นักสิทธิฯ โต้ “วราวุธ” กรณีกะเหรี่ยงบางกลอย

“เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์” แนะ รมว.กระทรวงทรัพยากรฯ ทบทวน อย่านำอนาคตทางการเมืองมาเสี่ยง เพราะอคติของเจ้าหน้าที่ฯ

วันนี้ (11 ก.พ. 2564) เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและอดีตกรรมการปฏิรูป (คปร.) โพสต์ข้อความแสดงความเห็น ต่อกรณีที่ วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แถลงแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2564 ที่ระบุว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความเดือดร้อนของชาวกะเหรี่ยงบางกลอย มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยจำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจและการถอยคนละก้าว อีกทั้งยังระบุว่า รู้สึกสะท้อนใจกับจดหมายที่ภาคประชาชนเขียนถึง ว่าให้คืนความเป็นคนให้กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเห็นว่าผู้เขียน กำลังทำลายความเป็นคน พยายามทำให้เกิดความแตกแยก

โดย เพิ่มศักดิ์ เห็นว่า การแถลงของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องที่บอกว่าทำให้ความเป็นคนเท่ากันหมด สวนทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยยกตัวอย่างกรณีที่เคยเกิดขึ้น ทั้งการยึดอุปกรณ์ทำกิน และการเผาบ้านไล่ชุมชน รวมถึงอาจมีความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของ บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ และ ครูป๊อด ทัศน์กมล โอบอ้อม ฯลฯ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของชุมชนชาติพันธุ์ท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมในการจัดการ ซึ่งเขาเห็นว่า ความจริงที่บางกลอยเป็นเช่นนี้ หากไม่ใช่หรือไม่ตรงกับความเป็นจริง ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ โต้แย้ง จะยินดีรับฟัง

เพิ่มศักดิ์ ยังระบุว่า ในสายตาของประชาชนที่รับรู้ความจริงที่ชาวบ้านถูกกระทำ ต่างเห็นว่าการกระทำดังกล่าว คือ การทำลายความเป็นคนอย่างไร้มนุษยธรรม  

 “ขอให้ทบทวนเรื่องราวบางกลอยให้ดี ๆ เข้าถึงความจริง เพื่อจะได้ช่วยดูแลศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขาให้ได้จริงตามเจตนา อย่าเอาอนาคตทางการเมืองมาเสี่ยงกับการรับรู้มายาคติที่เกิดจากอคติของพนักงานเจ้าหน้าที่ ที่แข่งกันสร้างผลงานเพื่อตนเอง ไม่สร้างปัญหาเพิ่มขึ้นจะดีมาก และขอบคุณแทนคนบางกลอยด้วย แต่อย่าปล่อยให้พนักงานเจ้าหน้าที่แก้ไขกันเอง เพราะยิ่งจะเละเทะ”

เขายังเสนอแนะเพิ่มเติมว่า การคลี่คลายปัญหาบางกลอยให้เป็นไปอย่างสันติอย่างที่ต้องการ จะต้องเริ่มที่การปรับเปลี่ยนทัศนคติพนักงานเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ปรับวิธีคิด วิธีปฏิบัติให้ไปในทางบวกและสร้างสรรค์ คือ การฟัง การเจรจาต่อรองหาจุดร่วม ไม่ใช่ใช้แต่ความรุนแรงด้วยอำนาจ

“คนทำงานในพื้นที่เปลี่ยนไม่ยาก ทำงานให้ใกล้ชิดกับชุมชน ก็จะปรับเข้าหากันเอง แต่ผู้บริหารระดับสูงส่วนกลางนี่เปลี่ยนยาก แต่ไม่น่ายากเกินความสามารถ อย่างนี้แล้วจึงจะได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองที่ดีเพราะมีหัวใจธรรมาภิบาล”

The Active พูดคุยกรณีนี้เพิ่มเติมกับเพิ่มศักดิ์ เขาระบุว่า ต้องการให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรฯ มีความกล้าหาญ อย่าให้ถูกมองว่าไร้เดียงสาทางการเมือง แต่หากไม่กล้าตัดสินใจด้วยตนเอง ก็ให้แต่งตั้งคนอื่นมาตัดสินใจเรื่องนี้ ในรูปแบบของคณะกรรมการอิสระ หรือคณะกรรมการกลาง ที่ต้องไม่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือเป็นคู่ขัดแย้งกัน โดยต้องเป็นบุคคล หรือหน่วยงาน ที่มีความเข้าใจในมิติชุมชน วิถีชีวิตวัฒนธรรม และสิทธิมนุษยชน เข้าถึงความเป็นจริง ใช้หลักสันติวิธี ไม่ข่มขู่กดดัน ในการรับฟังความต้องการของชาวบ้าน ทั้งกลุ่มที่ต้องการกลับไปใช้ชีวิตในพื้นที่บรรพบุรุษ และกลุ่มที่จะไม่กลับขึ้นไปแล้ว เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ว่าจะมีกฎหมาย หรือกลไกใดที่ทำให้ทางเลือกข้อเสนอนั้นเป็นจริงได้ เพื่อหาทางออกร่วมกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