Policy Monthly Report : 5 นโยบายเด่นบนโลกโซเชียล เดือน ม.ค. 67

เดือนมกราคม 2567 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเดือนที่มีเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองเกิดขึ้น ทั้งเหตุการณ์ในและนอกสภาฯ รวมไปถึงมีการพูดคุยถึงประเด็นต่าง ๆ บนโลกโซเชียลมีเดีย

The Active ทำการเก็บรวบรวมนโยบายที่พูดถึงกันบนโซเชียลมีเดีย ผ่านเครื่องมือ Zocial Eye (หรือ Social Listening – เครื่องมือฟังเสียงของผู้คนที่อยู่ในโลกโซเชียลมีเดีย) ระหว่างวันที่ 1 – 31 ม.ค. 2567 เพื่อหาว่านโยบายใดที่คนบนโลกออนไลน์ให้ความสนใจมากที่สุดในเดือนที่ผ่านมา

ยอดจำนวนข้อความรายวัน

ข้อความที่รวบรวมมาได้ ส่วนใหญ่ปรากฏเป็นหลักบน Facebook ที่ 49.05% ตามมาด้วย X (Twitter) ที่ 28.14% YouTube ที่ 13.22% และอื่น ๆ ที่ 9.59% โดยพบว่ามียอดเอ็นเกจเมนต์ (ยอดกดดู ไลก์ แชร์ และคอมเมนต์รวมกัน) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดรวม 5,007,013 เอ็นเกจเมนต์ และสามารถจัดอันดับที่สูงที่สุด 5 อันดับ ดังนี้

อันดับที่ 1 ซอฟต์พาวเวอร์ (1.45 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายซอฟต์พาวเวอร์

หนึ่งในนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีการพูดถึงมากที่สุด รวมถึงคำว่า “ซอฟต์พาวเวอร์” กลายมาเป็นคำพูดติดปากที่ผู้คนมีการพูดถึงอย่างแพร่หลายในบริบทต่าง ๆ รวมถึงมีการยกตัวอย่างว่าสิ่งใดบ้างคือซอฟต์พาวเวอร์จริง ๆ ของไทย

  • 4 ม.ค. 2567 พูดถึงกรณีสภาฯ ยกตัวอย่างซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ ว่าเป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทำให้การท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ตตื่นตัว
  • 12 ม.ค. 2567 พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ เช่น ผู้คนมองว่ากรณีพี่จอง-คัลแลนที่ท่องเที่ยวอุทยานทำให้พาสปอร์ตอุทยานแห่งชาติขายหมด เป็นซอฟต์พาวเวอร์อย่างหนึ่ง
  • 16 ม.ค. 2567 วิพากษ์วิจารณ์กรณี ททท. จัดแข่งบันทึกสถิติโลกในด้านต่าง ๆ เพื่อผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไทย เช่น แข่งใส่การเกงช้างให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที
  • 20 ม.ค. 2567 พูดถึงการที่รัฐบาลให้การสนับสนุนศิลปะแม่ไม้มวยไทย ดันเป็นซอฟต์พาวเวอร์
  • 22 ม.ค. 2567 พูดถึงซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ เช่น น้ำหอมทอมโสด by พี่ดำ จากกรณีภูมิ ATLAS บอกว่าตัวเองใช้ ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น หรือมองว่าการให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติของคนไทยคือซอฟต์พาวเวอร์ จากมีคนแบ่งยาแก้เมารถให้พี่จอง-คัลแลน

อันดับที่ 2 แลนด์บริดจ์ (1.10 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงโครงการแลนด์บริดจ์

ในเดือนมกราคม 2567 นี้ มีข่าวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับโครงการอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการดำเนินการของฝั่งสภาฯ เช่น กมธ. จากพรรคก้าวไกลลาออก หรือนายกฯ ลงพื้นที่ ครม.สัญจร เป็นต้น

  • 12 ม.ค. 2567 สส. พรรคก้าวไกล 4 รายลาออกจาก กมธ.แลนด์บริดจ์ ตามมาด้วย กมธ.แลนด์บริดจ์ เห็นชอบรายงานผลการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์
  • 15 ม.ค. 2567 การยกคำพูดของศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล และธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ สส.พรรคเพื่อไทย ในรายการกรรมกรข่าวนอกจอ
  • 22-23 ม.ค. 2567 ครม.สัญจร เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดระนอง รวมไปถึงเหตุการณ์ชาวบ้านในพื้นที่พบนายกฯ เพื่อคัดค้านโครงการ
  • 24 ม.ค. 2567 เนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับการสรุปโครงการแลนด์บริดจ์ และวิจารณ์ว่าแลนด์บริดจ์ไม่ได้ทำให้เกิดแผ่นดินไหวอย่างที่บางคนกล่าวอ้าง

อันดับที่ 3 ดิจิทัลวอลเล็ต (0.85 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต

นโยบายด้านเศรษฐกิจกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนของรัฐบาลนี้ เป็นที่พูดถึงจากการเปลี่ยนเงื่อนไขการเติมเงิน 10,000 บาท รวมถึงจากการออก พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา ในขณะนี้เดือนมกราคม 2567 นี้ ยังคงเป็นการพูดถึงรายละเอียดและความคืบหน้าของนโยบายเช่นเดิม

  • 3 ม.ค. 2567 การอภิปรายงบประมาณ 2567 พรรคฝ่ายค้านตั้งคำถามถึงเรื่องการกู้เงินของรัฐบาลเพื่อนำมาใช้ในโครงการ
  • 8 ม.ค. 2567 คณะกฤษฎีกาอนุมัติ พ.ร.บ.เงินกู้ 5 แสนล้านบาท ยืนยันเริ่มแจกได้เดือนพฤษภาคม 2567
  • 17 ม.ค. 2567 พูดถึงการที่ดิจิทัลวอลเล็ตแจกไม่ทันเดือนพฤษภาคม 2567 ตามกำหนดการเดิมที่ได้วางไว้ รวมไปถึงคำพูดของศิริกัญญา ตันสกุล สส.พรรคก้าวไกล ต่อกรณีนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตของรัฐบาล
  • 19 ม.ค. 2567 พูดถึงกรณีที่ รัดเกล้า อินทวงศ์ สุวรรณคีรี รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยพบแร่ “ลิเธียม” 14.8 ล้านตัน สูงเป็นอันดับที่ 3 ของโลก มูลค่า 14 ล้านบาท เทียบเท่าการแจกเงินดิจิทัลทั้งประเทศได้ 30 ครั้ง ก่อนที่จะมีการบอกว่าข้อมูลคลาดเคลื่อนในภายหลัง

อันดับที่ 4 กฎหมายอากาศสะอาด (0.44 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงกฎหมายอากาศสะอาด

นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมเพียงนโยบายเดียวที่ติด 5 อันดับแรกในเดือนนี้ จากสถานการณ์ฝุ่นที่เริ่มแย่ลงเมื่อต้นเดือนมกราคม นำมาสู่การพูดถึงวิธีการแก้ปัญหาฝุ่นอย่างจริงจัง โดยเน้นไปที่การผ่านกฎหมายอากาศสะอาด

  • 3-4 ม.ค. 2567 การอภิปรายงบประมาณ 2567 ในสภา พรรคฝ่ายค้านพูดถึงการจัดสรรงบประมาณเพื่อแก้ไขฝุ่น PM2.5 และการมีสวัสดิการที่ดี เช่น สิทธิลาคลอด 180 วัน อากาศสะอาด จะทำให้คนอยากมีลูกมาขึ้น
  • 11 ม.ค. 2567 พูดถึงเศรษฐา ทวีสิน นายกฯ ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการแก้ไขปัญหา PM2.5 เป็นหนึ่งในวัตถุประสงค์การลงพื้นที่ รวมไปถึงการลงนามด่วนในร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ของพรรคก้าวไกล ที่จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะนำร่างดังกล่าวส่งเข้าสภาฯ ทันที รวมไปถึงการวิจารณ์การทำงานของพรรคก้าวไกลว่า ส่งเอกสารร่าง พ.ร.บ. ช้าเองหรือไม่
  • 17 ม.ค. 2567 สภาฯ มีมติรับร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ทั้ง 7 ร่าง
  • 28 ม.ค. 2567 พูดถึงสถานการณ์ฝุ่นที่แย่ลงอีกครั้ง

อันดับที่ 5 สมรสเท่าเทียม (0.24 ล้านเอ็นเกจเมนต์)

ยอดเอ็นเกจเมนต์รายวันของการพูดถึงสมรสเท่าเทียม

เป็นนโยบายด้านรัฐธรรมนูญ-กฎหมาย ถูกพูดถึงตั้งแต่สภาฯ ผ่านร่าง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียม วาระแรก ทั้ง 4 ฉบับ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2566 ในเดือนมกราคมจึงเน้นไปที่การพูดถึงรายละเอียดการดำเนินงาน และความหวังว่ากฎหมายจะผ่านในรัฐบาลชุดนี้

  • 3 ม.ค. 2567 พูดถึงที่ปรึกษากมธ.สมรสเท่าเทียม สัดส่วนของพรรคเพื่อไทย ไม่ว่าจะเป็น มดดำ / วูดดี้ วุฒิธร / ป้าตือ / แต๋ง After Yum / นัท นิสามณี / ฉัตรชัย เอมราช / ผศ.นพ.มาศ ไม้ประเสริฐ / พีรยุทธ มั่งคั่ง / อ๊อฟ รวีภัทร์ อย่างไรก็ตามรายชื่อดังกล่าวถูกตั้งคำถามว่าไม่มีผู้มีความหลากหลายทางเพศที่เป็นเพศกำเนิดหญิง เช่น เลสเบี้ยน (Lesbian) แซฟฟิก (Sapphic) หรือผู้ที่เป็นนอนไบนารี (Non-Binary) อยู่เลย
  • 13 ม.ค. 2567 พูดถึงประเด็นการหย่าในไทยไม่สามารถฟ้องร้องค่าเสียหายจากการนอกใจในสัมพันธ์เพศเดียวกันได้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายสมรสเท่าเทียม
  • 17 ม.ค. 2567 การประชุม กมธ.วิสามัญสมรสเท่าเทียม ครั้งที่ 3 โดยเป็นครั้งแรกที่มีที่ปรึกษากมธ. เข้าประชุม เช่น นัท นิสามณี / วูดดี้ วุฒิธร / แต๋ง After Yum
  • 20 ม.ค. 2567 คลิปของนัท นิศามณี ทั้งช่องทาง Tiktok และ Youtube ในเรื่องสมรสเท่าเทียมในไทย ซึ่งมีการพูดถึงว่าสมรสเท่าเทียมจะผ่านในรัฐบาลชุดนี้อย่างแน่นอน

นี่เป็นเพียงข้อมูลเพียง 1 เดือนของการทำงานของรัฐบาลภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ซึ่งเป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตยที่จะมีการวิพากษ์วิจารณ์และถกเถียงว่า เห็นด้วยกับนโยบายต่าง ๆ หรือไม่ อย่างไร ด้วยหลักเหตุและผล ซึ่งโซเชียลมีเดียก็เป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงความคิดเห็นของผู้คนเช่นกัน

The Active เชิญชวนประชาชนร่วมติดตามความคืบหน้าของนโยบายและแสดงความคิดเห็นผ่านแพลตฟอร์ม Policy Watch 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธนธร จิรรุจิเรข

จบใหม่จากคณะสายวิทย์ จับพลัดจับผลูมาทำงานสายสื่อ บางครั้งก็สงสัยว่าตัวเองอยากเป็นนักวิเคราะห์ data ที่เขียนได้นิดหน่อย หรือนักเขียนที่วิเคราะห์ data ได้นิดหน่อยกันแน่

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

ชญาดา จิรกิตติถาวร

เปรี้ยว ซ่า น่ารัก ไม่กินผัก ไม่กินเผ็ด