“ไม่ยัดข้อหา – สร้างความเข้าใจ”

นักวิชาการ-แกนนำเยาวชน แนะเปิดหู เปิดไมค์ พูดกันอย่างเข้าใจ คือ ทางออกความขัดแย้ง ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (25 ส.ค. 2563) คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “เข้าใจคนรุ่นใหม่ ท่ามกลางโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง” มีตัวแทนเยาวชนจากหลายพื้นที่และนักวิชาการจากหลายสถาบัน ร่วมอธิบายปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวทางการเมืองของกลุ่มประชาชนปลดแอก และแนวทางการแก้ปัญหาความขัดแย้งจากความแตกต่างของวัยและจุดยืนของคนในสังคม

ผศ.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า บริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปมีผลต่อความคิดของคนยุคใหม่ คือ 1. การกล่อมเกลาแบบเสรีนิยม (Liberal Socialization) ได้รับการศึกษา สั่งสอนที่ให้เสรีภาพทางความคิด และการแสดงออก 2. โลกที่ผันแปร รุนแรง และรวดเร็ว (Disruptive World) ปัญหาเศรษฐกิจ โรคระบาด ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ฯลฯ กดทับคนบางกลุ่ม และ 3. เทคโนโลยี เครือข่ายสังคมออนไลน์สร้างพื้นที่ของการรวมตัว แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารรอบด้าน

“3 สิ่งนี้เปลี่ยนแปลงจากในอดีต ผลิตคนรุ่นใหม่แบบนิวนอร์มัล ขณะที่ 2 สิ่งซึ่งไม่เปลี่ยน คือ สถาบันการศึกษา และรัฐบาลที่ยังใช้อำนาจในการจัดการ เป็นโจทย์ใหญ่ในสังคมไทย เมื่อคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ปะทะกัน ต้องเข้าใจว่าเด็กเหล่านี้เกิดมาในยุคที่สังคมเรียกร้องความสร้างสรรค์ แตกต่าง กล้าแสดงออก กล้านอกกรอบ การทำความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น จึงเป็นความท้าทาย”

ด้าน ผศ.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เล่าว่า ก่อนนอนทุกคืนจะเปิดคลิปการชุมนุมปราศรัยของเยาวชนและกลุ่มประชาชนปลดแอก เพื่อทำความเข้าใจความคิด ความเชื่อ และความตั้งใจ ว่าคนรุ่นนี้มาทำไม ต้องการอะไร โดยมองว่าการรับฟังอย่างตั้งใจ และปราศจากอคติ ช่วยสร้างความเข้าใจต่อกัน และที่สำคัญการชุมนุมครั้งนี้ คือ อีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

“การเคลื่อนไหวของเยาวชนที่ผ่านมา (16 ส.ค. 2563) เป็นการเรียกร้องประชาธิปไตยในกลุ่มเยาวชนที่คึกคักที่สุดในรอบ 50 ปี และไปไกลกว่า 14 ตุลาฯ เพราะเกิดการชุมนุม หลายพื้นที่ หลายรุ่น หลายวัย ผมเชื่อว่า คนที่วิพากษ์วิจารณ์กลุ่มเยาวชนส่วนใหญ่ไม่ได้รับฟังเด็กโดยตรง เป็นการฟังจากสื่อ ฟังจากที่คนอื่นเล่ามาอีกที ซึ่งอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง อยากให้ฟังเด็ก ๆ อย่างเปิดใจ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยก็ได้ แต่ขอให้ฟังและเรียนรู้ไปกับเขา เพราะการที่ฟังเขาพูดจะรู้ว่าเด็ก ๆ ออกมาช่วยเราเลคเชอร์เรื่องประชาธิปไตย เรื่องสังคมที่เขารู้จัก เข้าใจ และพบเจอ”

ส่วน ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี ผู้ก่อตั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก ยังระบุว่า จุดยืนของกลุ่มประชาชนปลดแอกยังไม่เปลี่ยน ยืนอยู่บนฐานการเรียกร้องทั้ง 3 ข้อ คือ 1. หยุดคุกคามประชาชน ทั้งทางกายภาพ จิตวิทยา และกฎหมาย 2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญและให้ประชาชนมีส่วนในการร่างใหม่ และ 3. ให้ยุบสภา และดำเนินการตั้งรัฐบาลใหม่ภายใต้กติกาที่เป็นธรรม โดยเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสังคมเกิดขึ้นได้ ด้วยการหันหน้าเข้าหากัน

“สังคมอาจตั้งคำถามว่าทำไมเด็กยุคนี้ถึงเกรี้ยวกราด พวกเขาถูกกดทับด้วยระบบอำนาจนิยมในครอบครัว โรงเรียน เมื่อเขาได้สื่อสารข้อเสนอความคิด ความต้องการของตัวเองแล้วถูกเพิกเฉย หรือเมื่อมีการเรียกร้องก็ถูกเจ้าหน้าที่ดำเนินการทางกฎหมายเพื่อใช้คดีความกดดัน ดังนั้น บรรยากาศของการพูดคุยจึงต้องไม่เป็นการยัดข้อหา ก่อนอื่นจึงต้องหยุดวิธีการแบบนี้ก่อน แล้วทำความเข้าใจคุยกันดี ๆ ส่วนเด็ก ๆ เองก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ด้วยว่าเข้าได้รับการหล่อหลอมมาแบบไหน จึงทำให้มีความคิดแบบนั้นแบบนี้”

เช่นเดียวกับ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าโครงสร้างทางสังคมต้องเปลี่ยน เพื่อให้โอกาสทุกคนได้มีสิทธิพูดและออกแบบสังคมที่เขาต้องการ รวมถึงตัวแทนเยาวชนจากจังหวัดตรัง พัทลุง และจังหวัดอื่น ๆ ที่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการให้ประชาธิปไตยแบ่งบานในทุกหย่อมหญ้า เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนทุกกลุ่ม

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้