เชื้อไฟสมรภูมิดินแดง : เริ่มต้นพูดคุย เปิดใจรับฟัง

เสียงปืนและประทัด ดังคืนแล้วคืนเล่า แทรกกลางระหว่างการปะทะของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า ทะลุแก๊ส บนสมรภูมิสามเหลี่ยมดินแดง

ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง…

แม้เป็นการใช้ “แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง” จากฝ่ายเจ้าหน้าที่ และสิ่งที่รัฐให้นิยามว่า “สิ่งเทียมอาวุธ” จากฝั่งผู้ชุมนุม แต่การปะทะ นับวันยิ่งลุกลาม บานปลาย จนกลายเป็นพื้นที่ความรุนแรง ที่อาจนำไปสู่การสูญเสีย

ไม่ว่าจะจากฝ่ายใด…นี่คงไม่ใช่ภาพประวัติศาสตร์ทางการเมือง ที่อยากถูกบันทึกไว้ในสังคมไทย  

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายนักสิทธิมนุษยชน เครือข่ายนักศึกษาจำนวนหนึ่ง ที่เข้าไปเก็บข้อมูลเชิงลึกของผู้ชุมนุมจากกรณีนี้ รวมถึง เครือข่ายที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิเด็ก ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมและการใช้ความรุนแรง ทั้งผู้นำชุมชนแฟลตดินแดงและผู้ชุมนุม รวมทั้งภาคประชาสังคมอีกจำนวนหนึ่ง เห็นร่วมกันว่าควรเปิด “พื้นที่กลางที่ปลอดภัย” เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องได้สานเสวนา ปรึกษาหารือ และเพื่อพัฒนาข้อเสนอที่จะนำไปสู่ทางออกของสถานการณ์ความรุนแรงที่ยืดเยื้อ

ทว่าพื้นที่ปลอดภัย ต้องใช้กระบวนการพูดคุยแบบปิด ก่อนจะมีการรวบรวมความคิดเห็น ข้อเสนอ ส่งผ่านต่อในเวทีสาธารณะ “ทะลุทางออกที่ดินแดง”

The Active รวบรวมและสรุปให้เห็นมุมมองจากทุกฝ่าย ทว่านี่อาจไม่ใช่ทางออกสำเร็จรูปแต่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดใจรับฟัง 

ผลกระทบจากการชุมนุมและการใช้ความรุนแรงในพื้นที่ปะทะ

สถานการณ์การชุมนุมและความรุนแรงยืดเยื้ออันเป็นผลจากการใช้ความรุนแรง ในพื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 ตลอดระยะเวลามากกว่าสองเดือนที่ผ่านมา ก่อให้เกิดความสูญเสีย ความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของชาวแฟลตดินแดง แต่ความเดือดร้อนที่พวกเขาพยายามส่งเสียงถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง กลับไม่ได้รับการตอบรับและต้องตกอยู่ในสภาพที่หวาดกลัวและระแวงต่อความปลอดภัยจากการใช้ชีวิตในพื้นที่ปะทะอย่างยากที่จะหลีกเลี่ยง

ประสงค์ หอมสนั่น กรรมการชุมชนแฟลตดินแดง 1-20  บอกว่าตัวแทนชาวแฟลตดินแดง กว่า 300 คน เคยร่วมกันยื่นหนังสือถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการตอบรับใด ๆ รวมถึงการเคหะแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้ดูแลแฟลตดินแดง ก็ไม่ได้รับคำตอบว่าจะช่วยเหลืออย่างไรเช่นกัน 

“แฟลตเป็นของท่าน ผู้เช่าจ่ายค่าเช่า จ่ายภาษีโรงเรือน ท่านจะเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ไม่ได้ เรื่องที่ร้องเรียนไม่ได้มีเรื่องมากมาย แค่อยากให้อยู่สงบสุข มีความเป็นอยู่ที่ดี”

กรรมการชุมชนแฟลต ยังฉายให้เห็นผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันของชุมชน โดยเฉพาะการเดินทาง ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและมลพิษทางเสียง ซึ่งเกิดจากทั้งฝ่ายผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน

“พ่อค้าแม่ค้า ก่อนมีเหตุการณ์ขายของเลิกทุ่มสองทุ่ม แต่พอมีเหตุการณ์เลิกก่อนสี่โมงเย็น ทั้งที่เขาเพิ่งเปิดร้านตอนบ่ายสาม ความเป็นอยู่ตอนกลางคืน ประชาชน ไม่เคยได้นอนหลับฝันดี ห้าทุ่มเที่ยงคืนเสียงดัง เด็กอ่อนตื่น คนแก่สะดุ้ง คนแก่ใช้เส้นทางไปโรงพยาบาล ก็ไม่ได้ ลำบากเดินไกล ถนนปิดกั้นหมด ความเป็นอยู่เปลี่ยนไปหมด รถเมล์ไม่ผ่าน ต้องอ้อมไปอีกถนนหนึ่ง”

