ถ้าน้าค่อมได้ฉีดวัคซีน…

ปิดตำนาน เปิดไทม์ไลน์ “ค่อม ชวนชื่น” โควิด-19 ระลอกดุ ทำผู้ติดเชื้อ “ปอดอักเสบ” เพิ่ม สังคมตั้งคำถาม “ถ้าน้าค่อมได้ฉีดวัคซีน?”

การได้รับวัคซีนโควิด-19 ที่ล่าช้า เป็นอีกหนึ่งในประเด็นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในสื่อโซเชียลอีกครั้ง หลังการเสียชีวิตของ “น้าค่อม ชวนชื่น” ชื่อที่ทุกคนรู้จักดี ในนามศิลปินตลกชื่อดัง “อาคม ปรีดากุล”

ไอซ์ ณพัชรินทร์ ลูกสาวของ น้าค่อม ได้แชร์โพสต์จากอินสตาแกรมสตอรี่ของ นาตาลี เดวิส นักแสดงร่วมวงการ ที่โพสต์อาลัย น้าค่อม ว่า “เสียใจ @na.kom_ เป็นกำลังใจให้ @ice_napatcharin และครอบครัวนะคะ” และ “ถ้าประเทศเราได้ฉีดวัคซีนอย่างทั่วถึงเร็วกว่านี้ ถ้าประเทศเรามีตัวเลือกวัคซีนให้ประชาชนมากกว่านี้ ถ้าประเทศเราเห็นความเป็นอยู่ของมนุษย์มากกว่า หลาย ๆ ความสูญเสียคงไม่เกิด #รู้ ๆ กันอยู่ #รับไม่ได้

เช่นเดียวกับ เพจดัง Drama-addict ก็ระบุว่า สิ่งที่วัคซีนทุกยี่ห้อมีเหมือนกัน คือ ลดอัตราการป่วยรุนแรงได้ประสิทธิภาพ 95-100% การฉีดวัคซีนจึงอาจไม่ใช่แค่หวังลดการแพร่ระบาด หรือให้เปิดประเทศได้ แต่ต้องหวังลดคนป่วยตายด้วย

“ถ้าคนไทย 100 คนที่เสียชีวิตไปนั้นได้วัคซีนไปแล้ว บางทีเขาอาจไม่ตายก็เป็นได้ รัฐบาลควรเร่งฉีดวัคซีนตามสามหลักการนี้”

“เร็ว”
“ครอบคลุม”
“มีวัคซีนหลากหลาย”

พร้อมระบุด้วยว่า อัตราการฉีดในขณะนี้อาจไม่ทันการณ์ จึงควรให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาแจกจ่ายวัคซีนได้แล้ว ให้ครบหลักการเร็ว ครอบคลุม หลากหลาย

เปิดไทม์ไลน์อาการและอุปสรรคระหว่างทาง ก่อนปิดตำนาน “ค่อม ชวนชื่น”

เมื่อย้อนดูข้อมูลการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่ประเทศไทย เริ่มฉีดเข็มแรกเมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564 ใน “วันที่ 7 เม.ย.” ที่คาดว่าเป็นวันที่ “น้าค่อม” รับเชื้อจากการถ่ายรายการในสตูดิโอร่วมกับศิลปินตลก ที่ทราบต่อมาว่ายืนยันพบโควิด-19 ในวันที่ 10 เม.ย. (บอล เชิญยิ้ม) และเมื่อทราบผล น้าค่อมจึงเดินทางไปขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลทันที แต่ไม่มีคิวตรวจ

ในวันนั้นประเทศไทยเพิ่งฉีดวัคซีนได้เพียง 391,752 โดส หลังจากผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือนนับจากวันที่ฉีดเข็มแรก

อย่างไรก็ตาม แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีน แต่ด้วยปริมาณวัคซีนที่มีอยู่อย่างจำกัดในขณะนั้น (ณ วันที่ 7 เม.ย. ประเทศไทยมีวัคซีนจาก Sinovac จำนวน 863,697 โดส และ AstraZeneca จำนวน 86,020 โดส) ทำให้ “น้าค่อม” จึงไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายแรกที่ได้รับวัคซีน ที่ต้องเน้นการฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์เป็นอันดับแรก

เมื่อไม่ได้รับวัคซีน “น้าค่อม” จึงกลายเป็นหนึ่งในผู้ติดเชื้อระลอกใหม่ จำนวน 36,290 คน (นับถึงวันที่ 30 เม.ย.) และก็กลายเป็น 1 ในจำนวนหลักร้อยคน ที่เสียชีวิตระหว่างการระบาดระลอกใหม่

ยังไม่นับว่า “น้าค่อม” จัดอยู่ในกลุ่ม “ผู้ป่วยอาการหนัก” ที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในการระบาดระลอกใหม่นี้ ที่มีตัวเลขรายงานวันที่ 30 เม.ย. ระบุว่า ในจำนวนผู้ป่วยที่ยังรักษาตัว 28,696 คน มีผู้ป่วยอาการหนัก 871 คน และ ผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ 250 คน โดย กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเปิดเผยว่า ผู้ป่วยกลุ่มใหญ่ อยู่ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีอัตราครองเตียง ICU สูงถึงร้อยละ 80 อันเนื่องมาจาก ผู้ป่วยมีอาการ “ปอดอักเสบ”

วัคซีนอาจ “เพียงพอ” แต่ “ไม่ทัน” ต่อการยื้อเวลาให้ผู้ป่วยอาการหนัก ที่มีตัวเลข “เพิ่มขึ้น” ทุกวัน

ที่ผ่านมา แผนบริหารจัดการวัคซีนเป็นเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่การระบาดระลอกแรก เมื่อช่วงต้นปี 2563 เพราะแม้รัฐบาลจะพยายามยืนยันมาตลอดว่าเตรียมแผนรองรับไว้อย่างดี แต่ภาพที่เห็นตลอดช่วงการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนของปีนี้ สะท้อนให้เห็นว่า แผนวัคซีนที่รัฐบาลเตรียมไว้นั้น มีปัญหา โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าในการฉีดวัคซีนให้ประชาชน

นับตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. ที่ประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มแรก จนถึงตัวเลขล่าสุดเมื่อวันที่ 29 เม.ย. มียอดฉีดวัคซีนสะสมที่ 1,411,614 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 1,075,756 โดส หรือคิดเป็นเพียง 1.63 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ และจำนวนผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 335,858 โดส หรือคิดเป็นเพียง 0.51 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ

เมื่อคำถามต่อแผนบริหารจัดการวัคซีนเริ่มดังขึ้น ทำให้รัฐบาลต้องปรับแผนหลายครั้ง สัปดาห์ก่อนหน้า ก็ประกาศสนับสนุนให้เอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือก แต่เมื่อมาถึงต้นสัปดาห์นี้ ก็เบรกไม่ให้เอกชนร่วมจัดหาแล้ว เพราะวัคซีนที่รัฐบาลจัดหามา มีเพียงพอฉีดให้กับประชาชนทุกคน

และล่าสุด ช่วงเย็นของวันที่ 29 เม.ย. ศบค. ก็ประกาศแผนวัคซีนที่ถูกปรับใหม่อีกครั้ง โดยให้ภาคเอกชนได้เข้ามาช่วยรัฐจัดหาวัคซีนในส่วนที่ต้องจัดซื้อเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส เพิ่มจากของเดิมที่รัฐจองซื้อไว้แล้ว 63 ล้านโดส เพื่อให้ได้ครบ 100 ล้านโดส สำหรับฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคน เพื่อครอบคลุม 70% ของประชากร

นอกจากนี้ ยังตั้งแผนกระจายวัคซีน โดยตั้งจุดบริการที่จะฉีดวัคซีนทั้งในและนอกโรงพยาบาล จำนวน 1,000 แห่ง แห่งละ 500-1,000 โดสต่อวัน รวม 5 แสน ถึง 1 ล้านโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน คิดเป็น 15-30 ล้านโดสต่อเดือน ทั้งนี้ จะฉีดครบ 100 ล้านโดสภายในระยะเวลา 4-7 เดือนคือ ตั้งแต่เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564

ส่วนกรุงเทพมหานครที่เป็นพื้นที่เปราะบางจะเพิ่มจุดบริการนอกโรงพยาบาล เช่น สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์ประชุม ฯลฯ จุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวน 100 แห่ง แห่งละ 1,000 โดสต่อวัน รวม 1 แสนโดสต่อวัน เป็นระยะเวลา 30 วัน เท่ากับ 3 ล้านโดสต่อเดือน โดยจะได้รับเข็มที่หนึ่งครบภายในระยะเวลา 3 เดือนคือ เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564

คงต้องจับตาว่า รัฐบาลจะสามารถดำเนินการตามแผนบริหารจัดการวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน เพราะความสูญเสียที่หนักหน่วงขึ้นในการระบาดระลอกใหม่นี้ เป็นสิ่งที่ยืนยันแล้วว่า “คนไทยไม่ควรได้รับวัคซีนโควิด-19 ช้าไปกว่านี้อีกแล้ว” 

Author

Alternative Text
AUTHOR

เพ็ญพรรณ อินทปันตี

อดีตนักกิจกรรม รักการอ่าน งานเขียน ว่ายน้ำ และเล่นกับแมว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์