สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ส่งข้าวช่วยบางกลอย วอนสังคมช่วยจับตารัฐ แก้ปัญหาต่อเนื่อง

สกต. ส่งข้าวช่วยชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย แนะสังคมจับตาปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนบนผืนป่าแก่งกระจาน เรียกร้องรัฐแก้ปัญหาตามแนวทาง MOU

วันนี้ (21 ก.พ. 2564) ผู้แทน สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในนามสมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือ พีมูฟ เดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยล่าง อำเภอแก่งกระจานจังหวัดเพชรบุรี เพื่อนำข้าวสาร 10 กระสอบ อาหาร น้ำ และเครื่องใช้ส่วนตัวอื่น ๆ มอบให้ชุมชน เพื่อช่วยเหลือกลุ่มชาวบ้านบางกลอยล่างที่กลับบ้านบางกลอยบน-ใจแผ่นดินตั้งแต่ช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา และให้กำลังใจชาวบ้าน พร้อมย้ำว่าสังคมกำลังจับตามองประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานอย่างใกล้ชิด

ธีรเนตร ไชยสกุล ผู้แทนสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า เขาเป็นตัวแทนมาให้กำลังใจชาวบ้านบางกลอย หลังรู้ข่าวจากสื่อต่าง ๆ ว่าชาวบ้านที่เคยถูกผลักดันลงมาจากพื้นที่ตั้งแต่ปี  2539 และปี 2554 ตัดสินใจกลับขึ้นไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ท่ามกลางความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างลำบาก เพราะการเพาะปลูกยังทำได้ไม่ดี และยังประสบปัญหาเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปผลักดันชาวบ้านให้กลับลงมาอีก โดยย้ำว่าเมื่อมีบันทึกข้อตกลงร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมาแล้ว ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันแก้ปัญหาตามแนวทางที่ตกลงกันไว้

“อย่างเจ้าหน้าที่ที่มีการพูดคุย ทำ MOU กับรัฐบาลอยู่แล้ว ก็ให้ดำเนินการตามนั้น ให้ทำตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐบาล ทางเจ้าหน้าที่จะดำเนินการอื่นใดที่นอกเหนือกว่านั้นขอให้ชะลอกันไว้ก่อน ทางเราก็ได้สังเกตการณ์อยู่ร่วมกันคิดว่าวันนี้ต้องมาเป็นกำลังใจให้พี่น้อง เราอยู่ติดตามเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2557-2558 เรารู้เรื่องความโหดร้ายในพื้นที่ความเป็นจริงในพื้นที่ที่ว่าใครอยู่ก่อน อยู่หลัง เรามองแล้วสิ่งที่เกิดขึ้นมันไม่เป็นธรรมกับพี่น้องเลย”

ธีรเนตร กล่าวต่อถึงข้อเสนอแนวทางในการแก้ปัญหา คือการหยุดมองข้ามความเป็นมนุษย์ด้วยการคืนพื้นที่ทำกินที่สามารถปลูกข้าวได้ให้ชาวบ้าน โดยการรังวัดกันแนวเขตพื้นที่ที่ชาวบ้านใช้อยู่ แล้วมีข้อตกลงร่วมกันในการดูแลรักษาป่า มีพื้นที่ให้ชาวบ้านสามารถทำการเกษตรได้อย่างเหมาะสม เพราะว่าคนเราต้องกินข้าว ต้องมีที่ทำกินดีๆ ถ้าเกิดเรามองข้ามส่วนนี้ก็เท่ากับมองข้ามความเป็นมนุษย์ของคนไป ซึ่งเราเห็นว่ามันไม่น่าจะเป็นทางออกที่ดี

“หน่วยงานที่เข้ามาโดยเฉพาะอุทยานฯ ต้องเข้ามาดู เขาอยู่ในพื้นที่มาแล้วเป็นร้อยๆ ปี ป่าก็ยังอยู่ได้ ถ้าให้เขาอยู่ไปอีก เขาก็รักษาไปอีก ในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ก็ต้องดำเนินการด้วยความเข้าใจตรงนี้ ทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมเองก็มีอนุกรรมการที่ดูแลเรื่องพี่น้องกะเหรี่ยง-ชาวเลอยู่ มันก็สามารถแก้ไขปัญหาบนโต๊ะเจรจาได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ยึดหลักการเจรจาในการแก้ไขปัญหา แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ยึดแต่กฎหมาย มันจะอยู่กันไม่ได้ สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็จะอยู่ลำบากนะ เพราะสังคมเขาจับตาอยู่ ทางพีมูฟเอง คณะราษฎร และเครือข่ายสิทธิมนุษยชนอื่นๆ เองเขาจับตาอยู่ เจ้าหน้าที่ต้องคำนึงเรื่องนี้นะครับ” 

ด้าน สุชาติ ต้นน้ำเพชร ชาวบ้านบางกลอย อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ดีใจมากจนพูดไม่ออก นอกจากจะกล่าวคำขอบคุณ ที่พี่น้องเห็นความยากลำบากของชาวบ้านบางกลอย แม้จะไม่เคยเห็นหน้ากัน ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านลำบากมากเรื่องการกิน เรื่องข้าว และจะออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่ได้

“ อยู่ที่นี่งานไม่มี ปลูกข้าวก็ไม่ค่อยขึ้น ข้าวสารขาดแคลนมาก จะออกไปทำงานข้างนอกก็ไม่ได้จากสถานการณ์โควิดเรารู้สึกดีใจที่พี่น้องได้กลับขึ้นไปบางกลอยบน ถ้าเป็นไปได้ เราอยากให้เขากลับขึ้นไปแล้วอยู่ได้ ใช้ชีวิตวิถีวัฒนธรรมแบบเดิม ส่วนใหญ่ที่เขากลับขึ้นไปเพราะที่ทำกินไม่มี สภาพข้างบนตอนนี้กำลังร้อนจัด ยังไม่มีข้าวกิน กำลังรอทำไร่ ถ้าปีนี้ทำได้ ก็จะมีข้าวกิน ” 

นอกจากนี้ยังขอให้หน่วยงานรัฐเห็นความยากลำบากของชาวบ้าน พร้อมฝากไปที่ผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องว่า ไม่ใช่เพราะชาวบ้านไม่เคารพกฎกติกา แต่เหตุผลคือชาวบ้านไม่มีกินจริงๆ ขอให้หามาตรการรองรับและเข้าใจกัน

“ได้โปรดให้ความสำคัญกับพวกเรา อยากขอบคุณผู้ใหญ่ที่เราไปคุยกับเขา แล้วเขามาคุยกับเรา อยากให้เห็นว่าเรามีปัญหาจริงๆ เราไม่ได้สร้างภาพ เราไม่ได้สร้างปัญหา แต่เราไม่มีกินจริงๆ ได้โปรดหาทางออกให้กับเรา ส่วนเจ้าหน้าที่ทุกคน อยากให้เป็นภาพที่ดี เป็นการแก้ปัญหา หาทางออกที่ดีที่สุด อยากให้เป็นครั้งสุดท้ายแล้ว เราเชื่อมั่นเพราะผู้ใหญ่ข้างบนลงมาแล้ว ก็คิดในใจ อยากให้เขามาแก้ปัญหาให้เราจริงๆ” 

ด้าน พชร คำชำนาญ คณะทำงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย จังหวัดเพชรบุรี ตั้งข้อสังเกตว่า การอพยพโยกย้ายชุมชนจากบางกลอยบน-ใจแผ่นดิน ลงมาที่บ้านบางกลลอยล่างในปี 2539 เหมือนไม่มีการเตรียมความพร้อมมาก่อน เนื่องจากข้อมูลรูปแปลงที่ดินทำกินเพิ่งปรากฏครั้งแรกในปี 2550 ซึ่งเป็นเวลาถึง 11 ปีหลังนำชาวบ้านลงมา โดยเป็นการสำรวจตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และจากการสอบถามชาวบ้าน ขณะนั้นก็ยังไม่มีการจัดเตรียมระบบสาธารณูปโภครองรับ

“พอไม่มีระบบสาธารณูปโภครองรับ ทำให้ชาวบ้านบางคนไม่สามารถทำกินได้เลยตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าเมื่อเราได้ข้อมูลทั้งหมดมาแล้ว ต้องจัดทำข้อเสนอในการจัดหาที่ดินทำกินให้ใหม่สำหรับชาวบ้านกลุ่มนี้ รวมทั้งเยียวยาเป็นค่าเสียโอกาสให้ชาวบ้าน สนับสนุนให้เขาสามารถพัฒนาพื้นที่ได้เป็นพิเศษ เพราะความยากแค้นของชาวบ้านที่ถูกย้ายมาตั้งแต่ปี 2539 เกิดจากการที่เขาไม่มีข้าวกินเหมือนตอนอยู่ใจแผ่นดิน ถ้าอยากคืนสิทธิให้เขา นอกจากจะช่วยเหลือเรื่องปัจจุบันแล้ว ควรหันกลับไปเยียวยาผลกระทบจากความผิดพลาดของรัฐเองด้วย ส่วนชาวบ้านที่อยากกลับใจแผ่นดินก็หามาตรการรองรับต่อไป ค่อยคุยกันที่กระทรวง”

ขณะที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเปิดเผยข้อมูลพื้นที่ทำกินที่สำรวจตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2562  ระบุว่าได้สำรวจพื้นที่ทำกินของราษฎรในพื้นที่บางกลอย ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานไปแล้วตั้งแต่ปี 2562 พบว่า มีราษฎรแสดงตนเข้ารับการสำรวจทั้งสิ้น 97 ราย จำนวนที่ดิน 143 แปลง โดยมีเนื้อที่ทั้งหมด 628 ไร่ มีที่ดินที่สามารถทำกินได้ 85 เปอร์เซ็นต์ และทำกินไม่ได้ 15 เปอร์เซ็นต์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูล ข้อเท็จจริงร่วมกับคณะทำงานฯ เพื่อจัดทำข้อมูลและข้อเสนอ ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมีนโยบายแก้ปัญหาที่ชัดเจนต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