“เกือบครึ่ง” ของ (ว่าที่) นายก อบจ. เป็นคนเดิม และ “เกือบทั้งหมด” สัมพันธ์กับพรรคการเมือง

การจัดสรรงบประมาณ เพื่อพัฒนาจังหวัดและท้องถิ่น อาจเป็นเรื่องแรก ๆ ที่ประชาชน คาดหวังจาก นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ นายก อบจ. ซึ่งมีการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 6 – 8 ปี ต่างไปในแต่ละพื้นที่

การเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งสำคัญ ใน 76 จังหวัดทั่วประเทศ ยกเว้นเพียงพื้นที่การปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ อย่างกรุงเทพฯ และเมืองพัทยา มีประชาชนออกไปใช้สิทธิ 62.25 % ท่ามกลางการเริ่มต้นระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

พลเมืองไทย กว่า 29 ล้านคนทั่วประเทศ ออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนี้ แม้มีข้อจำกัดมาก ทั้งโรคระบาด การกำหนดวันเลือกตั้งในสัปดาห์ที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ล้อมหน้าล้อมหลัง และการไม่มีการเลือกตั้งนอกเขตและเลือกตั้งล่วงหน้า สิ่งเหล่านี้ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่เอื้อให้ประชาชนได้ใช้สิทธิเลือกตั้งท้องถิ่น อย่างที่ควรจะเป็น

ครบ 1 เดือน ของวันเลือกตั้ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ประกาศรับรองผู้สมัครนายก อบจ. ได้เพียง 29 จังหวัด ยังมีอีกถึง 47 จังหวัด ที่ กกต. ยังไม่รับรองผล โดยมีเวลาอีก 1 เดือน หรือ ภายในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ตามกฎหมายการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

อีกหนึ่งปรากฏการณ์ ที่ถูกเฝ้ามองอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเลือกตั้งสนามใหญ่ของการเมืองระดับชาติ ก็คือ ผู้เล่นหน้าใหม่ จากกลุ่มการเมืองใหม่ อย่าง “คณะก้าวหน้า” หรือ อดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่เมื่อผลการเลือกตั้งออกมา ทั้ง 42 ผู้สมัครนายก อบจ. ที่พวกเขาส่งลงสมัครใน 42 จังหวัด ไม่มีใครได้รับเลือกตั้ง แม้แต่คนเดียว สิ่งนี้ คือ ความพ่ายแพ้ที่พวกเขายอมรับ และเป็นบทเรียนสำหรับการสู้ต่อในสนามการเมืองท้องถิ่น ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ย้ำว่าจะ “เดินหน้าต่อ” ในระดับเทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบล

ส่วน “พรรคเพื่อไทย” เป็นอีกพรรคการเมืองที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง นายก อบจ. อย่างเป็นทางการใน 25 จังหวัด ในจำนวนนี้ ได้รับเลือกตั้ง 9 จังหวัด แต่ยังมีอีกหลายจังหวัดที่มีผู้ลงสมัคร เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทย

คณะก้าวหน้าไม่ได้ที่นั่ง เพื่อไทยได้เพียง 9 ที่นั่ง แล้วที่เหลือเป็นของใคร ?

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab บริษัททำงานด้านข้อมูลเพื่อการสื่อสารมวลชน ระบุว่า แม้ พรรคเพื่อไทย จะได้รับเลือกตั้งนายก อบจ. 9 คน จากจำนวนที่ส่งอย่างเป็นทางการ 25 คน แต่ยังมีอีก 29 คน ที่แม้จะไม่ได้อยู่ในรายชื่อที่พรรคประกาศอย่างเป็นทางการ แต่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย หากรวมกันจะพบว่า นายก อบจ. ที่สัมพันธ์กับพรรคเพื่อไทยทั้งหมด รวมเป็น 54 คน ผลการเลือกตั้ง พบว่า พรรคเพื่อไทย คว้าเก้าอี้นายก อบจ. ได้ทั้งหมด 19 คน

ส่วน พรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศส่งผู้สมัครในนามพรรคเพียง 3 จังหวัด แต่มีผู้สมัครแบบเชื่อมโยงความสัมพันธ์ อีก 23 คน รวมเป็น 26 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้ง พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการเลือกตั้งทั้งหมด 10 คน

