โลกมันหมุนเร็วขึ้นทุกวัน! ทักษะที่ต้องมีในปี 2025

เมื่อทักษะเชิงเดี่ยวใช้ไม่ได้อีกต่อไป ระบบการศึกษาแบบเดิมทำไทยเสี่ยงสูญเสียทุนมนุษย์

โรคระบาดใหญ่ ที่ชื่อว่า “โควิด-19” ไม่เพียงทิ้งปัญหาการเรียนรู้ถดถอย หรือ Learning loss ของนักเรียนเท่านั้น แต่ทักษะการทำงานของเด็กรุ่นใหม่ ยังเป็นสิ่งที่น่ากังวล เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประเมินสถานการณ์ว่าในอนาคต แรงงานจะถูกมองเป็นภาระ การผลิตเด็กและเยาวชนออกมาในรูปแบบเดียวกันและไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง จะยิ่งทำให้แรงงานถูกแช่แข็ง ขณะที่ผู้ประกอบการก็เริ่มปรับตัว เปลี่ยนตัวเอง ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันก็อาจจะตามโลกยุคใหม่ไม่ทัน เพราะโลกหลังโควิด-19 โดนกระทบอย่างรุนแรงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มากกว่า 30 เท่า การเรียนรู้ถดถอย (Learning loss) ในวันนี้จึงกระทบกับวิกฤตแรงงานและการสูญเสียทุนมนุษย์ (Human capital loss) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทักษะ

เกียรติอนันต์ ยกตัวอย่างการใช้คิวอาร์โค้ด, รถยนต์ไฟฟ้า หรือ รถ EV (Electric Vehicle) และอีกหลากหลายเทคโนโลยีที่ถาโถมเข้ามาอย่างรวดเร็วหลังโควิด-19 จากเดิมที่อาจจะต้องรอความเปลี่ยนแปลงในลักษณะนี้นานถึง 7 ปี แต่กลับเกิดขึ้นภายใน 1 ปีเท่านั้น ดังนั้น การที่เด็ก ๆ เจอกับปัญหาการเรียนรู้ถดถอยที่หายไป 1 ปี อาจจะมีค่ามากกว่า 1 ปี เมื่อเทียบกับโลกที่หมุนเร็ว 30 เท่า ขณะที่ ทักษะสำคัญและจำเป็น ของเด็กเยาวชนก็เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

อ้างอิงจากข้อมูล World Economic Forum ในปี 2015 พบ 10 ทักษะที่จำเป็นต่อโลกอนาคต เช่น ทักษะการคิดสร้างสรรค์, การเจรจากับผู้คน, ความฉลาดทางอารมณ์, ความยืดหยุ่นทางความคิด ฯลฯ แต่เมื่อสำรวจอีกครั้งในปี 2020 ผ่านไปเพียง 5 ปี กลับพบทักษะใหม่เกิดขึ้นมากมาย และความต้องการทักษะเดิมในปี 2015 ก็หายไปเกือบทั้งหมด เหลือเพียง ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน (Complex promblem-solving) เท่านั้น

“ปัญหาการเรียนรู้ถดถอย ที่หายไป 1 ปี อาจมีค่ามากกว่า 1 ปี เมื่อเทียบกับโลกที่หมุนเร็ว 30 เท่า…หลังโควิด-19 มนุษย์จะอยู่รอดได้ ระบบการศึกษาต้องสร้างทักษะที่ มากกว่าทักษะเชิงเดี่ยว”

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เกียรติอนันต์ ย้ำ โลกปัจจุบันคือการเลียนแบบคนอื่นได้ง่าย จำเป็นต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ขณะที่ธุรกิจหลังโควิด-19 ก็จำเป็นต้องสร้างคนที่กระโดดหาโอกาสได้และมีความยืดหยุ่นสูง สร้างไอเดียใหม่ ๆ เพื่อไปต่อ

นอกจากนี้ โลกที่หมุนเร็วกว่าเดิม 30 เท่า ยังทำให้บางอาชีพหายไป การเรียนรู้และทักษะที่หายไป จึงจำเป็นต้องสร้างเด็กที่มีหลากหลายทักษะ เช่น กลุ่มเก่งนำหน้าปัญญาประดิษฐ์ (Job innovator) คิดงานได้เอง ซึ่งปกติจะมีเพียง 5% ของแรงงานในประเทศ, การสร้างทุนมนุษย์ให้เป็น ซูเปอร์เป็ด (Super Multitasker) คือ คนที่รู้รอบด้านและปรับจากรู้เป็นเก่ง มีวิธีการเรียนรู้พัฒนาตัวเองให้ใช้ความรู้นั้นได้เร็ว

ส่วนกลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วงอีก 2 กลุ่ม คือ กลุ่มอึดถึกทน (Hardy worker) น่าห่วงเพราะทำงานหนัก เข็นยาก Unskilled labor โดยกลุ่มนี้มีประมาณ 20%, กลุ่มหนีตลาด (Market Disengager) เช่น แรงงานคืนถิ่นที่กลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด ก็เสี่ยงที่จะเป็นแรงงานที่ทักษะหายไปได้เช่นกัน

เกียรติอนันต์ ยังอ้างอิงข้อมูล World Economic Forum พบทักษะสำคัญเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว โดยเทียบระหว่างปี 2025 กับ 2015

Top Skills in 2020
1.Complex problem-solving การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
2.Critical thinking การคิดอย่างมีวิจารณญาณ
3.Creativity คิดสร้างสรรค์
4.People management การบริหารคน
5.Coordinating with other ประสานงานกับผู้อื่น
6.Emotional intelligence ความฉลาดทางอารมณ์
7.Judgment and decision-making ดุลยพินิจ และการตัดสินใจ
8.Service orientation การบริการ
9.Negotiation การเจรจาต่อรอง
10.Cognitive flexibility ความยืดหยุ่นทางความคิด

Top Skills for 2025
1.Analytical and Innovation การคิดเชิงวิเคราะห์และนวัตกรรม
2.Active learning and learning strategies การจัดการเรียนรู้เชิงรุก และกลวิธีการเรียนรู้
3.Complex problem-solving ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
4.Critical thinking and analysis การคิดเชิงวิพากษ์และการวิเคราะห์แยกแยะ
5.Creative,originality, and initiative ทักษะความคิดสร้างสรรค์
6.Leadership and social Influence ทักษะการเป็นผู้นำและสร้างแรงบันดาลใจ
7.Technology use, monitoring, and control ทักษะการเลือกใช้ ดูแล และควบคุมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยี
8.Technology design and programming ทักษะการออกแบบและโปรแกรมชุดคำสั่งสำหรับเทคโนโลยี
9.Resilience, stress tolerance, and flexibility ทักษะการเปิดรับต่อความเปลี่ยนแปลง การควบคุมอารมณ์ และการฟื้นฟูในภาวะวิกฤต
10.Reasoning, problem-solving, and ideation ทักษะในการให้น้ำหนักเหตุผลและการระดมความคิด

ดังนั้น ระบบการศึกษาไทยในอนาคต อาจต้องคิดรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว ก่อนจะผลิตหลักสูตรการเรียนการสอน ที่เสริมทักษะอนาคตให้กับผู้เรียนได้เช่นกัน…

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
AUTHOR

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์