กสม. นัดถก 29 มี.ค.นี้ ช่วยเหลือ 19 เด็กไร้สัญชาติ เตรียมถูกส่งกลับเมียนมา

ชี้กรณีเด็กไร้สัญชาติ 19 คน ถูกออกจากโรงเรียนกลางคัน ส่งกลับเมียนมาเสี่ยงขัดข้อกฎหมาย ขัดหลักสิทธิมนุษยธรรม ละเมิดสิทธิเด็ก หวั่นได้รับผลกระทบภัยสงคราม

จากกรณีเด็กไร้สัญชาติ 19 คน อายุ 5-17 ปี ถูกให้ออกจากโรงเรียนในจังหวัดลพบุรีกลางคัน เพื่อส่งกลับประเทศท่ามกลางภัยสงครามในเมียนมา ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าอาจไม่เป็นไปตามหลักการสิทธิมนุษยชน และอาจสวนทางกับแนวทางระเบียงมนุษยชน ของรัฐบาลที่กำลังเดินหน้าให้ความช่วยเหลืออยู่ในเวลานี้

ล่าสุดวันนี้ (25 มี.ค. 67) ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่า ตอนนี้ภาคเอกชนหรือมูลนิธิในไทยก็มีความตั้งใจให้ความช่วยเหลือ คุ้มครองสิทธิของเด็ก หวังให้เด็กได้เรียนหนังสือ ในขณะที่ภาครัฐอย่างกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศว่ามีระเบียบและข้อกฎหมายที่รองรับการช่วยเหลือเด็กไร้สัญชาติเหล่านี้ให้เรียนหนังสือได้ต่อไป

ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สำหรับข้อกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กฯ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ระบุไว้ว่า ไม่ว่าเด็กอยู่สัญชาติใด หรือไร้สัญชาติ ก็ต้องได้รับการคุ้มครอง ทั้งในเรื่องความปลอดภัย ที่พักอาศัย หรือการดูแลจิตใจ สอดคล้องกลับ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ว่า ตามกติกาสากลระหว่างประเทศว่าด้วยหลักการคุ้มครองสิทธิเด็ก ระบุว่า หากมีการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศไปแล้ว แต่ก่อให้เกิดอันตรายจะไม่ส่งกลับ

ส่วนในเรื่องระเบียงมนุษยธรรมนั้น กรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ย้ำว่า เคยออกแถลงการณ์ให้การสนับสนุน แม้ว่าตอนนี้ยังไม่ได้เป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัยก็ตาม แต่จำเป็นต้องเริ่มวางแผนกลไกการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในไทยให้ชัดเจนกว่านี้ไม่ว่าจะเป็น การมีที่พักปลอดภัย มีอาหาร และไม่มีทหารเข้ามาเกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันการทำงานของภาครัฐอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่มูลนิธิหรือภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือภายใต้การยืดถือสิทธิเด็กเป็นสำคัญ

โดยในวันที่ 29 มี.ค.นี้ กสม. จะหารือกับ พม. สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จ.เชียงราย และกรมกิจการเด็กและเยาวชน ว่าจะร่วมกันดำเนินการในการช่วยเหลืออย่างไรต่อไป

ขณะที่ นุชนารถ บุญคง ผู้ก่อตั้งมูลนิธิบ้านครูน้ำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ระบุว่า มูลนิธิบ้านครูน้ำ ได้ยื่นหนังสือให้ กสม. ตรวจสอบ เนื่องจากกังวลใจ กรณีการเตรียมส่งเด็กกลับประเทศเร็วกว่าที่ตกลงกันไว้ว่าให้เด็ก ๆ นั้น เรียนจบก่อน เพราะสถานการณ์ในเมียนมาตอนนี้ยังระอุ

ขณะเดียวกัน ก็ยังเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่มากกว่าในอดีต เช่น ปัญหา ทุนสีเทา เว็บพนัน คอลเซ็นเตอร์ การค้ามนุษย์ ยาเสพติดรุนแรงขึ้น ในทุกด้านของชายแดน ทำให้เด็กมีความเสี่ยงสูงขึ้นมาก ต่างกับเมื่อก่อนที่มีเพียงปัญหาถูกกระทำภายในครอบครัว

“ครูขอร้องให้เด็กเรียนจบ ป.1 ก่อน เพื่อให้เด็กหาที่เรียนต่อได้ง่าย ไม่อยากให้ความฝันเด็กหายไป ถ้าเด็กเรียนจบ ถูกส่งกลับมาอีก ก็มาอยู่บ้านครูน้ำก็ได้ ซึ่งตอนนี้เด็กก็พักอยู่กับบ้านพักเด็กของ พม.เชียงราย ก็ยังไม่ได้รับคำตอบเลยว่าจะเอายังไงต่อ”

นุชนารถ บุญคง

กัณวีร์ สืบแสง เลขาธิการพรรคเป็นธรรม ในฐานะกรรมาธิการส่งเสริมการเคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ให้ข้อมูลว่า มีความพยายามที่จะส่งเด็กไร้สัญชาติกลับหลายครั้ง ตั้้งแต่ปีที่ผ่านมา แต่มีปัญหาติดต่อผู้ปกครองไม่ได้ และยังคงส่งกลับมาไทยเช่นเดิม

ขณะที่ไทยมี นโยบาย และ กฎหมายหลายฉบับ เช่น กฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ที่บังคับการส่งกลับ แต่กลับไม่มอง กฎหมายที่เกี่ยวข้องการศึกษาสำหรับทุกคน ที่กำหนดให้คนสัญชาติใดก็ได้เรียนในประเทศไทยได้ จึงจำเป็นต้องมีการสะสางกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะมีความลักลั่น และยังเป็นสุญญากาศทางกฎหมาย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active