ขณะที่พรรคที่ไม่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ อย่าง พรรคพลังประชารัฐ แต่ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ ทั้งหมด 41 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคพลังประชารัฐ ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 18 คน

ส่วน พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพรรคที่ไม่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ แต่ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทยทั้งหมด 25 คน จึงพบว่าพรรคภูมิใจไทย ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 15 คน

นอกจากนั้นยังมีพรรคอื่น ๆ อย่าง พรรคชาติไทยพัฒนา ที่ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคชาติไทยพัฒนาทั้งหมด 8 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 5 คน

พรรคประชาชาติ ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคประชาชาติทั้งหมด 4 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรคประชาชาติ ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 3 คน

พรรครวมพลังประชาชาติไทย ปรากฏผู้สมัครรับเลือกตั้งอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรครวมพลังประชาชาติไทยทั้งหมด 1 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าพรรครวมพลังประชาชาติไทย ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 1 คน

และยังมีผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น ที่ไม่ปรากฏผู้สมัครรับเลือกที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมืองใดอย่างชัดเจนอีก 107 คน และเมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ พบว่าผู้สมัครอิสระ/นักการเมืองท้องถิ่น ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 5 คน

นายก อบจ.

ประชาชนเลือกคน พรรคก็เลือกคน (ที่มีโอกาสชนะ)

จากข้อมูลผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ทั้ง 76 จังหวัดนี้ พบว่ามี 32 จังหวัด ที่อดีตนายก อบจ. ลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. อีกสมัยในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

แต่หากแยกออกมา จะเห็นว่าแชมป์เก่าหลายสมัยเหล่านี้ มีสัดส่วนที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง เกือบทั้งหมด มีเพียง 2 จังหวัดเท่านั้น คือ จันทบุรี และ ตราด ที่แชมป์เก่ากลับมานั่งเก้าอี้ได้อีกครั้ง โดยที่ไม่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใด

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ทั้ง 32 จังหวัด หรือเกือบครึ่ง แชมป์เก่าเข้าวิน เตรียมนั่ง นายก อบจ. อีกสมัย อาจมีที่มาจากหลายปัจจัย นักรัฐศาสตร์หลายคน วิเคราะห์ไว้ตรงกันตั้งแต่ช่วงก่อนการเลือกตั้ง อบจ. เช่น รศ.อรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่มองว่า บรรยากาศการแข่งขันทางการเมืองที่เข้มข้น เป็นเพราะหลายพื้นที่ เป็นสมรภูมิรบระหว่างตระกูลใหญ่ทางการเมือง เป็นการแข่งขันระหว่างพรรคการเมือง ทั้งเปิดเผยและไม่เปิดเผย และหลายพื้นที่ยังเป็นการแข่งขันระหว่างนายก อบจ. ทีมเดิม กับคนใหม่ที่มาแรง และเป็นที่รู้จัก

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองระดับชาติกับท้องถิ่น จึงน่าจับตามองบทบาทของพรรคการเมืองระดับชาติในสนามท้องถิ่น การดำรงอยู่ของตระกูลการเมือง เพราะ อบจ. ถือเป็นฐานเสียงของการเมืองระดับชาติ ทั้งในเรื่องงบประมาณและความใกล้ชิดกับประชาชน

ส่วนคำถามที่ว่า การเมืองท้องถิ่น ประชาชน เลือกคน หรือ เลือกพรรค ? รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ ม.บูรพา ประเมินทิศทางการเมืองท้องถิ่นไว้ว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 รัฐบาลและพรรคการเมือง รู้ดีว่าทุกคะแนน มีผลต่อการเมืองระดับชาติ ทุกพรรคจากทั้งฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ล้วนเป็นผู้สนับสนุนหลักในการเมืองท้องถิ่นสนามนี้ เขาบอกอีกว่า หากเป็นฝ่ายตระกูลการเมืองเดิมในจังหวัด ก็จะได้รับการสนับสนุนจากพรรคใหญ่ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เพราะหากชนะการเลือกตั้ง อบจ. นี่จะเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่า การเลือกตั้ง ส.ส. สมัยหน้า จะมีหน่วยเลือกตั้งระดับจังหวัด เป็นพันธมิตรของตัวเอง

เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน อย่าง พรรคเพื่อไทย และคณะก้าวหน้า ก็มีตัวแทนลงสมัครแข่งขัน ด้านหนึ่ง ก็อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลง และหวังในใจว่าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองในระดับชาติเช่นเดียวกัน

ส่วนปัจจัยที่อาจทำให้แชมป์เก่า หรือ “บ้านใหญ่” ในท้องถิ่น ดึงดูดคะแนนเสียงให้กลับมาครองตำแหน่งได้อีกสมัย ก็มีตัวแปรสำคัญอย่างโครงการในอดีตหลายโครงการ ที่ผู้นำท้องถิ่นสามารถเดินหน้าได้ดี และส่งผลดีในเชิงนโยบาย เป็นผลมาจากประสบการณ์ทางการเมือง และเครือข่าย (Connection) ที่ “นักการเมืองท้องถิ่น” สามารถสื่อสารให้ “ระบบราชการ-ข้าราชการท้องถิ่น” ยอมจำนนต่อนโยบายของพวกเขาได้ แต่หากเป็นกลุ่มการเมืองใหม่ อาจจะไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความไว้วางใจเบื้องต้นในการขับเคลื่อนนโยบาย

สอดคล้องกับความเห็นของประชาชน ถึงเหตุผลที่นำมาสู่การตัดสินใจ ว่าพวกเขาเลือกใครในสนามเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งที่ผ่านมา นิด้าโพล รายงานผลสำรวจว่า ผลงานและนโยบาย คือเหตุผลส่วนใหญ่ โดยพบว่าร้อยละ 60.50 “ดูจากผลงานที่ผ่านมาในการทําประโยชน์เพื่อท้องถิ่น” นั่นหมายความว่า หากผู้สมัครคนนั้นมีผลงานโดดเด่น ทั้งในบทบาทของผู้บริหารท้องถิ่นหรือในบทบาทอื่น ประชาชน ก็พร้อมจะลงคะแนนเสียงให้ ส่วน “นโยบายการบริหารและการพัฒนาท้องถิ่น” ก็มีถึง ร้อยละ 38.07 นี่ทำให้เห็นว่า พวกเขาเลือกคน ไม่ว่าจะเพราะผลงาน หรือเพราะนโยบายก็ตาม เพราะปัจจัยการเลือกจากพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่สังกัด มีผลต่อการตัดสินใจเพียง ร้อยละ 8.58 เท่านั้น

ขณะที่อีก 44 จังหวัด ผู้สมัครหน้าใหม่ สามารถล้มแชมป์เก่าได้เช่นกัน หนึ่งในพื้นที่ที่การเมืองระดับชาติเข้าไปมีผลต่อการตัดสินใจ ก็คือ จ.เชียงใหม่ ที่ ตระกูล “บูรณุปกรณ์” นั่งครองเก้าอี้สนามการเมืองท้องถิ่นมาหลายสมัย ภายใต้การสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย แต่เมื่อเกิดความไม่ลงรอยกัน จากความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการกับพรรคการเมืองอีกขั้ว ทำให้ นายใหญ่ ของพรรคเพื่อไทย ออกตัวขอแรงสนับสนุนคะแนนเสียงให้ผู้สมัครท้องถิ่นหน้าใหม่ อย่าง ชูชัย เลิศพงษ์อดิศร หรือ “ส.ว.ก๊อง” ด้วยตัวเอง แม้ ส.ว.ก๊อง จะมีฐานเสียงเดิม จากการเป็นอดีต ส.ว. เลือกตั้ง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การขอคะแนนเสียงอย่างเปิดเผยจาก ทักษิณ ชินวัตร เป็นแรงจูงใจสำคัญที่ผลักดันให้ ส.ว.ก๊อง ชิงเก้าอี้นายก อบจ. มาจาก ตระกูลบูรณุปกรณ์ ได้

เช่นเดียวกับ จ.ปทุมธานี ที่ “ลุงชาญ” หรือ ชาญ พวงเพ็ชร์ อดีตนายก อบจ. 4 สมัย ก็ถูกล้มแชมป์โดย พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง หรือ “บิ๊กแจ๊ด” อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งเป็นที่รู้จักในสังคมมากก่อนหน้านี้ และมีความสัมพันธ์อย่างเปิดเผยในทางสาธารณะตลอดมาว่าเขาเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย แม้จะลงแข่งในนามกลุ่มคนรักปทุมก็ตาม ทำให้ บิ๊กแจ๊ด ได้รับเลือกตั้งด้วยคะแนนทิ้งห่างจากแชมป์เก่ากว่า 30,000 คะแนน

นายก อบจ. คนเดิม กับพรรคการเมืองหน้าใหม่

จากข้อมูลของ Rocket Media Lab ซึ่งสืบค้นความสัมพันธ์ของอดีตนายก อบจ. และความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคการเมือง โดยอาศัยการชี้วัดจากความสัมพันธ์ในอดีต จากการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนในช่วงก่อนเลือกตั้ง พบสิ่งที่น่าสนใจ คือ อดีตนายก อบจ. ที่สามารถสืบค้นความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งหากพิจารณากันตามไทม์ไลน์ทางการเมืองแล้วจะพบว่า อดีตนายก อบจ. นั้นได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. เมื่อการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาในช่วงกว่า 6 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พรรคพลังประชารัฐยังไม่ได้ก่อตั้ง

เช่น อนุสรณ์ นาคาศัย อดีตนายก อบจ. ชัยนาท ที่ได้รับการเลือกตั้งกลับมาอีกครั้งในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นน้องชายของ อนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ หรือแม้กระทั่งอดีตนายก อบจ. ในบางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่ในช่วงเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัดเมื่อ 6 ปีที่แล้ว มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทย แต่ในช่วงก่อนเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 กลับพบว่ามีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรคพลังประชารัฐ ด้วยการขึ้นเวทีสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ

และเมื่อนำพื้นที่ความสัมพันธ์ของแต่ละจังหวัดของอดีตนายก อบจ. มาเปรียบเทียบกับว่าที่นายก อบจ. ที่เพิ่งชนะการเลือกตั้งล่าสุดนี้ พบว่ามี 53 จังหวัด ที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างนายก อบจ. ทั้งในอดีตและผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งล่าสุดกับพรรคการเมือง และมี 23 จังหวัด ที่มีการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองที่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับอดีตนายก อบจ. และพรรคการเมืองที่มีการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งนายก อบจ. ล่าสุด โดยภาคที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย คือ ภาคตะวันออก 

นายก อบจ. rocket media lab

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ อาจจะไม่สามารถชี้ชัดได้ 100 % และตัวนักการเมืองท้องถิ่นเองก็อาจจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์และขั้วการเมืองได้ทุกเมื่อ ดังเช่น การทำข้อมูลเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างอดีตนายก อบจ. กับพรรคการเมือง ที่ปรากฏความสัมพันธ์กับพรรคพลังประชารัฐถึง 21 จังหวัด แม้ว่าพรรคพลังประชารัฐจะเพิ่งก่อตั้ง และลงสนามเลือกตั้งเมื่อครั้งการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2562 ที่ผ่านมาก็ตาม 

แต่ผลจากการทำข้อมูลก็คงทำให้เห็นได้ว่า แม้ผลการเลือกตั้งที่ออกมา พรรคเพื่อไทย ซึ่งประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 25 คน และได้รับการเลือกตั้งเพียง 9 คน เช่นเดียวกันกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 3 คน และได้รับการเลือกตั้งเพียง 1 คน และคณะก้าวหน้า ที่ประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 42 คน ซึ่งไม่ได้แม้แต่ที่นั่งเดียว 

แต่จำนวนทั้งหมดในการเลือกตั้งนายก อบจ. นั้นมีถึง 76 จังหวัด ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่า ในขณะที่พรรคการเมืองใหญ่ระดับชาติอย่างพลังประชารัฐ และภูมิใจไทย นั้นไม่มีการประกาศส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ แล้วที่นั่งที่เหลือนั้น มีความเกี่ยวเนื่องกับพรรคการเมืองระดับชาติมากน้อยเพียงใด รวมไปถึงเรื่องการเมืองระดับประเทศ หรือพรรคการเมืองระดับประเทศมีอิทธิพลต่อการเมืองระดับท้องถิ่นมากน้อยเพียงใดเช่นเดียวกัน 


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active