Everyday’s Pride: เราภูมิใจในสายรุ้งได้ทุกวัน

“เรายอมรับคุณได้ อยู่ร่วมด้วยได้
แต่อย่าแสดงออกเยอะ รู้ที่รู้ทาง และต้องเป็นคนดี”

ประเทศไทยกลายเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีความก้าวหน้ามากที่สุด ในมิติการรับรองสิทธิสมรสของคู่รักผู้มีความหลากหลายทางเพศ หากกฎหมายนี้คลอดออกมาได้สำเร็จ ไทยจะเป็นประเทศที่ 2 ในเอเชียที่รับรองสิทธิดังกล่าว บรรยากาศของการเฉลิมฉลองเทศกาลแห่งความภาคภูมิใจเนื่องในโอกาส ‘Pride Month’ เดือนมิถุนายน 2567 ที่จะถึงนี้ ทั้งกรุงเทพมหานครและอีกกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศจะถูกย้อมด้วย ‘สีรุ้ง’ หันไปดูสื่อมากมายก็มีภาพของคู่รักเพศเดียวกัน ห้างร้านและแบรนด์ดังต่างออกแคมเปญมาสนับสนุน LGBTQIAN+ มากขึ้น

ดูเหมือนสิทธิความเท่าเทียมทางเพศจะเป็นไปได้สวย แต่สำหรับวงเสวนาใน Public Forum : “Pride Month” ประตูบานแรกสังคมไทย เข้าใจความหลากหลาย พวกเขายังมีข้อกังวลอยู่มากถึงการรองรับสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ สิทธิในการก่อตั้งครอบครัว สิทธิทางอัตลักษณ์ทางเพศ ฯลฯ รวมไปถึงภาพการเหมารวมและอคติต่อ LGBTQIAN+ ยังคงปรากฎให้เห็น ดังนั้น แม้ไทยจะผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม ก็ไม่ได้แปลว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศจะได้รับการปฏิบัติในสังคมอย่าเสมอภาค การสื่อสารเรื่องความเท่าเทียมทางเพศจึงยังเป็นวาระสำคัญที่ต้องพูดกันต่อไป

pride month

เมื่อการเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ มาพร้อมกับคำว่า “แต่”

งานวิจัยโครงสร้างสังคมDEE คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เผยผลการศึกษาว่า แม้ภาพรวมอคติของสังคมที่มีต่อกลุ่ม LGBTQIAN+ จะมีแนวโน้มไปในทางบวกมากขึ้น เห็นด้วยต่อการรับรองสิทธิต่าง ๆ มากขึ้น เห็นการเปิดรับมากขึ้นด้วยกระแสสังคมยุคใหม่ สื่อภาพยนตร์คู่รักเพศหลากหลาย ตลอดจนแคมเพนเพื่อสิทธิ LGBTQIAN+

แต่ยังมีภาพเหมารวมบางมิติที่ลดทอนคุณค่าของผู้มีความหลากหลายทางเพศ เช่น ถูกมองว่าเป็นเพศที่รักสนุก, มีความคิดสร้างสรรค์, สร้างความบันเทิงได้ดี และ ยังมีอคติทางลบในเรื่องความหมกมุ่นทางเพศ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ ทำให้บรรยากาศการเปิดรับความหลากหลายทางเพศยังมีการแปะป้ายอคติ เงื่อนไขบางอย่าง เช่น “จะเป็น LGBTQIAN+ ก็ได้แต่ต้องเป็นคนเก่ง คนดีก่อน” ด้วยความคิดเช่นนี้ ทำให้คนกลุ่มนี้ยังไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมเช่นชายหญิงตามเพศกำเนิด

วงเสวนายังตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อรัฐบาลหยิบยกประเด็นสมรสเท่าเทียมขึ้นมาผลักดัน เป็นเรื่องที่น่ายินดี แต่ยังมีการสื่อสารบางจุดที่น่ากังขา เช่น การพยายามหาตัวเลขประชากรของ LGBTQIAN+ เพื่อนำไปคำนวณมูลค่าทางเศรษฐกิจ หรือพยายามเหมารวมให้กลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้มีกำลังซื้อ หรือเป็นแรงงานทักษะสูง มีความคิดสร้างสรรค์โดดเด่น หรือถึงขั้นเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์หลาย sector นำไปสู่การสรุปกลาย ๆ ว่า หากประเทศไทยเปิดรับสิทธิเสมอภาคทางเพศแล้ว จะนำมาซึ่งโอกาสทางเศรษฐกิจอีกจำนวนมาก ยกตัวอย่างที่เห็นภาพมากที่สุด คือการจัดเทศกาล Pride Month เพื่อหวังดึงดูดการท่องเที่ยวร่วมด้วย

แน่นอนว่าการผลักดันให้เศรษฐกิจสีรุ้งเฟื่องฟูนั้น อาจเป็นเจตนาที่ดี แต่อย่าลืมว่าเจตนาแรกเริ่มของการผลักดัน กฎหมาย ‘สมรสเท่าเทียม’ นั้น เป็นไปเพื่อการยอมรับว่า ไม่ว่าเพศใด ทุกคนย่อมมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีสิทธิที่จะรักใครสักคน และอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวโดยมีกฎหมายรองรับ การจะมองข้ามไปถึงศักยภาพทางเศรษฐกิจนั้น อาจทำให้เจตนาของการผลักดันกฎหมายนั้นผิดเพี้ยนไป ที่สำคัญคือ การมีอยู่ของเศรษฐกิจสีรุ้ง ไม่ได้ช่วยทำให้ LGBTQIAN+ มีสิทธิสมรสตามกฎหมาย เช่น การมีอยู่ของซีรีส์วายหรือการนำเสนอภาพคู่รักเพศหลากหลายผ่านสื่อมากขึ้น ก็ไม่ได้หมายความว่า สิทธิของคนกลุ่มนี้จะเท่าเทียมเพศชายหญิงโดยกำเนิด หรือการเลือกปฏิบัติในสังคมจะหายไป ดังนั้น แม้วันนี้สมรสเท่าเทียมจะผ่านแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังต้องเดินหน้าสื่อสารเพื่อลดอคติและการเลือกปฏิบัติทางเพศต่อไป

เรื่องปากท้องมาก่อน เรื่องสิทธิไว้ทีหลัง ?

มายาคติหนึ่งที่ส่งต่อกันไปว่า “เรื่องปากท้อง ต้องมาก่อนเรื่องสิทธิความเท่าเทียม” นั้น ทำให้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศ (และกฎหมายส่งเสริมสิทธิเสรีภาพอื่น ๆ) ถูกลดความสำคัญลง แต่วงเสวนาย้ำว่า เรื่องทุกเรื่องสามารถพูดไปพร้อม ๆ กันได้ ไม่จำเป็นต้องเลือกว่าจะเอาสิ่งใดมาก่อนหรือหลัง เพราะในที่สุดทั้งเรื่องสิทธิทางเพศและเศรษฐกิจก็จะเชื่อมโยงกัน เช่น คนข้ามเพศจำนวนมากที่ถูกกีดกันจากการศึกษา หรือจากการทำงาน ไม่สามารถที่จะเอาตัวรอดในทางเศรษฐกิจได้ ฯลฯ เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ความหลากหลายทางเพศจะไม่เกี่ยวข้องกับปากท้องได้อย่างไร?

“เพราะความไม่เข้าใจ ความรังเกียจทำให้คุณกีดกันคนจำนวนมากจากกิจกรรมสำคัญในกระแสหลัก ซึ่งหมายถึงความอยู่รอดและความอยู่ดีของผู้คน มันคือเรื่องเดียวกัน เลิกปิดปากคนในสังคมด้วยการบอกว่า มีเรื่องอะไรที่ต้องมาก่อน”

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

ขณะที่การผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม เหมือนจะเดินหน้าไปอย่างราบรื่น แต่ยังมีข้อกังขาบางประการ อย่างการพิจารณาในชั้น สส. ที่ผ่านมา ไม่ได้มีการรับรองข้อเสนอของภาคประชาชนในการบัญญัติคำว่า ‘บุพการีลำดับแรก‘ เพื่อที่จะเคารพครอบครัวเพศหลากหลาย โดย ‘บุพการีลำดับแรก’ มีสิทธิ และหน้าที่เทียบเท่าบิดา มารดา ซึ่งมีความสำคัญมากต่อครอบครัวเพศหลากหลาย ที่ต้องการมีบุตร ในการระบุสถานะที่เป็น คำกลาง อยู่ในกฎหมาย หรือพูดโดยเข้าใจง่าย คือ คู่รักเพศหลากหลายยังไม่สามารถมีสถานะเป็นบุพการี (พ่อ-แม่) ของเด็กร่วมกันได้

“ภาคประชาชนต้องทำให้เห็นว่า ครอบครัวเพศหลากหลายมีความมั่นคง เป็นไปได้ และเป็นธรรมชาติ สิ่งที่จริงแท้เปลี่ยนไม่ได้เลยคือ ความเป็นมนุษย์ และภาคธุรกิจควรแสดงให้เห็นว่า องค์กรควรเคารพคนทุกกลุ่มอย่างไร จะช่วยเรียกลูกค้าได้มากกว่าการฉกฉวยผลประโยชน์จากตัวเลขของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ”

นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

ความไม่รู้ทำให้กลัว ความกลัวทำให้เกิดอคติ อคติทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติ

“ลูกหลานจะเติบโตไปเป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศทั้งหมด
และจะไม่มีชายหญิงที่จะผลิตทายาทรุ่นต่อไป
ยังเป็นร่องรอยความกังวลที่ปรากฏในรัฐสภา”

จากข้อกังวลข้างตน สะท้อนอคติทั้งหลายในสังคมที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ วงเสวนาตกผลึกได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจาก “ความไม่รู้” ของผู้คนในสังคม คนจำนวนมากไม่เคยได้เห็นและสัมผัสว่าตัวตนของ LGBTQIAN+ ในโลกความเป็นจริงนั้นเป็นอย่างไร และเข้าใจผ่านการประกอบสร้างผ่านสื่อ และเมื่อคนไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ก็ย่อมนำไปสู่ความกลัว เมื่อกลัวแล้วก็นำไปสู่การทำให้แปลกแยก ทำให้เป็นตัวประหลาด และกีดกันออกจาก ‘ความปกติ’ ของสังคม ทั้งที่ผู้มีความหลากหลายทางเพศยืนยันว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์ และมีความเป็นมนุษย์ไม่ต่างจากใคร ๆ ดังนั้น สถาบันการศึกษาจึงมีส่วนสำคัญมากในการสร้างความเข้าใจให้กับคนในสังคม

สิ่งที่พบคือ เด็กรุ่นใหม่เข้าใจในคอนเซปต์ของสังคมหลากหลายทางเพศ พวกเขาไม่ได้กังวลว่าตนเองต้องมีพฤติกรรมตรงกับเพศกำเนิด และเขามองคนทุกเพศอย่างเท่าเทียมกัน แต่วงการการศึกษาถูกหยุดไว้กับวิธีคิดแบบระบบชาตินิยมและสังคมชายเป็นใหญ่ เชื่อในแนวคิด “ความมั่นคงของครอบครัว คือ ความมั่นคงชาติ” ทำให้เกิดการปลูกฝังให้สังคมแบ่งด้วยระบบสองเพศ คือ ชาย-หญิงและตีกรอบการแสดงออกทางเพศ

“เรายังขาดกระบวนการเรียนรู้ที่จะช่วยเตรียมความพร้อมสำหรับคนที่จะเป็นครูในการจัดการเรียนการสอนที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายได้ ซึ่งทุกอย่างต้องการการทำงานอย่างเป็นระบบ และความเข้าใจของคนในสังคมว่า เรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยที่โอบรับความแตกต่างหลากหลายได้อย่างแท้จริง ไม่ใช่แค่เรื่องเพศ แต่รวมไปถึงเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา อายุ และความเห็นต่าง”

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

สังคมชอบตั้งแง่ว่ากลุ่ม LGBTQIAN+ นั้นสับสนในตัวเอง แต่จริง ๆ แล้วคนที่สับสนอาจเป็นสังคมมากกว่า ทุกวันนี้มีตัวอักษรย่อแทนกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศยาวมากขึ้น (LGBTQIAN+) ทำให้คนมองว่าทำความเข้าใจยากแล้วสงสัยว่า ถ้าปล่อยไปเรื่อย ๆ อาจจะมีตัวอักษรครบตั้งแต่ A-Z ขณะที่วงเสวนามองว่า ถ้าจะให้นิยามอัตลักษณ์ทางเพศตั้งแต่ A-Z ก็สามารถทำได้ เพราะอัตลักษณ์ทุกวันนี้มีหลากหลาย

ทั้งนี้ การที่คนเราจะมีตัวตนได้ต้องถูกนิยามผ่านภาษาก่อน ต้องมีคำเรียกเพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มกัน เราจึงต้องมีคำเรียกย่อยเพื่อให้ทุกคนมองเห็นว่า นอกจาก L (Lesbian) G (Gay) B (Bisexual) T (Transgender) แล้วมีอัตลักษณ์ย่อยอะไรอีกบ้าง แต่กรอบสังคมแบบสองเพศ (Binary System) ต่างหากที่ทำให้ทุกคนเข้าใจว่าคนเราเกิดมาเป็นได้แค่ชายหรือหญิง

ผู้เข้าร่วมวงเสวนายืนยันว่า ไม่สำคัญว่าทุกคนต้องท่องจำทุกตัวอักษรได้ สำคัญคือขอแค่ทุกคนเข้าใจว่าเราต่างมีความแตกต่างหลากหลาย และเคารพในตัวตนของกันและกัน ไม่ดูถูกเหยียดหยามกัน แค่นี้ก็สามารถสร้างสังคมที่ทุกคนไม่ว่าเพศใด หรือช่วงวัยใด ชาติพันธุ์ใดก็ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม

“คุณไม่จำเป็นต้องมานั่งจำตัวอักษร แต่ขอให้เคารพในความหลากหลายของกันและกัน และยอมรับว่ามนุษย์ทุกคนต่างกัน”

ภารวี อากาศน่วม

อย่าหยุดแค่ Pride Month เพราะเราภูมิใจในสายรุ้งได้ทุกวัน

ในช่วงท้ายวงเสวนาได้ยกประเด็นหนึ่งว่า จริง ๆ แล้วเราไม่ควรจัดแค่ ‘Pride Month’ แต่ควรเป็น ‘Pride Forever’ เพราะเราสามารถเฉลิมฉลองเรื่องความหลากหลายได้ทุกวัน ปัจจุบัน ประเด็นสิทธิความหลากหลายได้เป็นประเด็นระดับสากล ทำให้คนที่มีหน้าที่ในการจัดระเบียบกฎหมายเห็นความสำคัญ และงาน Pride เป็นประตูบานหนึ่งที่จะเปิดเพื่อนำไปสู่การยอมรับ

ทว่า การจะก้าวข้ามประตูนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคฝ่าย แม้ตอนนี้ทัศนคติจะมีความก้าวหน้าไปบ้างแล้ว แต่การยอมรับในระดับสังคมและวัฒนธรรม เช่น ในที่ทำงาน ในโรงเรียน ในครอบครัว ยังคงมีเงื่อนไขในการยอมรับได้อยู่ เช่น ต้องเป็นคนเก่ง คนดี หรือมีชื่อเสียง ฐานะทางการเงินที่ดี

“ไม่มีใครเกิดมาแล้วเกลียด LGBTQIAN+ คนที่เกลียดกลัว และไม่ยอมรับคือคนที่ผ่านการหล่อหลอม และการประกอบสร้างจากทั้งสื่อและการศึกษา”

รตี แต้สมบัติ ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

ท้ายที่สุดการยอมรับเหล่านั้น ไม่อาจสร้างได้ในข้ามคืน จำเป็นต้องอาศัยการผลักดันทางกฎหมายในระดับโครงสร้าง ควบคู่ไปกับการเปิดใจรับฟังกันในระดับบุคคล เห็นได้ว่าอคติเกิดจากความไม่เข้าใจ ถ้าสังคมเข้าใจความแตกต่างหลากหลาย ทุกคนก็จะอยู่ร่วมกันได้ ผู้เข้าร่วมวงเสวนานี้ยืนยันว่าตนจะไม่หยุดสื่อสารว่า “บนโลกในบี้ไม่ใช่มีแค่ชายหญิง และกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่ได้มีความผิดปกติ แต่เป็นเจตจำนงในการกำหนดชีวิตของตนเอง” สังคมต้องรู้จักสำรวจและอคติของตัวเอง เพื่อให้เข้าใจความหลากหลายได้ ปรากฏการณ์ Pride Month จะเป็นประตูบานหนึ่ง และหวังว่าในอนาคตเราจะได้เห็นกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้นในงานไพรด์

เพื่อทุกความหลากหลายที่เท่าเทียมกัน

ทั้งนี้การเรียนรู้ และยอมรับความหลากหลายทางเพศจะเป็นประตูบานแรกที่จะนำสังคมไทยก้าวไปสู่สังคมที่ยอมรับความแตกต่างหลากหลายอื่น ๆ ในสังคมได้  ซึ่งความหลากหลายนี้ได้แสดงผ่านกลุ่มคนในมิติอื่น ๆ เช่น กลุ่มผู้สูงวัย ผู้พิการ คนไร้บ้าน หรือประชากรข้ามชาติ

“กลุ่มประชากรที่ยังต้องเผชิญกับอคติจำนวนมากคือ กลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการที่พวกเราพบเห็นพวกเขาในชีวิตประจำวันน้อยกว่ากลุ่มอื่น ๆ และการที่เราไม่รู้จักเขาจะทำให้เกิดความหวาดกลัว และความรู้สึกว่า เขาเป็นคนอื่น ไม่ใช่พวกเดียวกับเรา”

ผศ.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

กลุ่มคนเหล่านี้ยังคงยังคงเผชิญกับอคติต่าง ๆ เช่น การเหมารวม (Stereotype) ต่อกลุ่มผู้สูงอายุว่า เป็นกลุ่มคนที่ไม่ทันโลก และเป็นภาระของสังคม ต่อกลุ่มคนไร้บ้านว่า เป็นกลุ่มคนที่อันตราย น่าหวาดกลัว และต้องถูกจัดการเพราะสร้างความไม่สงบเรียบร้อยในสังคม หรือต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติว่า เขาไม่ใช่พวกเรา นอกจากนี้ กลุ่มคนดังกล่าวยังต้องเผชิญอุปสรรคต่าง ๆ ในการใช้ชีวิตจากการเลือกปฏิบัติ ทั้งในแง่ของโอกาสที่จะได้รับการจ้างงาน หรือสิทธิในการเช่าบ้าน และการเข้าถึงการบริการต่าง ๆ

อคติและอุปสรรคทั้งหลายนี้ นอกจากจะสามารถขจัดได้ผ่านการดำเนินนโยบายของรัฐแล้ว ระบบการศึกษาก็สามารถมีส่วนร่วมในการทำงานนี้ได้ ผ่านการสร้างพื้นที่ของคนเหล่านี้ในเนื้อหาบทเรียน และสื่อสารว่า พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกับเราได้เป็นปกติ โดยไม่สร้างความหวาดกลัว หรือมีอคติต่อกลุ่มคนหลากหลายดังกล่าว

ผู้เข้าร่วมวงเสวนาได้เสริมว่า การจะมองเห็น และเข้าใจปัญหาที่กลุ่มคนเหล่านี้พบเจอได้ดีที่สุดคือ การพูดคุย ทั้งในลักษณะการรวมตัวกันของคนที่เต็มใจ และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อกัน หรือการพูดคุยกันในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เห็นแง่มุมและความลำบากของผู้คนในสังคมรอบตัวเรา

“คนไทยจำนวนมากมองว่า ตัวเองใจดีและมีเมตตา ลองอาศัยความใจดีนั้นทำความเข้าใจปัญหาต่าง ๆ พอเข้าใจและมองเห็นแล้ว ก็จะคุยกันได้ และเป็นจุดเริ่มต้นของความคิดที่จะเปลี่ยนแปลง”

ศ.ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

อย่างไรก็ตาม การพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจกลุ่มคนที่มีความหลากหลายต้องอาศัยทักษะต่าง ๆ เช่น ทักษะในการสื่อสาร ทักษะการฟังคือ ฟังให้เป็น ทักษะการมองเห็นและรู้เท่าทันอคติของตัวเอง รวมถึงต้องไม่ตัดสินเรื่องราวของผู้อื่นโดยใช้ประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งทักษะเหล่านี้สามารถปลูกฝังได้ตั้งแต่ในระดับครอบครัว

“ความเป็นมนุษย์ดำรงอยู่ในความแตกต่างหลากหลายเฉกเช่นสีรุ้ง ในอนาคต Pride Month จะไม่ได้มีแค่พวกเราที่มาคุยในเวทีนี้ เราอยากจะเห็นคนที่เป็นชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมือง ประชากรข้ามชาติและผู้สูงอายุลุกขึ้นมาส่งเสียง”

รตี แต้สมบัติ ผอ.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษยชน

สุดท้ายแล้ว การที่จะก้าวข้ามประตูเพื่อไปสู่ความหลากหลายที่แท้จริงได้ ทั้งความหลากหลายทางเพศ เชื้อชาติ ความเชื่อหรือศาสนานั้น ต้องเริ่มจากการมีความรู้และความเข้าใจในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนประเด็นปัญหา และปลูกฝังทักษะต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับสังคมปัจจุบันที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมมาก และเพื่อสร้างสังคมที่โอบรับทุกความหลากหลาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

พีรดนย์ ภาคีเนตร

บัณฑิตจบใหม่คณะสื่อสารฯ ผู้เฝ้าหาเรื่องตลกขบขันในชีวิต แต่พบว่าสิ่งที่ตลกที่สุดคือชีวิตเราเอง

Alternative Text
AUTHOR

พรยมล ดลธนเสถียร

นิสิตชั้นปีที่ 3 เอกภาษาสเปน คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

ลลิตา วิจิตอมรวงษ์

เปลี่ยนเนื้อหาเข้าใจยาก ให้เป็นภาพเข้าใจง่าย เจ้าของเพจ Mis.lalita รักธรรมชาติ และชอบฟังเพลง