#สมรสเท่าเทียม | 2021 WRAP UP

รวมความเคลื่อนไหว ประเด็น LGBTIQN+ ในไทย ก็มาไกล “ได้อยู่”

2564 ปีที่ความเท่าเทียมทางเพศ…ดีอยู่!!!

The Active รวบรวมความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) โดยเฉพาะ #สมรสเท่าเทียม ที่มีเหตุการณ์ให้ต้องเลื่อน ๆ ลุ้น ๆ กันตลอดทั้งปี

31 ธันวาคม 2563 ก่อนปีใหม่เพียง 1 วัน ดลวัฒน์ ไชยชมภู หรือ ครูมิกกี้ ครูหญิงข้ามเพศ ต้องสูญเสียคู่ชีวิตที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง เธอร่วมอาลัยสามีเป็นครั้งสุดท้ายในชุดข้าราชการสีขาว สะท้อนปัญหาที่ไม่สามารถมอบสิทธิ สวัสดิการ เบิกจ่ายยารักษาให้กับคนรักได้ เนื่องจากเป็นคู่รักเพศเดียวกัน ทิ้งปม “สมรสเท่าเทียมไม่มีจริง”

มิถุนายน คือ เดือนสำคัญของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ เพราะเป็นเดือน Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศที่เต็มไปด้วยสีสัน เมืองใหญ่ทั่วโลก มีการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ในเดือนมิถุนายน และบางครั้งก็ขยายไปจนถึงเดือนสิงหาคม แต่ในปีนี้ไม่มีขบวนพาเหรดสร้างสีสันให้เห็นอย่างที่ผ่านมา เพราะการระบาดของโควิด-19 แต่การเคลื่อนไหวเพื่อเฉลิมฉลอง Pride Month ก็ถูกปลุกกระแสในโลกโซเชียล และมีอีกหลายกลุ่มเคลื่อนไหว ทั้งประเด็นสิทธิ ความเท่าเทียม และประเด็นอื่น ๆ รวมถึงนักการเมืองไทย ที่ร่วม สวัสดีเดือนมิถุนายน ในวันนี้เช่นกัน

ตลอดทั้งเดือนตุลาคม 2564 คนบันเทิงรวมติดแฮชแท็กสนับสนุน #สมรสเท่าเทียม จนติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับ 1 ข้ามคืน และมีหลากหลายความคิดเห็นเป็นจำนวนมาก เพื่อเกาะติดผลการพิจารณาจากศาลรัฐธรรมนูญ อีกครั้งใน วันที่ 17 ธันวาคม

ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพานิชย์ มาตรา 1448 ที่อนุญาตให้สมรสกันเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่คู่รักซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นหญิง ได้ยื่นคำร้องหลังถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส แต่ศาลเห็นว่าหน่วยงานต่าง ๆ อาจทำกฎหมายคุ้มครองหรือรับรองสิทธินั้นได้

28 พฤศจิกายน กลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม จัดชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ เรียกร้องรัฐบาลเคารพสิทธิในการสมรสของทุกเพศ พร้อมเปิดเข้าชื่อเพื่อนำเสนอร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียมภาคประชาชน ผ่าน www.support1448.org ตั้งเป้า 1 ล้านรายชื่อ ล่าสุด (16 ธ.ค.) มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วกว่า 2.7 แสนรายชื่อ

2 ธันวาคม ศาลรัฐธรรมนูญ เผยแพร่คำวินิจฉัยฉบับเต็ม และความเห็นส่วนตนของตุลาการทั้ง 9 คน จนเกิดเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ต่อมุมมองของศาลฯ ในลักษณ์เหยียดเพศ แบ่งแยกกลุ่ม LGBTIQ+ ให้พลเมืองชั้น 2 ต้องใช้กฎหมายอีกฉบับ

คำวินิจฉัยเต็ม https://ilaw.or.th/sites/default/files/ruling20-2564_0.pdf

ความเห็นตุลาการ  https://ilaw.or.th/sites/default/files/pall20-2564_0.pdf

นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษางานรณรงค์มูลนิธิมานุษยะ และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ผู้ต้องหาที่ 5 จาก 20 คน ที่ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ออกหมายวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ในข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ”

เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง และ พวงเพชร เหงคำ คู่รักซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นหญิงที่ถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส เข้าฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ยืนยันไม่ถอนฟ้องแม้ว่าจะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ในด้านการสร้างการรับรู้ถือว่าคู่ของตนเองได้ทิ้งบันทึกทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศให้คนรุ่นต่อไป

14 ธันวาคม แม้ในทางกฎหมาย #สมรสเท่าเทียมจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ในส่วนของภาคเอกชน เริ่มมีนโยบายที่ให้ความสำคัญต่อการก่อตั้งครอบครัวของคนทุกกลุ่ม ตัวอย่าง เศรษฐา ทวีสิน CEO บริษัทแสนสิริ ออกมาทวีตสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ โดยให้พนักงานที่เป็น LGBTQIN+ สามารถลาแต่งงานได้ 7 วัน เท่ากับการสมรสระหว่างชาย-หญิง พร้อมระบุ เราทุกคนควรได้รับสิทธิ์อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์