เล่นการเมืองผ่านเกม ในเทศกาลเกมแห่งประชาธิปไตย

เมื่อเนื้อหาการเมือง ถูกออกแบบให้เป็น “บอร์ดเกม-การ์ดเกม” พื้นที่แสดงออกทางสังคม-การเมือง เพราะบางเรื่องพูดไม่ได้

เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2563 สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (Friedrich Naumann Foundation) จัดกิจกรรม “เทศกาลเกมแห่งประชาธิปไตย” (Democracy Game Festival) ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร จัดแสดงผลงานด้านนวัตกรรมเกมแห่งประชาธิปไตย เช่น การ์ดเกมพลังสิทธิ การ์ดเกมรู้เท่าทันสื่อ เกม Sim Democracy เกม PeaceSoCracy บอร์ดเกม Boss Lab Board Game เกม Coconut Enpire และเกมการ์ด Bangkok’s Big Brother

เกมการ์ด Bangkok’s Big Brother เป็นหนึ่งในเกมที่นำมาเล่นในงาน ซึ่งเป็นการจำลองสถานการณ์ในช่วงที่กฎหมาย ประกาศ คสช. และกลไกหลายอย่างถูกนำมาใช้เพื่อห้ามการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันนักกิจกรรมที่ยังคงพยายามสื่อสารประเด็นทางสังคม โดยผู้เล่นจะจำลองเป็นตัวแทนจากฝ่ายต่าง ๆ เลือกลงการ์ดเพื่อต่อสู้กันทั้งด้านการจัดกิจกรรมทางการเมือง และการใช้กฎหมายเข้าควบคุม เพื่อถ่ายทอดภาพรวมสถานการณ์ในสังคม และความสนุกสนานในการเรียนรู้ โดยการ์ด 29 ใบ จะอธิบาลกลไกการทำงานในตัวเอง

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้ออกแบบเกมการ์ด และ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ ไอลอว์ ระบุว่า การ์ดเกม หรือบอร์ดเกม เป็นพื้นที่การแสดงออกทางสังคม-การเมืองอีกรูปแบบหนึ่ง เพราะบางเรื่องในสังคมพูดไม่ได้ ก็พูดออกแบบมาให้เป็นเกม ให้ง่ายต่อการสื่อสาร การสร้างความเข้าใจ ซึ่งยิ่งมีบอร์ดเกมที่บอกเล่าเรื่องราวปกติธรรมดาในสังคมมากเท่าไหร่ ยิ่งหมายความว่าในสังคมนั้นอาจจะมีการปิดกั้นการสื่อสาร ทำให้ต้องหาทางออกผ่านการเล่นเกมแบบนี้

การชุมนุมปีหน้าอาจจะชวนให้คนเอาบอร์ดเกมไปเล่นในพื้นที่ชุมนุมด้วย เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องการเมืองกันสนุกสนาน… แม้บอร์ดเกมจะสามารถเป็นหนึ่งในเครื่องมือเรียกร้องทางการเมืองได้ แต่อาจจะไม่ได้ทั้งหมด ยังต้องการเครื่องมืออื่น ๆ ในการขับเคลื่อน

ส่วน เกม Local Election ที่จัดทำโดยมูลนิธิฟรีดริช เนามัน ร่วมกับ สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย เป็นเกมที่ตั้งใจสื่อสารให้ผู้เล่นเห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ว่ามีผลต่อการพัฒนาในพื้นที่ถิ่นฐานอย่างไร และการตัดสินใจเลือกผู้นำท้องถิ่นด้วยเงื่อนไขทางนโยบาย ด้วยหวังจะให้เกิดการพัฒนาอย่างที่คนในพื้นที่ต้องการ

สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า และผู้ร่วมจัดทำเกม ระบุว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นไม่ได้เกิดขึ้นมานานหลายปี และมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขทางการเมืองมากมายที่อาจทำให้คนไปใช้สิทธิ์น้อยลง ดังนั้น จึงจัดทำเกมขึ้นเพื่อต้องการกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน หรือผู้ใหญ่ได้เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่นมากขึ้น โดยเฉพาะการเลือกตั้ง อบจ. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 20 ธันวาคมนี้

ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงทดลองเล่นเกมและปรับปรุงเพื่อให้สามารถใช้เป็นสื่อการสอน สื่อการเรียนรู้ได้ดี โดยหวังว่าจะหลังจากพัฒนาเกมเรียนร้อยแล้วจะถูกส่งไปแจกจ่ายในพื้นที่การศึกษาต่าง ๆ ให้ประชาชนได้เล่มเกมนี้ และเรียนรู้ไปพร้อม ๆ กัน เพราะหลังจากเลือกตั้ง อบจ. แล้วก็จะมีของ เทศบาล และ อบต. ต่อเนื่องกันไป ที่สำคัญที่สุดคือประชาชนจะได้เห็นว่าการบริการจัดการประเทศของรัฐบาลก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่กลไกการทำงานท้องถิ่นก็ถือเป็นส่วนสำคัญ เพราะโครงการต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในท้องถิ่นจะมีผลต่อคนในพื้นที่โดยตรง

วศิน ปั้นทอง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ มองว่า บอร์ดเกม ไม่ได้เป็นเพียงแค่เกม แต่เป็นสื่อการเรียนรู้ในหลากหลายมิติ ทั้งเรื่องรัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ หรือมนุษยศาสตร์ ทั้งยังช่วยเพิ่มทักษะการเข้าสังคมในวันที่ทุกคนมีความเป็นปัจจเจกชนมากขึ้น สำหรับหลายประเทศโดยเฉพาะตะวันตก ได้มีการใช้บอร์ดเกมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อช่วยอธิบายเรื่องยาก ๆ ให้เข้าใจง่ายมากขึ้น

นอกจากบอร์ดเกมจะช่วยทำให้เรื่องยาก ๆ เข้าใจได้ง่ายขึ้น ยังช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ในหลายมิติด้านสังคม พฤติกรรม การเคลื่อนไหว อารมณ์ความรู้สึกของผู้เล่นเอง อย่างที่ประเทศฟินแลนด์ ที่ถือว่าเป็นประเทศที่การศึกษามีคุณภาพเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ก็มีการใช้บอร์ดเกมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเราสามารถถอดบทเรียนแล้วนำมาใช้ในการเรียนรู้ของไทยได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้