ปลดล็อก Workflow ช่วยชีวิต หยุดคนตาย

: เสียงจากอาสาสตาร์ทอัพ “เป็ดไทยสู้ภัย” | ก้อง – พณชิต กิตติปัญญางาม

เป็ดไทยสู้ภัย

โควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้ผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มจำนวนขึ้นมาก มีอาการปอดอักเสบรุนแรงและทำให้อาการทรุดอย่างรวดเร็ว

การประกาศสงครามกับโควิด-19 รอบนี้จึงไม่ง่าย…

ทุกนาทีของการช่วยชีวิตเต็มไปด้วยข้อจำกัด ความขาดแคลน และติดล็อกกฎระเบียบ ทำให้ “การตรวจหาเชื้อทำได้(ไม่)เร็ว การรักษาที่(ไม่)ทันท่วงที และวัคซีนมี(ไม่)เพียงพอ” สังคมไทยจึงเดินมาถึงจุดที่มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยหลักร้อยคนในแต่ละวัน หรือ เสียชีวิตราว 6 คน ต่อ 1 ชั่วโมง

แม้เรื่องของยาฟาวิพิราเวียร์ ชุดตรวจเชื้อด้วยตัวเอง (Antigen test kit – ATK) ระบบ Home isolation และ Community isolation จะถูกปลดล็อกมากขึ้น แต่ปัญหาคอขวดเรื่องเตียงเต็ม และผู้ป่วยในระดับสีเหลือง ที่ไม่ได้ยา และการรักษาที่ทันท่วงที ปัญหาผู้เสียชีวิตหลักร้อยรายวัน ไม่มีทางยุติลงได้เลย…

“…สถานการณ์โควิด-19 เวลานี้ เสียชีวิตเฉลี่ย 6 คน ต่อ 1 ชั่วโมง ผู้ติดเชื้อรายใหม่หลักหมื่น จะมี 2,000 คน อยู่ในเกณฑ์ผู้ป่วยสีเหลือง แล้วหาเตียงไม่ได้ และต้องนอนรออยู่ที่บ้าน ตรงนี้ต่างหากที่เราต้องโฟกัสเพื่อรักษาชีวิต…”

พณชิต กิตติปัญญางาม หัวหน้าทีมเป็ดไทยสู้ภัย
“ก้อง – พณชิต กิตติปัญญางาม” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีม เป็ดไทยสู้ภัย

The Active คุยกับ “ก้อง – พณชิต กิตติปัญญางาม” ผู้ก่อตั้งและหัวหน้าทีม เป็ดไทยสู้ภัย ซีอีโอบริษัทสตาร์ทอัพด้านการแปลงข้อมูลดิจิทัล แอ็คโคเมท (ZTRUS) ที่จะมาชวนเปลี่ยนโฟกัส เน้นรักษาชีวิตผู้ป่วยสีเขียวเข้มและสีเหลืองไม่ให้อาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตอีก

เขาเน้นย้ำว่า “การประกาศสงครามกับโควิด-19 จำเป็นต้องมีความเชื่อมั่นระหว่างรัฐ เอกชน ประชาชน และช่วยกันปลดล็อกเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือรักษาชีวิต”

เสียชีวิตเฉลี่ย 6 คน/ชั่วโมง เปลี่ยนโฟกัสช่วยผู้ป่วยสีเหลือง

พณชิต เล่าสถานการณ์ปัญหาที่ผ่านมา พบว่า กว่าที่ผู้ป่วยจะรู้ว่าตัวเองติดเชื้อโควิด-19 ก็ต้องรอผลตรวจนานถึง 72 ชั่วโมง นี่เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผู้ป่วยอาการรุนแรงเปลี่ยนจากสีเขียวเข้มเป็นสีเหลืองได้ จากภาพนี้จะเห็นชัดว่า ผู้ป่วยเริ่มมีอาการตั้งแต่วันที่ 3 แต่กว่าผลตรวจจะออกก็วันที่ 7

กว่าจะได้เตียง ได้รับการรักษาก็เข้าสู่วันที่ 10 ซึ่งเลยเวลาเหมาะสมที่ควรจะได้รับยา

“ยาที่ดีควรจะได้รับประมาณ 3 วันแรก และไม่เกิน 7 วัน จึงจะมีโอกาสหยุดเปลี่ยนสีจาก เขียว เป็น เหลือง”

แต่ข้อจำกัดหนึ่ง คือ ยา มีผลต่อตับ อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่หมอยังไม่ใช้แนวทางการให้ยาตั้งแต่เริ่มมีอาการ กว่าจะได้รับยา ผู้ป่วยก็ถูกเปลี่ยนจากเขียวเป็นสีเหลืองแล้ว โอกาสที่จะกลายเป็นแดงและเสียชีวิตก็สูงขึ้นตามมา

ดังนั้น โจทย์ใหญ่เวลานี้ คือ ต้องเร่งเคลียร์ผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงให้เร็วที่สุด ช้าเมื่อไรคือเสียชีวิต

วิธีการเคลียร์ผู้ป่วย 2 สี คือ 1) ให้ยาเร็ว 2) ตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง 3) เพิ่มตัวเลือกให้คนเข้าถึงยาที่ใช้รักษา

เขาแนะนำให้รัฐและเอกชน ระดมเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลือง ให้ยาระวังอาการผู้ป่วยสีเขียวเป็นเหลือง เพิ่มเตียงสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง เพิ่มเครื่องเครื่องออกซิเจนไฮโฟลว์ (Oxygen High Flow) เพื่อหยุดผู้ป่วยสีเหลืองไม่ให้เป็นสีแดง

“แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากเอกชนช่วยเพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลืองได้สัก 5,000 เตียง ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้มาก”

Start Up พัฒนาเทคโนโลยีฝ่าวิกฤต

สถานการณ์โควิด-19 ที่วิกฤตมากขึ้นและมีปัญหาคอขวดเตียงไม่พอ ทำให้สตาร์ทอัพหลายกลุ่มปรับตัวรับมือวิกฤตรอบใหม่อย่างชัดเจน อย่าง เป็ดไทยสู้ภัย ที่เริ่มก่อตัวในช่วงมีนาคม 2563 (ช่วงเฝ้าระวังโควิด-19 จากอู่ฮั่น) จากเดิมที่ช่วยแบ่งเบาภาระแพทย์พยาบาล ประเมิน PUI คัดกรองคนเสี่ยงไปตรวจ ปรับตัวมาช่วยคัดกรองข้อมูลเรื่อง ระดับสีของผู้ป่วย เพื่อส่งไปในทางที่ถูก ตามไกด์ไลน์ของกลุ่มเสี่ยง เช่น 1) กลุ่มคนที่มีอายุ 60 ปี 2) น้ำหนักเกิน 90 กก. 3) BMI มากกว่า 30 4) กลุ่มเสี่ยง 7 โรค 5) ค่า O2 ต่ำกว่า 96 ฯลฯ

‘ก้อง พณชิต’ ระบุว่า การตรวจแต่ละครั้ง ในจำนวนผู้ติดเชื้อ 10,000 คน จะมีกลุ่มเสี่ยง 2,000 คน ที่มีโอกาสจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีแดง และเสียชีวิต คำถาม คือ 2,000 คนอยู่ไหน และมีอาการหรือไม่? นี่จึงเป็นเหตุผลของการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และฝ่าวิกฤตโควิด-19

ซึ่งที่ผ่านมา พบปัญหาทีมแพทย์ที่ให้ข้อมูลมีน้อย มีผู้คนระดมโทรศัพท์ทำให้การคัดกรอง แต่ละเคสต้องใช้เวลา การมีทีมสตาร์ทอัพ และมีเทคโนโลยีช่วยคัดกรองคนไข้เบื้องต้นจึงเป็นประโยชน์อย่างมากที่การรักษาชีวิตในช่วงเวลาจำกัด

เพิ่มช่องทางออนไลน์ คัดกรองโควิด19

ทีมเป็ดไทยสู้ภัย เปิดเผยว่า อนาคตยังได้เตรียมระบบออนไลน์รองรับ เพื่อเพิ่มช่องทางการติดต่อสื่อสารให้กับผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือไม่ได้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเปลี่ยนไปสู่ระดับสีเหลือง โดยเน้นย้ำการพัฒนาด้วยระบบอัตโนมัติ (automate) เพื่อลดคนในการทำงาน เช่น @1422online @1668online โดยภาครัฐคงจะมีประกาศอย่างเป็นทางการ เพราะอย่างน้อยจะไม่มีปัญหาเรื่องคู่สาย

บทบาทหลังบ้านของ เป็ดไทยสู้ภัย

บทบาทหน้าที่ของ เป็ดไทยสู้ภัย ทำงานร่วมกับหน่วยงานรัฐ อย่าง กรมควบคุมโรค และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และประสานความร่วมมือกับสตาร์ทอัพหลายกลุ่ม จะรับเคสผู้ติดเชื้อโควิด-19 มาจาก กลุ่มเส้นด้าย เราต้องรอด และหมอแล็บแพนด้า รวบรวมข้อมูลเป็นก้อนหลังบ้าน เพื่อประสานส่งต่อกับทีมแพทย์พยาบาล และทีมการส่งยา หาเตียง

มีบทบาท 5 ด้านคือ 1. เป็นด่านหน้า ในการคัดกรองผู้ติดเชื้อและคลัสเตอร์ใหม่ให้พบด้วย ‘ระบบคัดกรองเชิงรุกแบบดิจิทัล’ 2. รวบรวมเคสผู้ติดเชื้อและคัดแยกตามอาการ เขียว เหลือง แดง ด้วย ‘ระบบเป็ดติดตามเคส’ 3. ลดอัตราการเสียชีวิตด้วยระบบส่งยาให้คนไข้สีเหลือง ที่อยู่ระหว่างรอเตียง ด้วย ‘ระบบเป็ดส่งยา’ 4. ติดตามอาการคนไข้หลังได้รับยา เก็บข้อมูลงานวิจัยเพื่อค้นหาวิธีรักษาแบบใหม่ ด้วย ‘ระบบเป็ดวิจัย’ 5. เชื่อมต่อฐานข้อมูลภาครัฐ เช่น CoLink, CoWard, CoLab ด้วย ‘ระบบเป็ดเชื่อมต่อ’

Workflow การทำงานหลังบ้านของ Start up แต่ละกลุ่มในทีมเป็ดไทยสู้ภัย

1-AIYA : ปรับตัวจากสตาร์ทอัพ ที่ทำ Chatbot สื่อสารกับลูกค้า มาเป็น Chatbot รพ.สนามให้แพทย์-พยาบาลได้สื่อสารกับผู้ป่วยโควิด-19 และเก็บข้อมูลคนไข้ เช่นการเก็บค่า O2, อุณหภูมิ รายวัน

2-HORGANICE : ปรับตัวจากสตาร์ทอัพ ให้บริการจัดหาที่พัก เป็นบริการจัดเตียง ทำระบบ Check in- Check out ผู้ป่วยโควิด-19

3-Wisible : เป็นเหมือน ฐานข้อมูล (Data Tank) ของคนไข้ ระบบนี้จะเก็บข้อมูลและ Tracking สถานะผู้ป่วยทำให้เห็นภาพรวมได้อย่างเรียลไทม์ จนครบการสังเกตอาการผู้ป่วย 14 วัน

4- YDM Thailand : จะรับหน้าประมวลออกมาเป็น “แดชบอร์ด” บริหารจัดการ รพ.สนาม เพื่อทำให้เห็นภาพรวมของข้อมูลจำนวนผู้ป่วย, ผังเตียง, ข้อมูลทางการแพทย์ ฯลฯ

กลไกการทำงานของสตาร์ทอัพ ไทย

5-Doctor A-Z : เมื่อแต่ละหน่วยทำงาน และมีข้อมูลภาพรวม จะส่งต่อไประบบ Telemedicine เพื่อให้ทีมแพทย์พยาบาลได้วิดีโอคอล คุยกับผู้ป่วยโควิด-19

6-โดยจะมีทีม Day Work (กลุ่มคนทำงานรายวัน) มาช่วยประสานงาน

7-ARINCARE (สตาร์ทอัพ ร้านขายยา) ทีมแพทย์ส่งต่อให้ เภสัชกรจัดยา และโทรศัพท์เพื่ออธิบายการใช้ยาอย่างเป็นระบบ

8-และจะมีทีม Claim Di (สตาร์ทอัพ ประกันภัยรถ) เป็นหน่วยส่งต่อยาให้

9-นอกจากนี้ก็ยัง สตาร์ทอัพ QueQ  ที่จะเข้ามาช่วยดึงข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์เพื่อตอบคำถามที่ประชาชนต้องเร่งทำความเข้าใจ รวมถึง การจัดคิวตรวจโควิด-19 และ คิวการฉีดวัคซีน

workflow การทำงานหลังบ้านของเหล่า สตาร์ทอัพ

แนะทำ Community Isolation และ Bubble and seal ในชุมชน ลดข้อจำกัดทรัพยากร

หัวหน้าทีมสตาร์ทอัพเป็ดไทยสู้ภัยประเมินว่า จากตัวเลขผู้ติดเชื้อหลักหมื่นต่อวัน มีกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเร่งช่วยเหลือจริง ๆ ราว 2,000 คน บนข้อจำกัดต้องบริหารจัดการทรัพยากรอย่างเต็มประสิทธิภาพ นโยบาย Home isolation มีหลักฐานพบในต่างประเทศว่าต้องทำให้คนไม่ออกจากบ้าน ไม่ต่ำกว่า 15% หากเกินกว่านั้น อาจจะเกิดการระบาดอีกรอบ

ส่วนตัวจึงมองว่า ควรทำ Community Isolation และ Bubble and seal มากกว่า เพราะจะช่วยลดแชร์ทรัพยากร อย่าง เครื่องออกซิเจน ไฮ โฟลว์ และมีหัวหน้าชุมชนช่วยกันดูแล หากทำได้ทรัพยากรทางการแพทย์จะได้ถูกส่งกลับมาที่ผู้ป่วยสีเหลือง เพราะปัญหาตอนนี้คือ เรามีผู้ป่วยสีเหลือง แล้วหาเตียงไม่ได้ และนอนรอเตียงอยู่ที่บ้านต่างหาก

รัฐ-เอกชน-ประชาชนต้องเชื่อมั่น ปลดล็อกกฎระเบียบเรื่องยา การประกันโรคโควิด-19 ที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาชีวิตคน

…เราไม่ควรเอาผล Swab มาเป็นกำแพงกั้น ระหว่างคนไข้ กับ การรักษา
ข้อกังวลใจ คือ ระดับความสามารถรับความเสี่ยงแต่ละคนไม่เท่ากัน แต่หัวใจ คือ การรักษาชีวิต เราไม่สามารถหาทางเลือกที่ดีที่สุดได้ ไม่สามารถหามาตรฐานเตียงของคนไข้สีเหลืองที่ดีที่สุดได้ แต่ทางไหนที่รอด ก็ต้องทำ นั่นคือสิ่งที่ต้องคิดกัน นี่คือหน้างานจริง ๆ

พณชิต ทิ้งท้ายว่า ในช่วงเวลาที่เราจะต้องประกาศสงครามกับโรคระบาด จำเป็นที่จะต้องปลดล็อกระเบียบเงื่อนไขที่เป็นอุปสรรคต่อการรักษาชีวิต ในขณะที่ทีมแพทย์ ประชาชน ภาคเอกชน และรัฐบาลจำเป็นต้องมีความเชื่อมั่นซึ่งกันและกัน ในการช่วยเหลือบน ข้อจำกัดของอุปกรณ์ เครื่องมือ ที่อาจจะไม่ดีที่สุด แต่อยู่บนหลักคิดว่าต้องทำเพราะมีโอกาสรอด โดยยังคงเน้นย้ำให้ รัฐ และเอกชน ดูแลผู้ป่วยกลุ่มสีเหลืองเพิ่มขึ้น ด้วยการระดมยารักษาที่เพียงพอ เพิ่มเตียงผู้ป่วยสีเหลือง และเร่งฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ

และในฐานะ ภาคประชาชน ถ้าไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง อาการไม่มากอย่างเพิ่งตระหนก แต่ต้องวัด ออกซิเจน เช้าเย็น สังเกตตัวเอง ถ้าลดลงถึง 96 ถือเป็นกลุ่มเสี่ยง แต่หากไม่ใช่ ให้พยายามใช้ช่องทางออนไลน์แทนโทรศัพท์ เพื่อเตรียมทรัพยากรไว้สำหรับคนที่เสี่ยงต่อชีวิตมากกว่า

สุดท้าย ภาวะสงครามไม่สามารถมัดมือนักรบการแพทย์ออกไปได้ เราอาจจะต้องปลดล็อกหลายอย่าง เช่น การตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท หรือการ Swab แบบ RT-PCR (Polymerase chain reaction) ไม่ควรถามว่าผลเป็นบวกหรือลบ แต่ถ้ามีอาการควรรักษาก่อน แล้วค่อยรอผลตรวจที่หลัง และต้องไม่ทำให้เงื่อนไขประกันในการรักษามาเป็นอุปสรรคของคนไข้ด้วย…

เวลานี้สิ่งจำเป็นเร่งด่วน ต้องมุ่งเน้นเคลียร์ท่อผู้ป่วยสีเหลืองและแดงให้จบ และรวมถึงผู้ป่วยสีเขียวที่รอวันเปลี่ยนสี ทั้งหมดนี้ ต้องอาศัยความเชื่อใจและใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อแข่งกับเวลาที่หมดไปรายวินาที…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์