ปรับหลักสูตรอุดมศึกษา สร้างนักศึกษาตอบโจทย์โลกแห่งอนาคต

“โลกเปลี่ยน หลักสูตรต้องเปลี่ยนตาม” ม.ธรรมศาสตร์ เน้นเรียนรู้จากประสบการณ์จริง สร้างทักษะสหวิชาชีพ และค้นหาความถนัดเฉพาะตัว

ความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ทำให้ทั้งผู้เรียน และสถาบันการศึกษาต้องปรับตัวเพื่อรองรับตลาดแรงงาน รวมถึงต้องสอดคล้องกับความสนใจของผู้เรียน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้จัดเวทีเสวนา “อนาคตอุดมศึกษา ที่ต้องตอบโจทย์ผู้เรียน” ในกิจกรรมมหกรรมวิชาการและความยั่งยืน ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

ผศ.คมน์ พันธรักษ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมส่งผลให้คนรุ่นใหม่จำเป็นต้องมีทักษะความรู้เพื่อตอบโจทย์โลกอนาคต โดยองค์ความรู้ที่จำเป็น 4 ประการ คือ 1. ทักษะในการรู้คิดแก้ปัญหา 2. การมีทักษะพัฒนาฝึกตน เรียนรู้ที่จะฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง 3. สนใจสิ่งรอบตัว และ 4. การไม่กลัวเทคโนโลยี เรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยี เรียนรู้ที่จะปรับตัวกับเทคโนโลยี และเรียนรู้ที่จะผลิตเทคโนโลยี เมื่อวิธีการเรียนเปลี่ยน ทักษะเปลี่ยน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราจะต้องมีทักษะใหม่ ๆ ในการใช้เทคโนโลยี

ทักษะอันหนึ่งที่สำคัญก็คือทักษะในการสื่อ ทักษะในการคิด เมื่อเราคิดแก้ปัญหาบางสิ่ง เราต้องมีการสื่อสาร แลกเปลี่ยนพูดคุย รับฟังและก็นำเสนอ ในสิ่งที่เราคิดเพื่อที่จะให้เพื่อนร่วมคลาสได้เห็นแล้วก็เข้าใจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของทักษะเกี่ยวกับการนวัตกรรมและความสร้างสรรค์

ด้าน เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ระบุว่า ยุคแห่งอนาคตอาจจะไม่ใช่ยุคของการหางาน แต่จะเป็นยุคที่เราสร้างงานเองได้จากสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราถนัด แม้ว่าผู้เรียนบางคนอาจจะค้นพบในภายหลังว่าสิ่งที่ตัวเองชอบไม่ใช่สิ่งที่เลือกเรียนตั้งแต่แรก ดังนั้น บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงต้องสร้างพื้นที่ผจญภัยให้กับผู้เรียน สร้างพื้นที่เรียนรู้และค้นพบตัวตน หลักการเรียนภายในมหาวิทยาลัยจึงไม่ใช่เพียงแค่การเรียนในคณะเท่านั้น แต่เป็นการเรียนตามความสนใจ ซึ่งสหวิชาชีพ จะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับยุคนี้

การที่เราผูกตัวเองไว้กับคณะหนึ่ง อาจจะไม่เหมาะ เราเริ่มต้นหนึ่งคณะเพื่อนเป็นทักษะพื้นฐาน แต่ธรรมศาสตร์ เปิดให้เราเดินทางผจญภัยใน 4 ปี เพื่อไปเติมไอเท็ม เติมออปชัน เติมประสบการณ์ให้กับนักเรียน

สอดคล้องกับ รศ.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ที่มองว่า อนาคตของสถาบันอุดมศึกษากับหลักสูตรการเรียนที่จะตอบโจทย์ผู้เรียนในอนาคต คือต้องมีการเปลี่ยนรูปแบบของห้องเรียนให้มีขนาดที่เล็กลง อาจารย์เข้าถึงผู้เรียนได้มากขึ้น เน้นการเรียนแบบ Active Learning ให้ผู้เรียนมีส่วนในการออกแบบการเรียนการสอน เพื่อให้เกิดความตื่นตัวในการเรียนรู้ เน้นการทำกิจกรรม และสรุปบทเรียนในแต่ละครั้งร่วมกัน

เราเชื่อว่าอนาคตของการออกไปทำงานจริง ถ้าเรียนรู้แต่เฉพาะในห้องเรียน เฉพาะของหลักสูตร ในรั้วมหาวิทยาลัยเท่านั้น อาจจะไม่เพียงพอ แต่การที่นักศึกษาได้มีประสบการณ์ เช่น ไปสัมผัสบรรยากาศจริงในชุมชนจริง ลงไปทำโปรดักชันจริง ๆ ในพื้นที่ จะทำให้มีประสบการณ์ที่สามารถนำไปใช้ในโลกของอนาคตได้

ผู้ร่วมเสวนายังแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า แม้ความต้องการของโลกและตลาดแรงงานเปลี่ยนไป ซึ่งนักศึกษาต้องปรับตัวตาม แต่สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือความต้องการของมนุษย์ ที่ต้องการบริโภคที่ดี ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ หากเล็งเห็นความต้องการเรื่องนี้ก็สามารถที่จะใช้ทักษะของตนสร้างผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการเหล่านั้นได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

อัญชัญ อันชัยศรี

จากทุ่งนาสู่ป่าคอนกรีต สาวอีสานผู้หลงไหลในการเดินทาง ใช้ชีวิตไปตามแรงดึงดูดของความสัมพันธ์ เชื่อว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นมันคือการคัดสรรโดยธรรมชาติ