คนสร้างเมือง: รู้จักแรงงานจากคลัสเตอร์แคมป์คนงาน

คนในมหานคร มักผ่านตาพื้นที่สังกะสีสูง กั้นล้อมเป็นรั้วอย่างมิดชิดจากริมถนน แต่อาจไม่เคยตั้งคำถามว่าหลังรั้วสังกะสีนั้น มีใครอยู่ข้างใน อยู่อย่างไร และเขาทำอะไรกันบ้าง

เพียงใช้เวลารอคอย ก็จะเห็นสิ่งปลูกสร้างขนาดใหญ่ เผยโฉมอวดความมั่งคั่ง ตัวชี้วัดความเจริญของเมือง

ทว่า นับจากวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 เป็นต้นมา “แคมป์คนงานก่อสร้าง” แทรกตัวเข้ามาอยู่ในความรับรู้ของคนกรุงเทพฯ และสังคมไทย

หลากหลายความรู้สึกปะปนกันกับสิ่งที่คุ้นตาแต่ไม่เคยรู้จัก เมื่อโฆษก ศบค. แถลงข่าวต่อเนื่องมากกว่าสองสัปดาห์ ว่าเป็น “คลัสเตอร์ใหญ่” และกระจายหลายแห่งในเมืองหลวง

โควิด-19 ระบาดไม่เลือกเชื้อชาติ มีการติดเชื้อสูงทั้งในกลุ่มคนไทยและแรงงานข้ามชาติ ภายในรั้วมิดชิดนั้น “มีอะไรอยู่ข้างใน?”

การติดเชื้อโควิด-19 คลัสเตอร์ใหม่เปิดตัวที่ “แคมป์หลักสี่” แคมป์คนงานก่อสร้างอาคารใหญ่ ตั้งอยู่ในเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ถูกรายล้อมด้วยชุมชน อย่างน้อย 7 ชุมชน

พื้นที่ ที่เป็นทั้ง ที่ทำงานและใช้ชีวิต เราอาจเรียกว่า ไซต์ก่อสร้าง หรือ แคมป์คนงาน ก็ไม่ผิดความหมายไปจากสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

The Active ชวนติดตามข้อมูลเกี่ยวกับ “แรงงานก่อสร้าง” ในเขตกรุงเทพฯ จากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 คลัสเตอร์แรงงาน เพื่อทำความรู้จักแรงงาน “คนสร้างเมือง” ให้มากขึ้น


สถานการณ์ระบาดโควิด-19 “คลัสเตอร์แคมป์คนงาน” ในกรุงเทพมหานคร

การระบาดของโควิด-19 ใน แคมป์หลักสี่ ทำให้ภาพของ “แรงงานก่อสร้าง” ที่กระจายตัวอยู่ทั่วเมือง เคยกลมกลืนไปกับเส้นทางเดินรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ คอนโดมิเนียมสูงกลางเมืองไล่ไปจนถึงชานเมือง รวมถึงแรงงานซ่อมถนน ทางเท้า และทางระบายน้ำ ปรากฏชัดขึ้น

13 พ.ค. 2564 พบการระบาดของโควิด-19 ครั้งแรกในแคมป์คนงาน ของ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ย่านหลักสี่ กรุงเทพฯ

17 พ.ค. นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงข่าวด้วยความกังวล

“เพราะพื้นที่ก่อสร้างดังกล่าว ยังมีบริษัทที่เป็นซับคอนแทรคอีก 11 บริษัท และแคมป์อื่น ๆ ของบริษัทอื่น ๆ ในเขตหลักสี่อีก 8 แคมป์ เขตหลักสี่จึงออกมาตรการควบคุมโรค ได้แก่ ต้องเฝ้าระวังในแคมป์ การแยกกักผู้ป่วย การกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เฝ้าระวังนอกแคมป์ การซีลแคมป์ก่อสร้าง การจัดการสิ่งแวดล้อมในแคมป์ การบริหารจัดการวัคซีนสำหรับพื้นที่ระบาด ติดตามบริษัทซับคอนแทรค 11 บริษัท และสถานที่ก่อสร้าง 2 แห่ง”

เกือบสองสัปดาห์ของความพยายามตรวจหาเชื้อเชิงรุก 100% แคมป์หลักสี่ต้องตรวจมากกว่า 1 รอบ และพบว่า มีผู้ติดเชื้อแล้ว 1,298 คน จากแรงงานทั้งหมด 1,667 คน หรือคิดเป็น ร้อยละ 77.86 โดยมีการเปิดเผยว่าในจำนวนนี้ เป็นแรงงานข้ามชาติถึง 80%

ที่นี่ ยังตรวจพบว่า มีการระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส สายพันธุ์อินเดียเป็นครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 อีกด้วย

และล่าสุด วันที่ 25 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงว่า จากการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียใน “แคมป์คนงานหลักสี่” จาก 15 คน พบเพิ่มเป็น 36 คน “เมื่อขยายการตรวจออกไปในพื้นที่อื่นของกรุงเทพฯ ขณะนี้พบ 62 ราย สายพันธุ์นี้แพร่กระจายเร็วเช่นเดียวกับสายพันธุ์อังกฤษ ความรุนแรงไม่แตกต่างกันมาก วัคซีนที่ประเทศไทยมีอยู่ยังใช้ได้ได้สายพันธุ์นี้”

ต่อมา สมบัติ กนกทิพย์วรรณ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตหลักสี่ เปิดเผยว่า 7 ชุมชนโดยรอบ “แคมป์คนงานหลักสี่” ทยอยพบผู้ติดเชื้อรวม 64 คน จากจำนวนประชากรกว่า 6 พันคน ซึ่งเข้ารักษาในโรงพยาบาลหมดแล้ว ประเมินสถานการณ์ว่าต้องใช้เวลาอีกราวครึ่งเดือนในการควบคุมการแพร่ระบาด เนื่องจากผลการตรวจคัดกรองคนในชุมชนยังออกไม่ครบ และจะมีเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับชุมชนรอบแคมป์หลักสี่รวมทั้งสิ้น 4,500 คน ตั้งแต่วันที่ 25-29 พ.ค. นี้

ทำให้ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา เขตหลักสี่ เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงสุด รวมถึงเขตอื่น ๆ ที่พบการระบาดในแคมป์คนงานเช่นเดียวกัน โดยข้อมูลอัปเดตวันที่ 25 พ.ค. 2564 เขตบางพลัด ดอนเมือง บางคอแหลม บางกะปิ คลองเตย ห้วยขวาง บางรัก และปทุมวัน เป็นเขตเฝ้าระวังสูงสุด หลังพบการระบาดของโควิด-19 ในแคมป์คนงานในพื้นที่


กรุงเทพฯ มีแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง กระจายตัวทุกเขต

หลังคลัสเตอร์ใหม่เปิดตัวที่ “แคมป์คนงานหลักสี่” ปลัดกรุงเทพมหานคร รีบรายงานให้ ศบค. ทราบเร่งด่วนว่า กรุงเทพมหานคร มีจำนวนแคมป์คนงานก่อสร้าง 409 แห่ง กระจายตัวอยู่ในเกือบทุกเขต ยกเว้นแค่ ป้อมปราบศัตรูพ่าย โดย 5 เขตที่มีจำนวนแคมป์คนงานมากที่สุด คือ บางเขน ลาดพร้าว ห้วยขวาง บางกะปิ และหนองจอก คนงานทั้ง 62,169 คน เป็นคนไทย 26,134 และเป็นแรงงานข้ามชาติ 36,035 คน นั่นหมายความกว่า “กว่าครึ่ง” หรือ 58% เป็นแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เมียนมา ลาว และกัมพูชา


พวกเขาก่อสร้างอะไรบ้าง ?

การประมวลข้อมูลพื้นที่การก่อสร้าง ปี 2563 พบว่า มีการแบ่งออกเป็นสองรูปแบบใหญ่ แบบแรก คือ การก่อสร้างอาคารโรงเรือน เช่น บ้าน คลังสินค้า สำนักงาน โรงแรม หรือโรงพยาบาล ซึ่งการก่อสร้างรูปแบบนี้ มีทั้งผู้รับเหมารายย่อย ที่ส่วนใหญ่เป็นการจ้างแรงงานแบบรายวันและเปลี่ยนแรงงานตามทักษะของงานก่อสร้าง ส่วนผู้รับเหมารายใหญ่ เช่น กรณีแคมป์คนงานหลายแห่งที่มีการระบาด กลุ่มนี้จะมีการสร้างที่พักหรือแคมป์คนงานอยู่ในพื้นที่ของไซต์งานก่อสร้างเกือบทั้งหมด

แบบที่สอง คือ สิ่งก่อสร้างที่ไม่ใช่อาคารโรงเรือน ซึ่งมีทั้งแบบมีหน่วยวัดเป็นความยาว เช่น ถนน ทางรถไฟ สะพาน อุโมงค์ ทางระบายน้ำ ฯลฯ และแบบมีหน่วยวัดเป็นพื้นที่ เช่น ลานจอดรถ ปั๊มน้ำมัน ป้ายโฆษณา สระว่ายน้ำ ฯลฯ ซึ่งในรูปแบบนี้ ที่พักของคนงานมักอยู่แยกกับบริเวณที่มีการก่อสร้าง นั่นทำให้ปรากฏภาพที่คนเมืองคุ้นชิ้น จากรถขนส่งแรงงานที่วิ่งขวักไขว่ทั่วเมือง

ด้วยรูปแบบของการทำงานและพักอาศัยที่แตกต่างกัน ทำให้แนวทางที่ คณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม. ออกมาตรการควบคุมพื้นที่แบบ Community Isolation และแบ่งการดูแลแรงงานแคมป์ในสถานการณ์การระบาดออกเป็นสองแนวทาง ที่รับกับรูปแบบการอยู่อาศัย คือ (1) แคมป์คนงานที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับไซต์งานก่อสร้าง หากพบผู้ติดเชื้อ ให้ควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ

(2) แคมป์คนงานที่อยู่คนละที่กับไซต์งานก่อสร้าง ให้กักตัวผู้ติดเชื้อในแคมป์ ซึ่งบริษัทต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย กทม.

แนวทางที่ใช้มีสองรูปแบบ คือ Bubble and Seal และ Camp Quarantine โดยรูปแบบแรก คือ การจำกัดการเคลื่อนย้ายแรงงาน โดยคนงานและผู้เกี่ยวข้องต้องอยู่ภายในแคมป์เท่านั้น และมีการตรวจเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อแยกผู้ติดเชื้อ

การ seal ใช้กับแคมป์ที่คนงานพักอยู่ในพื้นที่เดียวกับไซต์งานก่อสร้าง ส่วน bubble ใช้กับไซต์งานก่อสร้าง ที่แรงงานพักข้างนอกหรือมีแคมป์ที่พักอยู่คนละแห่ง โดยต้องมีการควบคุมหรืออำนวยความสะดวกให้แรงงานเดินทางระหว่างไซต์งานก่อสร้างและที่พัก เช่น การจัดรถรับส่งแรงงานโดยไม่แวะพัก

ส่วน แบบที่สอง อย่าง Camp Quarantine จะถูกใช้ในกรณีที่พบผู้ติดเชื้อน้อย ให้จัดตั้งแคมป์กักตัว โดยนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่การรักษา และให้ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงทั้งหมดพักอาศัยในแคมป์ แต่หากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ไม่สามารถนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่สถานพยาบาลได้ จะดำเนินการจัดตั้งแคมป์แยกกักตัว หรือ Camp Isolation เพื่อใช้พื้นที่แคมป์คนงานเป็นโรงพยาบาลสนามให้การรักษาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ไม่ติดเชื้อออกจากพื้นที่


แคมป์คนงาน ไม่ใช่แค่ที่ทำงาน แต่เป็นที่อยู่อาศัย

อาจเป็นเรื่องปกติที่นายจ้าง มีสวัสดิการที่พักอาศัยชั่วคราวแก่แรงงานและครอบครัวที่ทำงานก่อสร้าง ส่วนใหญ่มักตั้งอยู่ใกล้สถานที่ก่อสร้างหรืออยู่ในไซต์งานก่อสร้าง หรือที่เรียกกันว่า “แคมป์คนงาน”

เพราะ แรงงานก่อสร้าง เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องได้รับการอุดหนุนด้านสวัสดิการนอกเวลาทำงาน ที่ครอบคลุมชีวิตความเป็นอยู่ เพราะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ใช้แรงงานจำนวนมาก

ส่วนรูปแบบของการออกแบบแคมป์คนงาน จำเป็นต้องสอดคล้องกับกิจวัตรประจำวันในการพักอาศัย มีมาตรฐาน มีแบบก่อสร้างอาคารชั่วคราวสำหรับคนงานก่อสร้าง และสถานที่รับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน มีพื้นที่รองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงปฏิบัติตามคู่มือที่พักมาตรฐานแรงงานข้ามชาติ

ภายในแคมป์เหล่านี้ ไม่ได้มีเพียงแรงงานชายเท่านั้น แต่ยังมีแรงงานหญิง ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผู้ช่วยของสามี และเด็ก ๆ ลูกหลานของแรงงานอาศัยอยู่ด้วย

ประเภทงานของแรงงานชายในไซต์งานก่อสร้าง ส่วนใหญ่เป็นงานใช้ทักษะ เช่น งานก่ออิฐ ฉาบปูน งานเชื่อม ส่วนแรงงานหญิง ในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มักเป็นงาน แบก หาม ลาก วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ และแม้แรงงานหญิงบางคนจะมีทักษะและทำงานได้เช่นเดียวกับแรงงานชาย แต่ก็ทำได้เพียงเล็กน้อย นั่นทำให้พวกเธอได้รับค่าแรงน้อยกว่า และขาดโอกาสในการพัฒนาทักษะแรงงาน ขณะที่คู่สามีภรรยาจำนวนมาก นำลูกหลานเข้ามาทำงานด้วย เด็ก ๆ ต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในแคมป์เช่นกัน

บางครอบครัวที่นำลูกหลานเข้ามาอาศัยอยู่ในแคมป์คนงาน อาจต้องตกอยู่ในความเสี่ยง เพราะในไซต์งานก่อสร้างมีอันตรายสูง รวมไปถึงความเสี่ยงต่อการที่เด็กจะไม่ได้รับการคุ้มครอง มีระบบสุขาภิบาลที่ไม่ดี เข้าถึงน้ำสะอาดได้น้อย มีไฟฟ้าใช้แบบไม่แน่นอน มีการจัดการของเสียและการทิ้งขยะที่จำกัดหรือไม่ปลอดภัย อีกทั้ง ในบริเวณที่มีผู้อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นก็เอื้อต่อการระบาดของโรค ยังไม่นับปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศในกลุ่มแรงงานหญิงและเด็ก จากคนงานร่วมแคมป์

นอกจากนี้ ลักษณะของชุมชนชั่วคราวที่ตั้งอยู่ต่างหากเช่นนี้ ทำให้ครอบครัวโดดเดี่ยวจากสังคมอย่างถาวร และยิ่งลดโอกาสที่จะกลมกลืนเข้ากับสังคมไทยอีกด้วย

ทั้งหมดนี้ เป็นปัจจัยที่ทำให้เห็นว่าเด็ก ๆ ลูกหลานแรงงานก่อสร้าง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน นั้นยากที่จะเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษา ด้วยปัจจัยสำคัญ คือ การโยกย้ายถิ่นฐานบ่อย ๆ ตามไซต์งานก่อสร้าง และเอกสารการเกิดที่ไม่ครบถ้วน ส่งผลต่อระบบประกันสุขภาพ


จำนวนแรงงาน เปลี่ยนแปลงไปตามทิศทางการพัฒนาของเมือง

ข้อมูลย้อนหลังของ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ตั้งแต่ปี 2549 – 2557 จะเห็นว่าจำนวนผู้มีงานทำในภาคการก่อสร้าง ของกรุงเทพฯ มีตัวเลขเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอด 8 ปี แต่หลังจากนั้น ตัวเลขกลับลดลงต่อเนื่องเช่นกัน และคาดว่าจะลดลงอีกจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ในปี 2563 – 2564 ยังไม่นับว่าในจำนวนนี้ เป็นแรงงานข้ามชาติ จากประเทศเพื่อนบ้านกว่าครึ่ง

ดังนั้น แม้ความรู้สึกของคนกรุงเทพฯ จะเห็นว่ามีการพัฒนาเมืองและสิ่งก่อสร้าง เช่น หมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า ผุดขึ้นตลอดเส้นทางโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ตลอดช่วงของรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หากแต่ตัวเลขของแรงงานก่อสร้างกลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

แม้แรงงานก่อสร้าง เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดึงแรงงานภาคเกษตรกรรมได้มากที่สุด เมื่อใช้ข้อมูลเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สถานการณ์การขาดแคลนแรงงานก่อสร้าง ทำให้สัดส่วนแรงงานข้ามชาติเพิ่มขึ้น จนกินพื้นที่เกินครึ่งของจำนวนแรงงานก่อสร้างทั้งหมด

ขณะที่หน่วยงานภาครัฐภายใต้การกำกับโดย กระทรวงแรงงาน ที่ดูแลแรงงานเหล่านี้ เน้นไปที่การพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน สิทธิและสวัสดิการแรงงานเป็นส่วนใหญ่

  • กรมการจัดหางาน เน้นไปที่ “ส่งเสริมการมีงานทำ” พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงานให้ทันสมัย ไปจนถึงบริหารจัดการการทำงานของแรงงานข้ามชาติ
  • กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เน้น “พัฒนาและยกระดับมาตรฐานฝีมือแรงงาน” ด้วยการพัฒนาระบบการพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง
  • กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มุ่งเน้นการ “ยกระดับคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในการทำงาน” และพัฒนาการบริหารจัดการด้านคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงาน
  • สำนักงานประกันสังคม ทำหน้าที่ บริหารการประกันสังคมและเงินทดแทนโดยการจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้แรงงานมีหลักประกันการดำรงชีวิตที่มั่นคง ในที่นี้เป็นการดูแลที่ครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติด้วย
  • สถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (องค์การมหาชน) “สสปท.” ทำหน้าที่ให้บริการด้านงานวิจัย วิชาการและการจัดทำสถิติ เพื่อสนับสนุนการจัดทำมาตรฐานเพื่อส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานของประเทศให้มีมาตรฐานในระดับสากล

โดยทั้งหมดจะเห็นว่าบทบาทของกระทรวงแรงงาน เน้นที่การดูแลแรงงานในภาพรวม ส่วนการบริหารจัดการแรงงานภาคการก่อสร้าง หรือแรงงานข้ามชาติเป็นการเฉพาะ ยังมีการแยกส่วนและไม่ชัดเจน

เมื่อเกิดสถานการณ์โรคระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้าง บทบาทในการดูแลจึงเป็นมาตรการดูแลเฉพาะหน้า องค์การพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ ระบุว่า แคมป์คนงานที่พบการระบาด ส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ บางส่วนเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ทั้งจากการเข้าเมืองผิดกฎหมายและช่องว่างรอยต่อของการขึ้นทะเบียนในช่วงโควิด-19 ระบาด เมื่อพวกเขากลัวการกลับเข้าสู่ระบบ ทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากรัฐ ขณะที่ระบบความช่วยเหลือก็ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้ส่งผลต่อการแยกกักในชุมชน อันมาจากอคติต่อแรงงานข้ามชาติ

นักวิจัย สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอว่า ในระยะยาว รัฐควรพัฒนาที่อยู่อาศัย สร้างระบบลงทะเบียน ระบุนายจ้างและที่พัก ออกระเบียบที่อยู่อาศัย 1 คนต่อ 10 ตารางเมตร เพื่อลดความแออัด พัฒนาระบบสวัสดิการและการเข้าถึงการป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ วางแผนครอบครัว สื่อสารความรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติ

เพราะช่องโหว่การดูแลรายละเอียดเหล่านี้ ได้นำมาสู่การระบาดในกลุ่มคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ทั่วกรุงเทพฯ นั่นเอง


อ้างอิง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active