ทำความรู้จัก “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ”

พลังสังคมที่ทำให้การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้เปลี่ยนไป

นับเป็นอีกปรากฏการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สำหรับการออกมารวมตัวแสดงพลังของประชาชนและภาคประชาสังคมในนาม ‘เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ’  ที่เปิดตัวในงาน “Bangkok Active : ฟังเสียงกรุงเทพฯ” เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 2565 ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ไม่บ่อยครั้งที่เราจะได้เห็นการรวมตัวของภาคีเครือข่ายกว่า 80 องค์กร ที่มีความหลากหลาย มีประสบการณ์และความสามารถ เป็นตัวจริงเสียงจริงอยู่ในแวดวงต่าง ๆ ออกมาผนึกกำลังเคลื่อนไหวในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไปพร้อม ๆ กัน

The Active ชวนทำความรู้จักกับ ‘เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ’ ถึงที่มาที่ไป และกระบวนการคิด วิธีการที่เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย สร้างพลังทางสังคม ร่วมเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของทุกคนได้อย่างมีคุณภาพ

ปลุกกรุงเทพฯ

ทำไมต้อง “ปลุก” กรุงเทพฯ  ?  

ก่อนจะไปถึงคำถามว่าทำไมต้อง “ปลุก” กรุงเทพฯ อาจต้องย้อนกลับไปดูที่มาที่ไปของการรวมตัวครั้งนี้ว่ามาจากที่ทุกคนมองเห็น “โอกาส”  ในช่วงการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ที่กำลังจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. นี้  ที่ทุกคนกำลังกลับมา “ตื่นตัว” หลังจากห่างหายการเลือกตั้งเมืองหลวงแห่งนี้ไปเกือบ 9 ปี

ความตื่นตัวนี้จึงน่าจะแปรเปลี่ยนเป็น “พลัง” ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายจากประชาชน ส่งไปถึงบรรดาผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ไม่ใช่เป็นแค่ฝ่ายรอรับนโยบายจากผู้สมัครเพียงฝ่ายเดียว

จากจุดเริ่มต้นที่เป็นการพูดคุยของกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ เน้นไปที่แนวคิดเรื่องการ “ปฏิรูประบบสุขภาพ” ในช่วงที่เมืองหลวงกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตโควิด-19 นำไปสู่การมองเห็นปัญหาอุปสรรคอื่น ๆ ในอีกหลายประเด็น ที่ควรจะหยิบยกไปสู่การแก้ไขไปพร้อมกัน

ทำให้ภาคีเครือข่ายในวันนั้นขยายตัวมากขึ้นกว่าเรื่อง “สุขภาพ” ก้าวข้ามไปสู่มิติปัญหาที่หลากหลาย โดยเน้นไปที่การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง เน้นการทำงาน “เชิงข้อมูล” โดยมี Thai PBS  ร่วมเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนหลายกลุ่มเข้ามาร่วมพูดคุย ร่วมสะท้อนปัญหา ตลอดจนแนวทางการแก้ไข และข้อเสนอแนะ ประกอบกับการจัดทำ Infographic Series จากชุดข้อมูล หรือ DATA SET ทำให้เห็นฯภาพปัญหาและทางออกอย่างเป็นระบบ

สอดรับกับ  ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ที่เผยแพร่รายงาน “การพัฒนาแพลตฟอร์มสื่อสารข้อมูลการเลือกตั้งท้องถิ่นในประเทศไทย (2563) บนเว็บไซต์: กรณีศึกษาและการประยุกต์ใช้กับการเลือกตั้งท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร” ภายใต้โครงการจับตาสถานการณ์และความรู้ด้านการพัฒนาประชาธิปไตย สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า นำมาสู่การพูดคุยในมิติปัญหาที่เปิดกว้างและหลากหลาย โดยมีแนวร่วมที่สนใจเข้ามาพูดคุยเป็นจำนวนมาก

ย้อนกลับมาสู่คำตอบที่ว่า ทำไมต้อง “ปลุก” กรุงเทพฯ ?

คำตอบก็คือ ประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกัน คือมองว่าเลือกตั้งครั้งนี้ เป็น “หน้าต่างแห่งโอกาส” ที่จะปลุกให้คนกรุงเทพฯ  ตื่นตัวในสิทธิ หน้าที่ และบทบาท ของตัวเอง

ไม่ใช่แค่ในฐานะ  Voter  ที่จะมีสิทธิมีเสียงเพียงแค่ไม่กี่นาทีในการหย่อนบัตรลงคะแนนเท่านั้น แต่ต้องก้าวข้ามไปสู่การเป็น Active Citizen ที่ไม่ว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไปนานแค่ไหน เสียงของพวกเขายังคงมีพลัง สามารถสะท้อนความคิด ข้อเสนอแนะ รวมทั้ง “มีส่วนร่วม” ในการกำหนดทิศทางนโยบาย และการบริหารงานของกรุงเทพมหานครต่อไป

ปลุกกรุงเทพฯ

จุดเริ่มต้นสู่การรวมตัวมากกว่า 80 องค์กร    

จากจุดเริ่มต้น ที่เริ่มพูดคุยกัน เรื่องปฏิรูปสุขภาพ และเทศกาลพลเมืองร่วมเปลี่ยนแปลง ซึ่ง 24 องค์กรรวมตัวกันที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ได้ขยายประเด็นสู่การพูดคุยหาข้อเสนอแนะและนโยบายอื่น ๆ อีกมากมายทั้ง ศิลปะ สิ่งแวดล้อม การจัดการน้ำ ฝุ่น ขยะ พื้นที่สาธารณะสีเขียว เทคโนโลยี การศึกษา ผังเมือง การแก้ปัญหาความยากจน ที่อยู่อาศัย เด็กและเยาวชน  กลุ่มคนเปราะบาง อาหารปลอดภัย ฯลฯ 

ด้วยนิยามของคำว่า “เพื่อนใหม่ที่คิดตรงกัน” ถักทอให้วงประชุมเล็ก ๆ ของ คน 2-3 กลุ่ม เพิ่มจำนวนแบบก้าวกระโดด ดึงภาคีต่าง ๆ ในสังคมเข้าร่วมเป็นเครือข่ายการทำงานเฉพาะกิจครั้งนี้ ซึ่งเริ่มประชุมเพื่อระดมสมอง วางแนวทางการทำงานอย่างเป็นระบบในวันที่ 22 มี.ค. 2565 โดยมีองค์กรต่าง ๆ 76 องค์กรร่วมประชุม จนนำมาสู่การเปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ซึ่งมี 84 องค์กร มาร่วมมือกันทำงานอย่างเป็นระบบ ซึ่งประกอบด้วย

1. หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)2. สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมและสิ่งเเวดล้อม (SCONTE) 3. สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ 4. Docomomo Thai 5. กลุ่ม We Park 6. ธรรมธุรกิจ วิสาหกิจเพื่อสังคม 7. ชุมชนพูนสุข Farm Sharing Market 8. กลุ่ม Urban Studies Lab 9. สมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง 10. มูลนิธิรักษ์ไม้ใหญ่ (กลุ่มบิ๊กทรี) 11. สมาคมรุกขกรรมไทย 12. กลุ่มยังธน 13. กลุ่ม Urban Ally 14. กลุ่มบึงรับน้ํา 15. เครือข่ายชุมชนปกป้องคุณภาพชีวิตคนเมือง 16. ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC) 17. คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 18. หลักสูตรสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นและสภาพแวดล้อมสรรค์สร้าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร19. คณะสถาปัตยกรรมและการออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

20. สถาบันอาศรมศิลป์ 21. โรงเรียนรุ่งอรุณ 22. โรงเรียนรุ่งอรุณนานาชาติ 23. โครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ: HITAP 24. โครงการพัฒนาเจ้าพระยาเดลต้า 2040 25. แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม แผนงาน การบริหารจัดการน้ํา สภาวิจัยแห่งชาติ 26. คณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ํา วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ 27. สมาคมวิศวกรที่ปรึกษาแห่งประเทศไทย (วปท.) 28. เครือข่ายพัฒนาความเข้มแข็งต่อภัยพิบัติไทย (TNDR) 29. สถาบันพระปกเกล้า 30. เครือข่ายสลัมสี่ภาค 31. มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย (มพศ.) 32. สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) 33. มูลนิธิฟรีดริช เนามัน ประเทศไทย (FNF) 34. สํานักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) 35. สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร 36. มูลนิธิชีววิถี (ไบโอไทย) 37. สมาคมส่งเสริมสถานภาพสตรีฯ โดย สถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา (GDRI) 38. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (We Move) 39. กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) 40. สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย – TUDA

41. มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-Net) 42. RTUS-Bangkok ริทัศน์บางกอก 43. สมาคมคนรุ่นใหม่กับนวัตกรรมทางสังคม (SYSI) 44. บางกอกนี้…ดีจัง 45. ตัวแทนคนรุ่นใหม่นางเลิ้ง Comcovid 46. ตัวแทนคนรุ่นใหม่บางลําพู เสน่ห์บางลําพู 47. เครือข่ายแรงงาน พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย 48. สถาบันสื่อเด็กและเยาวชน (สสย.) 49. สํานักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 50. สภาองค์กรชุมชน 51. ThisAble.me 52. ภาคีเครือข่ายขนส่งมวลชนทุกคนต้องขึ้นได้ | T4A (Transportation For All) 53. ศูนย์การดํารงชีวิตอิสระคนพิการพุทธมณฑล 54. สภาผู้ชมผู้ฟังไทยพีบีเอส กรุงเทพฯ และปริมณฑล 55. มูลนิธิอิสรชน 56. ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 57. โครงการจุฬาอารี (โครงการบูรณาการสหศาสตร์เพื่อรองรับสังคมสูงวัย) 58. เครือข่ายเด็กเท่ากัน 59. วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต 60. เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ

61. เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย 62. กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ 63. องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) 64. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย 65. อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ม.ธรรมศาสตร์ 66. โครงการสวนผักคนเมือง 67. มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) 68. มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล (มญช.) 69. กลุ่มนิเวศสุนทรีย์ 70. กลุ่มดินสอสี 71. มูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ 72. มูลนิธิเพื่อเมืองและชุมชนยั่งยืน 73. ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย 74. The Centre for Humanitarian Dialogue (HD) 75. ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ Thailand Center of Excellence for Life Sciences (TCELS) 76. สภาเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร 77. องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (Thai PBS) 78. The Active 79. Decode 80. C site 81. The Happening 82. The Matter 83. WeVis 84. CITY CRACKER

พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล จาก มูลนิธิฟรีดริช เนามัน มองว่า การรวมตัวครั้งนี้ถือเป็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยประชาชนที่สนใจสามารถเข้ามาร่วมกับ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ต่อเนื่องซึ่งจากที่ได้เปิดตัวไปแล้วจะได้เห็นหน้าตาของแต่ละกลุ่มว่ามีใครสนใจทำเรื่องอะไรอยู่บ้าง คนไหนที่สนใจจะเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายก็สามารถเข้ามาร่วมกันแสดงพลังที่จะพัฒนาไปสู่ข้อเสนอที่เป็นนโยบายจากภาคประชาชนต่อไป

“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์สำคัญ เราเคยพูดถึงการบูรณาการความร่วมมือของเครือข่ายสำคัญ แต่ก็ไม่เคยเกิดขึ้น จนวันนี้เรารู้สึกตื่นเต้นไปกับการรวมตัวกันครั้งแรกที่ได้เห็น big name ตัวจริงเสียงจริง มารวมตัวอยู่ในห้องเดียว ที่น่าสนใจคือข้อเสนอหรือคำถามสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นคืออะไร เมืองน่าอยู่สำหรับเราอาจไม่เหมือนกับคนอื่น ให้เราลองตั้งคำถามไปพร้อมกันและใครที่สนใจก็เข้ามาร่วมเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯไปด้วยกัน”

พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล มูลนิธิฟรีดริช เนามัน
ปลุกกรุงเทพฯ

การมีส่วนร่วมจริง ๆ ที่ไม่ใช่แค่พิธีกรรม

จากมุมมองของ ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายรูปแบบการทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหากรุงเทพฯ ในงานเปิดตัวเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ว่า ควรให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในทุกกระบวนการ และทุกแพลตฟอร์ม ในขณะเดียวกันระบบกำกับติดตามและประเมินผล ต้องสามารถเข้าถึงได้และเห็นความก้าวหน้าของแต่ละเรื่อง โดยที่ผ่านมาไม่เคยถูกทำให้เห็นว่าปัญหาถูกแก้ไขไปไหนแล้ว ติดขัดตรงไหน และบางเรื่องได้ถูกนำมากล่าวอ้างว่าทำไม่ได้ ทั้งที่อาจจะถูกแก้ได้ด้วยเครือข่ายภาคประชาชนร่วมมือกัน

สิ่งที่สำคัญคือกลไกการมีส่วนร่วมที่พูดถึงนี้ไม่ใช่แค่เข้าร่วม หรือ Participation  แต่ต้องเป็นแบบการมีส่วนร่วม หรือ Engagement ถึงจะเป็นการมีส่วนร่วมที่แท้จริง

จุดเด่นในการทำงานของ “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ” ในครั้งนี้คือกลไกเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแท้จริง ตั้งแต่การระดมความคิด ข้อเสนอแนะ อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ก่อนเปิดตัว และหลังเปิดตัวก็จะจัดเวทีรับฟังเสียงสะท้อนในแต่ละหัวข้อ 6 กลุ่มเพื่อสรุปเป็นคำถามและข้อเสนอส่งถึงผู้สมัครในเวทีดีเบตใหญ่ วันที่ 16 พ.ค. 2565

สำหรับ 6 กลุ่มที่จัดเวทีรับฟังเสียงสะท้อน เพื่อให้ครอบคลุมในแต่ละมิติปัญหาของกรุงเทพฯ ซึ่งมีรายละเอียดคือ

  1. “เมืองน่าอยู่” เรื่องการจัดการน้ำท่วม น้ำเสียที่ดี ไร้ฝุ่นควันพิษ และขยะ
  2. “เมืองปลอดภัย” ครอบครัวปลอดภัย สัญจรปลอดภัย ประชาชนเข้าถึงพื้นที่อาหาร
  3. “เมืองทันสมัย” การเดินทางเชื่อมต่อทางหลักและรอง ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล และเป็นเมืองแบ่งปันเทคโนโลยี
  4. “เมืองเป็นธรรม” เมืองของทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย มีสิทธิในการอยู่ร่วมกันในเมืองอย่างเป็นธรรม
  5. “เมืองสร้างสรรค์ เมืองในฝันของคนรุ่นใหม่” เพิ่มพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สีเขียว พื้นที่ศิลปะ เพิ่มโอกาสให้ความคิดสร้างสรรค์กับทุกกลุ่ม
  6. “เมืองมีส่วนร่วม” มีธรรมมาภิบาล เพิ่มอำนาจประชาชน ชุมชนร่วมพัฒนาเมือง

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. กล่าวว่า การเปิดพื้นที่ให้แต่ละกลุ่มได้รวมตัวพูดคุยเพื่อป็นเสียงสะท้อนส่งไปถึงผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. มีความสำคัญที่ผู้สมัครแต่ละคนจะต้องรับฟัง เพราะมาจากการแชร์ความคิดของแต่ละกลุ่ม ซึ่งเมืองใหญ่ที่ดีหลักการบริหารจะต้องเอื้อให้มีการส่วนร่วมที่แท้จริงโดย ไทยพีบีเอส และ เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ยังจะทำงานกันต่อเนื่องต่อไป

“เราทุกคนเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงจากตัวเรา ไม่ใช่ในฐานะโหวตเตอร์ออกไปใช้สิทธิไม่กี่วินาที แต่สภาพการของปัญหาเมืองใหญ่ที่เราอยู่ ทำให้เราบอกตัวเองว่าเราเป็นเพียงแค่ผู้ลงคะแนนอย่างเดียวไม่ได้แล้ว จะต้องออกมาแสดงพลังร่วมกัน พลังแบบนี้จะคงอยู่ต่อไปและเป็นสิ่งที่ดีที่ช่วยทำให้เกิดการสร้างเมืองที่น่าอยู่ร่วมกัน”

รศ.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
ปลุกกรุงเทพฯ

จากคำประกาศเจตนารมณ์ สู่สมุดปกขาว ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน

ในการเปิดตัว “เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ”  ได้ประกาศเจตนารมณ์ 6 ข้อดังนี้

  1. ความหมายของการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในวาระนี้ คือ โอกาสในการสื่อสารและแสดงออกถึงพลังของสังคมในการมีส่วนร่วมมหานครและเมืองใหญ่ ที่คนทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะให้ความร่วมมือกัน
  2. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จะจับตาการเลือกตั้งครั้งนี้ให้ปราศจากการซื้อสิทธิ ขายเสียง โดยสภาองค์กรชุมชนเป็นกลไกหนึ่งในการสังเกตการณ์การเลือกตั้งของภาคประชาชน
  3. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ อยากเห็นการเลือกตั้งครั้งนี้ ต้องเปลี่ยนจากวัฒนธรรมการแข่งขันทางการเมือง เป็นความร่วมมือสมานฉันท์ของผู้สมัครผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ทุกคน เพื่อให้นำไปสู่การส่งเสริมการเมืองระดับชาติอย่างสร้างสรรค์ ไม่ขยายความขัดแย้งทางสังคม
  4. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ อยากเห็นนโยบายของกรุงเทพมหานครให้ความสำคัญกับคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้ อย่างเป็นธรรม มีสุนทรียภาพ ปลอดภัย เป็นเมืองสร้างสรรค์ระดับโลกเกิดขึ้นได้จริง พร้อมเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มในเมือง รวมถึงประชากรแฝง เช่น กลุ่มแรงงาน, คนจนเมืองมีส่วนช่วยพัฒนาเมือง เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการ เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีอย่างเท่าเทียมกัน
  5. รัฐท้องถิ่นต้องยอมรับความเข้มแข็งของ Active Citizen กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคพลเมือง และไม่แสดงออกถึงการต่อต้านเหมือนที่ผ่านมา
  6. เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ขอเชิญผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เข้าร่วมเวทีวิสัยทัศน์ 6 ครั้ง เพื่อตอบคำถามเชิงนโยบายว่าเมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วมจะเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร เริ่มทำทันที ให้เป็นพันธะสัญญาทางการเมือง

จากคำประกาศเจตนารมณ์ในครั้งนั้น ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาเป็น “สมุดปกขาว”​ ซึ่งถือเป็นข้อเสนอนโยบายที่มาจากการระดมความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ​ผ่าน 6 เวทีหลัก หัวข้อ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วม จนได้เป็นข้อเสนอ 6 ประเด็น รวม 30 ข้อ พร้อมนำมาเปรียบเทียบกับแผนพัฒนากรุงเทพมหานครระยะ 20 ปี ​

ฐิติกร สังข์แก้ว นักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD) ในฐานะตัวแทนทีมนักวิชาการร่างสมุดปกขาว กล่าวว่า กรุงเทพฯ ไม่มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ตั้งแต่ปี 2556 ระหว่างนั้นสังคมเกิดการพลวัต และโจทย์ท้าท้ายใหม่ ๆ ขึ้นมากมาย ไทยพีบีเอส จัดเวทีฟังเสียงประชาชน เพื่อให้ความต้องการ ภาพฝัน ของประชาชนที่มีความซับซ้อน ถูกเพิ่มเติมเข้าไปเป็นนโยบายของผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ นอกเหนือจากแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2561 – 2580)

“การที่มีข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไป อย่างแรกหมายความว่าเราต้องไปทบทวนแผนยุทธศาสตร์พัฒนากรุงเทพฯ ระยะ 20 ปี ว่ามีความครอบคลุมมากน้อยแค่ไหน อย่างที่สองแผนฯ อาจจะทำไว้ดีแล้ว เพียงแต่เป็นแผนฯ ระยะยาว ในขณะที่สมุดปกขาวมาจากความต้องการวันนี้ และมี 4 ประเด็นที่ไปไกลกว่าแผนฯ ระยะยาวยาวของกรุงเทพฯ ฉะนั้น ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็น่าจะรับฟังไว้

ฐิติกร สังข์แก้วนักวิจัยเครือข่ายข้อมูลการเมืองไทย (TPD)

ด้าน ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า สมุดปกขาวเล่มนี้ เป็นกลไกนโยบายเชิงวิพากษ์ ในสังคมประชาธิปไตย ที่ไม่ได้ยึดมั่นกับคำสัญญาของผู้สมัครเท่านั้น แต่เป็นการร่วมคิด ร่วมตรวจสอบ มองความเป็นไปได้เชิงนโยบาย โดยมุ่งให้อำนาจกับประชาชน  

“เราจำเป็นต้องมีกลไกการวิพากษ์ในระดับนโยบายที่มุ่งให้อำนาจกับประชาชน ไม่อย่างนั้นคุณก็จะได้นโยบายที่เหมือนกับสินค้าที่เข้าไปยืนชี้ แล้วใครสัญญาว่าจะให้อะไรก็เอาพอถึงเวลา 4 ปี ก็เลือกตั้งใหม่ เพราะฉะนั้นนโยบายแบบที่ภาคประชาชนกำลังทำกันอยู่ นอกจากมาจากตัวเรายังส่งเสริมให้ประชาชนสามารถที่จะมีอำนาจในการติดตาม เงื่อนไขเหล่านี้จะทำให้ประชาธิปไตยมีคุณภาพเพิ่มขึ้น”

ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สุดท้าย “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน” ได้ถูกส่งมอบให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ที่มาขึ้นเวทีดีเบต ในงาน “ปลุกกรุงเทพฯ เปลี่ยนเมืองใหญ่ เลือกตั้งผู้ว่าฯ65” เมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2565 ที่ไทยพีบีเอส นับเป็นสัญญาประชาคมเพื่อเปลี่ยนมหานคร ให้กับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ทุกคน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active