“ขยะน้อยลง=ลดโลกร้อน”

วางแนวทางแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดการผลิตขยะจากผู้ผลิต ส่งเสริมอำนาจการเลือกบริโภครักษ์โลก และมาตรการแยกขยะ

หลายภาคส่วนตั้งวงร่วมคิดพิชิตปัญหาขยะ-โลกร้อน พร้อมเสนอแนวทางการรักษาสิ่งแวดล้อม ผ่านเวทีเสวนาใน เทศกาลความยั่งยืน (Thammasat Sustainability Festival) ณ อุทยานเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

พระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกได้อธิบายถึงความสำคัญของการกำจัดขยะและการรักษาสิ่งแวดล้อม หากพระไม่กำจัดขยะและรักษาสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับผิดพระวินัย ในทางพระสูตรหากไม่ดูแลความสะอาดก็อาจทำให้ป่วยได้ ที่วัดจากแดงได้มีแนวทางการกำจัดขยะในหลายรูปแบบ เช่น ขวดพลาสติก สามารถนำไปทำเป็นจีวรพระได้ จีวรหนึ่งผืน ใช้ขวดพลาสติก 1.5 ลิตร 15 ใบ หรือถ้าจะทำเป็นสบงก็ใช้ขวดทั้งหมด 60 ใบ ช่วยทำให้ขยะที่ไร้ค่า มีค่ากราบไหว้ได้

“หากประเทศไทยจะแก้ปัญหาขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ สร้างศรัทธา สร้างแรงจูงใจ สร้างการขับเคลื่อน หากช่วยกันจะขับเคลื่อนไปได้ เช่น ที่วัดจากแดงเริ่มจากการที่พระสนับสนุนให้ชุมชนลดการใช้ขยะหรือถุงพลาสติก ในการตักบาตรก็ชวนให้ใส่ปิ่นโตมาแทน แต่หากว่าจำเป็นต้องใช้ถุงพลาสติกหรือขวดพลาสติกวัดก็จะมีแนวทางให้สามารถนำไปกำจัดหรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ส่วนในแนวทางการสร้างนโยบายอย่างที่ประเทศอังกฤษได้มีการประกาศให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ขับเคลื่อนประเทศสีเขียว ถ้าหากสามสิ่งนี้มารวมกันก็เชื่อว่าจะสามารถจัดการขยะในประเทศไทยได้สำเร็จ”

พระมหาประนอม ธัมมาลังกาโร เจ้าอาวาสวัดจากแดง จ.สมุทรปราการ

วานิช สาวาโย ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขยะ ร้อยละ 34 เป็นขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ แต่เพราะการคัดแยกระดับครัวเรือนไม่ตระหนักจริงจังจึงทำให้มีขยะฝังกลบจำนวนมาก อีกสิ่งที่น่ากังวลคือ สัดส่วนของขยะอินทรีย์มีประมาณ ร้อยละ 64 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการรับประทานเหลือทิ้ง ซึ่งขยะประเภทนี้ ปล่อยก๊าซมีเทนอันตรายกว่า คาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 25 เท่า

ในปี 2565 ทางกรมไม่มีแนวทางที่จะลดปริมาณขยะจากพลาสติกให้ลดน้อยลงอีกโดยเฉพาะหลอดและกล่องโฟม ซึ่งต้องใช้ไม้อ่อนจนถึงไม้แข็งเพื่อสร้างความร่วมมือ เช่นเดียวกันกับการลดใช้พลาสติกในปัจจุบัน สำหรับกฎหมายต่างๆ ที่มีอยู่สามารถนำมาใช้จัดการเรื่องนี้ได้อย่างไรก็จะต้องมาทบทวน ว่าจะต้องมีการยกร่างกฏหมายใหม่มาควบคุมจัดการให้มีประสิทธิภาพ ก็เป็นอีกเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

“ยังมีความพยายามร่วมมือกับแผนงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ เพื่อหาแนวทางที่จะทำให้ประเทศไทยไม่กลายเป็นถังขยะ ที่รับซื้อขยะจากทั่วโลกมาไว้ในประเทศเรา ซึ่งคาดว่าจะมีแนวทางการจัดการอย่างชัดเจนมากขึ้นภายในปี 2564 นี้”

วานิช สาวาโย ผู้แทนกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดพลาสติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบุว่า ต้องการเรียกร้องไปยังภาคผู้ผลิต ให้ยกเลิกการใช้ single-use plastic หรือพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ตลอดห่วงโซ่อุปทาน เนื่องจากขยะพลาสติกประเภทนี้มีที่มาจากภาคผู้ผลิต ซึ่งที่ผ่านมากรีนพีซ ได้จัดกิจกรรมเพื่อเย้นย้ำถึงความสำคัญในเรื่องนี้ เช่น brand audit การสำรวจแบรนด์จากขยะพลาสติก เก็บสถิติจำนวนพลาสติกจากแบรนด์ต่าง ๆ เพื่อส่งข้อมูลไปให้กับภาคผู้ผลิตต้นทาง หวังให้เกิดความตระหนักและลดการผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง

ข้อเสนอของกรีนพีซ คือ เราอยากให้ผู้ผลิตมองว่าสินค้าของเขาไม่ได้จบลงที่ชั้นวางของ แต่มันไปไกลถึงสิ่งแวดล้อม จึงต้องตระหนักว่าแม้ วันนี้จะมีคนมาเก็บขยะ และทำให้สิ่งแวดล้อมของสถานที่บางแห่งสะอาดสวยงาม แต่นั่นไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นทาง สิ่งสำคัญคือจะต้องผลิตสินค้าโดยคำนึงถึงห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด เรานำเสนอหลักการนี้ในรูปแบบของ EPR (Extended Producer Responsibility) ส่งเสริมแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน เมื่อจะผลิตออกแบบผลิตภัณฑ์จะต้องคำนึงว่าจะต้องใช้บรรจุภัณฑ์อะไรบ้าง และสามารถที่จะลดการผลิตบรรจุภัณฑ์ที่มากชิ้นได้อย่างไร เมื่อสินค้าถึงมือผู้บริโภคแล้ว

ทางภาคผู้ผลิตจะต้องมีระบบการจัดเก็บ บรรจุภัณฑ์เหล่านั้นที่กลายเป็นขยะ โดยต้องเข้าถึงผู้บริโภคทุกคน หมายความว่าหากผู้ผลิตกระจายบรรจุภัณฑ์สู่ตลาด 100 ชิ้น มีการใช้แล้วทั้งหมดก็จะต้องนำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นขยะเหล่านี้กลับไปรีไซเคิลทั้ง 100 ชิ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังคำนึงถึงระบบกระจายสินค้าที่ช่วยลดการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น ระบบมัดจำขวด ร้านเติม ร้านรีฟิล

พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ลดพลาสติก กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้



นอกจากนี้ยังมีข้อเสนออื่น ๆ จากเวทีเสวนาดังกล่าว เช่น การเรียกร้องให้ภาครัฐปรับแก้ผังเมือง เพื่อเอื้อต่อการก่อตั้งโรงงานรีไซเคิล ให้สามารถกำจัดขยะในเมืองได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น การให้รัฐส่งเสริมให้มีการสนับสนุนเงินทุนสำหรับผู้ริเริ่มก่อตั้งธุรกิจหมุนเวียน (circular economy) เป็นต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้