ตัวเลขขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ ลายแทงทำงานเชิงรุก คุมโควิด-19

รัฐเดินหน้าตรวจหาเชื้อเชิงรุก! สแกนชุมชนแรงงานเมียนมา หากพบผู้ติดเชื้อให้ใช้แนวทาง “สมุทรสาครโมเดล” นักวิจัยสังคม แนะรัฐนิรโทษกรรม “แรงงานข้ามชาติ” จูงใจเข้าตรวจหาเชื้อ ดึงเอกชนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่าย เสนอรื้อระบบ MOU แก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายทะลักผ่านนายหน้า

“เกิดการแพร่ระบาดวงกว้างในกลุ่มแรงงานเมียนมา เป็นเพราะพฤติกรรมการอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่นในพื้นที่พักอาศัย ติดต่อใกล้ชิดในชีวิตประจำวัน โดยไม่สวมหน้ากาก ไม่ล้างมือ จึงน่าจะเป็นสาเหตุหลักในการแพร่ระบาดวงกว้างในกลุ่มนี้”

นพ.วิชาญ ปาวัน | ผอ.สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง กรมควบคุมโรค

นี่ไม่ใช่เพียงสมมติฐานของ ผู้อำนวยการสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) ที่ระบุถึงผลจากการศึกษาแผนที่ระบาดและวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น ว่าจุดเริ่มต้นของการระบาดระลอกใหม่ อยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร

แต่ นพ.วิชาญ ปาวัน ยืนยันว่า เป็นเพราะช่วงแรกของการระบาดในระลอกใหม่ เกิดขึ้นในกลุ่มแรงงานเมียนมา ต่อมา จึงแพร่ระบาดไปยังพื้นที่อื่น ผ่านผู้คนที่ติดต่อ ค้าขาย และนายจ้าง ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกับตลาดกลางกุ้ง จากสมมติฐานนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่าย ได้ให้ความเห็นตรงกันว่า น่าจะมีจุดเริ่มต้นจากแรงงานเมียนมา เพราะพบว่ามีการติดเชื้อมากกว่า 90% “จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานเมียนมา ในช่วงที่ต่างประเทศมีการระบาด และแพร่เชื้อสู่ชุมชนเมียนมาใน จ.สมุทรสาคร”

แต่จะยืนยันตามข้อสมมติฐานนี้ได้ ก็ต่อเมื่อการถอดรหัสพันธุกรรมเชื้อไวรัสเสร็จสิ้น เพื่อดูความเชื่อมโยงว่าเชื้อที่พบใน จ.สมุทรสาคร นั้น เป็นการเชื่อมโยงกับเชื้อในพื้นที่ใด

เปิดสถิติ จำนวนแรงงานข้ามชาติสูงสุด แต่ละภาค เพื่อ “เฝ้าระวัง”

ข้อมูลจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน ระบุข้อมูล สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร เดือนตุลาคม 2563 ระบุว่า มีแรงงานข้ามชาติ ได้รับอนุญาตทำงานทั่วประเทศ 2.4 ล้านคน ในจำนวนนี้ ไม่ได้มีเพียงแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เท่านั้น แต่ยังมีจากฟิลิปปินส์ จีน ญี่ปุ่น อินเดีย อังกฤษ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฝรั่งเศส รัสเซีย และสัญชาติอื่น ๆ รวมถึงบุคคลที่ยังไม่มีการพิสูจน์สัญชาติ อีกไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน

แม้จุดเริ่มต้นการระบาด จะอยู่ในแหล่งทำงานของแรงงานข้ามชาติ และย่านพักอาศัยของแรงงานเมียนมา แต่เมื่อดูข้อมูลรายภาคและรายจังหวัดจากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวแล้ว จะพบว่า จ.สมุทรสาคร ไม่ใช่พื้นที่ที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุด แต่เป็น กรุงเทพมหานคร ที่มีถึง 585,433 คน ขณะที่ สมุทรสาคร มีแรงงานข้ามชาติ 233,071 คน ซึ่งมากที่สุดในจังหวัดปริมณฑลของกรุงเทพฯ รองลงมา คือ สมุทรปราการ 157,003 คน, ปทุมธานี 131,646 คน, นนทบุรี 98,870 คน และ นครปฐม 92,446 คน

สำหรับแรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานในประเทศไทย เกือบ 6 แสนคน ในกรุงเทพฯ ในจำนวนนี้ เป็นแรงงานทั่วไปตามมาตรา 59 (คนต่างชาติที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาในประเทศไทยชั่วคราว ซึ่งไม่ใช่เพื่อการท่องเที่ยวหรือผ่านทาง จะทำงานได้ก็ต่อเมื่อมีใบอนุญาตทำงาน) จำนวน 50,991 คน, พิสูจน์สัญชาติเดิม 363 คน, นำเข้าตาม MOU 203,713 คน, นำเข้าตาม มติ ครม. 20 ส.ค. 2563 จำนวน 256,545 คน นอกจากนี้ ยังเป็นแรงงานข้ามชาติ ตามมาตรา 62 63/1 และ 63/2 อีกรวมแล้วมากกว่า 7 หมื่นคน

ขณะที่ จ.ชลบุรี เป็นจังหวัดที่มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดในพื้นที่ ภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก (ไม่รวม กรุงเทพฯ และปริมณฑล) คือ 153,364 คน โดยกลุ่มใหญ่เป็นแรงงานตาม MOU และ มติ ครม. 20 ส.ค. 2562 มากกว่า 1.3 แสนคน

ส่วน ภาคเหนือ มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดอยู่ใน จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 110,073 คน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มากที่สุดใน จ.นครราชสีมา จำนวน 21,768 คน ขณะที่ ภาคใต้ มีแรงงานข้ามชาติมากที่สุดใน จ.สุราษฎร์ธานี จำนวน 77,179 คน

ซึ่งแรงงานข้ามชาติ ตาม มติ ครม. 20 ส.ค. 2562 ทั่วประเทศ รวมแล้วมีจำนวนมากกว่า 1.2 ล้านคน ที่ใบอนุญาตทำงาน (Work Permit) จะหมดอายุลงในเดือนกันยายนปี 2564 และ มีนาคม ปี 2565

สแกนตรวจเชิกรุก ชุมชนแรงงานเมียนมา

หากพิจารณาข้อมูลตามที่ สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง รายงานความน่าจะเป็นของจุดเริ่มต้นการระบาด ว่ามาจากแรงงานประเทศเมียนมา สิ่งที่ต้องเฝ้าระวัง และปฏิบัติงานเชิงรุก เพื่อควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ไม่ให้ขยายไปที่สู่ประชาชนกลุ่มอื่น ๆ …

“การใช้วิธีตรวจคัดกรองเชิงรุก” จึงเป็นแนวทางที่ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุุข ขอให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมรับมือ และตรวจคัดกรองเชิงรุกในชุมชนแรงงานเมียนมา เช่นเดียวกับที่ตรวจเชิกรุกบริเวณหอพักใกล้ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร และทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก หรือ “สมุทรสาครโมเดล”

ทั้งการปิดพื้นที่ทำ OQ (Organization Quarantine) หรือ การกักกันผู้เดินทางในสถานที่ขององค์กร ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นการจัดการสถานการณ์อย่างเหมาะสม ปิดเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยง ไม่ได้เป็นการปิดทั้งจังหวัด และต้องสื่อสารให้ความรู้ประชาชนเพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก เนื่องจากการปิดพื้นที่อาจทำให้ประชาชนกังวลและเดินทางออกจากพื้นที่ พร้อมกำชับว่าขอให้มีการซักซ้อมความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ รวมถึงขอให้สถานประกอบการที่มีแรงงานเมียนมาจำนวนมาก ดำเนินการตรวจด้วย Rapid Test

เสนอรื้อระบบ MOU แก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายทะลักผ่านนายหน้า

การปฏิบัติงานเชิงรุกของกระทรวงสาธารณสุข ในการตรวจหาเชื้อ และคำยืนยันจาก สปสช. ว่าจะตรวจหาเชื้อโควิด-19 ฟรีให้กับทุกคนในแผ่นดินไทย กรณีที่เข้าข่ายกลุ่มเสี่ยงระบาด คือ สัญญาณที่ดี แต่คำถามของการใช้งบประมาณเพื่อควบคุมและป้องกันโรคจะดึงมาจากส่วนไหน? ยังเป็นคำถามสำคัญ ที่หากไม่มีแนวทางชัดเจน จะส่งผลต่อความเข้าใจและทัศนคติของคนในสังคม

ชลนภา อนุกูล นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า แรงงานที่เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย มีนายจ้างนำเข้าสู่ระบบประกันสังคม ก็สามารถใช้งบประมาณจากส่วนนี้ แต่การสื่อสารภาษาไทยไม่ได้ ทำให้ไม่ได้ติดตามถึงสิทธิประโยชน์ที่พึงได้รับ

ขณะเดียวกัน กองทุนประกันสุขภาพคนต่างด้าวและแรงงานต่างด้าว ของกระทรวงสาธารณสุข ที่มีไว้สำหรับผู้ติดตามแรงงานข้ามชาติ เงินส่วนนี้แทบไม่ได้ถูกใช้รักษาโรค เพราะส่วนใหญ่แรงงานที่เข้ามาทำงาน มีสัดส่วนการเจ็บป่วยจากการเกิดอุบัติเหตุจากการทำงาน มากกว่าการรักษาโรคอื่น ๆ

ขณะที่งบประมาณที่ต้องใช้เพื่อควบคุมโรค เช่น สร้างโรงพยาบาลสนามรองรับ ปรับปรุงพื้นที่กักกัน ส่งอาหาร ฯลฯ จะนำมาจากที่ไหน น่าจะเป็นเรื่องที่ส่วนราชการกำลังคิด ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ ไม่ใช่งบฯ ที่จะใช้ไปเพื่อการรักษาพยาบาลที่จะหักจากกองทุนประกันสุขภาพฯ และยังไม่นับรวมแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาแบบผิดกฎหมาย

นักวิจัยสมทบ จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ เสนอว่า ภาคเอกชน ซึ่งมีส่วนได้ส่วนเสียกับแรงงานข้ามชาติราคาถูก รัฐควรจะขอสนับสนุนงบประมาณเพื่อสนับสนุนกระบวนการรักษา ควบคุม และป้องกันโรคจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้

อีกประเด็นหนึ่ง คือ ข้อจำกัดด้านกฎหมาย ต่อแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ที่จะไม่กล้าเข้ารับการตรวจและรักษา ทำให้เชื้อแพร่กระจายต่อ หากดูตัวอย่างในต่างประเทศ เช่น ประเทศเกาหลีใต้ มีการประกาศนิรโทษกรรม ให้กับแรงงานข้ามชาติผิดกฏหมายทั้งหมด เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจโรค แล้วหากใครอยากจะเดินทางกลับก็สามารถทำได้

“เวลานี้ คงต้องพูดกันถึงข้อเสนอในเรื่องการนิรโทษกรรมแรงงานข้ามชาติในไทย ที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และให้แรงงานข้ามชาติรู้สึกอุ่นใจ ว่าจะไม่มีความผิดจริง ๆ มากไปกว่าการให้ความเชื่อมั่นผ่านข่าวสารจากรัฐบาล ว่าจะไม่จับกุมและส่งกลับ”

ชลนภา กล่าวอีกว่า หากจะแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในระยะยาว คงจะต้องไปดูกระบวนการรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาในประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา ผ่าน MOU ที่ให้เข้ามาได้ครั้งละ 4 ปี แล้วให้เดินทางกลับประเทศ ซึ่งระบบ MOU แบบนี้ ผลักดันให้มีแรงงานข้ามชาติต้องเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย เพราะขั้นตอนที่ยุ่งยาก ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม

“ต้องยอมรับว่าแรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และมีสัดส่วนถึง 10-15 % ของประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หลังโควิด-19 รัฐต้องรื้อกฎ ระเบียบ ขั้นตอน การรับแรงงานข้ามชาติเข้ามาทำงาน ให้มีมาตรฐานและลดขั้นตอน ป้องกันการเข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมาย และผู้ได้รับผลประโยชน์จากการรับแรงงานข้ามชาติอย่างผิดกฎหมายด้วย

บทส่งท้าย

ตัวเลขแรงงานข้ามชาติ ที่ถูกบันทึกโดย สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ที่มีอยู่ราว 2.4 ล้านคน เป็นเพียงตัวเลขที่ถูกบันทึกเฉพาะแรงงานที่มีใบอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

แต่จำนวนแรงงานข้ามชาติที่มีอยู่จริงในประเทศไทย หลายองค์กรประเมินใกล้เคียงกันว่า ในสถานการณ์โรคระบาด อาจมีแรงงานผิดกฎหมายมากถึงหลัก 5 แสนคน (อดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ระบุในเวทีเสวนา “โควิดกับแรงงานข้ามชาติ เราทิ้งใครไว้ข้างหลัง”) ที่มีทั้งการลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ผ่านนายหน้าและกระบวนการค้าแรงงานเถื่อน และเป็นผลจากระเบียบของหน่วยงานรัฐ ทั้งถูกเลิกจ้าง เปลี่ยนนายจ้าง และข้อจำกัดในการต่อใบอนุญาตทำงาน ที่ทำให้แรงงานที่เข้าเมืองมาอย่างถูกกฎหมาย ต้องกลายเป็นแรงงานเถื่อน

โรคระบาดระลอกใหม่ ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อจากกลุ่มแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของข้อเสนอและแนวทางในการจัดการปัญหาแรงงามข้ามชาติอย่างเป็นระบบอีกครั้ง โดยมีเป้าหมายระยะสั้นเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19

แต่เป้าหมายระยะยาว นอกจากสุขอนามัยที่ดีในการทำงานและพักอาศัยของกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้ว ยังอาจต้องนำไปสู่การจ้างงานอย่างเป็นธรรม ด้วยการรื้อระบบการจัดการแรงงานข้ามชาติ และบังคับใช้กฎหมายกับกระบวนการนำเข้าแรงงานอย่างผิดกฎหมายด้วย


อ้างอิง

สถิติจำนวนคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตทำงานคงเหลือทั่วราชอาณาจักร เดือนตุลาคม 2563

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรุชิตา อุตมะโภคิน

ตามหาความเสมอภาคผ่านงานทั้งศาสตร์และศิลป์ พยายามทำความเข้าใจปรากฏการณ์รอบตัว

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์