ภาคประชาชน เรียกร้องรัฐบาลไทย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน ต่อโครงการทวาย

เครือข่ายติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน ชี้ ยึดอำนาจในเมียนมา ทำสิทธิมนุษยชนเปราะบาง อาจกระทบหากเร่งเดินหน้าโครงการทวาย หลัง “พล.อ. ประยุทธ์” ส่งสัญญาณเดินหน้าฟื้นสัญญาโครงการฯ

มนตรี จันทวงศ์ เครือข่ายติดตามความรับผิดชอบการลงทุนข้ามพรมแดน เปิดกับ The Active ถึงกรณีที่รัฐบาลไทยส่งสัญญาณเดินหน้า โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย หลังกองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

โดยสัญญาณดังกล่าวมาจากการแถลงของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2564 ว่า ได้มอบหมายให้ อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ไปแก้ปัญหากรณี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ได้ถูกรัฐบาลเมียนมายกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการ ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2563

รัฐบาลไทยจ่ายเงินกู้ล่าช้า เหตุยกเลิกสัญญาโครงการทวาย

มนตรี กล่าวว่า จากการติดตามข้อมูลโครงการทวายมาตั้งแต่ต้น เห็นว่าการที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ถูกยกเลิกสัญญาสัมปทานโครงการนั้น สาเหตุสำคัญมาจากการ ความล่าช้าในการจ่ายเงินกู้ ให้กับรัฐบาลเมียนมาเพื่อลงทุนก่อสร้างถนนในฝั่งเมียนมาเพื่อเชื่อมต่อกับฝั่งประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรี ทั้งที่คณะรัฐมนตรีมีมติตั้งแต่วันที่ 7 พ.ค. 2558 อนุมัติเงินกู้แล้วจำนวน 4,500 ล้านบาท และให้ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ NEDA ดำเนินการในรายละเอียดต่อไป

“โครงการนี้ ครม. ไทยก็อนุมัติไปแล้ว และทางรัฐสภาของเมียนมาก็อนุมัติด้วยแล้ว ว่าจะเอาเงินกู้ก้อนนี้ แต่ไม่รู้ว่าเพราะอะไร NEDA ถึงดึงเรื่องไว้เป็นปี แถมยังสร้างเงื่อนไขการให้เงินกู้ใหม่ แถมตอนหลังยังจะลดจาก 4,500 ล้านบาท เหลือ 3,800 ล้านบาท แล้วก็ยังบอกว่า ต้องเอามาเข้า ครม. ไทยใหม่อีก ทั้ง ๆ ที่มันผ่าน ครม.ไปแล้ว และทางเมียนมาก็รออยู่”

ส่วนอีกเหตุผลสำคัญที่มีผลทำให้โครงการนี้ไม่เดินหน้าก็คือ บริษัท อิตาเลียนไทยฯ เองก็ไม่มีเงินลงทุนเพียงพอสำหรับก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในฝั่งเมียนมา เช่น ไฟฟ้า ถนน ที่จะต้องก่อสร้างเพื่อให้มาเชื่อมต่อกับฝั่งประเทศไทยที่ จ.กาญจนบุรี เพราะสำหรับเอกชนแล้วการลงทุนในเรื่องนี้จะได้เงินคืนกลับมายาก

“ปกติการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน รัฐบาลต้องเป็นผู้ลงทุนเอง ทั้งไฟฟ้า น้ำประปา ถนน แต่ที่ทวาย บริษัทต้องลงทุนเองทั้งหมด มันก็เลยเหมือนกับติดหล่มมานาน ดังนั้น ที่ผ่านมาไม่ใช่รัฐบาลไทยไม่เดินหน้า เดินหน้ามาตลอด แต่เพราะบริษัทเองที่ยังขยับไม่ได้ จนโดนยกเลิกสัญญา”

ยอมผ่อนเงื่อนไข ไร้การตรวจสอบ : ปัจจัยเร่งเดินหน้าโครงการทวาย

มนตรี วิเคราะห์ว่า จากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา ประกอบกับกรณีที่ถูกยกเลิกสัญญา จึงเป็นไปได้ที่ทางเมียนมาอาจจะเปลี่ยนให้จีนเข้ามาทำโครงการนี้แทนรัฐบาลไทย ดังนั้น รัฐบาลไทยจึงมีแนวโน้มที่จะเจรจายอมทางเมียนมาทั้งหมด เพื่อให้ยังสามารถรักษาโครงการนี้เอาไว้ได้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว ไม่ว่าจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนรัฐบาล ก็มีสัญญาณมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ไทยพร้อมที่จะเข้าไปเจรจาเพื่อที่จะคลี่คลายข้อจำกัดที่เกิดขึ้น

ขณะที่บริษัท อิตาเลียนไทยฯ แม้จะยังติดปัญหาการเงิน แต่เนื่องจากบริษัทได้จ่ายเงินลงทุนในโครงการไปก่อนแล้วประมาณ 7 พันล้านบาท โดยเงินจำนวนนี้ เป็นเงินที่กู้มาจากธนาคาร ซึ่งหากไม่ได้ทำโครงการนี้ต่อ ก็จะทำให้เงินกู้ก้อนหนี้กลายเป็นหนี้สูญในทันที ดังนั้น บริษัทเองก็ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้ได้สัญญากลับมาเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ภายใต้สถานการณ์ใหม่ สิ่งที่เป็นไปได้คือรัฐบาลไทยอาจจะผ่อนปรนเรื่องเงินกู้มากขึ้น เช่น จากเดิมที่บอกว่าจะลดจาก 4,500 ล้านบาท เหลือ 3,800 ล้านบาท ก็จะไม่ลดแล้ว หรือแก้ไขเงื่อนไขให้บริษัทของเมียนมาเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ แทนที่จะจำกัดว่าต้องเป็นบริษัทไทยเท่านั้น

มนตรี วิเคราะห์ด้วยว่า อีกปัจจัยที่สำคัญ คือ การที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจจัดตั้งรัฐบาลในขณะนี้ ก็อาจจะทำให้การเจรจาเงื่อนไขง่ายขึ้น และภาคประชาชนเมียนมาเข้าไปตรวจสอบได้น้อยกว่าในยุคของรัฐบาลพลเรือน

“ที่บอกว่า การดีลกับรัฐบาลทหารง่ายกว่ารัฐบาลพลเรือน สาเหตุสำคัญ คือ เพราะจะทำให้ภาคประชาชนตรวจสอบได้ยากกว่า คือ เดิมจะทำอะไร ก็ยังมีภาคประชาสังคมในเมียนมาตรวจสอบอยู่ แต่พอเปลี่ยนเป็นอย่างนี้ ก็กลายเป็นหลุมดำแล้ว”

เรียกร้องรัฐบาลไทย ยึดหลักสิทธิมนุษยชน

มนตรี กล่าวว่า เมื่อเห็นสัญญาณว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าโครงการทวายต่อแน่นอน จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลยึดตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2559 ที่กำหนดให้มีการดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชนต่อโครงการดังกล่าว ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ในช่วงเวลานี้ที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในเมียนมามีความเปราะบางจากเหตุทางการเมือง

“สิ่งที่เราเป็นห่วงคือ พอยิ่งเป็นรัฐบาลทหารเข้ามาอีก การคุยเรื่องสิทธิมนุษยชนในฝั่งเมียนมาก็จะยากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลไทยต้องยึดตามมติ ครม. เมื่อปี พ.ศ. 2559 เพราะเงินกู้ที่ให้รัฐบาลเมียนมาก็มาจากรัฐบาลไทย และยังบริษัทของไทยที่จะไปลงทุน”

มนตรี กล่าวตอนท้ายว่า อยากเสนอให้รัฐบาลไทยระงับการดำเนินการทุกอย่างเอาไว้ก่อน โดยเฉพาะการให้ความช่วยเหลือด้านเงินกู้ที่ยังค้างอยู่ แล้วรอไปอีก 1 ปีตามที่รัฐบาลทหารสัญญาว่าจะคืนรัฐธรรมนูญกลับมาให้แก่ชาวเมียนมาอีกครั้ง ซึ่งการตัดสินใจของรัฐบาลไทยต่อโครงการทวายในครั้งนี้ จะเป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลเคารพสิทธิมนุษยชนมากน้อยแค่ไหน

โครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือ นอกเมืองทวาย ภาคตะนาวศรี เป็นโครงการขนาดใหญ่มากที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศเมียนมา ทั้งในมิติของพื้นที่และการลงทุน ด้วยพื้นที่เริ่มต้นโครงการที่ครอบคลุมประมาณ 250 ตารางกิโลเมตร และมูลค่าการลงทุนมากกว่า 300,000 ล้านบาท

ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษจะประกอบไปด้วยอุตสาหกรรมทุกประเภท เช่น ปิโตรเคมี โรงงานผลิตเหล็ก โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี และโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 4,000 เมกะวัตต์ รวมทั้งการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก เส้นทางเชื่อมโยงมายังประเทศไทย (ได้แก่ ถนน รถไฟ ท่อส่งน้ำมัน สายไฟฟ้าแรงสูง) และอ่างเก็บน้ำ โดยการคาดการณ์ว่าจะมีการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนจากทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการจ้างงานและการถ่ายโอนสินค้า บริการ เทคโนโลยี และองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างมหาศาล รวมถึงเกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในส่วนของพื้นที่ที่เรียกว่า “ระเบียงเศรษฐกิจทางตอนใต้” (Southern Economic Corridor)

พื้นที่โครงการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1) หมู่บ้านในพื้นที่ราบลุ่ม เป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและท่าเรือน้ำลึก (ภายในเขตเศรษฐกิจพิเศษ) และพื้นที่ใกล้เคียง 2) หมู่บ้านในพื้นที่สูง เป็นพื้นที่ถนนเชื่อมต่อ และ 3) หมู่บ้านกาโลนท่า เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำ

รายงานของสมาคมพัฒนาทวาย (Dawei Development Association – DDA) คาดการณ์ว่าในระยะเริ่มต้นของโครงการนี้มี ประชากรกว่า 43,000 คน ใน 36 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการท่าเรือน้ำลึกและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย รวมถึงโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น อ่างเก็บน้ำ (เขื่อน) และการสร้างถนนเชื่อมต่อ

ขณะที่ข้อมูลจากรายงานของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2558 ระบุผลการตรวจสอบพบว่า การดำเนินการของบริษัท อิตาเลียนไทยฯ ที่เริ่มดำเนินการในพื้นที่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ที่มีทั้งการแผ้วถางป่าในจุดที่ตั้งท่าเรือน้ำลึก การเวนคืนและอพยพประชาชนในพื้นที่โครงการ และการก่อสร้างถนนตัดผ่านภูเขาเลียบแม่น้ำตะนาวศรีระยะทาง 150 กิโลเมตร ส่งผลกระทบอย่างมากต่อประชาชนในพื้นที่โครงการและตลอดแนวเส้นทางถนนที่ตัดผ่าน ทำให้ประชาชนต้องสูญเสียที่ดินทำกินและไม่ได้รับค่าชดเชยที่เป็นธรรม และวิถีชีวิตต้องถูกเปลี่ยนแปลงไป โดย กสม. สรุปว่า การดำเนินการของบริษัทจึงเป็นการกระทำที่เข้าข่ายการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนเมียนมา

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว