“สง่า ดามาพงษ์” เรียกร้อง อบต.ดูแลอาหารกลางวันเด็ก

แนะ ใช้กลไกท้องถิ่น สร้างโภชนาการที่ดี อย่าเป็นเพียงทางผ่านงบฯ แต่ต้องสร้างความร่วมมือ โรงเรียน โรงพยาบาล และเกษตรกร เพื่อมื้ออาหารที่มีคุณภาพ พร้อมเปิดโอกาสผู้ปกครองร่วมกำหนดสิ่งที่ดีที่สุดแก่นักเรียน

การหาเสียงเลือกตั้ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่มีมากกว่า 12,309 คน ในเขตเลือกตั้งทั้ง 5,300 แห่งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นที่การนำเสนอตัวบุคคลและนโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือการพัฒนาสาธารณูปโภค

แต่มีจำนวนน้อยมาก หรือแทบไม่มีเลย ที่ผู้สมัครจะหยิบยกประเด็นเกี่ยวกับ อาหารกลางวันของเด็กนักเรียน ขึ้นมาใช้เพื่อหาเสียง ทั้งที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นั้น ต้องดูแลนักเรียนในสังกัดกว่า 727,000 คน นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมเรายังพบเจอภาพอาหารกลางวันไร้คุณภาพ ไม่เหมาะสมต่อโภชนาการของนักเรียนมาโดยตลอด

The Active สอบถามเรื่องนี้ไปยัง สง่า ดามาพงษ์ นักวิชาการด้านโภชนาการ ผู้ขับเคลื่อนและเฝ้ามองพัฒนาการด้านโภชนาการของคนไทยมาโดยตลอด โดยเขาวิเคราะห์ว่า เหตุผลที่ทำให้นักการเมืองท้องถิ่นมักไม่ชูนโยบายเรื่องนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่จับต้องได้ยาก และเกิดผลช้า ใช้เวลานาน อาจไม่ใช่สิ่งที่จูงใจให้ได้รับการเลือกตั้ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งนี้คือพื้นฐานของการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ขอบคุณภาพ วสศ.

ทางผ่านงบประมาณ แต่ขาดการบริหารจัดการที่ดี

สง่า กล่าวว่า อาหารกลางวันนั้นเป็น 1 ในอาหาร 3 มื้อ ของเด็กนักเรียน หากอาหารไม่มีคุณภาพ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาวะโภชนาของเด็ก ทำให้เด็ก ผอม อ้วน และระดับสติปัญญาอาจพัฒนาได้ไม่เต็มที่ เนื่องจากอาหารอาจมีลักษณะหวานจัด เค็มจัด และมีความมันเกินไป รวมถึงอาจปนเปื้อนสารเคมีด้วย สาเหตุสำคัญ คือ ผู้บริหารของโรงเรียนไม่เห็นความสำคัญ ในขณะที่แม่ครัวและคุณครูก็ขาดความรู้และทักษะเรื่องโภชนาการ เนื่องจากไม่ได้รับการอบรมอย่างถูกต้อง

การกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในปี พ.ศ. 2542 กำหนดให้ อปท. เข้ามามีบทบาทในการดูแลสุขภาวะของคนในชุมชน และอาหารกลางวันของนักเรียนเป็นหนึ่งในภารกิจนั้นนั้น ผ่านงบประมาณที่ท้องถิ่นได้รับจากส่วนกลาง 21 บาท/คน/วัน แต่บทบาทของท้องถิ่นในเรื่องนี้กลับเป็นเพียง ‘ทางผ่านของงบประมาณ’ เพื่อไปสู่โรงเรียน หลังจากกระจายงบประมาณแล้ว ขาดบทบาทในการเข้ามาดูแลว่าอาหารกลางวันมีคุณภาพจริงหรือไม่ สิ่งนี้เป็นจุดอ่อนที่สำคัญ

ปลุกกระแสชูนโยบายสร้างโภชนาการที่ดีในท้องถิ่น

สง่า กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นที่กำลังจะถึงนี้ควรปลุกกระแสให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง นำเรื่องการสร้างโภชนาการที่ดีนี้ไปหาเสียงด้วย ไม่เพียงแต่โครงการสร้างถนนหนทาง เสาไฟกินรี หรือสิ่งอื่นเพื่อหวังคะแนนเสียงเท่านั้น ควรมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตระยะยาวให้แก่ท้องถิ่นด้วย การลงทุนกับเด็ก ถือเป็นพื้นฐานของการสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีค่าในอนาคต

“ถ้าผมจะเป็นนายก อบต. คนต่อไป ผมจะประกาศก้องว่า ต่อไปนี้ผมจะทำให้ลูกหลานบ้านเราแก้มแดง มีสุขภาวะดี มีโภชนาการดี ไม่ผอม ไม่เตี้ย ไม่อ้วน และไม่โง่ โดยผมจะทำให้เด็กมีอาหารกลางวันที่มีคุณภาพ”

สง่า ดามาพงษ์

สง่า กล่าวว่า ท้องถิ่นต้องเข้ามามีส่วนในการส่งเสริมและสนับสนุนเรื่องนี้อย่างจริงจังมากขึ้น โดยเริ่มต้นที่การพัฒนาศักยภาพของแม่ครัว และคุณครู โดยวางนโยบายนี้ร่วมกับโรงเรียนในสังกัด อปท. ทั้งหมด และจับมือร่วมกับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต. เพื่ออบรมและวางแผนการสร้างโภชนาการที่ดี และปรับพฤติกรรมการกินอย่างถูกต้อง ทำให้อาหารมีคุณภาพมากขึ้น นอกจากนั้นอาจต่อยอดสร้างความร่วมมือกับเกษตรกรที่ปลูกผักปลอดสารพิษ ปลูกพืชอินทรีย์ให้ส่งวัตถุดิบเข้ามาที่โรงเรียน นอกจากสร้างรายได้ให้คนในชุมชนแล้ว ยังช่วยสร่างสุขภาวะให้แก่นักเรียนอีกด้วย

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม กับเรื่องนี้ด้วยผ่าน ‘คณะกรรมการสถานศึกษา’ ของทุกโรงเรียน เนื่องจากคณะกรรมการล้วนประกอบไปด้วย ตัวแทนผู้ปกครอง ปราชญ์ชาวบ้าน และผู้ที่มีความรู้ ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนกำหนดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับบุตรหลานของเขา สิ่งนี้จะสร้างความรู้สึกว่าอาหารกลางวันนั้นประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่กำหนดโดยส่วนราชการเท่านั้น

สง่า กล่าวปิดท้ายว่า แม้ตอนนี้บางท้องถิ่นจะพยายามทำเรื่องนี้อยู่บ้าง แต่ไม่มากเท่าที่ควร และโครงการที่ออกมาไม่ต่อเนื่องและจริงจัง ควรสร้างการตระหนักรู้ และประชาชนในท้องถิ่นต้องร่วมกำหนดทิศทางนี้ สะท้อนปัญหา และส่งเสียงเรียกร้อง เพื่อกระตุ้นให้ท้องถิ่นสร้างนโยบายระยะยาวให้เกิดขึ้นจริง ด้วยการเลือกผู้บริหารท้องถิ่นที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างแท้จริง


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้