ใช้พื้นที่ริมทางรถไฟคุ้มค่า เอกชนอยู่ได้ ชาวบ้านอยู่ด้วย

นักวิชาการ แนะ รัฐมองคุณค่าของพื้นที่ใช้สอย เหนือมูลค่าในการแลกเปลี่ยน ขอการรถไฟฯ อย่างเดียว คือ แบ่งพื้นที่เช่า

ถนนของการเรียกร้องที่อยู่อาศัยริมทางรถไฟ ยังพลุกพล่านไปด้วยคนจนเมืองที่เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐ จัดสรรทรัพยาการที่ดินอย่างเป็นธรรม ไม่ละเลยคนจนเมือง แรงงานคนสำคัญของกรุงเทพฯ ด้วยการแลกที่ให้นายทุน

นักวิชาการ ตัวแทนชุมชนริมทางรถไฟ และนักเคลื่อนไหวทางสังคม ร่วมเสวนา “วิถีทางชีวิตชุมชนริมทางรถไฟ ฤๅโครงการมา ถึงคราเราต้องไป?” ภายใต้ชุดโครงการเสวนาวิชาการ สิทธิที่จะมีส่วนร่วมในเมือง โดย ศูนย์ศึกษาสังคมและวัฒนธรรมร่วมสมัย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์

เชาวน์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เขตราชเทวี กทม. บอกว่า ชุมชนราชเทวี เป็นน้องใหม่ที่กำลังถูกไล่รื้อ จากการพัฒนาพื้นที่การรถไฟฯ ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งประสบปัญหาเดียวกับชุมชนริมทางรถไฟในเขตจตุจักร บางซื่อ และห้วยขวาง จึงรวมตัวกันเป็น เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) หวังสร้างพลังขับเคลื่อนการแก้ปัญหาที่ดินริมทางรถไฟ เช่นเดียวกับการต่อสู้ของเครือข่ายสลัม 4 ภาคในอดีต

“โครงการพัฒนาพื้นที่ริมทางรถไฟตามที่การรถไฟฯ กำหนดไว้กำลังเดินหน้า ระยะเวลาในการต่อรองก็สั้นลง ก่อนหน้านี้เรามีการเตรียมความพร้อม และแก้ไขปัญหาผ่าน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. แต่เราได้วางแผนเจรจาเชิงรุกมากขึ้น โดยผลักดันในการรถไฟฯ กระทรวงคมนาคม และ พอช. เซ็น MOU อยู่ร่วมกัน เพื่อให้เกิดการเยียวยาที่ดินที่อยู่อาศัยของชาวบ้านด้วยมาตรการเดียวกับมติ คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย ปี 2543 ที่ระบุให้ ชาวบ้านสามารถอยู่ในพื้นที่การรถไฟฯ ได้ผ่านการเช่าที่ในราคาถูก”

อัภยุทธ์ จันทรผา กลุ่มปฏิบัติการคนจนเมือง เล่าว่า ช่วงปี 2540 เกิดการไล่รื้อที่ดินริมทางรถไฟครั้งใหญ่ และเกิดเครือข่ายสลัม 4 ภาค เพื่อเรียกร้องสิทธิที่จะอยู่ในเมือง เรื่องจากมองว่าการไล่คนจนออกนอกเมือง ไม่เป็นธรรม เพราะคนจนคือแรงงานขับเคลื่อนเมือง แม้ว่าจะมีนโยบายสร้างที่อยู่อาศัยใหม่ในรูปแบบของอาคารสูง หรือย้ายไปอยู่แถบชานเมือง ไกลจากแหล่งงานส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาใหม่ คือการมีส่วนร่วมในเชิงนโยบาย และให้การรถไฟฯ แบ่งปันที่ดิน หรือ land sharing เพื่อให้คนจนได้เช่าที่ดินอยู่อาศัยอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ ด้วยการปรับปรุงที่ดินเดิม หรือย้ายไปอยู่ที่ใหม่ แต่ไกลจากเดิมไม่เกิน 5 กิโลเมตร เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อวิถีชีวิตเดิม

“ถ้าอาคารสูงอย่างการเคหะสงเคราะห์ หรือการย้ายไปอยู่ที่อื่น คือทางออก วันนี้คงไม่มีสลัมในเมืองไทยแล้ว เพราะการเคหะฯ เกิดขึ้นมาตั้งนานแล้ว แต่เพราะวิถีชีวิตของเขาไม่เหมาะกับการอยู่บนอาคารสูง เช่น จะทำกับข้าวกับปลาก็ไม่มีที่ทางเพียงพอ หรือหากจะไปอยู่นอนเมือง ก็ไกลจากแหล่งงานเดิม… ที่ดินทางรถไฟฯ แบ่งปันให้เอกชนเช่าได้ 20-30 ปี ทำไมจะให้เช่ากับคนจนริมทางรถไฟไม่ได้”

สอดคล้องกับ ผศ.บุญเลิศ วิเศษปรีชา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.ธรรมศาสตร์ ที่เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของผู้อาศัยริมทางรถไฟ ในพื้นที่เขตราชเทวี จำนวน 106 คน พบว่า ส่วนใหญ่มีพื้นที่ทำงานอยู่ในพื้นที่ใกล้ที่พักอาศัย ซึ่งผู้ที่ทำงานไกลบ้านเกิน 5 กิโลเมตร เพียงแค่ 2 คนเท่านั้น และเห็นได้ชัดว่า วิถีชีวิตของคนริมทางรถไฟถือเป็นแรงงานที่สนับสนุนความเป็นอยู่ของคนชนชั้นกลาง โดยยกตัวอย่าง การค้าขายในพื้นที่ริมทางเท้า ซ.เพชรบุรี 5 และในระแวกตึกใบหยก ที่มีหาบเร่แผงลอย แหล่งอาหารราคาถูก ร้านรวงเหล่านั้นมาจากผู้อาศัยในชุมชนริมทางรถไฟ ชีวิตการประกอบอาชีพของคนกลุ่มนี้ จึงสัมพันธ์กับเมืองอย่างแยกกันไม่ขาดเรียกได้ว่า “เมืองจะเจริญไม่ได้ถ้าปราศจากคนจน”

“การแก้ปัญหาการแย่งชิงพื้นที่ริมทางรถไฟ จึงควรจะท้าทายตรรกะของทุนนิยม การหารือต้องไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมแบบกลวง ๆ ไม่ควรใช้หลักคิดว่าที่ดินในเมืองมีราคาแพง ให้คนรวยเช่าดีกว่าเพราะสมประโยชน์กว่า หรือเพราะคนรวยพร้อมจ่ายแพงกว่าพี่น้องอยู่แล้ว ถ้าคิดแบบนี้คือเงินเป็นใหญ่ แต่ควรจะมองว่าที่ดินควรให้ใครใช้ประโยชน์เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนร่วมได้มากกว่า ถ้าเราไม่คิดเกมใหม่ ถ้ายังคิดหาเหตุผลในแบบทุนนิยม ใครมีเงินมากก็เอาไป ยังไงก็ไม่มีทางชนะ กล่าวคือ ควรให้คุณค่ากับพื้นที่ใช้สอย (use value) เหนือมูลค่าในการแลกเปลี่ยน (exchange value) เพราะ พี่น้องก็อยู่ในเมือง ให้ประโยชน์แก่เมืองทำไมต้องถูกขับออก”

ในวันที่ 5 ต.ค. ที่จะถึงนี้ ในโอกาสที่เป็นวันที่อยู่อาศัยโลก เครือข่ายชุมชนคนเมืองผู้ได้รับผลกระทบรถไฟ (ชมฟ.) จะเดินทางไปที่กระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้มีมติช่วยเหลือเยียวยาผู้อยู่อาศัยริมทางรถไฟ ตามข้อเสนอที่ได้กล่าวข้างต้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้