ทำไมเลือกตั้ง อบต. ยังได้นักการเมืองหน้าเก่า เมื่อ ‘ความสัมพันธ์’ สำคัญกว่า ‘นโยบาย’

‘นักวิชาการ’ วิเคราะห์ผลเลือกตั้ง อบต. ยังเลือกคนใกล้ชิด เครือญาติ นักการเมืองเก่า มองปัจจัยเปลี่ยนตัวผู้บริหาร คือ คนรุ่นใหม่ และสภาพพื้นที่ เชื่อ อบต. เชื่อมโยงการเมืองระดับชาติ

ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ การเลือกตั้ง อบต. ที่เพิ่งผ่านพ้นไปนั้นผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่ประกาศออกมา หลายพื้นที่ยังเป็น ‘แชมป์เก่า’ ที่สามารถรักษาเก้าอี้เดิมเอาไว้ได้ แต่ผู้บริหารหน้าใหม่ ก็เบียดมาครองตำแหน่งได้ไม่น้อยเลยทีเดียว The Active วิเคราะห์ผลการเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อการ ‘เปลี่ยน’ หรือ ‘ไม่เปลี่ยน’ หน้าผู้บริหารคืออะไร และมีความหวังที่การเมืองท้องถิ่นจะเปลี่ยนไปในรอบนี้หรือไม่

ปัจจัยเชิงพื้นที่ – และเฟิร์สไทม์โหวต มีผลต่อการเปลี่ยนหน้าผู้บริหาร ?

ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์ ผู้อำนวยการสถาบันสัญญาธรรมศักดิ์เพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้ง อบต.เป็นสนามการเมืองที่คาดการณ์ได้ยากที่สุด เนื่องจากลักษณะเชิงพื้นที่ และภูมิสังคม ที่มีความแตกต่างหลากหลาย เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งเทศบาลที่ส่วนใหญ่เป็นชุมชนเมืองแล้ว วิธีคิดในการใช้สิทธิออกเสียงจะคาดการณ์ได้ง่ายกว่า แต่สำหรับ อบต. นั้น บางพื้นที่พัฒนาจากชนบท ไปสู่สังคมเมือง เพราะแต่เดิม อบต. เป็นพื้นที่ชนบท ปัจจัยที่มีอิทธิพลมากต่อการลงคะแนนเสียง คือความสัมพันธ์ส่วนตัว เครือญาติ และความรู้จักมักคุ้น

“รูปแบบการเลือกตั้ง อบต. ที่เห็นจากรอบนี้ คือ มีความสัมพันธ์โดยตรงกับการเมืองระดับชาติ และฐานคะแนนยังยึดโยงกับระดับจังหวัด เมื่อ อบต. ส่วนใหญ่ยังเป็นพื้นที่ชนบท ที่ให้ความสำคัญกับเครือญาติ บทบาทของหัวคะแนน และกลไกเดิมในการรักษาฐานเสียงจึงมีบทบาทสำคัญ อบต. จึงเป็นองค์กรที่เกิดความเปลี่ยนแปลงต่ำที่สุด”

ผศ.วสันต์ เหลืองประภัสร์

พัฒนาการความเป็นเมืองของ อบต. เริ่มมีสูงขึ้น มีการเข้ามาของหมู่บ้านจัดสรร หรือโรงงานอุตสาหกรรรม นำมาสู่การเพิ่มจำนวนประชากรที่ไม่มีอะไรยึดโยงกับโครงสร้างชุมชนเดิม สิ่งนี้จึงทำให้การเลือกตั้งคาดการณ์ได้ยาก และปัจจัยที่ 2 คือ จำนวนของผู้มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก หรือ FirstTime Voter ที่แม้จะมีจำนวนไม่มาก แต่ก็อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะคนกลุ่มนี้เป็นผู้ที่มีอายุ ตั้งแต่ 27 ปีลงมา จนถึงอายุ 18 ปี ซึ่งถือเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่ส่วนใหญ่มีแนวคิดที่มองไปที่นโยบาย การพัฒนา มากกว่าความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล เนื่องจากอาจเป็นวัยทำงาน หรือกำลังศึกษาอยู่นอกภูมิลำเนาของตัวเอง

สำหรับโอกาสของผู้สมัครหน้าใหม่ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งใน อบต. นั้น รอบนี้มีโอกาสสูงขึ้น เพราะ อาจมีเครือข่ายทางการเมืองที่ส่งผู้สมัครลงไปในพื้นที่ และได้ฐานคะแนนจากคนรุ่นใหม่ อีกทั้ง การเมืองในระดับ อบต. เป็นการเมืองที่มี ‘ความประนีประนอมสูง’ หมายความว่า ผู้สมัครหน้าเดิม ที่ดำรงตำแน่งมานานๆ อาจไม่ต้องการที่จะลงสมัครแล้ว จึงเป็นพื้นที่ทางการเมืองที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้สมัครหน้าใหม่

เปลี่ยนผู้บริหาร ไม่การันตีเปลี่ยนท้องถิ่น

ผศ.วสันต์ ประเมินว่า แม้เปลี่ยนหน้าผู้บริหาร อบต. ได้แล้ว ก็ไม่ได้การันตีว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดที่สำคัญ อย่างน้อย 3 ประการ คือ 1.) อำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย การวางกรอบทางกฎหมายของรัฐไทยที่เข้มงวด ศูนย์กลางอำนาจที่ผูกไว้ที่ส่วนกลาง และทำให้ท้องถิ่นเป็นเหมือนระบบราชการ ผู้นำที่คิดนอกกรอบจำนวนมาก จึงมีอุปสรรคในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ 2.) ข้อจำกัดด้านงบประมาณ โดยภาพรวมแล้ว อบต. เป็นหน่วยงานที่มีฐานะทางการคลังน่าเป็นห่วงมากที่สุด เพราะมีจำนวนพื้นที่ ต้องดูแลหลายหมู่บ้าน อีกทั้งลักษณะบริการสาธารณะที่ต้องการ เน้นไปที่ระบบชลประทาน ถนนหนทาง การขนส่งสินค้า ล้วนใช้งบประมาณมหาศาล

3.) ข้อจำกัดด้านบุคลากร ทั้งจำนวนและศักยภาพของบุคลากรประจำ เนื่องจากเส้นทางการเจริญเติบโตที่ค่อนข้างจำกัด ทำให้คนเก่ง ที่มีความชำนาญ ไม่อยากเข้ามาทำงานใน อบต. เพราะโอกาสเติบโตสูงสุด คือ ปลัด อบต. ลักษณะทั้ง 3 ประการนี้เองที่ทำให้ อบต. ทำอะไรค่อนข้างจำกัด วิสัยทัศน์ของผู้บริหาร อบต. ต่อจากนี้จึงสำคัญว่าจะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในท้องถิ่นได้อย่างไร โดยทำในสิ่งที่ตนเองพอจะทำได้ เน้นที่คุณภาพ มากกว่าปริมาณ

ผศ.วสันต์ ทิ้งท้ายว่า การเลือกตั้ง อบต. ในครั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจ คือ จะทำให้เราประเมินการลงคะแนนเลือกผู้แทนในระดับชาติได้ เพราะไม่มีการสำรวจครั้งใดที่ครอบคลุมพื้นที่ได้มากเท่าครั้งนี้ จะทำให้เห็นภาพการระดมคะแนนนิยม กลไกของหัวคะแนนในพื้นที่ว่าทำงานอย่างไร จะกลายเป็นแนวโน้มที่ปรากฎในระดับชาติได้

ยังเปลี่ยนไม่ได้ เพราะ “การกระจายอำนาจไม่สมบูรณ์”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวว่า แม้ภาพรวมในการเลือกตั้ง อบต. ชี้ให้เห็นว่า ผู้สมัครที่ดำรงตำแหน่งนายก อบต. อยู่เดิมมีเพียง ร้อยละ 53 (อ้างอิง : บีบีซี ไทย)  ส่วนอีกประมาณเกือบครึ่งเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ แต่ก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นหน้าใหม่อย่างแท้จริงทั้งหมด เพราะอาจเป็นทายาทตระกูลการเมือง เป็นเครือข่ายทางคะแนนเสียง หรือมีความสัมพันธ์กับกลุ่มการเมืองเดิม เพราะตลอดระยะเวลา 8 ปี ไม่มีการเลือกตั้ง อบต. เลย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจการเมืองท้องถิ่นในหลายพื้นที่ แต่ในบางพื้นที่เป็นเพียงการสลับตัวผู้เล่นในตระกูลการเมือง (Local Dynasty) เท่านั้น

“การเมืองระดับชาติ คนสนใจนโยบาย ตัวผู้สมัครการเมือง ระดับท้องถิ่นเล็ก เน้นความใกล้ชิด สนิทสนมมากกว่า อบต. หน้าใหม่ อาจจะไม่เคยลงสมัคร แต่เป็นตระกูลการเมืองคนหน้าเก่า 47% จึงเป็นเพียงตัวเลขของ อบต.หน้าใหม่เท่านั้น แต่ผมเชื่อว่า การเมืองท้องถิ่นยังไม่เปลี่ยนนะ เพราะ การกระจายอำนาจไม่สมบูรณ์”

รศ.ยุทธพร อิสรชัย

ขณะที่ รศ.ยุทธพร มองการเลือกตั้งรอบนี้ว่าอาจจะไม่สร้างการเปลี่ยนแปลง แม้จะมีผู้สมัครหน้าใหม่ถึง 47% ส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างการกระจายอำนาจที่ไม่เปลี่ยนไป สังคมไทยยังมีอำนาจแฝงจากส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ทำให้การเมืองระดับท้องถิ่นถูกลดทอนอำนาจ และศักยภาพอย่างที่ผ่านมา การหาเสียงในระดับพื้นที่ จะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติยังไม่มากนัก โดยมีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง คือ

