‘สันติภาพชายแดนใต้’ นโยบายเด่นโลกโซเชียล ต.ค. 67

Policy Monthly Report : ต.ค. 2567

ในอดีต เดือน “ตุลาคม” ที่ผ่านมาถือเป็นเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยเกิดขึ้นหลายเหตุการณ์ เช่น เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 2519, เหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค. 2547) รวมถึงในปีนี้เองก็มีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ทั้งอาจเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ก่อน ๆ เช่น การเรียกร้องนิรโทษกรรมนักโทษคดีการเมืองเหมือนที่เคยนิรโทษกรรมมาแล้วในอดีต, คดีตากใบที่จะหมดอายุความ 20 ปีในวันที่ 25 ต.ค. 2567 หรือบางเหตุการณ์อาจจะไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในอดีต แต่ก็เป็นหนึ่งในข้อพิสูจน์การทำงานและแก้ปัญหาของรัฐบาล เช่น กรณีรถบัสทัศนศึกษาไฟไหม้ หรือการช่วยเหลือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัด

The Active เก็บรวบรวมนโยบายที่ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย ผ่าน Zocial Eye เพื่อสอดส่องและฟังเสียงของโลกโซเชียลมีเดียว่า นโยบายใดที่คนให้ความสนใจมากที่สุดในช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา (ข้อมูลช่วงวันที่ 1 – 31 ต.ค. 2567)

โดยจากข้อความที่รวบรวมมาได้ มีจำนวน 63,930 ข้อความ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 58.37% อันดับที่สองคือ YouTube ที่ 15.52% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 10.34% และช่องทางอื่น ๆ อีก 15.77% 

ยอดจำนวนข้อความรวมรายวัน ในเดือน ต.ค. 2567

พิจารณายอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) พบว่า ภาพรวมมียอดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องรวม 4,379,469 เอ็นเกจเมนต์ โดยยอดส่วนใหญ่มาจากช่องทาง Facebook (คิดเป็น 40.15%) สอดคล้องกับจำนวนข้อความซึ่งมาจากช่องทาง Facebook เป็นหลักเช่นกัน (58.37%) ในขณะที่ช่องทาง TikTok เป็นช่องทางที่มียอดเอ็นเกจเมนต์รองลงมา (30.78%) แต่มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องน้อยกว่ามาก (0.81%) แสดงให้เห็นว่าแม้จะมีจำนวนข้อความน้อยกว่าช่องทางอื่น ๆ แต่คนก็ยังให้ความสนใจมาก ถือเป็นหนึ่งแพลตฟอร์มที่ช่วยกระจายการพูดถึงนโยบายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี (โดยคลิป TikTok ที่ได้รับความนิยม ได้แก่ สันติภาพชายแดนใต้ บริหารจัดการน้ำ และดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลิปอธิบายรายละเอียดและสถานการณ์ที่เกิดขึ้น)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รวมรายวัน ในเดือน ต.ค. 2567

โดยนโยบายที่มียอดเอ็นเกจเมนต์สูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่

อันดับที่ 1 : สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย นโยบาย ‘แก้น้ำท่วม’ ไปต่อ

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายบริหารจัดการน้ำ

หลายพื้นที่ในประเทศไทยยังคงเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมซึ่งต่อเนื่องมาจากเดือนที่แล้ว ส่งผลให้นโยบาย “บริหารจัดการน้ำ” ของรัฐบาลได้รับความสนใจมาเป็นอันดับ 1 ด้วยยอด 1.57 ล้านเอ็นเกจเมนต์ โดยส่วนใหญ่มีการพูดถึงสถานการณ์น้ำท่วมและการช่วยเหลือในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงราย หรือกรณี #น้ำท่วมเชียงใหม่ ก็มีการพูดถึงว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยว แต่พอเจอปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วมหรือฝุ่นควัน กลับเป็นจังหวัดที่ถูกลืม และชาวบ้านต้องออกมาช่วยกันเอง แม้ว่าข้อความดังกล่าวจะได้รับความสนใจเป็นจำนวนมาก แต่ก็มีผู้คนบางส่วนออกมาโต้แย้งว่า ความเป็นจริงรัฐบาลและหน่วยงานท้องถิ่นมีการทำงานและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และการโพสต์แบบนี้เป็นการบั่นทอนกำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ทำงานหนัก หรือบางส่วนก็มองว่าจังหวัดเชียงใหม่เป็นจังหวัดที่ถูก ‘ให้แสง’ หรือได้รับการพูดถึงปัญหาเยอะแล้วเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวถึงว่า ภาคเหนือหลังจากภัยน้ำท่วม สิ่งที่ต้องรับมือต่อคือภัยฝุ่นพิษ เนื่องจากประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว

รวมถึงสถานการณ์น้ำท่วมในกรุงเทพฯ ก็ถูกพูดถึงเช่นกัน โดยโพสต์ที่ได้รับความสนใจสูงคือโพสต์ของสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่โพสต์สถานการณ์น้ำท่วมใน กทม. จากฝนตกหนัก และการพยายามแก้ปัญหาด้วยการมีแก้มลิงใต้ดิน

อันดับที่ 2 : เดินหน้า ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เข้าเฟส 2

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

เดินหน้าต่อกับนโยบาย “ดิจิทัลวอลเล็ต” ในเดือนนี้มีอันดับที่ตกลงมาจากเดือนก่อนมาเป็นอับดับที่ 2 ด้วยยอด 0.76 ล้านเอ็นเกจเมนต์ เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา นโยบายนี้ได้รับความสนใจสูงเป็นอันดับที่ 1 เนื่องจากเป็นเดือนแรกที่รัฐบาลเริ่มแจกเงินสด 10,000 บาท ภาพรวมยังคงพูดถึงความคืบหน้าของนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่กำลังเข้าสู่การโอนเงินในเฟส 2 และประกาศการลงทะเบียนรอรับเงินของกลุ่มคนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน โดยส่วนใหญ่ช่องทางการติดตามยังคงเป็นแพลตฟอร์ม TikTok ซึ่งอยู่ในรูปแบบคลิปอธิบาย

นอกจากการอธิบายความคืบหน้าซึ่งเหมือนกับเดือนก่อน ๆ แล้ว พอมีการแจกจริงในเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีการนำเสนอผลกระทบที่ตามมาด้วย เช่น กรณีคนได้รับเงินหมื่น แต่เอาเงินมาซื้อยาบ้า และเสพจนคลุ้มคลั่งทำร้ายคนในครอบครัว ในช่องคอมเมนต์มีความคิดเห็นที่หลากหลาย เช่น แนะนำให้เช็กประวัติของคนรับเงินก่อนโอนเงิน (หรืออีกนัยหนึ่งคือโอนเงินให้เฉพาะคนที่ไม่มีประวัติอาชญากรรมเท่านั้น), พูดในเชิงขบขันถึงวัตถุประสงค์ของโครงการว่า “เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ” หรือมองว่าไม่ควรโทษคนแจกเงิน (รัฐบาล) เพราะสังคมมีทั้งคนดีและไม่ดี รวมถึงคนที่ได้เงินหมื่นแล้วเอาไปใช้ประโยชน์จริง ๆ ก็มี

อันดับที่ 3 : ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ไทย ร่วมมือกับกัมพูชา

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

กลับขึ้นมาติดอยู่ใน 3 อันดับแรกเช่นเคย ด้วยยอด 0.57 ล้านเอ็นเกจเมนต์ ในเดือนนี้มีทั้งการพูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น

  • หมูเด้ง ลูกฮิปโปแคระ พูดถึงกรณีที่สื่อ USA Today รายงานข่าวว่า มีชาวอเมริกันรายหนึ่งบินจากนิวยอร์ก 18 ชั่วโมงเพื่อมาหาหมูเด้งโดยเฉพาะ สะท้อนความนิยมของหมูเด้งหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี
  • เจ๊ไฝ เจ้าของร้านอาหารสตรีทฟู้ดมิชลิน 1 ดาว ที่ประกาศเลิกกิจการและวางตะหลิวในปี 2568 โดยถือเป็นหนึ่งร้านอาหารไทยที่มีชื่อเสียง ช่วยโปรโมทการท่องเที่ยว และเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทย
  • ข้าวซอย จากกรณี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ทานข้าวซอยร้านข้าวโซอิ ในลอนดอน ประเทศอังกฤษ ระบุข้าวซอยเป็นที่นิยมในลอนดอน ร้านดังกล่าวมีคนมาต่อคิวเป็นจำนวนมาก จึงอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการทำงานที่รัฐบาลจะมีการร่วมมือกับประเทศกัมพูชา เพื่อผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่คล้ายกัน โดยชาวเน็ตบางส่วนคัดค้านการร่วมมือดังกล่าว โดยมองว่าวัฒนธรรมของไทยและกัมพูชาไม่เหมือนกัน

อันดับที่ 4 : ตากใบหมดอายุความ หวั่น ‘สันติภาพชายแดนใต้’ ชะงัก ?

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายสันติภาพชายแดนใต้

เป็นนโยบายที่ไม่เคยติด 5 อันดับแรกมาก่อน สาเหตุที่มีการพูดถึงมากในเดือนนี้มาจากการครบรอบ 20 ปี เหตุการณ์ตากใบ (25 ต.ค. 2547) ซึ่งถือเป็นการหมดอายุความคดีด้วยเช่นกัน ผู้คนบนโลกโซเชียลส่วนใหญ่จึงให้ความสนใจ มีการนับถอยหลัง (countdown) ก่อนคดีตากใบหมดอายุความ เรียกร้องความยุติธรรมให้ทุกชีวิตที่สูญเสียไป กดดันให้จำเลยมาขึ้นศาล ถึงแม้ในอดีตจะมีการเยียวยาด้วยการจ่ายเงิน แต่บางส่วนก็มองว่าไม่พอ

นอกจากนี้ ยังมีการพูดถึงท่าทีของรัฐบาลต่อเหตุการณ์ดังกล่าว เช่น โพสต์ของพรรณิการ์ วาณิช โฆษก กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ ระบุหากไม่สามารถนำจำเลยคดีตากใบมาขึ้นศาลได้ อาจส่งผลกระทบใน 3 ระดับ ได้แก่ ความรู้สึกของประชาชนในพื้นที่ การถูกผู้ก่อความไม่สงบใช้เป็นข้ออ้างในการก่อเหตุ และการเจรจาสันติภาพ

หรือกรณี พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย หนึ่งในจำเลยคดีตากใบ ยื่นหนังสือลาออกจากพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 14 ต.ค. 2567 มีการตั้งคำถามว่า เป็นการปัดความรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวก็อาจสะท้อนท่าทีการรับมือเพื่อแก้ไขปัญหาของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยได้

หากเจาะลึกลงในนโยบาย “สันติภาพชายแดนใต้” ในเดือน ต.ค. ที่ผ่านมาจะมีการพูดถึงคำย่อยซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีตากใบ โดยเรียงลำดับตามยอดเอ็นเกจเมนต์ได้ ดังนี้

คีย์เวิร์ดพัเอ็น
เกจ

เมนต์
รายละเอียดการพูดถึง
1ตากใบ251.11– เรียกร้องความยุติธรรมคดีตากใบ กดดันให้จำเลยมาขึ้นศาลก่อนหมดอายุความ
– กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ กังวลหากไม่สามารถนำจำเลยมาขึ้นศาลได้จะส่งผลในวงกว้าง
2หมดอายุความ166.79– นับถอยหลังก่อนตากใบหมดอายุความ มีความพยายบามดำเนินการจากหลายภาคส่วนเพื่อทวงความยุติธรรม เช่น จากพรรคฝ่ายค้าน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้
3ความยุติธรรม81.00– เรียกร้องความยุติธรรมคดีตากใบ เพราะทุกชีวิตที่สูญเสียไปมีค่า และจะสร้างสันติภาพชายแดนใต้ได้
– กัณวีร์ สืบแสง สส.พรรคเป็นธรรม ระบุ “การเมืองทำให้เกิดความยุติธรรมได้ ต้องใช้แรงจูงใจและความจริงใจ”
4ลอยนวลพ้นผิด17.25– คดีตากใบหมดอายุความ สะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย
5เยียวยา17.11– การเยียวยาด้วยเงินเพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องเยียวยาความรู้สึกด้วย
6เจรจา16.00– เรียกร้องรัฐบาล เจรจาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาไทย
– ตากใบหมดอายุความ อาจกระทบเจรจาสันติภาพที่มีมาตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์
7พิศาล10.21– พล.อ.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.พรรคเพื่อไทย จำเลยคดีตากใบ ลาออกจากพรรค ตั้งคำถามรัฐบาลปัดความรับผิดชอบหรือไม่ ?
8ขอโทษ8.15– แพทองธาร ชินวัตร นายกฯ แสดงความเสียใจและขอโทษผู้สูญเสีย ยืนยันรัฐบาลทำเต็มที่
– รอมฎอน ปันจอร์ สส.พรรคประชาชน ระบุ คำขอโทษของนายกฯ จะมีความหมาย ก็ต่อเมื่อได้ทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อประชาชน
9ฟ้องร้อง3.13– รอมฎอน ปันจอร์ สส.ประชาชน เตือนรัฐต้องคุ้มครองประชาชนที่มาฟ้องร้อง ไม่ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่
– บางส่วนตั้งคำถาม ทำไมพึ่งมาจุดประเด็นการฟ้องร้องตอนคดีใกล้จะหมดอายุความ ?
10พ.ร.ก.2.73– แคมเพนรณรงค์ใน Change.org เชิญชวนลงชื่อให้นายกฯ ออก พ.ร.ก. ต่ออายุคดีตากใบ
– นายกฯ แถลง สนง.กฤษฎีกา ระบุ การออก พ.ร.ก.แก้ไขอายุความ อาจขัดรัฐธรรมนูญ ไม่เข้าเงื่อนไขกฎหมาย และอาจเป็นการเลือกปฏิบัติ

อันดับที่ 5 : คู่รักดาราเพศหลากหลาย – ซีรีส์วาย โยง ‘สมรสเท่าเทียม’

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายสมรสเท่าเทียม

ในเดือนนี้ไม่ได้มีความคืบหน้าของรัฐบาลในนโยบายสมรสเท่าเทียม เนื่องจากอยู่ในช่วงระหว่างรอให้กฎหมายบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2568 ทำให้ตกจากอันดับที่ 3 ในเดือนก่อนมาอยู่ในอันดับที่ 5 ด้วยยอดเอ็นเกจเมนต์ที่ 0.23 ล้านเอ็นเกจเมนต์ อย่างไรก็ตามโลกโซเชียลก็ยังมีการพูดถึงสมรสเท่าเทียมอยู่เรื่อย ๆ เช่น คู่รักดาราหรือคนดังหลายคนเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองในฐานะคนกลุ่มเพศหลากหลาย เช่น มิ้น-มิณฑิตา วัฒนกุล นักแสดง หรือการขอแต่งงานของ มิว-ศุภศิษฏ์ จงชีวีวัฒน์ และ ตุลย์-ภากร ธนศรีวนิชชัย ซึ่งเป็นคู่รักนักแสดงทั้งคู่

หรือกรณีมีคนเปรียบเทียบซีรีส์วาย (ซีรีส์ชายรักชาย) ของไทย ว่าไม่นำเสนอชีวิตเกย์จริง ๆ เหมือนซีรีส์วายเกาหลี โดยมองว่าซีรีส์วายไทยสามารถนำเสนอเรื่องราวได้มากกว่าเรื่องของการคัมเอาท์ (come out) การไม่ถูกยอมรับ โดยสามารถนำเสนอภาพของเกย์เป็นอะไรก็ได้ และประเทศไทยก้าวข้ามไปถึงขั้นมีกฎหมายสมรสเท่าเทียมแล้ว

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ไม่ได้ติดใน 5 อันดับแรก แต่มีความเคลื่อนไหวและผู้คนให้ความสนใจ เช่น

18 ต.ค. 2567 บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ไม่รับปากขึ้นค่าแรง 400 บาท ทันปี 2567

24 ต.ค. 2567 สภาฯ ไม่เห็นชอบข้อสังเกตรายงาน กมธ.นิรโทษกรรม บางส่วนมองสะท้อนความไม่เป็นเอกภาพของรัฐบาล

พื้นที่โลกออนไลน์ เป็นหนึ่งในพื้นที่สำคัญที่ก่อให้เกิดการถกเถียง แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตรวจสอบ วิพากษ์วิจารณ์ สนับสนุน และกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนเปลี่ยน ทั้งเรื่องของการทำงานรวมไปถึงนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตยที่มีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ตาม การนำเสนอนโยบายข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากนโยบายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่ยังมีนโยบายอีกมากมาย ที่ล้วนส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนในประเทศ

The Active ขอเชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าและแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายอื่น ๆ ผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch ซึ่งหวังเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ติดตามการทำงานของรัฐบาล และหวังว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด