รู้จักโมเดลเตือนภัยต่างประเทศ เพื่อรับมือ “ภัยพิบัติฉุกเฉิน”

โอกาส “ระบบเตือนภัยครบวงจร” ของกรุงเทพมหานคร

เมื่อฝนตกหนัก น้ำท่วมขัง สิ่งหนึ่งที่คนกรุงเทพฯ อยากรู้ คือ น้ำจะท่วมสูงแค่ไหน ท่วมนานเท่าไหร่จึงจะระบายหมด เพื่อไม่ให้ตัวเองต้องติดกับดักของน้ำท่วมขัง แต่เมื่อพูดถึงระบบเตือนภัยเพื่อให้เรารู้คำตอบเหล่านี้ แน่นอนว่า ภัยพิบัติ ไม่ได้มีแค่ “น้ำท่วม”

จะดีแค่ไหน หากระบบเตือนภัยนี้ ครอบคลุมทุกภัยพิบัติฉุกเฉิน มีความแม่นยำและส่งตรงถึงประชาชนรวดเร็ว ทั่วถึง ในรูปแบบ “ระบบเตือนภัยครบวงจร”

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร มีข้อมูลพื้นที่เสี่ยงหลายด้าน ทั้ง อุบัติเหตุ ไฟไหม้ และจุดเสี่ยงน้ำท่วม ฯลฯ แต่ยังทำกันเฉพาะหน่วยงานในสังกัด แบบแยกส่วน ไม่บูรณาการกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้การวิเคราะห์ เพื่อจัดการภาพรวมและเตือนภัยแบบครบวงจรเกิดขึ้นได้ยาก

เราอาจเคยเห็นข้อความแจ้งเตือนสื่อสารถึงประชาชนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ รวมทั้งเว็บไซต์ของหน่วยงานต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร หากแต่ยังเป็น ต่างหน่วยต่างเตือน ข้อมูลกระจัดกระจาย การคาดการณ์ภัยที่จะมาถึง จึงขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนในแต่ละพื้นที่ และแน่นอนว่า “ยังไม่ครอบคลุม”

ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ด้วยสาเหตุเหล่านี้ ทำให้กรุงเทพมหานคร กำลังพยายามรวมข้อมูล ทุกด้าน ทั้งจากแผนที่ ผังเมือง รวมทั้งสถานการณ์น้ำ ที่เกิดจากการวิเคราะห์ร่วมกันระหว่างสำนักระบายน้ำ ของ กทม. กับกรมอุตุนิยมวิทยา, กรมชลประทาน, กรมอุทกศาสตร์ กองทัพเรือ และเรื่องระดับน้ำทะเลต่าง ๆ เพื่อให้รู้ว่าฐานข้อมูลที่เหมาะสมต้องทำอย่างไร ซึ่งจะทำให้เรารู้สถานการณ์

เราจะเห็นว่า ผู้ว่าฯ กทม. กำลังพยายามจะบอกข้อความสำคัญ ให้ประชาชนรับรู้เพื่อวางแผนชีวิต เช่น วันนี้ฝนจะตกหนัก ถ้ากลับบ้านเร็วได้ กลับไปก่อน หรือถ้ากลับไม่ได้ รอไปก่อน อย่าเพิ่งออกมา เพราะน้ำจะขัง ประมาณ 20-30 เซนติเมตร เท่ากับรถเล็กยังออกไม่ได้ น้ำเท่ากระดุมล้อรถ สัก 90 นาทีอย่าเพิ่งออก ข้อความแบบนี้จริง ๆ คือสิ่งที่คนเมืองน่าจะอยากได้

ผศ.ทวิดา กมลเวชช

การรวบรวมข้อมูลและพัฒนา Platform Multi Hazards คือ จุดไม่สว่าง จุดอาชญากรรม อุบัติเหตุ น้ำท่วม พื้นที่ต่ำ โรงงานอุตสาหกรรมและวัตถุอันตราย (HazMat) รวมถึงอัคคีภัย ซึ่งขณะนี้ทั้ง 50 เขตในกรุงเทพมหานครกำลังรวบรวมข้อมูลแบบอัปเดตเข้ามาใน กทม. ส่วนกลาง จากนั้นจะนำไปวิเคราะห์ข้อมูล RISKS รวบรวมข้อมูลความเปราะบางของภูมิสังคมและศักยภาพของพื้นที่และเครือข่าย รวมทั้งชุมชนและอาสาสมัคร จากนั้น จะเปิดข้อมูลความเสี่ยง เพื่อตระหนักรู้ การประเมินมาตรการลดความเสี่ยง การแจ้งเตือนภัยเร่งด่วน และการพัฒนาระบบ interactive และเชื่อมต่อฟองดูว์

โมเดลเตือนภัย

ส่องโมเดลเตือนภัยต่างประเทศ มีการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินอย่างไร

ทวีปอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา จะเน้นการแจ้งเตือนไปที่การเตือนภัยพิบัติ เหมือนกรมอุตุนิยมวิทยาของประเทศไทย ผ่านโทรศัพท์มือถือ นั่นก็คือ โครงการทำเทคโนโลยีแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉิน หรือ Wireless Emergency Alerts (WEA) โดยจะแจ้งเตือนสภาพอากาศเลวร้าย ที่เสี่ยงจะเป็นอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเฮอริเคน ไต้ฝุ่น พายุลมแรง พายุหิมะ รวมถึงภัยพิบัติอื่น ๆ อย่างทอร์นาโด น้ำท่วมฉับพลัน สึนามิ สารเคมีรั่ว และคำสั่งอพยพประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ตามปกติแล้ว หลายประเทศของทวีปอเมริกา ระบบพื้นฐานใช้แจ้งเมื่อเกิดภัยพิบัติที่วิกฤต ผ่านข้อความสั้นไม่เกิน 90 ตัวอักษรแบบเร่งด่วน โดยสรุปสถานการณ์เพียงสั้น ๆ ว่าเกิดอะไรขึ้น ใครได้รับผลกระทบ หรือทางการต้องการอะไรบ้าง เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัว และป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยมากที่สุด

อีกระบบที่โดดเด่นที่สุดอย่าง Amber Alert ระบบช่วยเหลือและติดตามเด็กหายแบบรวดเร็วในช่วงเวลา 24 ชั่วโมงแรก ซึ่งทำให้เด็กมีโอกาสรอดชีวิตสูงที่สุด เพราะมีระบบการแจ้งเตือนพร้อมกันแบบเรียลไทม์ในพื้นที่นั้น ๆ ด้วยเสียงแหลมสูง ระบุสถานที่เกิดเหตุ หน้าตาเด็ก และหมายเลขทะเบียนรถที่คาดว่าลักพาตัวเด็กได้

​ทวีปยุโรป

จะใช้ระบบ EU-Alert โดยแต่ละประเทศใช้ตัวย่อตั้งชื่อระบบเตือนภัย เช่น เนเธอร์แลนด์ NL-Alert, อิตาลี IT-Alert ฯลฯ แต่ละประเทศก็จะให้ความสำคัญกับการแจ้งเตือนต่างกันไป ขึ้นอยู่กับกฎหมายของประเทศนั้น ๆ

โดย คณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป ตกลงให้ประเทศสมาชิกต้องจัดทำระบบเตือนภัยสาธารณะ ส่วนใหญ่จะเป็นการแจ้งเตือนภัยคุกคามต่อชีวิตและทรัพย์สิน เช่น เหตุการณ์ฉุกเฉิน การโจมตีของผู้ก่อการร้าย สภาพอากาศที่รุนแรง ไปจนถึงภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ต้องอพยพผู้คนด่วน ซึ่งลักษณะของการเตือนก็จะแตกต่างกันตามบริบทและกฎหมายของแต่ละประเทศ

ทวีปเอเชีย

ประเทศญี่ปุ่น คือประเทศที่เกิดแผ่นดินไหวบ่อย และเป็นภัยพิบัติที่ต้องยอมรับว่าเตือนภัยยาก แต่ญี่ปุ่นก็เป็นประเทศที่มีสิ่งปลูกสร้างรองรับแผ่นดินไหว มีแผนฉุกเฉินให้ประชาชนรับมือกับแผ่นดินไหวได้ หนึ่งในนั้น คือ ระบบ J-Alert ​เป็นการเผยแพร่ข้อมูลจากรัฐบาลสู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว ผ่านดาวเทียมและอุปกรณ์ที่ติดตั้งทั่วประเทศในกรณีที่เกิดภัยธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ น้ำท่วม หรือแม้กระทั่งการถูกโจมตี ทำให้อพยพได้ทันท่วงที

ถัดมาคือ ฟิลิปปินส์ ที่มีการแจ้งเตือนทางมือถือก่อนเกิดภัยพิบัติ และยังมีข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์อพยพ เว็บไซต์บรรเทาทุกข์ และจุดรับ-ส่งประชาชนด้วย ผ่านระบบECBS (Emergency Cell Broadcast System) ที่ส่งการแจ้งเตือนทางมือถือก่อนเกิดภัยพิบัติ

ส่วน เกาหลีใต้ น่าสนใจ เพราะไม่ว่าเราจะเป็นคนเกาหลีหรือไม่ ถ้าอยู่ในแดนกิมจิ แล้วเกิดเหตุฉุกเฉินก็จะมีสิทธิได้รับข้อมูลข่าวสาร ผ่านข้อความเตือนภัยฉุกเฉิน Korean emergency alert จากรัฐบาลเกาหลี โดยร้อยละ 90 จะเป็นเรื่องความผิดปกติทางสภาวะภูมิอากาศ ซึ่งจะมีการแจ้งเตือนทั้งภาษาเกาหลี จีน และอังกฤษ

ทวีปออสเตรเลีย

ถือเป็นทวีปที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์รวมของหลายประเทศที่น่าสนใจ จากเหตุการณ์ภัยพิบัติไฟป่าที่เกิดขึ้นล่าสุด ระบบเตือนภัยฉุกเฉินทางโทรศัพท์ที่ชื่อว่า ‘Emergency Alert Australia’ เป็นหนึ่งในหลายวิธีจากรัฐบาลที่ใช้เตือนภัยกับประชาชนในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้น

โดยการแจ้งเตือนจะถูกส่งผ่านระบบโทรศัพท์แห่งชาติ เป็นข้อความเสียงไปยังโทรศัพท์บ้าน และข้อความตัวอักษรไปยังโทรศัพท์มือถือภายในพื้นที่ที่ถูกประเมินแล้วว่ากำลังเกิดเหตุการณ์ขึ้นจริง หรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ซึ่งทางการออสเตรเลียใช้ข้อมูลจากสัญญาณดาวเทียม ‘Himawari-8’ จากประเทศญี่ปุ่น ที่รายงานข้อมูลแบบเรียลไทม์ และส่งภาพถ่ายความละเอียดสูงมายังเจ้าหน้าที่นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบการเปลี่ยนทิศทางลมที่อาจส่งผลต่อความรุนแรงของไฟป่าได้ด้วย

หากกรุงเทพมหานคร รวมถึงประเทศไทยเอง เดินหน้าพัฒนา “ระบบเตือนภัยครบวงจร” ก็อาจเป็นความหวังให้ประชาชนรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างทันท่วงที เพราะจากนี้ความแปรปรวนของสภาวะอากาศโลกที่ไม่เหมือนเดิม ย่อมส่งผลต่อภัยพิบัติต่าง ๆ ที่จะเพิ่มขึ้นด้วย การเตือนภัยจึงถือเป็นการป้องกันและลดความสูญเสียได้มากกว่า และคุ้มค่ากว่าการชดเชยความเสียหาย ที่หลายส่วนอาจนำกลับคืนมาไม่ได้


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์