1.) การกระจายอำนาจไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ แม้ อบต. จะเป็น อปท.ที่เล็ก และใกล้ชิดที่สุด แต่การจะมีบทบาททำงานเพื่อประชาชน ก็ยังมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทำให้คนส่วนหนึ่งอาจจะยังไม่เห็นความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่น เช่น การกระจายอำนาจด้าน สุขภาพ ที่ รพ.สต.ไม่สังกัดท้องถิ่น หรือระบบการศึกษาของ อปท. ที่ยังไม่สามารถจัดการศึกษาได้อย่างโดดเด่นเท่าส่วนกลาง

2.) การเลือกตั้ง อบต.ไม่เลือกตั้งล่วงหน้า และไม่ใช้สิทธิ์นอกเขต อาจจะทำให้ประชากรแฝง และคนนอกพื้นที่กลับไปใช้สิทธิ์ เป็นไปได้น้อย กกต. คณะกรรมการเลือกตั้งบอกเป็นเพราะความสับสน ผู้สมัคร แต่ละแห่งก็มีมากมาย ทำได้ยากและผิดพลาดได้ อปท.จะไม่เลือกตั้งพร้อมกัน เนื่องจากผลรัฐประหาร คสช. ได้ออกคำสั่งให้หยุดการเคลื่อนไหว หยุดการเลือกตั้งท้องถิ่น ทำให้ครั้งนี้ต้องมีการเลือกตั้งพร้อมกันทั่วประเทศ  

3.) การแบ่งเขตเลือกตั้ง อบต.ใช้เขตหมู่บ้าน ทำให้ผลการแพ้ชนะคะแนนเสียงเพียง 1-2 คะแนน มีความหมาย ชี้ขาด ผลคะแนนได้เลย มีการใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ เช่น การรู้จักมักคุ้น เป็นเครือญาติ หรือที่เราเรียกว่า หัวคะแนน เราจึงได้ยินการซื้อเสียงของ อบต. มากกว่าการเลือกตั้งระดับ ส.ส.เสียอีก 4.) ความสัมพันธ์กับการเมืองระดับชาติ ไม่ชัดเจนเท่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับใหญ่

“การเมืองระดับชาติ ให้ความสำคัญ กับ แคนดิเดตตัวนายกรัฐมนตรี และนโยบายการเมืองระดับท้องถิ่น ให้ความรู้จักกับความใกล้ชิด มากกว่านโยบาย แม้จะมีพรรคการเมืองสนับสนุนโดยไม่เปิดเผย และพยายามจะชูนโยบาย อาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จมากนักในสนามเลือกตั้งครั้งนี้”

‘ท้องถิ่น’ เวทีฝึกหัด ‘ประชาธิปไตย’ แก้โจทย์กระจายอำนาจ

การเมืองท้องถิ่น คือ เวทีที่จะให้ประชาชนใช้เป็นแบบฝึกหัดเป็นฐานสำคัญให้กับประชาธิปไตย แต่เรายังเห็นภาวะอำนาจแฝงจาก ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือองค์การบริหารส่วนจังหวัด ครอบงำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กเอาไว้ การกระจายอำนาจที่ไม่สมบูรณ์จึงไม่ลงถึงประชาชน ยังไม่อาจนำไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘จังหวัดจัดการตนเอง’

ในการเลือกตั้ง อบต. มุมมองของผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ยังเน้นหนักไปที่ปัจจัยส่วนบุคคล ที่คอยให้ความช่วยเหลือ อุปถัมภ์ท้องถิ่น แต่ในเรื่องนโยบายเป็นปัจจัยรอง อบต.ทั้ง 5,300 แห่ง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงนายกฯ แต่โครงสร้างอำนาจจะไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะการกระจายอำนาจที่ไม่สมบูรณ์ ยังคงมีการควบคุมกำกับจากส่วนภูมิภาคเหมือนเดิม การสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนเป็นโจทย์ใหญ่มากกว่าการเลือกตั้งท้องถิ่น

หากอยากให้ท้องถิ่นเปลี่ยนแปลง ต้องเปลี่ยนมุมมองการกระจายอำนาจไทย ไม่ได้มองเพียงแค่การกระจายไปให้ท้องถิ่น แต่ต้องมองถึงนโยบาย และความเข้มแข็งของประชาชนในพื้นที่ งบประมาณ การศึกษา เปลี่ยนแปลงระบบคิดราชการส่วนท้องถิ่น และประชาชนในพื้นที่จำลองแบบระบบราชการสู่ท้องถิ่น การเติบโตท้องถิ่นจึงยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้