กทม. ครองเตียง ICU แล้ว 80% พบปอดอักเสบเพิ่มขึ้น​

สธ. เผย โควิด-19 ระลอก เม.ย. พบผู้ติดเชื้ออาการหนัก-รุนแรงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เกือบเต็มระบบการแพทย์รองรับ แพทย์ ชี้ “วัคซีน” ยังเป็นอาวุธสำคัญ

เมื่อวันที่​ 29​ เม.ย.​ 2564​ ช่วงหนึ่งของการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ของกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,871 คน เสียชีวิต 10 คน​ อยู่ระหว่างการรักษา 27,988 คน นั้น ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยปอดอักเสบ 786 คน โดยอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ 230 คน ทำให้มีอัตราครองเตียง ICU สูงถึงร้อยละ 80 ในเขต กทม. และปริมณฑล ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดหอผู้ป่วยหนักโควิดรวม (Cohort ICU) และปรับห้องแยกหรือหอผู้ป่วยสามัญเป็นหอผู้ป่วยเฉพาะโควิด (Cohort Ward) รวมทั้งเปิด Hospitel เพิ่มเพื่อเตรียมรองรับจำนวนผู้ป่วยที่รับการรักษาเพิ่มมากขึ้น

“ขณะนี้ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงกำลังเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วใกล้เคียงศักยภาพระบบบริการการแพทย์ที่รองรับอยู่ จึงต้องเพิ่มความเข้มงวดทั้งมาตรการควบคุมโรคและมาตรการส่วนบุคคล เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ขอความร่วมมือประชาชน สวมหน้ากาก 100% เว้นระยะห่าง หมั่นล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่คนแออัด ระบบระบายอากาศปิด และลดการสัมผัสใกล้ชิด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่”

นายแพทย์ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ

นายแพทย์ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้เสียชีวิตในวันที่ 29 เม.ย. จำนวน 10 คน​ มีจากกรุงเทพมหานคร 6 คน นครสวรรค์ สมุทรปราการ ยโสธร และพระนครศรีอยุธยา จังหวัดละ 1 คน เป็นเพศชาย 8 คน หญิง 2 คน อายุระหว่าง 45-91 ปี ปัจจัยเสี่ยงการเสียชีวิต มีเกี่ยวกับโรคประจำตัว ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดสมอง หัวใจ ไขมันในเลือดสูง ปอดเรื้อรัง ไตเรื้อรัง และภาวะอ้วน

ข้อสังเกต คือ ผู้เสียชีวิตหลายราย ไม่ทราบว่าตนเองติดเชื้อ มารักษาเมื่อมีอาการมาก โดยสาเหตุการติดเชื้อส่วนใหญ่ มาจากการเป็นผู้สัมผัสจากคนในครอบครัว การร่วมสัมมนา การรวมกลุ่มรับประทานอาหารกับเพื่อนร่วมงาน ไปสถานที่เสี่ยง และติดเชื้อจากผู้ที่ดูแลผู้สูงอายุติดเตียง

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ขณะนี้ฉีดสะสมแล้ว 1,344,646 โดส แบ่งเป็นรับวัคซีนเข็มแรก 1,059,721 คน​ และครบ 2 เข็ม 284,925 คน โดยในวันที่ 28 เม.ย. 2564 มีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนสะสมแล้ว 64,933 โดส แบ่งเป็น เข็มที่ 1 จำนวน 20,761 คน และเข็มที่ 44,172 คน ซึ่งการฉีดวัคซีนระยะแรกนี้ มุ่งเน้นการปกป้องระบบการแพทย์และสาธารณสุข และเพื่อควบคุมการระบาด ทำให้สัดส่วนผู้ได้รับวัคซีนจึงประกอบไปด้วยบุคลากรสาธารณสุข ผู้ที่ปฏิบัติงานด่านหน้า และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงต่อการระบาดส่วนใหญ่

สำหรับประชาชนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค จะได้จัดให้มีการลงทะเบียนเพื่อขอรับวัคซีนได้ตั้งแต่ 1 พ.ค. เป็นต้นไป

“วัคซีน” อาวุธสำคัญ สู้โควิด-19​ ผลข้างเคียง​แอสตราฯ​ 4 ต่อ 1 ล้านโดส

ด้าน นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ ยืนยันว่าวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับเชื้อโรค แม้การพบผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่จะลดลง แต่ก็ยังต้องฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนต่อไป เพราะต้องสร้างภูมิคุ้มโรคนี้ให้กับประชาชน หรือเรียก “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้ประชาชนทุกคนปลอดภัย ซึ่งโรคโควิด-19 นี้ คาดว่าจะอยู่กับคนเราอีกยาวนาน

นายแพทย์ทวีกล่าวต่อว่า ขณะนี้ไทย มีวัคซีน 2 ชนิด คือ ซิโนแวคและแอสตราเซเนกา ส่วนชนิดอื่น ๆ อาจจะตามเข้ามา ซึ่งต้องผ่านการพิจารณา ของ อย. ที่มีคณะผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบก่อนอนุมัติใช้ในไทยต่อไป โดยจนถึงวันนี้ฉีดวัคซีนโควิดให้คนไทยแล้ว 1,344,646 โดส คิดเป็นร้อยละ 1.7 ของประชากร โดยในด้านประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวค จากข้อมูลการวิจัยในประเทศบราซิลพบว่า 14 วันหลังฉีดเข็มแรก ป้องกันโรคได้เกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ และเมื่อฉีดเข็ม 2 ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 60 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งยอมรับได้

ส่วนแอสตราเซเนกา จากการศึกษา เมื่อฉีดเข็มแรกครบ 3 สัปดาห์ จะเริ่มป้องกันโรคได้ และเมื่อครบ 12 สัปดาห์ หลังเข็มแรกจะป้องกันโรคได้ ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ทั้งสองชนิดไม่แตกต่างกันมาก อยู่ในเกณฑ์ที่ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยยอมรับว่ามีประสิทธิภาพที่ดี

นายแพทย์ทวี โชติพิทยสุนนท์

ส่วนคำถามว่า แล้วใช้ป้องกันเชื้อกลายพันธุ์ได้หรือไม่นั้น ทั้ง 2 ชนิดสามารถรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ได้ มีการศึกษาวิจัยในจีน นำเชื้อและน้ำเหลืองของคนที่ฉีดซิโนแวค เปรียบเทียบกับผู้ที่หายป่วยแล้วพบว่าสามารถจัดการกับเชื้อได้ระดับหนึ่ง แต่ไม่ดีเท่าเชื้อดั้งเดิม

ขณะที่แอสตราเซเนกาป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์อังกฤษได้ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ และป้องกันต่อเชื้อดั้งเดิมได้ 84 เปอร์เซ็นต์ สำหรับวัคซีนที่จดทะเบียนทั่วโลกและทำในระยะที่ 3 เสร็จแล้ว มี 13-15 ตัว ที่กำลังใช้ในประเทศต่าง ๆ

โดยทุกชนิดมีประสิทธิภาพคล้ายกัน คือป้องกันเสียชีวิต ป้องกันโรครุนแรง ไม่ต้องเข้าไอซียู ไม่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ เป็นหัวใจของวัคซีนที่สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการต่อสู้กับโรคที่รุนแรงมากๆ เพราะคนไข้ที่อยู่ในไอซียู 1 คน ใช้ทรัพยากร บุคลากร ยา มหาศาล

นายแพทย์ทวีกล่าวต่อว่า ด้านความปลอดภัยของวัคซีน พบว่าซิโนแวคมีผลข้างเคียงน้อยกว่าแอสตราเซเนกา โดยพบประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ เช่น ปวด บวม แดง ร้อนบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตามตัว หายภายใน 2 วัน ส่วนที่พบเมื่อเร็ว ๆ นี้ ในโรงพยาบาล 2 แห่ง มีอาการคล้ายอัมพฤกษ์ คณะผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์พบว่าเป็นผลข้างเคียงจากความวิตกกังวล ส่งผลให้เกิดอาการทางกายคล้ายหลอดเลือดตีบได้ ซึ่งทุกคนหายเป็นปกติภายใน 1-3 วัน ผลการสแกนสมองปกติ ส่วนแอสตราเซเนกา ผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรงที่เกิดขึ้นคล้ายซิโนแวค พบประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์ หายภายใน 48 ชม.

ส่วนการเกิดลิ่มเลือดอุดตันนั้น ในคนเอเชียพบน้อย ส่วนใหญ่พบในชาวยุโรป แอฟริกา ผู้ป่วยเบาหวาน โรคหัวใจ สูบบุหรี่จัด จะเกิดลิ่มเลือดได้ง่าย มีรายงานในต่างประเทศพบการเกิดลิ่มเลือดประมาณ 4 ราย ต่อล้านโดส แต่หากเป็นโควิด-19 โอกาสเกิดลิ่มเลือดประมาณ 125,000 ต่อล้านคน ที่ป่วยเป็นโควิด-19 และในคนสูบบุหรี่จัด พบ 1,700 ต่อ 1 ล้านคนที่สูบบุหรี่จัด.

ทั้งนี้ จากรายงานการฉีดวัคซีนล้านกว่ารายในประเทศไทยพบการแพ้วัคซีนรุนแรง (anaphylaxis) เพียง 7-8 ราย ไม่มีเสียชีวิต และมักเกิดในช่วง 30 นาที หลังฉีดวัคซีนซึ่งอยู่ในระยะสังเกตอาการ ทำให้แพทย์สามารถช่วยเหลือได้ทัน ส่วนคนที่แพ้อาหารทะเล ถั่ว หรือเป็นโรคภูมิแพ้ สามารถฉีดได้ เพราะวัคซีนไม่ได้ทำจากสัตว์ ยกเว้นผู้ที่เคยแพ้วัคซีนต้องปรึกษาแพทย์

“ส่วนจะเลือกฉีดตัวไหนดี ขอตอบว่าตัวไหนก็ใช้ได้ ดีทั้งนั้น อย่างไรก็ตาม ก่อนฉีดต้องรับข้อมูลให้พร้อม สิ่งสำคัญที่สุด การฉีดวัคซีน คนที่ฉีดจะป้องกันตัวเองได้ ป้องกันคนในครอบครัวได้ เพราะการระบาดระลอกนี้คนวัยหนุ่มสาวติดเชื้อเยอะ นำเชื้อไปสู่เด็ก และผู้สูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเสียชีวิต รวมทั้งผู้ที่เป็นโรคอ้วน มีค่าดัชนี มวลกายมากกว่า 30 หรือน้ำหนักตัวมากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งความสามารถของปอดในการแลกเปลี่ยนออกซิเจน น้อยลง”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS