“เขียนรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” ก้าวแรกสู่รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เปิดแคมเพน ชวนประชาชนเข้าชื่อ เสนอคำถามสำหรับประชามติต่อ ครม. กำหนดให้ สสร. ต้องมีที่มีจากประชาชน ​ ตั้งเป้า 50,000 รายชื่อใน 1 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2566 บริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยหลายองค์กรที่ผลักดันประเด็นเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ได้แถลงเปิดแคมเพน  “เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%” เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามสำหรับการทำประชามติต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) ​ประกอบไปด้วย จีรนุช เปรมชัยพร เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน  (iLaw)  และ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ร่วมกันออกแถลงการณ์

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า กิจกรรมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความเร่งด่วน เราทราบว่าประชาชนกำลังให้ความสนใจกับการจัดตั้งรัฐบาลช่วงนี้ ภายใต้สถานการณ์ที่ไม่แน่ชัดว่าการจับขั้วจะสำเร็จเมื่อไร เราเห็นแล้วว่ารัฐบาลใหม่มีเจตจำนงชัดเจนที่จะทำประชามติเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เป็นวาระเร่งด่วนเกินกว่าที่จะเตรียมตัวทัน แปลว่าถ้าเขาทำตามสัญญาของการจัดตั้งรัฐบาล ไม่เกินเดือนกันยายนนี้ เรารู้แล้วว่ามีประชามติหนึ่งครั้งแน่นอน

“คำถามใหญ่คือ ประชามติครั้งนี้คำถามคืออะไร ถ้าปล่อยให้รัฐบาลที่กำลังจะจัดตั้งซึ่งเป็นการผสมขั้วตั้งคำถามเอง คำถามที่ออกมาอาจจะมีปัญหา มีกลไกมีกลเกมซ่อนเล่ห์กลอยู่ข้างใน และการทำประชามติข้างหน้าจะยุ่งยาวจึงเป็นที่มาของการรวมตัวกันในวันนี้”

นันทวัฒน์ ศักดิ์สกุลคุณากร พูดถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560 ว่า พวกเรากลุ่มเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ มาจากหลายองค์กรภาคประชาชนร่วมกัน วันนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเราไม่ทบทวนปัญหารัฐธรรมนูญ 2560 ก่อน รัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มาเกือบหกปี  ถูกอ้างว่าออกแบบมาเพื่อเราหรือปราบโกงก็ตาม แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหาทั้งเนื้อหาและกระบวนการร่างที่ลิดรอนจำกัดสิทธิเสรีภาพ ตัดการมีส่วนร่วมของประชาชน อีกทั้ง ทำให้องค์กรอิสระใช้อำนาจไปทางตรงข้ามกับประชาชน อีกทั้ง ในส่วนของกระบวนการร่างไม่ว่าจะเนื้อหา บรรดาผู้ร่าง และกระบวนการตกอยู่ภายใต้ คสช.ทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อการสืบทอดอำนาจเผด็จการ

นอกจากนี้ แม้จะมีประชามติปี 2559 ก็ถูกห้ามรณรงค์ มีข้อจำกัดในการแสดงความเห็น มีประชาชนถูกจับกุมเพียงเพราะรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ประชามติครั้งนั้นที่นำมาสู่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นไปอย่างไม่เสรี และไม่อาจอ้างได้ว่าผ่านการรับรองจากประชาชน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมามีการเสนอแก้ไข แต่ก็ถูกขัดขวางโดย สว. เสมอเช่นเดียวกันกับที่ศาลรัฐธรรมนูญออกคำวินิจฉัยให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปยากขึ้นอีก

ด้าน รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล กล่าวถึงกระบวนการเสนอประชามติที่ภาคประชาชนใช้เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีขอทำประชามติพร้อมคำถามที่อยากให้ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อ ซึ่งคำถามที่กลุ่มภาคประชาชนริเริ่ม คือ

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน”

สิ่งที่ภาคประชาชนเสนอข้างต้น ตั้งใจว่าเจาะจงไปที่รัฐสภา ซึ่งมีหน้าที่อยู่ในกระบวนการขั้นถัดไป โดยรัฐสภาจะต้องมีหน้าที่ตามคำถามประชามติ นำความเห็นของประชาชนไปทำให้เกิดขึ้นจริง  เนื้อหามีสองประการ

ประการแรก การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้นต้องทำได้ “ทั้งฉบับ” ต้องไม่มีเงื่อนไขอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้

ถ้าเราไม่เขียนไว้สิ่งที่เกิดในรัฐสภา เราอาจเห็นสว. ใส่เงื่อนไขห้าม สสร.แก้หมวดองค์กรอิสระ แก้หมวดศาลรัฐธรรมนูญ แก้อำนาจคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ถ้าเกิดเป็นแบบนี้ไม่ว่าสสร.จะมาอย่างไรก็เป็นการปิดประตูปฏิรูปการเมือง เสียเวลาไปฟรี ๆ อีก ดังนั้นจึงต้องยืนยันเป็นหลักการในคำถามตั้งแต่แรก

ประการที่สอง สสร.ต้องมาจากเลือกตั้งจากประชาชน ถ้าไม่เขียนไว้เช่นกันถ้าไม่เขียนล็อกไว้ในช่องทางของรัฐสภาอาจให้สสร. มาจากการแต่งตั้งของใครก็ไม่รู้หรือมีการเก็บที่นั่งให้คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เพราะฉะนั้น คำถามจึงต้องเจาะจงให้ชัดเจน นี่คือคำถามของกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ 

จีรนุช เปรมชัยพร กล่าวแนะนำกลุ่มองค์กรที่มาวันนี้ ว่าพวกเราคือกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากหลากหลายองค์กร เพราะว่านี่ไม่ใช่เพียงแต่กลุ่ม NGOs  แต่นี่คือเรื่องของประชาชนทั้งประเทศต้องมีส่วนร่วม พวกเราคงเห็นแล้วจากการเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ว่าสุดท้ายตอนนี้จะเป็นอย่างไร แต่แน่นอนว่าประชาชนได้แสดงเจตจำนงออกมาบอกว่าเราอยากเห็นประเทศสังคมไทยเป็นอย่างไร

จีรนุช กล่าวต่อว่า นี่เป็นอีกครั้งที่ประชาชนจะต้องใช้พลังในการออกมาเริ่มต้นสร้างกติการร่วมกัน เริ่มต้นจากการเราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนใหม่ที่มาจากการร่างของประชาชนได้อย่างไร  50,000 ราย ในเวลาหนึ่งสัปดาห์เป็นเป้าหมายที่เราตั้งไว้ และเราเชื่อว่าเราจะไปถึงได้ เราเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ได้มาจากการทำงานขององค์กรใดองค์กรหนึ่งแต่เป็นการร่วมใจของประชาชนในประเทศนี้ซึ่งเราไม่พร้อมจะเห็นสังคมเป็นแบบนี้อีกต่อไป จึงอยากขอเชิญชวนให้ประชาชนพี่น้องมาร่วมลงชื่อทางช่องทางต่าง ๆ

สมบูรณ์ คำแหง กล่าวว่า ในนามของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน มีความเห็นร่วมกันที่จะสนับสนุนแคมเพนนี้ หลังจากนี้เราจะประสานเครือข่ายทุกภูมิภาคเพื่อรวบรวมรายชื่อให้ครบ 50,000 ชื่อ ภายในเจ็ดวัน เพราะฉะนั้น การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับต้องมีหลักการที่สสร. ต้องมาจากประชาชน นี่คือทางเดียวเท่านั้น การดำเนินการจะนำไปสู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้น ทุกหมวดทุกมาตราจะต้องแก้ได้ ไปจนถึงการรวมศูนย์อำนาจรัฐธรรมนูญต้องพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจที่ชัดเจน ซึ่งจะเป็นทางออกให้สังคมไทยได้ จึงขอเชิญชวนประชาชนให้มาร่วมกันลงรายชื่อ

การเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติครั้งนี้ มีเวลาถึงวันที่ 20 ส.ค. 2566 โดยมีคำถามที่จะเสนอต่อครม. คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active