จาก ‘สมุดปกขาว’ สู่การติดตามนโยบาย ‘ชัชชาติ’

1 เดือนของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.

22 พฤษภาคม 2565 วาระเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในรอบ 9 ปี ปลุกความหวัง ที่จะเห็นกรุงเทพฯ ดีขึ้นกว่าเดิม ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีภาคประชาชนกว่า 80 องค์กร จัดตั้ง เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” พร้อมเปิดเวทีระดมข้อเสนอเชิงนโยบายภาคประชาชน รับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. รวม 6 เวที คือ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วม

เสียงสะท้อนความต้องการ และข้อเสนอ ถูกรวบรวม จัดทำเป็น “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน”  มอบให้กับ ‘ชัชชาติ สิทธิพันธุ์’ หลังรับตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนานโยบายสาธารณะที่เป็นประโยชน์ตรงกับความต้องการของประชาชน

ครบรอบ 1 เดือน ของการดำรงตำแหน่ง เรานัดพบกันอีกครั้ง ผ่านเวทีประชุมเชิงปฏิบัติการ “จากสมุดปกขาว สู่การติดตามนโยบายผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร”

การแก้ปัญหาเรื่องหายเร่แผงลอย

พูลทรัพย์ สวนเมือง ตุลาพันธ์ ผอ.มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ระบุว่า หาบเร่แผงลอยถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของผู้ว่าฯ​ เมื่อได้รับตำแหน่งก็ได้มีการประสานงานคุยกันว่า จะขยับอย่างไร วัตถุประสงค์หลักคือต้องการให้หาบเร่กลับมาทำงานได้ อยู่ร่วมกับคนอื่นได้ เพื่อสร้างโอกาสในการทำงาน ช่วยกระจายสินค้า ดูแลปากท้อง และสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในเมือง ซึ่งได้มีการพูดคุยหารือกับทีมผู้ว่าฯ ถึงการดำเนินงานต่อ

“ประเด็นนี้มีความสัมพันกับคนเยอะมาก เพราะมีหาบเร่แผงลอยทั้งหมดกว่าสองแสนราย ค้าขายสร้างมูลมูลค่าทางการเงิน กว่าแสนล้านบาทต่อปี ต้องมีการติดตามว่าแต่ละเขตทำอะไร พื้นที่นู้นนี้ทำอะไร อะไรที่เป็นประเด็นปัญหา อะไรที่จะต้องไปต่อ ทีมผู้ว่าฯ เสนอว่าให้พวกเขาเข้าไปคุยในเชิงว่าถ้าต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบ ทั้งเรื่องกฎหมายที่เป็นเรื่องยากต่อการแก้ไข เราก็ให้ทีมผู้ว่าฯ​ กทม. เริ่มทบทวนเรื่องพวกนี้”

สำหรับการแก้ปัญหาเรื่องหายเร่แผงลอย สอดรับนโยบาย กทม. ด้านเศรษฐกิจดี โครงสร้างดี เช่น ข้อ 38 ส่งเสริมผู้ค้าแผงลอยมีความมั่นคงในการประกอบอาชีพ ข้อ 39 การมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ประชาชน เอกชน ช่วยดูแลพื้นที่การค้า ข้อ 40 ทำฐานข้อมูลผู้ค้าแผงลอย พร้อมติดตามการดำเนินการ

พื้นที่สร้างสรรค์ ของคนรุ่นใหม่

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ เครือข่ายการศึกษาทางเลือก กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายทำงานกับเด็กและเยาวชนคนรุ่นใหม่ สร้างพื้นที่สร้างสรรค์ และพื้นที่เรียนรู้ กระบวนการทำงานที่ผ่านมา พยายามทำให้เกิดการสืบค้นเมืองเพื่อกระบวนการเรียนรู้ของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ ดังนั้นก่อนการพัฒนาข้อเสนอถึงผู้ว่าฯ จึงได้มีการพาเด็กๆ ไปสำรวจเมือง และได้พบปัญหาต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงตัวเขา เข้ากับพื้นที่ของเมือง 

“ซึ่งการเจอคนที่แตกต่างหลากหลาย การสร้างกระบวนการเรียนรู้ ทำให้มีข้อเสนอตกผลึก คือ เรื่องการมีส่วนร่วม เพราะอำนาจของการมีส่วนร่วมคืออำนาจของทุกคน ดังนั้นจะทำยังไงให้ประชาชนได้มีพื้นที่ส่งเสียงพูด ยิ่งเราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างเท่าไหร่ เห็นพื้นที่ชุมชนเท่าไหร่ ยิ่งเห็นว่าการกระจายอำนาจ เป็นส่วนสำคัญของการพัฒนาเมืองให้มันลงไปในพื้นที่หรือท้องถิ่นจริง ๆ”

อินทิรา ระบุเพิ่มเติมว่า หลังจากมีผู้ว่าฯ คนใหม่ คนกรุงเทพฯ ก็มีความหวังขึ้นมา ผ่านกิจกรรมการแสดงดนตรี ศิลปะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมือง แต่ถ้ามองในระยะยาว เชื่อว่าต้องทำอะไรมากกว่าดนตรีหรือศิลปะ เพราะเมืองมีปัญหาเชิงโครงสร้างที่ลึกกว่านั้นและอาจมีคนที่เข้าไม่ถึงพื้นที่กิจกรรมแบบนี้ 

“ที่ผ่านมากรุงเทพฯ ทำงานกับฐานข้อมูลน้อยมาก หรือทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เด็กรุ่นใหม่พบว่าทำไมไม่ใช่พื้นที่แพลตฟอร์มดิจิทัล ขับเคลื่อนเมือง ทำไมเราไม่สามารถทำให้บิ๊กดาต้า เป็นกลไกที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงได้ นี่เป็นข้อเสนอของเด็กเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราจึงอยากให้มีพื้นที่สร้างสรรค์ที่ไม่ได้เป็นแค่ตัวกิจกรรม แต่คือกระบวนการเรียนรู้  ของเมืองตลอดชีวิต กระบวนการแบบนี้พาเด็ก ๆ ไปทำงานกับพื้นที่เมืองต่อ”

อินทิรา ยกตัวอย่างปัญหาเชิงระบบราชการว่า แม้บางนโยบายผู้ว่าฯ จะสอดรับกับข้อเสนอของประชาชน แต่ก็ยังมีอุปสรรคจากในส่วนพื้นที่ อย่างสำนักงานเช่น เช่น การทำงานกับพื้นที่เรียนรู้ ชุมชนวัดดวงแข ซึ่งมีปัญหาการไล่รื้อโดยสำนักงานเขตพื้นที่ ทำให้เห็นว่า กลไกของผู้ว่าฯ และสำนักงานเขตไม่เชื่อมต่อกัน จึงหวังว่าจะมีหนทางที่จะเข้าไปสู่การเชื่อมต่อ ตั้งแต่ฝ่ายนโยบายถึงฝ่ายปฏิบัติการ

สำหรับพื้นที่สร้างสรรค์ สอดรับนโยบาย กทม. ด้านสร้างสรรค์ดี เศรษฐกิจดี เรียนดี เช่น ข้อ 2 กรุงเทพฯ พื้นที่แห่งดนตรีและศิลปะการแสดง ข้อ 66 เปิดโรงเรียนวันหยุดเป็นพื้นที่กิจกรรม พื้นที่การเรียนรู้สำหรับนักเรียนและชุมชน ข้อ 125 จัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้งทุกมุมเมืองเป็นพื้นที่ศิลปะ

พื้นที่สีเขียว 

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้ง กลุ่ม We Park และตัวแทนเครือข่ายต้นไม้ในเมือง กล่าวว่า การเดินหน้านโยบายสวน 15 นาที การเปลี่ยนพื้นที่ว่างของเอกชนเป็นสวนสาธารณะ และยุทธศาสตร์การปลูกต้นไม้ล้านต้น เบื้องต้นมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายบิ๊กทรี และสมาคมภูมิสถาปนิคแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“ปัจจุบันมีข้อเสนอเชิงประจักษ์ที่สามารถขับเคลื่อนได้ แต่สิ่งที่ยังเป็นช่องว่างคือ การวางระบบและกลไกในเชิงระยะยาว ถ้ามันไม่จำเป็นต้องพึ่งกลไกรัฐอย่างเดียว และเรารู้กลไกเชิงระบบขาดอะไร ถ้าคิดตรงนี้ไปด้วยกันได้ จะทำให้เห็นว่า ภาระไม่ได้อยู่แค่กรุงเทพมหานครอย่าง และเปลี่ยนภาระเป็นโอกาสได้โดยให้เอกชนชุมชนทำงานสร้างประโยชน์ร่วมกัน แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือระเบียบของภาษีที่ดิน หรือกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องยังต้องจัดการ”

ยศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ท้าทายคือเรื่องของการสร้างเข้าใจร่วมกัน ระหว่างสังคม บุคลากร กทม. ให้รับทราบถึงกระบวนการสร้างพื้นที่สีเขียว และการทำงานร่วมกัน เพราะไม่ใช่การสั่งการอย่างเดียวแล้วทุกอย่างจะเปลี่ยน ดังนั้นกระบวนการทำงานร่วมกันทุกฝ่ายจึงสำคัญ เพราะถ้าทำงานโดยไม่เข้าใจ ก็จะยากแต่ผลลัพธ์ที่ยั่งยืน หรือควรจะเป็น

ข้อเสนอเรื่อง พื้นที่สีเขียว สอดรับนโยบาย กทม. ด้านสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพดี เช่น ข้อ 49 ปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง ข้อ 102 จัดหารุกขกรมืออาชีพดูแลต้นไม้ประจำเขต และ ข้อ 108 สวน 15 นาทีทั่วกรุง

ระบบปฏิรูปสุขภาพ

นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ รอง ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า นับตั้งแต่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับตำแหน่ง ก็มีความเคลื่อนไหวตั้งแต่วันแรกๆ ว่าจะมีการจัดการเครือข่ายและการวางแผน เราต้องการพัฒนาระบบปฐมภูมิ พัฒนาคุณภาพ ศึกษาเรื่องโรงพยาบาล 10-90 เตียง พัฒนาระบบบริการระยะกลาง สำหรับคนที่ต้องการฟื้นฟู ติดบ้านติดเตียง และแซนบ็อกซ์พื้นที่ดูแลสุขภาพ

“บริการปฐมภูมิ ทำให้เกิดศูนย์บริการสาธารณสุขได้มากขึ้น หากมีระบบปฐมภูมิดีก็ไม่ต้องไปโรงพยาบาลใหญ่ เข้าถึงการรักษาได้ง่ายๆ ใกล้บ้าน ความหวังในการพัฒนาระบบปฐมภูมิจะเกิดได้ต้องหาภาคีช่วยเอกชน ทำยังไงให้เขาอยากมาร่วมให้บริหารด้วย ไม่ง่ายเพราะต้องอาศัยงบประมาณ”

นพ.วิชช์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ระบบใน กทม. เองก็มีแรงเฉื่อย จำเป็นต้องมีผู้จัดการระบบบริการสุขภาพเชิงพื้นที่ ให้สามารถทำให้คนเข้าถึงระบบบริการได้ มีการเชื่อมต่อร้านยา คลินิก และหน่วยบริการต่างๆ ให้คนในเขตนั้นๆ เข้าถึงบริการได้สะดวก

ข้อเสนอเรื่อง ระบบสาธารณสุข สอดรับนโยบาย กทม. ด้านสุขภาพดี เช่น ข้อ 152 ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มการรักษา เพิ่มเวลา เพิ่มทรัพยากร ข้อ 156 เร่งรัดผลักดันการก่อสร้าง และศึกษาการสร้างโรงพยาบาลแห่งใหม่ให้ครอบคลุม ข้อ 175 การรักษาและส่งตัวผู้ป่วยไร้รอยต่อ ด้วยการบูรณาการข้อมูล

ข้อมูลเปิด ยกระดับคุณภาพชีวิต

สุนิตย์ เชรษฐา สถาบัน Change Fusion เล่าว่า เดิมทีที่ลงความคิดเห็นร่วมกันกับทีมผู้ว่าฯ เป็นเรื่อง การจัดการข้อมูลเปิดสาธารณะ ให้ประชาชนได้เห็นข้อมูลของรัฐ เช่นที่มีการนำเสนอออกมาแล้วคือ การจัดสรรงบประมาณของแต่ละสำนักฯ แต่ในอนาคตควรจะเน้นว่า ข้อมูลที่จะเปิด เป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อแก้ปัญหาอะไร จะทำให้ประชาชนจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร ก็อาจจะมีเรื่องการเปิดการมีส่วนร่วมเชิงนโยบายร่วมด้วย พร้อมพิจารณาว่าเมื่อเปิดข้อมูลส่วนต่างๆ ออกมาแล้ว (ทั้ง open data open policy open space open contract) มีเรื่องไหนที่เปลี่ยนคุณภาพชีวิตได้ทันที เช่น เรื่องไฟไหม้ น้ำท่วม ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ ในพื้นที่ซ้ำๆ เพื่อชวนเครือข่ายที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่แล้วมาร่วมแก้ปัญหาด้วย

“เกือบทุกนโยบายที่ดูผ่านสมุดปกขาว ที่ทำให้ทุกคนมีความหวัง หวังแล้วจะต้องจินตนาการไปอีก 5 ปี 10 ปี อยากเห็นอะไร และจะทำงานกันอย่างไร อย่างน้อยที่สุดคือทำให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

สุนิตย์ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ GovTech คือเทคโนโลยีที่ภาครัฐใช้ในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ของตัวเองให้เกิดประโยชน์ที่สุด แต่ CivilTech คือเทคโนโลยีที่ประชาสังคมใช้ร่วมมือกับภาครัฐ ในการแก้ปัญหาของตัวเอง ควรมองเรื่องประชาชนหรือเครือข่ายเข้าไปช่วยขับเคลื่อน จัดการระบบได้มากน้อยแค่ไหน

“อาจจะเริ่มจากประเด็นเรื่องพื้นที่สีเขียว คำถามคือใครเป็นผู้มีส่วนร่วมขับเคลื่อนอยู่บ้าง ตอนนั้นเป็นเรื่องข้อเสนอ ตอนนี้เป็นเรื่องความร่วมมือว่าจะทำงานร่วมกันอย่างไร แต่ละคนมีกระบวนการอะไร ที่จะเอามาทำร่วมกันได้ ถ้าตกลงกันว่าจะทำฐานข้อมูลเดียวกันก็จะเชื่อมโยงกันได้หมด”

ข้อเสนอเรื่องข้อมูลเปิดสาธารณะ สอดรับนโยบาย กทม. ด้านบริหารจัดการดี เช่น ข้อ 45 พัฒนาแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับนโยบาย ข้อ 51 เปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. (Open Bangkok) ข้อ 54 วิเคราะห์ข้อมูลเมืองต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหา

น้ำท่วม กรุงเทพฯ

รศ.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา สาขาวิศวกรรมปฐพี ม.เกษตรศาสตร์ ในฐานะตัวแทนกลุ่มสมาคมวิศวกรรมสถาปนิกและวิศวกรรมด้านน้ำ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วมมีเส้นเลือดหลักและเส้นเลือดฝอย เส้นเลือดฝอยคือท่อต่าง ๆ ตามถนน เริ่มแรกมีการเดินหน้าเรื่องนโยบายการจัดการเรื่องท่อโดยผู้ต้องขัง นโยบายให้แต่ละบ้านติดถังกรองไขมัน แต่นโยบายที่เกี่ยวกับเส้นเลือดใหญ่ยังไม่เห็นความคืบหน้าที่ชัดเจน

“ยังมองอยู่ว่าเรื่องของเส้นเลือดใหญ่ยังไม่เห็นการขับเคลื่อนที่ชัดเจน เช่น เรื่องคลอง ซึ่งกระทบกับเรื่องที่อยู่อาศัย อุโมงค์ระบายน้ำที่ถล่มยังไม่เห็นการแก้ไข เรื่องแก้มลิงยังเป็นปัญหาอยู่ บ้านจัดสรรยังเป็นปัญหามาก ก็เฝ้าดูเป็นกำลังใจ และพร้อมสนับสนุน”

ข้อเสนอเรื่องการแก้ปัญหาเรื่องน้ำท่วม สอดรับนโยบาย กทม. ด้านโครงสร้างดี เช่น ข้อ 166 ลดจุดเสี่ยง จุดเฝ้าระวังน้ำท่วมทันที ข้อ 168 ขุดลอกและทำความสะอาดท่อระบายน้ำ 3,000 กม. ข้อ 177 เพิ่มแก้มลิงธรรมชาติ พื้นที่รับน้ำให้กรุงเทพฯ

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
GRAPHIC DESIGNER

กษิพัฒน์ ลัดดามณีโรจน์

ผู้รู้ | ผู้ตื่น | ผู้แก้งาน ...กราบบบส์