สถาปนา ‘บ้านแม่ปอคี’ จ.ตาก เขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชาติพันธุ์

‘รองนายกฯ สมศักดิ์’ ย้ำ สร้างหลักประกัน “คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม” ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วมบริหารจัดการ ใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน ขณะที่ชาวบ้าน หวังยกระดับคุณภาพชีวิต อยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ลดอคติต่อชาติพันธุ์

วันนี้ (26 เม.ย. 67) สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ผู้แทนจากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) กระทรวงวัฒนธรรม ส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายฯ ร่วมกัน “สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) อ.ท่าสองยาง จ.ตาก” เป็นพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 22

อ่านเพิ่ม : ที หล่อ ก่อ ปู : ‘แม่ปอคี’ แผ่นดินถิ่นเกิด

รองนายกฯ ย้ำ หลักประกันคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมชาติพันธุ์

สมศักดิ์ กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรมได้ขับเคลื่อนแนวนโยบายฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวกะเหรี่ยง ตามมติคณะรัฐมนตรี 3 สิงหาคม 2553 มาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันได้พัฒนากลไกการดำเนินงานในรูปแบบ ‘คณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง’ โดยการประชุมของคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมาล่าสุด ได้มติเห็นชอบหลักการ และสนับสนุนแนวคิดพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ยังถือเป็นสาระสำคัญหลักใน ‘ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์’ ที่สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ……

“พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ เป็นแนวทางการ คุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรม ของกลุ่มชาติพันธุ์ โดยสนับสนุน และส่งเสริมให้ชุมชนชาติพันธุ์ในฐานะ ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม มีส่วนร่วม บริหารจัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน เกิดการพัฒนาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี พึ่งตนเองได้ บนฐานเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรม“

สมศักดิ์ เทพสุทิน

รองนายกฯ ยังระบุว่า ปัจจุบันได้ประกาศเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยงไปแล้ว 21 พื้นที่ จึงขอถือโอกาสนี้ แสดงความยินดี กับพี่น้องชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) ที่ได้ประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ลำดับที่ 22 ซึ่งเป็นหลักประกันว่า พี่น้องจะได้รับการคุ้มครองสิทธิทางวัฒนธรรมและส่งเสริมศักยภาพทางวัฒนธรรมให้มีความมั่นคงในชีวิตอย่างยั่งยืน  

“ในนามรัฐบาล พร้อมให้การสนับสนุนพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มอย่างเสมอภาค โดยใช้ทุนวัฒนธรรมเป็นพลังขับเคลื่อนให้ทุกกลุ่มวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคมที่เป็นธรรม“

สมศักดิ์ เทพสุทิน

ชูเจตนารมณ์ ดูแล รักษาผืนป่า มีส่วนร่วมพัฒนา
ตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญา ชาวปกาเกอะญอ

ขณะที่ ตัวแทนชาวปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี ได้ร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยระบุว่า พวกเราชุมชนชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) เป็นชุมชนดั้งเดิมที่มีประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่แห่งนี้มาอย่างยาวนานมากกว่า 400 ปี ปัจจุบันมีการสร้างบ้านเรือนจำนวน 41 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากร 269 คน

พวกเรามีความพร้อมและยึดมั่นในหลักการของเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกรอบแนวคิดและหลักปฏิบัติที่ส่งเสริมให้พวกเรามีความภาคภูมิในอัตลักษณ์ วัฒนธรรมและเชื่อมั่นในวิถีปฏิบัติที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษ สอดคล้องตามหลัก ‘สิทธิทางวัฒนธรรม’ และยืนยัน ‘หลักการสิทธิชุมชนดั้งเดิม’ ซึ่งเป็นผืนแผ่นดินบรรพบุรุษที่พวกเราร่วมอนุรักษ์ ดูแลรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรตามวิถีวัฒนธรรมภูมิปัญญา

“พื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนแห่งจิตวิญญาณของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) ที่บรรพบุรุษของพวกเราได้ร่วมกันปกป้อง ดูแลรักษามาเป็นเวลานาน เราขอยืนยันว่าจะสืบทอดมรดกวัฒนธรรม ‘ความเป็นปกาเกอะญอ’ ที่สะท้อนผ่านวิถีการทำไร่หมุนเวียน ความคิดความเชื่อ ภูมิปัญญา วิถีวัฒนธรรม ประเพณี การดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นมรดกภูมิปัญญาที่สร้างชีวิต สร้างความมั่นคงของทรัพยากรอย่างสมดุลและยั่งยืน ไว้เป็นสมบัติของลูกหลานของชาวปกาเกอะญอบ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย)”

พวกเราจึงขอประกาศว่า พื้นที่แห่งนี้ บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย) ต.ท่าสองยาง อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอ ลำดับที่ 22

“เราคือผู้ดูแล รักษา ผืนป่า ลำห้วย และขุนเขา มีส่วนร่วมในการพัฒนา สร้างสังคมสงบสุข ตามวิถีวัฒนธรรม ภูมิปัญญาชาวปกาเกอะญอสืบไป“

ปลดล็อกข้อจำกัด ยกระดับคุณภาพชีวิตชาติพันธุ์อย่างมีศักดิ์ศรี

ประหยัด เสือชูชีพ กลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ระบุถึงปัญหาความสำคัญของชุมชนที่ต้องได้รับการคุ้มครอง เพราะชุมชนแห่งนี้กำลังเผชิญกับความท้าทายในหลายมิติ โดยเฉพาะพื้นที่สำคัญของชุมชน อย่างป่าจิตวิญญาน 2,000 ไร่ อาจได้รับผลกระทบจากการกำหนดเป็นพื้นที่เตรียมการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติแม่เงา ซึ่งพื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าว ถือเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นพื้นที่พิธีกรรม แฝงไปด้วยหลัก และกติกาดูแลรักษาธรรมชาติอย่างเข้มงวด ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์ ทั้งการหาสมุนไพรกว่าร้อยชนิด ลดการพึ่งพาปัจจัยภายนอก พื้นที่เลี้ยงสัตว์ และเป็นพื้นที่หาอยู่หากินตามฤดูกาล เพราะพื้นที่ตรงนั้นมีน้ำถึง 7 สาย เป็นทั้งแหล่งหาปลา อาหารตามฤดูกาล กระทบต่อวิถีชีวิต จึงกังวลว่าการประกาศอุทยานฯ จะเป็นข้อจำกัดต่อโอกาสเข้าถึงสิทธิในการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านต่าง ๆ

แต่กลับกันหากชุมชนได้รับการคุ้มครองฯ สามารถรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชนไว้ ทั้งพื้นที่จิตวิญญาต รวมถึงการทำไร่หมุนเวียน ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการเก็บข้อมูลศึกษาวิจัยพบว่าการทำไร่หมุนเวียนแปลงใหญ่ของชาวบ้านเป็นการรบกวนธรรมชาติน้อยที่สุด ที่สำคัญคือง่ายต่อการบริหารจัดการและเป็นการทำงานกันแบบเครือญาติโดยการ เอามื้อ กัน ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยต้นทุนภายนอก ไม่ใช่การทำเกษตรแบบแผ้วถางเอาพื้นที่ทำกินถาวร แต่เป็นการหมุนเวียนเพื่อให้มีการพักฟื้นพื้นที่ป่าให้งอกเงยดังเดิม โดยที่ป่าไม่หายไปไหน  เป็นวิถีการจัดการและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

“คาดหวังว่าการประกาศเขตวัฒนธรรมครั้งนี้จะช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติในทางลบที่มีต่อชุมชนและก่อให้เกิดความเข้าใจในวิถีวัฒนธรรมของคนปกาเกอะญอ เกิดกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ชุมชมกำลังเดินหน้าวิสาหกิจชุมชน โดยมีผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ซึ่งเก็นผลผลิตที่ได้จากไร่หมุนเวียน ทั้งชาห่อวอ พริก งา ที่มีที่มาจากการดูแลจัดการทรัพยากร ถือเป็นการสร้างเศรษฐกิจบนฐานภูมินิเวศวัฒนธรรมชุมชน“

ประหยัด เสือชูชีพ

ยื่น 4 ข้อเสนอเร่งด่วน แก้ปัญหา ยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนแม่ปอคี

ขณะที่ ปราโมทย์ เวียงจอมทอง ตัวแทนเยาวชนบ้านแม่ปอคี ยื่นข้อเสนอต่อ รองนายกฯ สมศักดิ์ พร้อมระบุ ในฐานะที่บ้านแม่ปอคี เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) จึงขอให้รัฐบาลเร่งรัดการแก้ไขปัญหา ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก คือ

  1. ชุมชนยืนยันให้ดำเนินการกันพื้นที่เตรียมประกาศอุทยานแห่งชาติแม่เงา ออกจากพื้นที่ของชุมชนภายใต้ขอบเขตเนื้อที่ชุมชน 8,386 ไร่ เพื่อไม่ให้กระทบวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์บ้านแม่ปอคี (ขุนแม่เหว่ย)

  2. ชุมชนแม่ปอคี ขอปฏิเสธแนวทางการใช้มติ ครม. 26 พฤศจิกายน 2561 เรื่อง กรอบมาตรการแก้ไขปัญหาการอยู่อาศัย และทำกินในพื้นที่ป่าไม้ (ทุกประเภท) และยืนยันแนวทางการจัดการที่ดินและทรัพยากรโดยชุมชนในรูปแบบโฉนดชุมชน

  3. ขอให้เร่งรัดประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนับสนุน พัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชุมชน และสนับสนุนการพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

  4. ขอให้รองนายกรัฐมนตรี (สมศักดิ์ เทพสุทิน) สั่งการหน่วยงานการแก้ไขปัญหาระดับพื้นที่ที่เกี่ยวข้องใน จ.ตาก ให้ยุติการข่มขู่ คุกคามชาวบ้านชุมชนแม่ปอคี ทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการบังคับไม่ให้ชุมชนเข้าร่วมการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เกิดการแก้ไขปัญหาทางนโยบายและกฎหมาย โดยชุมชนเห็นว่าการแสดงออกทางความเห็นเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่พึงกระทำได้ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่สามารถละเมิด ริดรอนสิทธิประชาชนในการแสดงออกได้

ตั้งเป้ายกระดับ ‘บ้านแม่ปอคี’ สู่ Role Model พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์

สอดคล้องกับ อภินันท์ ธรรมเสนา ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคมและขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) บอกว่า จุดเด่นของชุมชนปกาเกอะญอ บ้านแม่ปอคี จ.ตาก มีการดำเนินการตามกระบวนการสำคัญ ตั้งแต่การทำความเข้าใจในชุมชนก่อนว่าการประกาศพื้นที่คุ้มครองเป็นยังไง  มีการตกลงกันในชุมชนเลือกเอาการประกาศพื้นที่ แล้วเริ่มทำข้อมูลพื้นที่ ว่ามีขอบเขตตรงไหนบ้าง อาณาบริเวณทั้งหมดในเชิงกายภาพ ตรงไหนเป็นพื้นที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน มีการทำข้อมูลพื้นที่สำคัญทั้งหมด ไปจนถึงการสร้างพื้นที่ทางสังคม คือสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในชุมชน เพื่อออกกติการ่วมกัน

“นอกจากภายในชุมชนแล้ว ยังมีการตั้งกรรมการที่เรียกว่ากรรมการของจังหวัดด้วย คือมีความเข้าใจรับรู้แนวทางนี้ ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด  นายอำเภอ ผู้ใหญ่บ้าน หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นกลไกในความพยายามทำให้เห็นว่าชุมชน มีกระบวนการในการจัดการร่วมกัน เพราะฉะนั้นพื้นที่นี้ จึงเป็นแบบอย่าง หรือ Role Model ที่ดีในการประกาศพื้นที่คุ้มครองฯ“

อภินันท์ ธรรมเสนา

จากนั้นผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ทั้งตัวแทนรัฐบาล พร้อมด้วยตัวแทนภาคส่วนต่าง ๆ เช่น วัฒนธรรมจังหวัด, ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด, นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด, พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด, ศึกษาธิการจังหวัด, ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน), มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ), ผู้ใหญ่บ้านชุมชนแม่ปอคี ได้ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์านแม่ปอคี

สำหรับการเดินหน้าประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ทำให้เห็นทิศทางแนวโน้วในทางบวก ทั้งการมีกลไกและกฎหมายคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ในร่างของรัฐบาล และร่างของภาคส่วนต่างๆที่กำลังเดินหน้า แสดงให้เห็นการยอมรับของฝ่ายนโยบายและภาคส่วนต่าง ๆ ที่ให้ความสำคัญต่อส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน และส่วนร่วมการพัฒนาบนฐานวัฒนธรรม

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active