ไฟส่องสว่างหน้าบ้านติด ๆ ดับ ๆ …
แจ้งเรื่องไปที่ อบต. แต่บอกว่าไม่ใช่พื้นที่รับผิดชอบต้องให้เทศบาลแก้ไข ?
จะไปติดต่อหน่วยงานท้องถิ่นตัวเอง ไกลกว่าท้องถิ่นข้าง ๆ แบบนี้ลำบากไปไหม ?
หรือ ทำไมอยู่ดี ๆ อบต. ที่บ้าน ก็กลายเป็นเทศบาลไปได้ ?
เมื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็กระดับตำบล `’ไม่ได้มีแค่หน่วยงานเดียว’
The Active ชวนทำความรู้จักกับ องค์การบริหารส่วนตำบล และ เทศบาลตำบล ว่าแต่ละแห่งมีอำนาจหน้าที่อะไรบ้าง และแตกต่างกันอย่างไร
หากจะนับอายุระหว่าง ‘เทศบาลตำบล’ และ ‘อบต.’ นั้น ต้องพิจารณาจากกฎหมายจัดตั้ง อันเป็นจุดเริ่มต้นขององค์กรทั้งสองแห่ง ซึ่ง เทศบาล นั้นถือกำเนิดมาตั้งแต่ ปี 2496 ถือเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบแรก ถัดจากการปกครองในรูปแบบ ‘สุขาภิบาล’ ในอดีต ในขณะที่ อบต. นั้นมาทีหลัง ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537
‘อบต.’ อาจยกระดับเป็น ‘เทศบาลตำบล’ ได้ตามกฎหมาย
ที่ผ่านมามีความพยายามยกระดับองค์การบริหารส่วนตำบล ขึ้นเป็น เทศบาลตำบล เพราะเมื่อดูตามข้อมูลที่ได้มีการยกร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. … ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2557 และดำเนินการโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ร่างประมวลกฎหมายฯ ดังกล่าว มีสาระสำคัญ กำหนดให้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเหลือเพียง 2 ประเภทเท่านั้น คือ เทศบาล และ องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ซึ่งหมายถึงการยกระดับ อบต. ให้กลายเป็นเทศบาลในที่สุดนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาอยู่มาก ซึ่งทำให้มี อบต. หลายแห่ง ไม่อาจยกระดับขึ้นไปเป็นเทศบาลตำบลได้ เนื่องด้วยข้อจำกัดทั้งด้านจำนวนประชากร และรายได้ ของ อบต. นั้น ๆ รวมถึงความต้องการของคนในพื้นที่เองเช่นกัน ทำให้ปัจจุบันนี้ ยังคงมี อบต. จำนวน 5,300 แห่ง และเทศบาลตำบล จำนวน 2,247 แห่ง (ข้อมูล: กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ณ 9 ก.ย. 2563)
การยกระดับเป็นเทศบาลตำบลนั้น จะต้องมีประกาศกระทรวงมหาดไทยเพื่อเปลี่ยนแปลงฐานะ จาก อบต. ไปเป็นเทศบาล โดย พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาจัดตั้งท้องถิ่นขึ้นเป็นเทศบาล ไว้ 3 ประการ คือ 1. จำนวนของประชากร 2. ความเจริญทางเศรษฐกิจของท้องถิ่น โดยพิจารณาจากการจัดเก็บรายได้ และ 3.ศั กยภาพของท้องถิ่นในการพัฒนาพื้นที่
ความแตกต่างของจำนวนประชากร และรายได้
ในอนาคต หากมีการบังคับใช้ประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว ก็จะมีความชัดเจนขึ้นในหลายประเด็น และสามารถจำแนกความแตกต่างระหว่าง อบต. และเทศบาลตำบลได้อย่างชัดเจน โดยเริ่มจากจำนวนประชากร ซึ่งกำหนดให้ อบต. ที่มีจำนวนประชากรไม่เกิน 7,000 คน สามารถยกระดับเป็น เทศบาลตำบลได้ และเทศบาลตำบลนั้น ก็ต้องมีประชากร มากกว่า 7,000 คน แต่ไม่เกิน 15,000 คน (มาตรา 15 แห่งร่างประมวลกฎหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ)
ในส่วนของรายได้นั้น อบต. เกณฑ์ตามกฎหมายจะเป็นหน่วยงาน ซึ่งมีรายได้ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่ไม่รวมเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ในขณะที่ความเป็นจริงอาจมี อบต. บางแห่งซึ่งมีรายได้มากกว่าจำนวนดังกล่าว หากเป็นพื้นที่ซึ่งมีความสามารถในการหารายได้ อย่างเช่น มีทรัพย์สิน หรือพื้นที่ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น แต่โดยหลักเกณฑ์แล้วเมื่อมีจำนวนรายได้ ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ก็อาจควบรวมกับ อบต. ข้างเคียง เพื่อยกระดับมาเป็นเทศบาลตำบลได้นั่นเอง
แต่ก็ยังไม่ได้มีตัวชี้วัดใด ที่บ่งบอกว่าการยกระดับไปเป็นเทศบาล ของ อบต. จะส่งผลให้การบริหารงานท้องถิ่นดีขึ้นจริงหรือไม่
เงินเดือนนายก อบต. VS นายกเทศมนตรี
ความแตกต่างอีกประการของทั้งสองหน่วยงาน คือ ผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรนั้น ๆ จะมีอัตราเงินเดือน และเงินค่าตอบแทนต่างกัน ซึ่ง นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือนายก อบต. นั้นเป็นไปตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินค่าตอบแทนนายกองค์การบริหารส่วนตำบลฯ พ.ศ. 2557 คือ มีเงินเดือนตั้งแต่ 21,860 – 26,080 บาท ขึ้นอยู่กับรายได้ของ อบต. นั้น ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับไม่เกิน 5 ล้านบาทไปจนถึงมากกว่า 50 ล้านบาท
ในส่วนของ นายกเทศมนตรี อัตราเงินเดือนและค่าตอบแทน เป็นไปตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยเงินเดือน ค่าตอบแทน และประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นของนายกเทศมนตรีฯ พ.ศ. 2557 คือ มีเงินเดือนตั้งแต่ 14,280 – 75,530 บาท ขึ้นอยู่กับรายได้ ของเทศบาลนั้น ๆ ซึ่งจะเห็นได้ว่าแม้เงินเดือนเริ่มต้นของนายกเทศมนตรีจะต่ำกว่า นายก อบต. แต่เงินเดือนสูงสุดต่างกันมาก เนื่องจากเป็นอัตราเงินเดือนของนายกเทศมนตรีตั้งแต่ระดับ เทศบาลตำบล เทศบาลเมือง และเทศบาลนครนั่นเอง
อำนาจหน้าที่เทศบาล สามารถทำได้มากกว่า อบต.
อำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งสองประเภทนี้ เนื่องจากเป็นหน่วยงานขนาดเล็กซึ่งใกล้ชิดกับประชาชนในพื้นที่ โดยหลักการแล้วจะมีอำนาจหน้าที่ใกล้เคียงกัน ตาม พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และ พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ในส่วนที่ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ ซึ่งหน้าที่ที่สำคัญ เช่น การบำรุงรักษาถนนหนทาง บำรุงไฟฟ้าและไฟส่องสว่าง ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จัดการน้ำเพื่ออุปโภค บริโภค และการเกษตร ตลอดจนการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชนในท้องถิ่นให้ดีขึ้น
แต่เมื่อพูดถึงความแตกต่างระหว่าง อบต. และเทศบาลตำบลนั้น จะพบว่ามีบางประการที่กฎหมาย ให้อำนาจแก่ ‘เทศบาล’ มากกว่า ‘อบต.’ เนื่องจากเมื่อหน่วยงานมีพื้นที่รับผิดชอบมากขึ้น จำนวนประชากรมากขึ้น สภาพปัญหาอาจเปลี่ยนแปลงไป และจำเป็นต้องมีอำนาจในการแก้ไขปัญหามากขึ้น ดังต่อไปนี้
เทศบาลสามารถตั้งสำนักงานทะเบียนท้องถิ่นของตนเองได้ แต่ อบต. นั้นกฎหมายไม่ได้ให้อำนาจไว้ จึงทำให้ประชาชนในเขตเทศบาล เมื่อต้องการใช้บริการทางทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น การทำบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน การเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปถึงอำเภอก็ได้ ทำให้ประชาชนได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะมีทางเลือกมากขึ้น
การรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้เคยมีหนังสือตอบข้อหารือในอำนาจหน้าที่กรณีดังกล่าวไว้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เช่น ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด ผู้มีอิทธิพล ว่า เทศบาลสามารถดำเนินการใด ๆ ได้ โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือไม่ดำเนินการในเรื่องซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น ในขณะที่เรื่องนี้ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้ในอำนาจหน้าที่ของ อบต. จึงทำได้เพียงการสนับสนุนการทำงานของหน่วยงานอื่นเท่านั้น
1 ตุลาคม 2564 คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลังจากนี้จะเป็นช่วงการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นเวลาสำคัญที่ประชาชนในทุกพื้นที่จะได้ติดตาม และทำความรู้จักผู้ลงสมัครของเขตตนเอง เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกผู้ที่เหมาะสม มาพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง