‘ส่งรักให้ถึงสภาฯ’ หนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร เตรียมเสนอสภาฯ ยื่นพรรคการเมือง แสดงเจตจำนงค์สนับสนุนร่างกฎหมายฯ ยุติคดีจากการแสดงออกทางการเมือง เชื่อคืนความเป็นธรรมประชาชนทุกฝ่าย

วันนี้ (14 ก.พ. 67) ณ ลานประชาชน  รัฐสภา เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร จัดกิจกรรม ‘ส่งรักให้ถึงสภาฯ ถามหาความยุติธรรม เพื่อนิรโทษกรรมประชาชน’ โดยใช้โอกาส ‘วันแห่งความรัก’ รณรงค์เชิญชวนประชาชนร่วมแสดงความรักต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง ที่พวกเขามองว่าเป็นทั้งเพื่อน ลูกหลาน ครอบครัวของคนในสังคมที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ด้วยการลงชื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งจะปิดลงทะเบียนภายในเวลา 20.00 น. โดยล่าสุด (19.10 น.) มีผู้ร่วมลงชื่อกว่า 35,905 รายชื่อ

โดยเตรียมนำรายชื่อประชาชนสนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร พร้อมยื่นต่อพรรคการเมืองแสดงเจตจำนงค์ ความจริงใจสนับสนุน และร่วมกันโหวตร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา

กิจกรรมวันนี้ มีทั้งนิทรรศการภาพ สแตนดี้ของผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมทั้งรายชื่อของผู้ที่ถูกดำเนินคดีในกิจกรรมทางการเมือง โดยให้ผู้ร่วมงานแสดงความเห็นไปยังฝ่ายต่าง ๆ โดยเฉพาะฝ่ายการเมือง เช่น หากเห็นด้วยว่าพรรคการเมืองสามารถรณรงค์เกี่ยวกับ 112 ได้ให้แปะหัวใจแสดงความเห็นว่าเห็นด้วย หรือ การนิรโทษกรรมต้องรวม คดี ม.112 หากเห็นด้วยให้แปะหัวใจเป็นสัญลักษณ์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.20 น. ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1 มาพบกลุ่มเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร พร้อมระบุว่า การเสนอร่างกฎหมายฯ โดยประชาชนมีความก้าวหน้ามากขึ้น ประชาชนจะมีอำนาจอธิปไตยในการร่างกฎหมายเอง ขณะนี้กรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องคิดแนวทางเรื่องนิรโทษกรรม ให้มีภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาชน เข้าไปถกเถียงมากขึ้น แต่อีกด้านสถานการณ์สิทธิประชาชนไม่ได้เปลี่ยนแปลง เห็นได้จากการประชุมสภาฯ เรื่องขบวนเสด็จวันนี้ ที่ยังมีคำ เช่น หนักแผ่นดิน, ล้มเจ้า หรือการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ฝ่ายตรงข้ามอยากให้มีเหตุการณ์ 6 ตุลาเกิดขึ้นอีก ส่วนตัวอยากให้สร้างบทสนาที่เกิดสันติภาพมากกว่า พร้อมฝากถึงทุกฝ่าย รวมถึงฝ่ายอนุรักษ์ สามารถใช้พื้นที่ลานประชาชนจัดกิจกรรม ยินดีรับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย

ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาฯ คนที่ 1

ขณะที่ การเสวนาหัวข้อ ‘ปัญหาและผลกระทบจากการดำเนินคดีทางการเมือง’ มีตัวแทนครอบครัวของผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง, ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการด้านกฎหมาย ได้นำเสนอภาพรวมของการดำเนินคดีทางการเมือง ตั้งแต่ปี 2557 พบว่า มีคดีติดค้างจากคำสั่ง คสช. และ พ.ร.บ.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มากกว่า 1,000 คดี ที่อ้างว่าไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งการนิรโทษกรรม ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นในระยะเปลี่ยนผ่าน คือการเยียวยาจิตใจทั้งผู้ต้องหา คนที่แวดล้อม ทั้งคนที่เป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือครอบครัว ที่เหมือนโดนขังทางใจไปด้วย

รวมถึงเมื่อพ้นโทษแต่ยังเสียประวัติ สมัครงาน หรือใช้ชีวิตยากลำบาก ทั้งนี้ที่ผ่านมาบุคคลสำคัญทางการเมืองหลายคน ก็เคยได้รับโอกาส หรือผ่านกระบวนการในการประนีประนอมทางการเมือง ดังนั้นควรประนีประนอมให้กับประชาชน เยาวชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมด้วยการนิรโทษกรรมประชาชน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ ilaw ในฐานะตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร ระบุว่า เนื้อหาและสาระสำคัญของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน จะนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการแสดงออก และการชุมนุมทางการเมือง ครอบคลุมตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ทุกคนไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย 

ส่วนความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในทันที เช่น คดีความผิดตามประกาศและคำสั่ง คสช., คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557, คดีตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และ คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับกรณีต่าง ๆ ที่ระบุไว้ข้างต้น

แม้ว่าจะรวมคดีตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ตัวแทนเครือข่ายประชาชนที่เสนอกฎหมาย ย้ำว่า ไม่ได้เป็นการเสนอเพื่อเป็นการแก้ไขกฎหมาย

“วันนี้ข้อเสนอนิรโทษกรรมไม่ได้แตะต้องตัวบทกฎหมาย มาตรา 112 ยังเขียนเหมือนเดิม กฎหมายต่าง ๆ ใช้ดำเนินคดีทางการเมืองใช้เหมือนเดิม วันนี้เราเสนอแค่ยุติการดำเนินคดีทางการเมือง เพราะว่าเราเห็นว่าการดำเนินคดีทางการเมืองที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นไปเพื่อบังคับใช้กฎหมายปกป้องสังคม แต่เป็นไปเพื่อเจตนารมณ์ทางการเมืองในการปิดปาก การแสดงออกเพื่อรักษาฐานอำนาจทางการเมืองของรัฐบาลที่แล้วที่หมดอำนาจไปแล้ว ดังนั้นการดำเนินคดีไม่ได้มีประโยชน์อะไรอีกต่อไป“

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ 

ยิ่งชีพ ย้ำว่า ร่างกฎหมายฯ นี้จะยกเว้นไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการใด ๆ ที่เกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา การกระทำ มาตรา 113 หรือความผิดฐานเป็นกบฏ ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ

โดยเครือข่ายฯ เตรียมนำรายชื่อประชาชนที่สนับสนุนร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน เสนอต่อสภาผู้แทนราษฏร และจะยื่นให้พรรคการเมืองแสดงเจตจำนงค์ ความจริงใจสนับสนุน และร่วมกันโหวตร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งล่าสุด มีพรรคการเมืองที่ตอบรับร่วมกิจกรรมในวันนี้ เช่น พรรคก้าวไกล, พรรคประชาชาติ และ พรรคเพื่อไทย คาดหวังว่า หากทุกพรรคการเมืองสนับสนุน ก็จะเป็นการย้ำความสำคัญต่อเสียงของประชาชนที่อยากเห็นการแก้ไขปัญหานี้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active