เสนอตั้ง รพ.สนามในแคมป์ฯ แบ่งวัคซีนฉีดแรงงานข้ามชาติ ตัดวงจรระบาด

ภาคเอกชน รับ คลัสเตอร์แคมป์คนงาน กระทบธุรกิจอสังหาฯ ร่วมระดมสมองหาทางแก้ 3 ระยะ นักวิจัยฯ แนะ ออกระเบียบที่อยู่อาศัย 1 คนต่อ 10 ตร.ม. พัฒนาระบบสวัสดิการและการเข้าถึงการป้องกันโรค

โควิด-19 ลามถึง​ “แคมป์คนงานก่อสร้าง” หลัง กทม. เปิดเผยข้อมูลว่ากรุงเทพมหานคร มีแคมป์ฯ กระจายอยู่ทั่วทั้ง 50 เขต ซึ่งเมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 พบว่ามี 3 ไซต์งานก่อสร้าง ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 มากที่สุด คือ หลักสี่ 1 แห่ง และวัฒนา 2 แห่ง

The Active จัด เวทีสาธารณะ “รู้จัก – เข้าใจ – แก้ปัญหา คลัสเตอร์แคมป์คนงาน” ผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 โดย “ชูวงศ์ แสงคง” มูลนิธิรักษ์ไทย ระบุแคมป์คนงานส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ บางส่วนเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมายในช่วงโควิด-19 เมื่อเป็นแรงงานผิดกฎหมาย ก็กลัวที่จะเข้าสู่ระบบ ทำให้เข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากรัฐ และสิทธิต่าง ๆ ขณะที่ระบบความช่วยเหลือของไทยก็ยังไม่มีความชัดเจน การแยกกักแรงงานข้ามชาติที่ติดเชื้อยิ่งยุ่งยากกว่าแรงงานไทยหลายเท่า ทั้งยังมีอคติต่อแรงงานข้ามชาติ ยากที่จะเข้าไปอยู่ในสถานที่กักตัวในชุมชน ยังไม่นับรวมเด็กที่เกิดมาจากแรงงานเหล่านี้ที่ยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้ เพราะสำนักทะเบียนหยุดช่วงโควิด-19 ทำให้ยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ควรจะได้รับ เช่น เงินค่าคลอดบุตร ค่าเลี้ยงดู

ปัจจุบันมีแรงงานข้ามชาติ อยู่ทั้งหมด 4.5 ล้านคน โดย 1 ล้านคน อยู่ใน กทม. และ 7 แสนคนอยู่ในสมุทรสาคร จะเห็นได้ชัดว่าปัญหาแรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯ ใหญ่กว่าการระบาดระลอก 2

วอนรัฐต่อวีซ่า-ใบอนุญาตทำงานแรงงานข้ามชาติ

“Aye Min tun” ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ สะท้อนความกังวลของแรงงานข้ามชาติใน 3 ประเด็นคือ 1. เมื่อไม่ได้ทำงานก็ไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน 2. ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าโควิด-19 จะอยู่อีกนานแค่ไหน จึงอยากเดินทางกลับบ้าน 3. แรงงานที่ถูกกฎหมาย กำลังจะกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เพราะวีซ่ากำลังจะหมดอายุ โดยจะต้องใช้เงินต่อวีซ่า 3,800 บาทต่อปี

ด้าน “อํานาจ สังข์ศรีแก้ว” นักวิชาการแรงงาน กรมการจัดหางาน ยอมรับว่าตอนนี้มีการชะลอนำเข้าแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันก็พยายามบริหารจัดการแรงงานในประเทศให้อยู่ต่อได้ และทำงานต่อได้ ไม่หลุดออกจากระบบ ที่ผ่านมา มีมติ ครม. ประกาศผ่อนผันให้กลุ่มแรงงานข้ามชาติ ยังสามารถอยู่ในประเทศไทยต่อได้ 5-6 เดือน แต่ก็มีคนพร้อมจะหลุดออกจากระบบทุกวัน ขณะเดียวกันก็มีคนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายในช่วงโควิด-19 โดยภาพรวมแล้ว มติ ครม. ที่มีอยู่ทั้งหมดจะครอบคลุมสถานะของแรงงาน ไปอย่างน้อยถึงวันที่ 31 ก.ค. แต่การออกมติ ครม. ฝ่ายเดียวไม่สามารถทำได้ ต้องปรึกษาประเทศต้นทางก่อนที่จะมีมติ ครม. ออกมา ว่าจะให้พลเมืองของตนอาศัยอยู่ต่อหรือไม่ จึงเป็นที่มาของ มติ ครม. หลายครั้ง และมีต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่รู้ว่าการระบาดจะจบลงเมื่อไร

ยันแรงงานข้ามชาติรักษาโควิด-19 ฟรีทุกโรงพยาบาล

ขณะที่ “นพ.วลัญช์ชัย จึงสำราญพงศ์ศ” รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ สํานักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่ากลุ่มแรงงานข้ามชาติจะได้รับการคุ้มครองสุขภาพใน 2 ประเด็นคือ 1. อยู่ในระบบประกันสังคม และ 2. ซื้อประกันสุขภาพเอาไว้ ทั้งนี้ มีกว่า 9 แสนคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ๆ แต่ยืนยันว่าสามารถเข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ได้ทุกโรงพยาบาลของรัฐ โดยกระทรวงสาธารณสุข จะเบิกจ่ายงบประมาณกลางเพื่อให้การรักษาเท่ากับคนไทย

กรณีนี้ “Aye Min tun” ผู้แทนแรงงานข้ามชาติ ระบุว่าได้รับโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือจากแรงงานข้ามชาติ 3 คน ที่เข้ารับการรักษาโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลรัฐแห่งหนึ่งเป็นเวลา 14 วัน โดยถูกเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลรวมทั้ง 3 คน เกือบ 2 แสนบาท แต่ล่าสุดทางโรงพยาบาลไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลแล้ว “นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท” ผอ.สํานักวิจัยสังคมและสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่า ปัญหาการเบิกจ่ายในส่วนของแรงงานข้ามชาติทั้งการตรวจและการรักษาเป็นนโยบายที่ต้องสื่อสารให้ตรงกัน เพื่อให้ระดับปฏิบัติการไม่เกิดให้เกิดความสับสน และมั่นใจที่จะให้การรักษา เพื่อควบคุมโรค

เสนอ 3 แนวทาง ระยะสั้น-กลาง-ยาว แก้ระบาดแคมป์คนงาน

“ศยามล เจริญรัตน์” สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอแนวทางการจัดการปัญหา กรณีคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้าง 3 ระยะ คือ ระยะสั้น การควบคุมโรคต้องประสานงานบริษัทรับเหมา ตั้งกลไกความร่วมมือ คัดกรองแยกผู้ป่วยออกจากผู้ไม่ป่วย ส่งต่อ แยกกักผู้ป่วย และผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หาที่พักและอาหารในพื้นที่ อาจมีการตั้งโรงพยาบาลสนามในแคมป์ก่อสร้าง การกระจายวัคซีนต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ให้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่กำลังเป็นคลัสเตอร์ระบาด

ระยะกลาง สร้างงานจากงานเดิม มีการจ่ายค่าจ้างและค่าครองชีพอื่น เช่น อาหาร ที่อยู่อาศัย พัฒนากลไกการทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก นำเข้าสู่ระบบลงทะเบียน ต่อใบอนุญาตทำงาน และ ระยะยาว พัฒนาที่อยู่อาศัย ระบบลงทะเบียนระบุนายจ้างและที่พัก ออกระเบียบที่อยู่อาศัย 1 คนต่อ 10 ตารางเมตร พัฒนาระบบสวัสดิการและการเข้าถึง การป้องกันโรค สร้างเสริมสุขภาพ วางแผนครอบครัว สื่อสารความรู้เรื่องแรงงานข้ามชาติ

สอดคล้องกับ “นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท” ระบุว่า นายจ้าง ชุมชน ต้องร่วมคิดและดูแลพัฒนาที่อยู่อาศัยของแรงงานข้ามชาติในแคมป์คนงานก่อสร้าง การเข้าถึงอาหารในภาวะวิกฤตและสถานะทางกฎหมาย รวมไปถึงผู้ติดตาม เพราะความมั่นคงทางอาชีพของแรงงานข้ามชาติ อาจเรียกว่าเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของไทยไปด้วย เพราะอย่างน้อยก็ทำให้ภาคธุรกิจก่อสร้างเดินหน้า เปิดกิจการไปได้ช่วงนี้ โดยการแก้ปัญหาโควิด 19 แพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้าง อาจใช้ Bubble and Seal เช่นเดียวกับสมุทรสาคร แม้จะอยู่ในบริบทที่ต่างกัน คือสมุทรสาครเป็นโรงงานที่สามารถทำงานและกักตัวไปได้พร้อมกัน แต่บางแคมป์คนงานก็อยู่คนละแห่งกับสถานที่ก่อสร้าง แต่ก็ต้องพยายามประยุกต์ใช้ Bubble and Seal ทำงานไปด้วยรักษาตัวเองไปด้วยป้องกันไม่ให้โรคแพร่กระจายไปด้วยได้พร้อมกัน

ผู้ประกอบการ รับ คลัสเตอร์แคมป์คนงาน กระทบธุรกิจอสังหาฯ

“อดิเรก แสงใสแก้ว” เลขาธิการสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่าเตรียมรับมือกับการแพร่ระบาดในคลัสเตอร์คนงานมาตั้งแต่ต้นปี 2563 ว่าจะต้องเกิดขึ้นแน่นอน โดยการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน คอนโดมิเนียม และบ้านจัดสรรไตรมาส 3 เมื่อปี 2563 เกิดภาวะแรงงานขาดแคลน การต่อวีซ่าให้แรงงานที่ยังอยู่อาศัยในประเทศไทยจะทำให้ภาคธุรกิจก่อสร้างเดินหน้าต่อได้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจับคู่กับโรงพยาบาลสนาม เพื่อให้การส่งต่อผู้ป่วยทำได้ดีมากขึ้น

“ชูวงศ์ แสงคง” มูลนิธิรักษ์ไทย เสนอว่าควรมีการผ่อนจ่ายการซื้อประกันสุขภาพและประกันสุขภาพควรไม่ควรต้องผูกติดอยู่กับสถานะทางกฎหมายขณะเดียวกันตอนนี้ก็ต้องการอาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว หรือ อสต. เป็นจำนวนมาก เพื่อเชื่อมต่อระหว่างแรงงานข้ามชาติกับรัฐ และการเข้าสู่ระบบสาธารณสุข

“สุทธิพงษ์ วสุโสภาพล” รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เห็นว่าช่วงเวลานี้ต้องผ่อนปรนเพื่อการควบคุมโรค การเข้าสู่ระบบคัดกรองเพื่อการควบคุมโรคโดยเร็วที่สุด โดยต้องครอบคลุม 4 อ. คือ 1. อาหาร 2. ที่อยู่อาศัย 3. อาการของโรคที่ต้องเข้ารับการรักษา และ 4. อาชีพรายได้ โดยในระยะกลาง ระยะยาวคงต้องพูดถึงการให้วัคซีนกับแรงงานข้ามชาติ การฟื้นฟูคุณภาพชีวิต และระบบลงทะเบียนเพื่อรองรับแรงงานต่าง ๆ การจัดระบบฐานข้อมูลให้เพื่อกำหนดนโยบาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS