนริมโขง กรณีเขื่อนสานะคาม” ณ หอประชุมโรงเรียนเชียงคาน อ.เชียงคาน จ.เลย ส่วนการรับฟังความเห็นกรณีเขื่อนภูงอยยังไม่ทราบข้อมูล 

ไทยถกลาวเช็กผลกระทบข้ามแดน 

ด้าน พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา รับทราบความคืบหน้า พิจารณาแนวทางการดำเนินการตามกระบวนการปรึกษาหารือล่วงหน้าภายใต้ระเบียบปฏิบัติ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กรณีโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนสานะคาม และโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูงอย 

ล่าสุดฝ่ายไทยได้มีการประชุมร่วมกับฝ่ายลาว และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เมื่อวันที่ 1 เม.ย. ที่ผ่านมา และได้ร่วมกันกำหนดแนวทางการดำเนินการต่อไปของกระบวนการ PNPCA 

โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สทนช. ขอรับข้อมูลที่เพียงพอจากฝ่ายลาว หรือ MRCS ต่อการประเมินผลกระทบข้ามพรมแดนของชุมชนท้ายน้ำ และการประเมินผลกระทบต่อเขตแดน เพื่อนำเสนอในกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการ PNPCA ทั้งนี้ สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะพิจารณาข้อมูลที่ประเทศลาวจะจัดส่งให้เป็นข้อมูลเพิ่มเติมแก่ประเทศไทยต่อไป

สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. ระบุจะพิจารณาถึงผลกระทบและมาตรการตามหลักวิชาการของโครงการที่เกิดขึ้นในแม่น้ำโขง จะดำเนินการอย่างรอบคอบโดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในทุกมิติ  รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างสูงสุด โดยจะมีการนำข้อมูลความคืบหน้าต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและตรงไปตรงมา

ลาวตั้งเป้าสร้างเขื่อนกั้นโขงให้ครบ 9 แห่ง

สำหรับ เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการก่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำขนาดความยาว 909 เมตร สูง 56.2 เมตร กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 684 เมกะวัตต์ เป็นเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน (run-of-river) หัวงานเขื่อนตั้งอยู่ในเขตเมืองสานะคามห่างจากชายแดนไทย-ลาว จ.เลย ราว 2 กิโลเมตร มูลค่าโครงการ 2,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (69,161 ล้านบาท) คาดว่าจะใช้เวลาก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน8 ปี

เขื่อนสานะคาม เป็นโครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 6 ของประเทศลาว หลังเขื่อนไซยะบุรี และเขื่อนดอนสะโฮง สร้างเสร็จและเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแล้ว อีก 5 แห่ง ได้แก่ เขื่อนปากแบง ปากลาย ปากชม หลวงพระบาง และสานะคาม ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผน

โครงการเขื่อนสานะคาม
แผนผังโครงการเขื่อนสานะคาม แผนผังโครงการเขื่อนสานะคาม จาก PNPCA

ส่วน เขื่อนภูงอย เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่ 7 ของประเทศลาว มูลค่า 2,400 ล้านดอลลาร์ (75,000ล้านบาท) ตั้งอยู่ทางใต้เมืองปากเซ เมืองหลวงของแขวงจำปาสัก ฝั่งตรงข้ามกับ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิตไฟฟ้า 728 เมกะวัตต์ ตามกำหนดก่อสร้างเสร็จในปี 2572 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า

เมื่อสร้างเสร็จ เขื่อนภูงอยจะร่วมผลิตไฟฟ้ากับเขื่อนไซยะบุรี เขื่อนดอนสะโฮง ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน และเขื่อนปากแบง เขื่อนปากเลย์ เขื่อนหลวงพระบาง เขื่อนสานะคาม ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการวางแผนก่อสร้าง

จากนั้นลาวจะเตรียมแผนก่อสร้างเขื่อนบานชมและเขื่อนบานกุมอีก 2 แห่ง รวมเบ็ดเสร็จลาวจะมีเขื่อนทั้งหมด 9 แห่ง เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ “แบตเตอรี่แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ซึ่งมีเป้าหมายผลิตไฟฟ้าเอามาขายให้ไทยเป็นหลัก 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS