คนป่วยล้นแม่ตาวคลินิก หนีภัยสู้รบจากเมียนมา

”พญ.ซินเธีย“ หวั่น สู้รบเมียนมาหนักขึ้น รับมือยอดผู้ป่วยทะลัก ยอมรับสถานการณ์แย่สุด ตั้งแต่ก่อตั้งคลินิกมา 35 ปี ห่วงหญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ติดเชื้อ HIV ขณะที่ “ผอ.ศูนย์เรียนรู้การแพทย์ชายแดน” รพ.แม่สอด เตรียมถกความช่วยเหลือ 20 มี.ค. นี้ 

11 มี.ค. 2567 ที่แม่ตาวคลินิก ชายแดนไทย-เมียนมา อ.แม่สอด จ.ตาก พญ.ซินเธีย หม่อง ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งรับรักษาชาวเมียนมาและผู้ไร้สัญชาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย เปิดเผยกับ The Active ว่าจากสถานการณ์สู้รบภายในประเทศเมียนมาส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการ เพิ่มมากขึ้น 2 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นแรงงานเมียนมาที่อาศัยอยู่ใน อ.แม่สอด อยู่แล้ว และอีกกลุ่มคือหนีภัยสู้รบเข้ามาในประเทศไทย โดยจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่เข้ามาฝากครรภ์และคลอดบุตรมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้สูงอายุที่ป่วยด้วยโรคเรื้อรังก็เข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ขณะที่อีกกลุ่มน่าห่วงคือผู้ติดเชื้อเอชไอวีตามแนวชายแดนที่ไม่มีการป้องกัน 

ซินเธีย หม่อง
พญ.ซินเธีย หม่อง เจ้าของรางวัลแมกไซไซ (รางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ) ประจำปี 2546 และผู้ก่อตั้ง ‘แม่ตาวคลินิก’

พญ.ซินเธีย บอกว่า ความสามารถในการรองรับผู้ป่วยนอก (OPD) ต่อวันรับได้อย่างเต็มที่มากสุด 350 คน แต่บางวันมีผู้ป่วยนอกที่เข้ามาใช้บริการมากถึง 400 คน​ ขณะที่มีหมอ 20 คน เป็นหมอที่รักษาจริง ๆ 10 คน ส่วนเตียงผู้ป่วยใน (IPD) มีจำนวน 140 เตียง ยังเพียงพอรองรับ ขณะผู้ที่บาดเจ็บสาหัสจากภัยการสู้รบ จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลแม่สอด 

”นับตั้งแต่ตั้งแม่ตาวคลินิกมา 35 ปี วันนี้มีจำนวนผู้ป่วยมากที่สุด จากสถานการณ์การสู้รบที่รุนแรงในพม่าที่หนักที่สุดนับจากการรัฐประหารในปี 1988  และเชื่อว่าจะหนักขึ้นไปอีก มีแนวโน้มที่จะมีผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอีก ตอนนี้รายจ่ายของคลินิกติดลบ ต้องคุยกับผู้ให้การสนับสนุน ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อขอเพิ่มเงินงบฯ สนับสนุนเพิ่มเติม“

พญ.ซินเธีย กล่าว 

ซินเธีย หม่อง

ส่วนความพยายามในการจัดตั้ง “พื้นที่ปลอดการสู้รบ” ผู้ก่อตั้งแม่ตาวคลินิก บอกว่าภายในประเทศเมียนมามีกลุ่มเอ็นจีโอที่พยายามประสานงานกับผู้นำชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ เพื่อกำหนดพื้นที่ดังกล่าว และมีสภากาชาดทั้งไทยและเมียนมา ผลักดันเรื่องนี้ เธอบอกว่า สิ่งที่ชายแดนไทยควรเตรียมพร้อมรับคือ อาหาร บุคลากร และสถานที่ เพื่อรองรับการให้ความช่วยเหลือ

มีพ่อแม่ ชาวเมียนมา จำนวนมากที่พยายามข้ามมาคลอดลูกที่ แม่ตาวคลินิก ฝั่งไทย เพื่อความปลอดภัยจากสถานการสู้รบ

รพ.แม่สอดพร้อมสนับสนุน แม่ตาวคลินิก รับมือ ชาวเมียนมา 

ด้าน ผศ.(พิเศษ) นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด​ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน จ.ตาก เปิดเผยกับ The Active ว่าได้ติดตามสถานการณ์สู้รบในประเทศเมียนมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับคนในพื้นที่รู้สึกคุ้นชิน แต่เนื่องจากแนวโน้มสถานการณ์ที่หลายฝ่ายมองว่าอาจจะเกิดการสู้รบรุนแรงมากกว่าทุกครั้ง การเตรียมความพร้อมในการรับมือ 1. ด้านการรักษาผู้บาดเจ็บสาหัส โรงพยาบาลสามารถรองรับได้ โดยในเดือนมีนาคม มีผู้บาดเจ็บ จากสถานการณ์สู้รบ ที่ถูกส่งตัวมายังโรงพยาบาลแม่สอดแล้วจำนวน 8 ราย 

รเมศ ว่องวิไลรัตน์
ผศ.(พิเศษ) นพ.รเมศ ว่องวิไลรัตน์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลแม่สอด​ จ.ตาก

2. ด้านการแพทย์ปฐมภูมิ เมื่อมีผู้อพยพเข้ามาอยู่บริเวณชายแดน หรือทะลักมาฝั่งไทยการควบคุมโรคระบาดให้น้ำหนักไปที่การให้วัคซีนพื้นฐานกับเด็ก และเก็บฐานข้อมูลไปพร้อมกัน เชื่อว่าช่วยลดจำนวนผู้ป่วยได้ในอนาคต​ 

ส่วนกรณีแม่ตาวคลินิก แม้เป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร แต่ก็ถือว่าเป็นหน่วยบริการที่อยู่ในเครือข่ายของโรงพยาบาลแม่สอด จึงให้การช่วยเหลือด้านสาธารณสุขในหลายด้าน ทั้งความรู้ ยา และเวชภัณฑ์ รวมถึง การรับส่งต่อคนไข้ ซึ่งมีแผนจะพาทีมลงพื้นที่ไปรับฟังปัญหาและความต้องการต่าง ๆ ที่แม่ตาวคลินิกวันที่ 20 มี.ค. นี้ 

เมียนมา
ญาติเฝ้าไข้ผู้ป่วยชาวเมียนมา ต่อแถวรับอาหารเย็นจาก แม่ตาวคลินิก โดยไม่ต้องเสียเงิน

บทบาทศูนย์เรียนรู้การแพทย์ฯ ชายแดน แห่งแรกของไทย

ผศ.(พิเศษ) นพ.รเมศ บอกอีกว่า พื้นที่ชายแดนแม่สอดจังหวัดชายแดน จ.ตาก ซึ่งมีความยาวกว่า 500​ กิโลเมตร โรงพยาบาลแม่สอดทำหน้าที่เหมือนเป็น Manager area ดูแลโรงพยาบาลชุมชน 5 อำเภอที่อยู่ตามแนวชายแดนได้แก่ อำเภอ แม่สอด แม่ระมาด ท่าสองยาง อุ้มผาง และอำเภอพบพระ ที่นี่เป็นโรงพยาบาลขนาด 400 เตียงรับคนส่งต่อจากโรงพยาบาลชุมชนเหล่านี้อีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นพื้นที่เหมาะสมแก่การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้การแพทย์ฯ ตามนโยบายสาธารณสุขชายแดนและพื้นที่เฉพาะ ของกระทรวงสาธารณสุข

การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุขชายแดน แห่งแรกของไทย แห่งนี้เริ่มดำเนินการมาเพียง 3 เดือน และมีการร่าง 6 หลักสูตร เพื่อเตรียมรองรับกลุ่มแพทย์และบุคลากรที่จะเข้าเรียนรู้เพิ่มเติม นอกจากนี้ยังวางแผนที่จะทำวิจัยเกี่ยวกับงานส่งเสริมป้องกันโรคบริเวณชายแดน หนึ่งในนั้นก็คือการสำรวจการให้วัคซีนแก่กลุ่มคนต่างด้าวในเขตชายแดน ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์โรค

เมื่อจัดตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้ฯ แล้วนอกจากจะมีบุคลากรหมุนเวียนมาเรียนในหลักสูตรและได้ลงพื้นที่ทำงานจริงก็จะช่วยเแก้ปัญหามีบุคลากรขาดแคลนให้เพียงพอ ดูแลทั้งคนไทยและต่างด้าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้งบประมาณจากโครงการทำวิจัยมาสนับสนุนการให้บริการสุขภาพของประชาชน ซึ่งมีผู้ป่วยนอกวันละ 1,400 คน และผู้ป่วยใน 300 คน ประมาณ 30-40 % เป็นต่างชาติ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active