วรชาติ อหันทริก ที่ปรึกษากฎหมายชุมชนชาวแฟลตดินแดง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าความเสียหายและผลกระทบเหล่านี้ ไม่มีคนดูแลเยียวยา กฎหมายมีข้อจำกัด ไม่เขียนชัดเจน  การเยียวยาจึงไม่เกิดขึ้นตามกระบวนการทางกฎหมาย

“มีคนตกลงมา แล้วหลังคาทะลุ ร้านค้าจะปล่อยให้ฝนตกก็ไม่ได้ ต้องซ่อม เสียค่าใช้จ่าย แล้วไปแจ้งการเคหะฯ เขาบอกซ่อมแล้วก็แล้วกันไป ทำอะไรไม่ได้ ทั้ง ๆ ที่ต้นเหตุคือผู้ชุมนุมหนีการไล่ล่าจนตกลงมา เขาเดือดร้อนมาก แต่ต้องพิสูจน์ให้ได้อีก ร้านค้าเขาไม่เสียหาย แต่เขาเสียโอกาส พม. ต้องลงมาเยียวยาตรงนี้”

เช่นเดียวกับตัวแทนที่อาศัยในแฟลตดินแดง พ 2 สะท้อนว่าได้รับผลกระทบจากการปิดถนน และการสลายการชุมนุม ทั้งเสียง ทั้งแก๊สน้ำตา กลัวและรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัย

“ไปตลาดไปซื้อของก็ไม่ได้ มีทั้งเผายาง ยิงแก๊สน้ำตา ในบ้านมีเด็กสี่คน หมาตะกุยตะกายโอดร้องเพราะมันแสบตา เสียงดังตูมตาม บางทีเราก็เห็นเหมือนว่าเด็กเขาเล่นกัน เขาสนุกกัน แต่เราเดือดร้อน ลูกจะเดินกลับบ้าน ตำรวจก็จับเขา เพราะใส่เสื้อสีดำ เขาเหมารวมไปหมด”

ตัวแทนอีกคนที่เกิดและเติบโตในพื้นที่ดินแดง และฐานะคนที่เข้าร่วมชุมนุมแทบทุกครั้ง ทั้งที่ดินแดงและพื้นที่อื่น ๆ เขาบอกว่าเห็นพัฒนาการของความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ คนเริ่มเอือมระอา ยืนยันว่าไม่อยากให้เกิดความรุนแรงขึ้นไม่ว่าจะกับฝ่ายใด เพราะต่างเป็นคนที่คุ้นหน้าคุ้นตากัน และไม่อยากให้ดินแดงเป็นพื้นที่กล่าวขาน

“ประท้วงได้แต่อย่าให้เกิดความรุนแรงในพื้นที่ ไม่อยากให้สามเหลี่ยมดินแดงเป็นสามเหลี่ยนตาลีบัน”

ข้อเรียกร้องที่ชุมชนชาวแฟลตดินแดงได้ทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี ยังไร้วี่แววทางออก มีทั้งหมด 10 ข้อ รายละเอียดส่วนใหญ่ เป็นการเรียกร้องให้มีการควบคุมการชุมนุมด้วยความสงบ

ข้อแรก ให้ปรับเปลี่ยนวิธีการของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน โดยใช้วิธีการควบคุมการชุมนุมมากว่าการใช้กำลังอาวุธ เพื่อควบคุมการชุมนุมหรือทำร้ายผู้ชุมนุมให้ได้รับบาดเจ็บ ข้อสองให้ใช้หลักวิธีการควบคุมชุมนุมและการสลายการชุมนุมเพื่อวัตถุประสงค์ให้ผู้ชุมนุมเลิกชุมนุมและให้กลับที่พักอาศัย มากกว่าการไล่ล่าผู้ชุมนุม ทำร้ายผู้ชุมนุม ดังที่ปฏิบัติอยู่ในเวลานี้ ข้อสาม ให้ลดปริมาณการใช้แก๊สน้ำตา ใช้เท่าที่จำเป็น ปรับเปลี่ยนการยิงแก๊สน้ำตาโดยวิถีโค้งเพื่อกระชับพื้นที่และห่างจากที่อยู่อาศัย ข้อสี่ ในการสลายการชุมนุมขอให้เน้นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อสลายการชมนุมมากกว่าการใช้แก๊สน้ำตาและปืนบรรจุลูกกระสุนยาง โดยการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ขอให้หลีกเลี่ยงการฉีดไปที่ผู้ชุมนุมโดยตรง และลดสารเคมีอันตรายที่จะก่อให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังและใบหน้าแล้วก็การระคายเคืองต่อผู้ที่สัมผัส  

ขณะที่ข้อเรียกร้องอื่น ๆ ส่วนใหญ่ในหนังสือ คือ การเรียกร้องการควบคุมฝูงชน แต่ข้อสุดท้ายเป็นเรื่องเกี่ยวกับชุมชนแฟลตดินแดงโดยตรง คือ ขอให้นายกฯ สั่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาสำรวจความเสียหายและรับผิดชอบต่อความเสียหาย เสียโอกาสต่อการค้าขาย เนื่องจากต้องปิดร้านหนีแก๊สน้ำตา แล้วก็เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณแฟลตดินแดง ขอให้มาเยียวยาคนค้าขาย พร้อมกับมีการเพิ่มเติมข้อเสนอขอให้นายกรัฐมนตรี ย้ายออกจากที่พักเดิมเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะบริเวณนี้

“ขอให้นายกรัฐมนตรีย้ายออกจากราบ 1 ถนนวิภาวดี  พื้นที่ดินแดงจะกลับมาสงบอีกครั้งแน่นอน ยืนยันไม่ใช่จุดยืนทางการเมือง แต่เพียงแค่ต้องการเห็นความเป็นอยู่ของชาวชุมชนแฟลตดินแดงดีขึ้นเท่านั้น”

ชาวแฟลตดินแดงยังขอให้ผู้ชุมนุมไม่ขึ้นไปบนตึกและไม่ใช้ความรุนแรงหากจะยังคงชุมนุมต่อไป และเสนอให้การเคหะแห่งชาติเพิ่มมาตรการความปลอดภัยบนตึก เช่น แสงไฟ กล้องวงจรปิด ประตูปิดทางเข้าออก

“สมรภูมิดินแดง” ผลผลิตจากความเหลื่อมล้ำและปัญหาเชิงโครงสร้าง

หนึ่งในผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส เผยความรู้สึกภายหลังจากรับฟังปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนแฟลตดินแดง ซึ่งอาจถือได้ว่า นี่เป็นครั้งแรกของการเปิดเผยความรู้สึกในพื้นที่สาธารณะ ท่ามกลางผู้ใหญ่หลายฝ่ายร่วมรับฟัง เขาอธิบายว่าความรุนแรงที่แยกดินแดงเดินมาถึงจุดนี้ เพราะที่ผ่านมาผู้ชุมนุมไม่ว่าจะกลุ่มไหน รัฐบาลไม่เคยรับฟังเสียงของพวกเขา ไม่มีพื้นที่รับฟังหรือพูดคุย แต่ใช้วิธีโต้ตอบที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล เบื้องหลังของภาพความรุนแรงและความเดือดร้อนที่กระทบชุมชนแฟลตดินแดง พวกเขาพยายามอธิบายว่ามีจุดเริ่มต้นที่ประกอบด้วยหลายฝ่าย และการถูกกระทำซ้ำ ๆ จากโครงสร้าง

“ผู้มาชุมนุมที่ม็อบทะลุแก๊ส ผมขอนิยามว่าเป็น ม็อบรากหญ้า เป็นชนชั้นแรงงาน เป็นคนทำงาน เรียน หลุดจากระบบการศึกษา ได้รับผลกระทบจากการบริหารงานของรัฐบาล ม็อบใดก็ตาม ทุกคนมาด้วยสันติวิธี แต่การป้องกัน การตอบโต้กับผู้ชุมนุมมันไม่ใช่หลักการสากล การใช้ความรุนแรงต่อเด็กเยาวชน ผู้ที่มาชุมนุม ทะลุแก๊สไม่ได้มีนโยบายใช้ความรุนแรงเสมอไป แต่เราพยายามหาทางร่วมตรงกลาง เช่น เราจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อจะให้ผู้ชุมนุมมีเวทีกิจกรรมที่ทำร่วมกันได้ รัฐบาลต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้ชุมนุม แต่เราไม่เคยเห็นเลยว่ารัฐบาลจะเปิดเวทีรับฟังความเห็นของประชาชน ไม่มีทางที่เสียงของเราจะไปถึงรัฐบาลเลย ผมตอบได้เลยว่าทำไมผู้ชุมนุมถึงออกมาชุมนุมทุกวัน คฝ. ตำรวจ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ทำให้เกิดความโกรธแค้น ทั้งกับผู้ชุมนุมและชาวบ้านแฟลตดินแดงที่ได้รับผลกระทบตรงนี้ สิ่งนี้ที่เป็นตัวจุดไฟและเชื้อเพลิง”

เขาเล่าต่อ ว่าเขาเกิดในสลัมคลองเตย เห็นปัญหาจากชนชั้นล่างสุดว่าคืออะไร เขาไม่เคยได้รับการเยียวยาจากรัฐบาลไม่ว่าจะคลองเตย แฟลตดินแดง เขาชุมนุม ออกมาใช้สิทธิ์ใช้เสียง แต่ไม่ได้รับการรับฟัง จึงต้องออกมาสม่ำเสมอ ออกมาต่อสู้ในเชิงสันติวิธี สัญลักษณ์ แต่รัฐบาลใช้วิธีการตอบโต้ด้วยกระสุนยาง

จากข้อมูลสำรวจในพื้นที่พบเยาวชนอายุ 14-25 ปี อยู่นอกระบบการศึกษา ทำงานรับจ้าง หรือบางคนที่เรียนอยู่ก็เป็นกลุ่มสายอาชีพ อาชีวะ กว่า 70 % บางคนเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา เพราะการเงินทางบ้านมีปัญหาจากเศษฐกิจในช่วงที่โควิด-19 ระบาด

หนึ่งในผู้ชุมนุมวัย 21 ปี เคยเรียนอาชีวะ ต่อมาติดคุกในข้อหายาเสพติด โดยเขาบอกว่าเป็นเพราะถูกกลั่นแกล้ง อยู่ในเรือนจำเกือบหนึ่งปี ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำเจอนักโทษทางการเมือง ทำให้ได้รู้ถึงโครงสร้างและระบบการบริหารที่ล้มเหลวของรัฐบาลชุดนี้ หลังออกจากเรือนจำจึงตัดสินใจสมัครงาน แต่ไม่นานก็ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รัฐบาลก็แก้ไขปัญหาอะไรไม่ได้ ทำให้เขานึกย้อนกลับไปที่นึกถึงสิ่งที่เคยได้ยินมาจากเรือนจำ 

“ตัดสินใจออกมาเรียกร้อง เริ่มจากการเข้าร่วมแบบสันติวิธี แต่นานไปกลับไม่ได้รับการแก้ปัญหา อีกทั้งยังโดนการสลายการชุมนุมแบบใช้ความรุนแรง ถูกจับระหว่างการชุมนุม และถูกใช้ความรุนแรงทั้งการกระทำและคำพูด รู้สึกว่าคงจะใช้วิธีการสันติไม่ได้แล้ว เลยเลือกที่จะออกมาที่สนามดินแดง เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนไม่ยอมแพ้ต่อการกระทำที่รุนแรงของรัฐ”

ความคาดหวังของเขา คือ ต้องการให้ปรับโครงสร้างในระบบการศึกษา เพราะเขาคือเหยื่อของระบบที่เอาเงินเป็นใหญ่ แต่ตนฐานะทางครอบครัวไม่ดี เลยทำให้เขาไม่ได้เรียนในสิ่งที่ชอบ

อีกทั้งมองว่ารัฐบาลชุดนี้บริหารงานล้มเหลวในหลายเรื่อง กระทบกับชีวิต ครอบครัว และงาน เขาจึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในรัฐบาล เพราหากมีลูก ไม่อยากให้ลูกต้องมาเจอความล้มเหลวในการบริหารแบบนี้ ทั้งเรื่องสวัสดิการต่าง ๆ และที่สำคัญคือเรื่องของระบบการศึกษาแบบที่เขาเจอ จึงต้องการการเปลี่ยนแปลง

เยาวชนอีกคนที่เข้าร่วมชุมนุม อายุเพียง 14 ปี เขาอาศัยที่คลองเตย มีความฝันอยากเป็นศิลปิน ตอนนี้เขากำลังจะหลุดจากระบบการศึกษา เพราะครอบครัวได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และส่งผลต่อค่าใช้จ่ายเรื่องเรียนของเขา ก่อนหน้านี้ตอนเด็กเคยไปชุมนุมกับพ่อแม่ เป็นชุมนุมของคนเสื้อเหลือง ไปเพราะเขามีข้าวแจก และตัวเองก็ยังเด็กเกินจะเข้าใจการเมือง จนเมื่ออายุมากขึ้น เจอคนเยอะขึ้น ทำให้เห็นว่าตัวเองสามารถมีชีวิตที่ดีกว่านี้ได้ ถ้าถูกให้ความสำคัญเท่ากันกับคนทั่วไป ปัญหาทับซ้อนไม่รู้จบ คำว่าคลองเตยตีตรา ถมเขาให้จมลงไปใต้พรม เขาเลยออกมาเพื่อหาพื้นที่และแสดงให้เห็นว่าฉันอยู่ตรงนี้ ฉันมีความฝัน และความฝันของฉันกำลังจะจบลงเพราะการบริหารของรัฐบาลนี้

ไม่ต่างจากผู้ชุมนุมอีกคน เขามีอายุ 25 ปี มาจากจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาทำงานที่กรุงเทพฯ เคยเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุม ถูกยิงกระสุนยางเข้าที่อก และได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จึงเข้าร่วมชุมนุมเพราะรู้สึกว่าการบริหารของรัฐบาลนี้ล้มเหลวในเรื่องการจัดการโควิด-19

เรื่องราวเบื้องหลังของผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ส จุดร่วมที่ทุกคนมีร่วมกัน คือ ชีวิตและความเป็นอยู่ที่ลำบากและยากที่จะผ่านช่วงชีวิตในแต่ละวัยได้ ด้วยฐานะ โอกาส ที่พวกเขาเชื่อว่าเชื่อมโยงกับการบริหารงานของรัฐบาล คุณภาพชีวิตที่ดีกว่านี้คือเสียงเรียกร้องต่อรัฐบาลผ่านถนนพื้นที่การชุมนุม แต่เสียงที่ไปไม่ถึงและถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง คือเชื้อไฟที่โหมและผลักดันให้เกิดการรวมตัวที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง   

แล้วทำไมต้องที่นี่… เบื้องหน้าอาจเป็นเหตุผลหลักใหญ่ว่าถนนสายนี้มุ่งหน้าไปบ้านพักของนายกรัฐมนตรี ผู้กุมอำนาจการบริหาร แต่ “ดินแดง” ยังป็นพื้นที่ปลอดภัยที่ประกอบไปด้วยจุดยุทธศาสตร์ทางกายภาพ เป็นเสมือนที่หลบภัยจากการไล่ล่าของเจ้าหน้าที่  ไม่ว่าจะแผนที่ เส้นทาง การตั้งของตึกต่าง ๆ 

“วินาทีนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นคือผู้ชุมนุมถูกไล่ล่า เราสามารถมอบตัวตรงนั้นได้ เพราะเราไม่ได้มีอาวุธ แต่ที่เราไม่ทำและหนีขึ้นไปบนตึก เพราะ คฝ. ไม่ได้ไล่จับอย่างเดียว แต่ใช้ความรุนแรง บางคนหัวร้างข้างแตก เพื่อนผมโดนยิง”

เขายังบอกถึงทางเลือก หากไม่ให้พวกเขาหนีขึ้นไปบนตึก นั่นคือการแก้ไขเป็นขั้นเป็นตอน อย่างแรก รัฐบาลต้องลงมาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นให้เร็วที่สุด ปัญหากจะสิ้นสุด แต่ถ้าไม่ลงมาปัญหาก็จะตามมาเรื่อย ๆ เขาย้ำว่าต้องการประชาธิปไตยที่เท่าเทียมสำหรับทุกคน เท่าเทียมกับคนที่เห็นต่าง ไม่ว่าจะเด็ก ผู้ใหญ่ เยาวชน พวกเขาต้องการอยู่ร่วมกันในสังคมนี้ ไม่ต้องการใช้ความรุนแรง แต่กลับถูกตอบโต้ด้วยความรุนแรง

“ผมไม่เห็นด้วย บอกผ่านตรงนี้ ถ้าใครมาแค่คิดสนุก ตรงนี้ไม่ใช่สนามเด็กเล่นที่คุณคิดจะมาใช้ความคึกคะนองได้ แต่เป็นพื้นที่ต่อสู้เพื่อให้สังคมดีขึ้น ไม่ว่าจะฝ่ายไหน ซ้าย ขวา เราควรหาแนวร่วมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างสงบสุข เดินหน้าได้ ผมอยากให้ทุกคนที่มาดินแดง หรือที่ไหน ก็มาด้วยอุดมการณ์ เพราะสิ่งที่เรารู้ว่าเพราะอะไร มาเพื่ออยากให้อะไรมันดีขึ้น”

ณัฐวุฒิ เนาวบุตร ตัวแทนกลุ่ม Child in mob ที่ร่วมสังเกตการณ์ในพื้นที่และเก็บข้อมูลในฐานะที่ทำงานด้านคุ้มครองสิทธิเด็ก ระบุว่า การชุมนุมตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 – กันยายน 2564 มีการชุมนุม 1,350 ครั้ง มีการจับกุมดำเนินคดี 223 คน เป็นคดีความ 112 คดี โดยมีผู้ถูกกล่าวหาอายุน้อยที่สุดคือ 12 ปี มีการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ 203 คน ออกหมายจับอย่างน้อย 10 คน เฉพาะเดือนกันยายน 2564 มีการดำเนินคดี 97 คน ทั้งหมด 38 คดี ไม่ได้ประกันตัว 1 คน และส่วนใหญ่เป็นการจับกุมในพื้นที่ดินแดง อายุส่วนมากอยู่ระหว่าง 15-18 ปี 

“เราอยากเน้นย้ำว่า เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม หน่วยงานปกป้องสิทธิ์ ต้องออกมาแสดงความกังวล ออกมาทำงาน take action มากที่สุด”

มีความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนกลุ่มเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมอีกกว่า 20 คน ซึ่งสะท้อนผ่านวงพูดคุยแบบปิดอย่างไม่เป็นทางการ ในแง่มุมผลกระทบมิติต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลที่สืบเนื่องจากความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง โอกาส และมิติทางสังคม 

ฐิตินบ โกมลนิมิ หนึ่งในทีมผู้จัดกระบวนการพูดคุย เป็นตัวแทนสะท้อนเสียงเหล่านั้น

เธอบอกว่า น้อง ๆ ที่เป็นตัวแทนทะลุแก๊สมาจากหลายพื้นที่ คลองเตย ย่านฝั่งธนฯ ถนนเฉลิมพระเกียรติ รังสิต ฯลฯ มีอุดมการณ์ทางการเมืองไม่ต่างจากการชุมนุมเมื่อปีที่ผ่านมา ข้อเรียกร้องก็ไม่ต่างกัน การชุมนุมยืดเยื้อเพราะพวกเขาต้องการสื่อสารว่าไม่ต้องการให้กระแสชุมนุมทางการเมืองตกลง ยิ่งมีน้ำท่วม โควิด-19 ยิ่งทำให้กระแสการเมืองลดลงมา พวกเขากังวลว่าเรื่องของเขาจะหายไป 

“เขามีเพื่อนถูกจับกุม ติดคุกหลายคน มีหลายคนถูกเคาะประตูติดตามว่าจะไปม็อบไหม หลายคนมีพ่อแม่เป็นคดี จากการที่เขาได้รับผลกระทบอยู่แล้ว จากความยากจน พอมาถูกคดีฟ้องร้องก็มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น มันทำให้ปัญหาวนเวียนซับซ้อน คนเรียกร้องเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาไม่ต้องการให้โครงสร้างที่ไม่เท่าเทียม เห็นคนไม่เท่ากัน มากดอนาคตเขาลง เขามีความฝันหลายอย่างมีข้อเสนอเชิงสันติวิธีหลายข้อ”

เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ ยังตั้งคำถามด้วยว่า เป็นไปได้ไหมหากจะเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้แสดงออกความคิดเห็นทางการเมือง เช่น การเปิดคอนเสิร์ต สื่อสารทางสัญลักษณ์  ศิลปะ มีเวทีการพูดคุยระหว่างประชาชน  ข้อเรียกร้องมีทั้งการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง ประเด็นความไม่เท่าเทียม ความเเหลื่อมล้ำ ต้องการวัคซีนที่มีคุณภาพ ต้องการสวัสดิการของรัฐ ต้องการการศึกษาที่ดี มีทั้งประเด็นสังคม และการเมือง 

“เขาอยากพูดคุยกับภาครัฐ แต่รัฐมองเขาเป็นคู่ตรงข้าม ไม่ได้มองว่าเขาเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงสร้างเหล่านี้ มีหลายคนกำลังพยายามถีบตัวเองเรียน กศน. และหางาน แต่หางานไม่ได้ แม้แต่ กศน. ก็อาจจะหยุดเรียน ประเด็นเหล่านี้ทำยังไงลุงตู่ถึงจะเข้าใจปัญหาที่ซับซ้อน”

ส่วนเหตุผลที่ผู้ชุมนุมหนีขึ้นไปบนแฟลตดินแดง เพราะพวกเขาคิดว่าแฟลตดินแดงเป็นพื้นที่ปลอดภัย ขึ้นไปหลบได้ แต่เมื่อขึ้นไป กลับถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนตามไป นี่คือสิ่งที่พวกเขาคาดไม่ถึง

ยุทธวิธีสลายการชุมนุม การเลือกวิธีตอบโต้ เชื้อไฟของความรุนแรง?

พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม บอกว่า ปรากฏการ์ที่เกิดขึ้นเป็นผลจากความไม่เป็นธรรมและโครงสร้างความเหลื่อมล้ำของสังคมมาโดยตลอด เราพบว่าถ้าไม่มีเสียงปืน ระเบิด ความรุนแรง ผู้ใหญ่มักจะไม่ฟังเด็ก ไม่สนใจเสียงร้องของเขา ทั้งที่เด็กต้องการความช่วยเหลือทั้งนั้น  เจ้าหน้าที่โดยเฉพาะตำรวจ ที่ได้รับหน้าที่นี้ ต้องยุติตามเสียงร้องเหล่านี้ ที่ผ่านมาโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ระดับนโยบายมักอ้างว่าควบคุมฝูงชนด้วยสันติวิธี หลายครั้งแถลงจะใช้สันติวิธี แต่สิ่งที่เราเห็นคืออาวุธครบมือ พร้อมเกราะกำบังเหมือนเขาจะไปรบ แต่ขั้นตอนเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้หลายหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองเด็ก หน่วยงานที่มีความเข้าใจร่วมปฏิบัติด้วย

“เราตั้งข้อสังเกตกับหน่วยควบคุมฝูงชน ได้รับการฝึกอบรม การเจรจากับผู้ชุมนุมมากน้อยแค่ไหน พฤติการณ์ที่เห็น เขาจะทำได้ดีขึ้นมาก ถ้าเข้าใจเด็กเยาวชน หลักการสากลที่อ้างจากเบาหาหนักเราไม่เห็นเลย ต้องให้สัดส่วนที่เหมาะสมตามกฎหมาย และความจำเป็นด้วย การเริ่มใช้อาวุธที่มีลักษณะเป็นอาวุธสงครามอย่างกระสุนยาง แต่ความเจ็บปวดบาดแผลก็เกิดขึ้น สิทธิการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานและเป็นสิทธิของเด็กด้วย การชุมนุมโดยสงบไม่มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้กัน ยังมีอยู่ แค่เปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน แม้ว่าเป็นท้องถนนที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนก็ตาม อาจยืดเยื้อยาวนาน แต่จะไม่โหมกระหน่ำมาที่ดินแดง อยากให้เปิดพื้นที่กว้างขึ้น”

นารี เจริญผลพิริยะ อดีตหัวหน้าโครงการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นผู้เคยจัดอบรมควบคุมฝูงชน นักสันติวิธี ขยายความเข้าใจต่อประเด็นการปฏิบัติตามหลักสันติวิธี ว่าวิธีที่เจ้าหน้าที่ใช้ไม่เรียกว่าสันติวิธี แต่เป็นขั้นตอนการใช้กำลังจากเบาไปหาหนักตามขั้นตอน คือ เบาสุดผลักดันด้วยกระบอง ขยับมาที่การตี ฉีดน้ำ และกระสุน 

“ขั้นตอนทั้งหมดเบาหาหนัก คือขั้นตอนการใช้ความรุนแรง เวลาเจ้าหน้าที่พูด จะไม่ใช้คำว่าสันติวิธี แต่จะใช้คำว่าเราใช้วิธีตามกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้ความรุนแรงจากเบาไปหาหนัก ทางตำรวจก็ใช้หลักการสากล แต่เป็นหลักการสากลใช้กำลัง” 

นักสันติวิธีอธิบายเพิ่มเติมว่าหน่วยควบคุมฝูงชนเป็นหน่วยใช้กำลัง ถ้าเขามาหมายความว่าจะมีการใช้กำลัง ถ้าอยากให้ทุกฝ่ายใช้สันติวิธี ต้องพูดกันระดับนโยบายที่สั่งการมาด้วย เพราะว่าหน่วยเหล่านี้ อาชีพเขาฝึกอาวุธทุกวัน เขามาก็ต้องฝึกอาวุธ ถ้าจะใช้วิธีสันติวิธีต้องเปลี่ยนที่ระดับนโยบายตั้งแต่แรก  

“ถ้าเราคิดว่าจะใช้สันติวิธีจริง ๆ เราก็ต้องจริงจัง เช่น มีตัวแทนเจรจา เราต้องเตรียมคน หากเป็นความรับผิดชอบทั้งสองฝ่าย”

ขณะเดียวกัน นักสันติวิธีก็มีคำถามต่อผู้ชุมนุม ว่าเหตุใดกลุ่มทะลุแก๊สถึงแยกตัวออกมาจากกลุ่มสันติวิธี หากมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกันกับกลุ่มสันติวิธีอื่น ๆ

ตัวแทนกลุ่มทะลุแก๊สชี้แจงว่า การแยกตัวอาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่การไม่เคยได้รับพื้นที่การพูดคุยจากรัฐบาลและไม่เคยฟังเสียงของประชาชน และมีท่าทีตอบโต้รุนแรงคือประเด็นที่เขาพยายามจะชี้ให้เห็น และหากจะมีพื้นที่การเจรจา เขาหวังว่าจะเป็นการเปิดพื้นที่อย่างจริงจัง

“ไม่ใช่แค่คุยกับตัวแทน เสียงของทุกคนสำคัญเช่นกัน ถ้า คฝ. ไม่ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม ม็อบจะน้อยลง เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ปัญหาจะคลี่คลาย”

ณัฐวุฒิ เนาวบุตร ตัวแทนกลุ่ม Child in mob เสริมว่าการมีตัวแทนและเวทีการพูดคุยเป็นเรื่องที่ดี เรื่องสิทธิเด็กเป็นเรื่องสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม ไม่ใช่แค่ในประเทศ แต่ในระดับนานาชาติที่เราต้องวิเคราะห์ให้รอบด้าน ไม่ใช่แค่กฎหมายไทย แต่กฎหมายที่เรารับรอง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก Convention on the Rights of the Child (CRC.)

“อนุสัญญาสิทธิเด็ก ที่พูดถึงสิทธิที่จะมีชีวิต จะต้องมีชีวิตรอด เด็กต้องได้รับความปลอดภัย จากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ เด็กได้รับความปลอดภัยไหม เรื่องการพัฒนา เด็กได้รับการพัฒนาไหม ทั้งเรื่องโอกาสทางการศึกษา การมีส่วนร่วม และการรับฟัง มันสะท้อนผ่านเด็กที่ออกมาชุมนุม คือตรงที่เขาได้รับผลกระทบทั้งสี่ข้อหมดเลย เด็กได้รับผลกระทบการกีดกันของการศึกษา ค่าเทอม โอกาสในการเข้ารับการศึกษา ผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 เด็กตกงาน มีภาระค่ารักษาจากการบาดเจ็บ จากการชุมนุม ซึ่งได้รับการถูกยิงท่อนบนมากกว่าท่อนล่าง” 

การพูดคุย ยังมีการพาดพิงถึงยุทธวิธีการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ แต่ตัวแทนที่เกี่ยวข้องไม่ได้เข้าร่วมวงเสวนา แม้คณะผู้จัดจะประสานไปล่วงหน้าแล้วก็ตาม จึงไม่มีคำอธิบายเพิ่มเติมในมุมมองส่วนนี้ และหากยึดตามที่มีการแถลงข่าวทุกครั้งที่ผ่านมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คือ การสลายการชุมนุมมีมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมาย

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำอะไรไปแล้วบ้างและจะทำอะไรต่อจากนี้ 

กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุย์ ระบุว่า หลังจากนี้จะมีการวางแผนหารือร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเคหะแห่งชาติ รวมถึงตัวแทนเยาวชนที่ร่วมชุมนุม เพื่อหารือถึงประเด็นการละเมิดสิทธิ์ การใช้ความรุนแรง และจะนำข้อเรียกร้องของชาวแฟลตดินแดงไปหารือและวางแผนการช่วยเหลือรวมถึงการช่วยเหลือน้อง ๆ ด้วย

ขณะที่ การเคหะแห่งชาติ ดำเนินการลดค่าเช่า ตั้งแต่เดือนสิงหาคมถึงกันยายน จากค่าเช่า 999 บาท  ลด 50%  ส่วนค่าเช่าที่สูงกว่า จะให้จ่ายในราคา 999 บาท นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนสิงหาคมมีการมอบข้าวกล่อง 50 วัน 50,000 กล่อง ส่วนข้อเสนอจะรีบนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ได้เร็วที่สุด 

กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ  กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า ไทยยังไม่มีกฎหมายเยียวยากรณีที่เกี่ยวข้องกับเหตุชุมนุมทางการเมือง กฎหมายของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่เกี่ยวข้องกับการเยียวยา เป็นการเยียวยาคดีอาญาทั่วไป ไม่เจาะจงด้านใดด้านหนึ่ง กฎหมายค่าตอบแทนผู้เสียหายและการชดเชยคดีอาญา  ดูแลสองกลุ่ม คือ กลุ่มผู้เสียหายในคดีอาญา กลุ่มที่สอง จำเลยแพะในคดีอาญา และจะดูแลเยียวยาเบื้องต้นที่เกิดกับชีวิต ร่างกาย เพศ เป็นหลัก ไม่เกี่ยวกับทรัพย์สิน และการเยียวยาตรงนี้ ผู้เสียหายต้องไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดนั้น ๆ ซึ่งการพิจารณาเยียวยาเป็นดุลยพินิจจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งที่ผ่านมา มีคนที่ได้รับผลกระทบจากแฟลตดินแดงยื่นไปเพียง 2 คน อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรวบรวมข้อมูล

“หากเป็นการเยียวยาด้านผลกระทบทางด้านจิตใจ นอนไม่หลับต้องกินยานอนหลับ ถือว่าเข้าข่าย แต่ต้องได้รับการรับรองจากแพทย์ ยืนยันการประเมินอาการ ว่าได้รับผลกระทบจริง ส่วนกรณีที่จะให้ประสานกับทางกระทรวง พม. เพื่อทำฐานข้อมูลโดยตรงในพื้นที่ เบื้องต้นขอรับไว้พิจารณา และยินดีตามบทบาทหน้าที่”

ด้าน วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ทิ้งทายว่า ควรมีเวทีพูดคุย ดีกว่าการตีกัน การพูดคุยเป็นสิ่งสำคัญ เราไม่อยากเห็นการละเมิดสิทธิเกิดขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะฝ่ายใดก็ตาม อยากให้เราสื่อสารกันอย่างสร้างสรรค์ได้ 

เช่นเดียวกับ พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  ที่มองว่าเวทีนี้เป็นอิฐก้อนแรกที่ช่วยให้ดินแดงสงบอีกครั้งหนึ่ง และอยากส่งให้ถึงผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจแม้เรื่องใหญ่ อาจจะไปไม่ถึง แต่นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการพูดคุย อยากให้หลายพื้นที่ทดลองการพูดคุยแบบนี้ มีท่าทีในการรับฟังแบบนี้ ขอบคุณที่ทุกฝ่ายยอมเปิดหน้า 

บทส่งท้าย  

การพูดคุยในครั้งนี้ เผยให้เห็นต้นเหตุปัญหาเชิงโครงสร้างที่ซับซ้อน ซึ่งเป็นประเด็นที่ประชาชนเรียกร้องมาตลอด ได้เห็นความพยายามแสดงออก การใช้สิทธิทางการเมือง สิทธิเด็ก สิทธิชุมชน ซึ่งสิทธิบางสิทธิกระทบซึ่งกันและกัน

จุดเริ่มต้นของการชุมนุมเป็นปฏิบัติการทางการเมือง จึงไม่ควรลดทอนการต่อสู้ทางการเมืองของเยาวชน ให้เหลือเพียงการก่อกวน สร้างความปั่นป่วนโดยไม่ฟังเสียงที่พยายามสื่อสาร  

ขณะเดียวกัน สามเหลี่ยมดินแดงเป็นพื้นที่เคหะสถาน พื้นที่ชุมนุมควรถูกเปิดกว้าง และหลีกเลี่ยงเพื่อลดผลกระทบ

ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น อย่าผูกขาดอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเพียงอย่างเดียว แต่เรามีภาครัฐหลายภาคส่วน ซึ่งควรมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และอย่าใช้เพียงกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ควรใช้หลากหลายแนวทางเพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อหาจุดร่วมบนความต่าง และคืนชีวิตความสงบให้กับทุก ๆ สิทธิ


เข้าร่วมโครงการ Thailand Talks

ผ่านการตอบคำถาม
ให้ระบบจับคู่คุณกับคู่ของคุณ
จากนั้นนัดแนะและพุดคุยกัน

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วาสนา ไซประเสริฐ

ฝึกฝนการเป็นนักเดินทาง ทั้งการเดินทางภายในและภายนอก... ออกไปเห็นโลกที่ใหญ่ขึ้น เพื่อเห็นตัวเองเล็กลง

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์