ไม่ได้เลือกตั้ง อบต. มานานเกือบ 8 ปี ลืมกันไปหรือยัง?

: ทำความรู้จัก อบต. ท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่มีมากที่สุดในประเทศไทย

ชีวิตของเราตั้งแต่ตื่นนอน ออกจากบ้านไปทำงาน จ่ายตลาด ออกกำลังกาย พักผ่อนสวนสาธารณะ จนหัวถึงหมอน ล้มตัวลงนอน ล้วนต้องมีหน่วยงานคอยอำนวยความสะดวก ดูแล และบริการเราอย่างเหมาะสม เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นี่คือที่มาของการกระจายอำนาจลงสู่ท้องถิ่น ผ่านหน่วยงานที่ใกล้ชิดกับปะชาชนมากที่สุด อย่าง องค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.

และปลายปี 2564 นี้ อบต. จำนวน 5,300 แห่ง ในพื้นที่ 76 จังหวัดทั่วประเทศ จะได้รับการคลายล็อก จัดให้มีการเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิก อบต. ได้เป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช.

The Active ชวนทำความรู้จัก อบต. ท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่มีจำนวนมากที่สุดในประเทศไทยอีกครั้ง หลังถูกแช่แข็งจากกระบวนการมีส่วนร่วมผ่าน “การเลือกตั้ง” ของคนในท้องถิ่นมานาน

ท้องถิ่นขนาดเล็ก แต่มีมากที่สุดในประเทศไทย

อบต. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีขนาดเล็กที่สุด และใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ชนบทห่างไกลตัวเมือง ซึ่งประชาชนไม่สามารถเข้าถึงหน่วยงานของภาครัฐได้อย่างสะดวก องค์การบริหารส่วนตำบล จึงเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนระดับตำบล หมู่บ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองตนเองตามระบอบประชาธิปไตย และสามารถสะท้อนปัญหาชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในชุมชนได้

โครงสร้างของ อบต. นั้น เนื่องจากเป็นหน่วยงานซึ่งได้รับกระจายอำนาจจากส่วนกลาง จึงมีอิสระในการบริหาร ออกระเบียบ กฎเกณฑ์ของตนเองได้ ซึ่งประกอบไปด้วยฝ่ายบริหาร คือ ‘นายกองค์การบริหารส่วนตำบล’ หรือ นายก อบต. และฝ่ายนิติบัญญัติ คือ ‘สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล’ หรือ ส.อบต. ซึ่งทั้งหมดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน

สำหรับ นายก อบต. นั้น จะมีเพียง 1 คนเท่านั้น เพื่อทำหน้าที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของ อบต. มีหน้าที่กำหนด และดำเนินการนโยบายบริการสาธารณะในเขต อบต. ของตน โดยไม่ขัดต่อกฎหมาย นายก อบต. มีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และสามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 วาระ และจะดำรงตำแหน่งได้อีกครั้งเมื่อพ้นระยะเวลา 4 ปี

ส.อบต. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ของ อบต. เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบข้อบัญญัติ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินนโยบายสาธารณะ รวมถึงการพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีที่นำมาใช้ภายใน อบต. อีกด้วย โดย ส.อบต. จะได้รับการเลือกตั้งมาจากระดับหมู่บ้านของตำบลนั้น ๆ และมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี

ปัจจุบันนี้ อบต. ทั่วทั้งประเทศ ตามฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ณ วันที่ 9 กันยายน 2563 พบว่ามี อบต. จำนวน 5,300 แห่ง ถือว่ามีจำนวนมากที่สุดในบรรดาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด ที่มีทั้งสิ้น 7,850 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมานั้น อบต. มีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ เนื่องจากสามารถทำการยุบรวม อบต. ที่มีเขตใกล้เคียงเข้าด้วยกันได้ เพื่อการบริหารงานที่เป็นเอกภาพ รวมถึงการเปลี่ยนจาก อบต. ไปเป็นเทศบาลตำบล เมื่อมีจำนวนประชากร หรือรายได้เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง

งบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เกือบหมื่นล้าน

สำหรับงบประมาณของ อบต. นั้นจะมีความแตกต่างจากองค์กรส่วนท้องถิ่นประเภท อบจ. เทศบาลเมือง และเทศบาลนคร ที่สามารถยื่นคำของบประมาณได้โดยตรง แต่ อบต. และเทศบาลตำบลนั้น ต้องยื่นคำของบประมาณรายจ่ายไว้ที่กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยเสนอตั้งงบประมาณผ่านจังหวัด โดยในปีงบประมาณ 2564 นั้น เงินอุดหนุนในส่วนของ อบต. และเทศบาลตำบล มีมากถึง 226,450 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาจากปีงบประมาณ 2563 นั้นพบว่า อบต. และเทศบาลตำบลได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้นถึง 9,879 ล้านบาท และเมื่อคิดเป็นอัตราส่วนต่องบฯ เงินอุดหนุนให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คิดเป็น 70.9% ของงบประมาณ ทั้งหมดที่มีอยู่ 322,250 ล้านบาท

นอกจากนั้น อบต. สามารถมีรายได้ของตนเองที่สามารถจัดเก็บได้ในพื้นที่ เรียกว่า ‘รายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น’ โดยส่วนใหญ่มาจากการจัดเก็บภาษี ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีป้าย หรืออากรการฆ่าสัตว์ นอกจากนั้นอาจเป็นรายได้จากทรัพย์สินของ อบต. ค่าธรรมเนียม และการพาณิชย์ของ อบต. เองด้วย

แต่ปรากฏว่าระหว่างปีงบประมาณ 2561-2564 มีสัดส่วนเท่ากับร้อยละ 63.4, 63.3, 61.8 และ 59.2 ตามลำดับ โดยจะเห็นได้ว่ารายได้ที่จัดเก็บเองขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้น ลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหมายถึงว่าการดำเนินงานของรัฐบาลเพื่อให้ อปท. มีรายได้เป็นของตนเองยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ยังคงต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนจากรัฐบาลจึงจะสามารถดำเนินโครงการต่าง ๆ ได้นั่นเอง

ตั้งแต่ตื่นนอน จนหัวถึงหมอน คือหน้าที่ของ อบต.

อำนาจหน้าที่ของ อบต. นั้น กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.สภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2546 ล้วนเกี่ยวข้องกับการใช้ชีวิตของประชาชนทั้งสิ้น จึงไม่แปลกใจนักที่ทุกครั้งหากเกิดปัญหาขัดข้อง ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ประชาชนมักเข้าหา นายก อบต. อยู่เสมอ ซึ่งหน้าที่ของ อบต. นั้น ประกอบไปด้วยสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ และ ‘ควรทำ’ ดังนี้

สิ่งที่ อบต. ต้องทำนั้นในมาตรา 67 ซึ่งกำหนดให้มีหน้าที่ต้องทำในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล โดยสิ่งที่สำคัญได้แก่ (1) จัดให้มีและบำรุงรักษาทางน้ำและทางบก (2) รักษาความสะอาด (3) กำจัดมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล (4) ป้องกันโรคและระงับโรคติดต่อ (5) ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และ (6) ส่งเสริมการศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม เป็นต้น

และสิ่งที่ อบต. ควรทำนั้นมาตรา 68 กำหนดให้องค์การบริหารส่วนตำบลอาจจัดทำกิจการใดในเขตองค์การบริหารส่วนตำบล สิ่งที่สำคัญได้แก่ (1) ให้มีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค และการเกษตร (2) มีการบำรุงการไฟฟ้าหรือแสงสว่าง (3) ให้มีสถานที่เล่นกีฬา พักผ่อนหย่อนใจ และสวนสาธารณะ (4) ให้มีตลาด ท่าเทียบเรือ และท่าข้าม และ (5) ให้มีการส่งเสริมกลุ่มเกษตรกรและกิจการสหกรณ์ เป็นต้น  

ซึ่งหากพิจารณาดูจากหน้าที่ งบประมาณ และความใกล้ชิดประชาชน จะเห็นได้ว่า อบต. มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเมืองท้องถิ่น และการมีส่วนร่วมและจัดการตนเองของคนในพื้นที่ ตั้งแต่ปี 2557 ภายหลังการรัฐประหาร ประเทศไทยไม่ได้จัดการเลือกตั้ง นายก อบต. และ ส.อบต. มาเกือบ 10 ปี จนถึงปัจจุบัน

เพราะฉะนั้น ถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ และเข้าใจการบริหารงานของหน่วยงานท้องถิ่นที่ใกล้ตัวเราที่สุด และแสดงเจตจำนงเพื่อเลือกคนที่พร้อมทำงานอย่างเข้าใจ โปรดติดตามการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้


อ้างอิง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์