22 ก.ย. iLaw นัดยื่น 70,000 รายชื่อแก้ รธน.

เปิดเนื้อหา ร่างฯ ฉบับประชาชน เสนอ 10 ข้อ ต้องยกเลิก-แก้ไขทันที คาด ร่างพรรคร่วมรัฐบาล-ฝ่ายค้าน-กมธ. เข้าสภา 23-24 ก.ย. นี้

วันนี้ (16 ก.ย. 2563) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พร้อม เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (รรธ.) เข้ายื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อแจ้งถึงกำหนดการยื่นรายชื่อประชาชนให้รัฐสภาตรวจสอบและพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 22 ก.ย. โดยมี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร ออกมารับหนังสือ

จอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการ iLaw ระบุว่า รายชื่อของประชาชนที่เข้าชื่อมาขณะนี้สูงถึง 70,000 รายชื่อ สะท้อนถึงเจตนารมณ์ของประชาชนที่ประสงค์จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้รัฐสภาอย่าละเลยร่างฯ ที่เป็นเสียงของประชาชน โดยจะมีการเดินขบวนตั้งแต่บริเวณ MRT เตาปูน เพื่อเข้ายื่นรายชื่อทั้งหมดในวันที่ 22 ก.ย. นี้

ด้าน จีรนุช เปรมชัยพร ผู้ประสานงานเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (รรธ.) กล่าวว่า ภายหลังการแก้รัฐธรรมนูญและร่างใหม่นั้น ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมผ่าน ส.ส.ร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน มิใช่ ส.ส.ร. ที่ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน

ขณะที่ เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร อธิบายว่าภายหลังจากยื่นร่างฯ ที่ประชาชนเข้าชื่อเกินกว่า 50,000 ชื่อแล้ว จะทำการตรวจสอบว่าร่างฯ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 ข้อห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และจะอำนวยการให้เป็นไปตามสิทธิตามกฎหมายของประชาชน

ทั้งนี้ iLaw เริ่มการรณรงค์ล่ารายชื่อ “ร่วมรื้อ ร่วมสร้าง ร่วมร่างรัฐธรรมนูญ” ตั้งแต่วันที่ 7 ส.ค. โดยมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในการชุมนุมของเยาวชนและนักศึกษาหลายเวที กระทั่งวันที่ 13 ก.ย. ที่ผ่านมา iLaw ประกาศทางเฟซบุ๊กว่าได้รายชื่อครบ 50,000 รายชื่อตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และวานนี้ iLaw ได้รวบรวมรายชื่อจากจุดต่าง ๆ เครือข่ายต่าง ๆ และนับยอดจากประชาชนที่ส่งชื่อมาเข้าร่วมทางไปรษณีย์ พบว่า มีผู้เข้าชื่อแก้ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มขึ้นเกิน 70,000 คนแล้ว

เปิดเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เสนอ 10 ข้อที่ต้องยกเลิกแก้ไขทันที

เว็บไซต์ iLaw เผยแพร่ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช … (ฉบับประชาชน) ระบุว่า หนทางที่จะพาสังคมไทยออกจากความขัดแย้งได้อย่างมีความชอบธรรมมากที่สุด คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ด้วยการให้ประชาชนมีส่วนร่วมเพื่อรื้อถอนอำนาจของ “ระบอบ คสช.” และสร้างโอกาสในการกลับสู่ “ประชาธิปไตย” ให้กับสังคมไทยอีกครั้ง โดยมี 10 ข้อ ที่ต้องยกเลิกและแก้ไขทันที ดังนี้

1) ปิดทางนายกฯ คนนอก ยกเลิกมาตรา 272 ซึ่งยังเปิดทางให้สภาเสนอชื่อนายกฯ คนนอกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้ในช่วง 5 ปีที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญ 2560

2) บอกลายุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยกเลิกมาตรา 65 และ 275 ที่ คสช. แต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาเขียนแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขีดชะตาอนาคตประเทศด้วยการกำหนดให้การจัดทำงบประมาณแผ่นดิน, นโยบายรัฐบาล และการทำงานของหน่วยงานราชการต้องเป็นไปตามแผนแม่บท

3) ไม่ต้องมีแผนปฏิรูปประเทศ ยกเลิกการปฏิรูปประเทศด้วยแผนที่เขียนโดยคนของ คสช. คลายล็อคที่กำหนดให้ ครม. ต้องคอยแจ้งความคืบหน้าการทำตามแผนปฏิรูปประเทศต่อรัฐสภาทุก 3 เดือน ตัดอำนาจ ส.ว. ในการติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดแผนปฏิรูปประเทศ

4) ยกเลือกผู้บริหารท้องถิ่นแบบพิเศษ ยกเลิกข้อความในมาตรา 525 ที่ให้มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ยืนยันหลักการองค์กรที่ใช้อำนาจต้องยึดโยงกับประชาชนโดยตรง

5) พังเกราะที่คุ้มครอง คสช. ยกเลิกมาตรา 279 ที่ยังเป็นหลักประกันให้ คสช. ลอยตัว ไม่ต้องรับผิดกำหนดให้การกระทำอย่างของ คสช. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น ๆ รับรองให้ประกาศ และคำสั่งของ คสช. ยังมีผลใช้บังคับอยู่ตลอดไป

6) นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. ยกเลิกระบบบัญชีแคนดิเดตนายกฯ ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้พรรคการเมืองเสนอชื่อผู้ที่มาได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเป็นนายกฯ ได้และแก้ไขให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เท่านั้น

7) ส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน ยกเลิก ส.ว. 250 คนที่มาจากการแต่งตั้ง และแก้ไขให้ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ลดจำนวนเหลือ 200 คน และใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งการคำนวณจำนวน ส.ว. ต่อหนึ่งจังหวัดยึดระบบเดียวกันกับรัฐธรรมนูญ 2540

8) แก้กระบวนการสรรหาคนในองค์กรอิสระ ปรับกระบวนการสรรหาองค์กรอิสระจากที่ให้คนในองค์กรอิสระหมุนเวียนเก้าอี้เลือกกันเองเปลี่ยนมาเป็นกระบวนการสรรหาให้เหมาะสมตามภารกิจของแต่ละองค์กร ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่ง สรรหาตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และ กกต. ชุดแรกโดยวิธีตามรัฐธรรมนูญ 2540

9) ปลดล็อกกลไกแก้รัฐธรรมนูญ แก้ไขให้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ต้องพึ่งพาเสียงของ ส.ว. เป็นพิเศษ สามารถทำได้โดยเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาและไม่บังคับให้ต้องลงประชามติ

10) มีสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้ง ให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้ง ผู้สมัครจะลงสมัครเป็นรายบุคคลหรือกลุ่มก็ได้ ไม่ต้องเป็นพรรคการเมืองโดยต้องแถลงข้อเสนอในการเขียนรัฐธรรมนูญ ประชาชน 1 คน เลือก ส.ส.ร. ได้เพียง 1 คน หรือ 1 กลุ่ม โดยใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง ส.ส.ร. ต้องจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้แล้วเสร็จภายใน 360 วันนับตั้งแต่มี ส.ส.ร.

ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นร่างที่ 4 ที่มีการเสนอมาในขณะนี้ โดยอีก 2 ร่างเป็นฉบับของพรรคร่วมรัฐบาลและฉบับของพรรคเพื่อไทย และอีกหนึ่งร่างเป็นฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 โดยคาดว่าร่างทั้งหมดจะถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ในวันที่ 23-24 ก.ย. นี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว