“มหานครสีเขียว” นโยบายสุดฮิต แต่จะเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับทุกคนได้อย่างไร?

“จะสร้างความร่วมมือเพื่อทำให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวบรรลุเป้าหมายได้อย่างไรแล้วอะไรคือตัวชี้วัดความสำเร็จที่ต่างไปจากเดิม?”

คือคำถามจาก ยศพล บุญสม จากกลุ่ม we! park และกรรมการสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง หนึ่งใน เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ที่ถามตรงต่อ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมาร่วมฟังและร่วมประชันวิสัยทัศน์ “ปลุกกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่” ในงาน “Bangkok Active ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ที่ภาคประชาสังคมมากกว่า 70 องค์กร ร่วมกันจัดขึ้นในวันที่ 7 เม.ย. 2565

การหาเสียงที่ผ่านมา สะท้อนถึงนโยบายที่มุ่งเน้นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวเชิงปริมาณ โดยระบุว่า อยากให้มี 9 ตารางเมตรต่อคนตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ แต่จะทำอย่างไรให้การพัฒนาพื้นที่สาธารณะสีเขียวตอบโจทย์กับความท้าทายของสิ่งแวดล้อม และตรงใจความต้องการของประชาชนทุกคนอย่างทั่วถึง


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร หมายเลข 1

ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. จากพรรคก้าวไกล วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” ที่ชูสโลแกน “เมืองที่คนเท่ากัน” เน้นการใช้กลไกเรื่องภาษีที่ดิน เป็นข้อพิจารณาและกำกับดูแลเจ้าของกรรมสิทธิ์ให้นำที่ดินว่างเปล่ามาใช้ประโยชน์สูงสุด มากกว่าแค่การปลูกพืชบางอย่างที่เขามองว่าเป็นความพยายามหลบเลี่ยงภาษีดังกล่าว อย่างการปลูกกล้วยที่พบได้มาก โดยมองว่าข้อบัญญัติที่ชัดเจนจะช่วยส่งเสริมการมีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น

“ให้กติกาของเมืองเป็นธรรม ภาษีที่ดินว่างเปล่า 7,000 แปลงใน กทม. หลายแปลงอยู่ในที่กลางเมืองธุรกิจ แต่เราจะเห็นนายทุนแบ่งย่อยเป็นบริษัทลูก ปลูกกล้วย มะนาว เลี่ยงภาษีที่ดิน ถ้าเรากำหนดออกข้อบัญญัติชัดเจนว่าพื้นที่ใจกลางธุรกิจ ห้ามทำแบบนั้น แต่มอบสิทธิ์ให้กับ กทม. ​เพื่อทำพื้นที่สีเขียวได้ และมอบเงินให้กับสำนักงานเขต กระจายให้ประชาชน ชุมชนสามารถพัฒนาสวนใกล้ชุมชนได้ คนที่ซื้อที่ดินสร้างตึกจะต้องสร้างแรงจูงใจด้วยทำให้ FAR ฐานต่ำลง เพื่อส่งเสริมสร้างพื้นที่สีเขียวมากขึ้น จึงจะสร้างอาคารสูงขึ้นได้ การประเมินพื้นที่สีเขียวตามความต้องการที่คนจะใช้”


พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง หมายเลข 6

พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ในฐานะอดีตผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า ที่ผ่านมามีความพยายามทำให้กรุงเทพฯ มีพื้นที่สีเขียว ทั้งในเชิงปริมาณ คุณภาพ และเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่สีเขียวด้วย เช่น สวนวัดหัวลำโพง เพื่อให้ทุกคนได้ใช้ประโยชน์สูงสุด

“ในอดีตผมปลูกต้นไม้ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 1.5 แสนต้น และต้องรักษาต้นไม้เอาไว้ให้ได้ด้วย การตัดต้นไม้กิ่งไม้เราก็มีรุกขกร ในส่วนน้ำกัดเซาะตลิ่ง เราก็ได้ทำอีไอเอ เพื่อทำแนวคันป้องกันน้ำเซาะ และปลูกป่าชายเลนทำให้คืนพื้นที่มาแล้ว ประมาณ 240 ไร่ ส่วนการเพิ่มพื้นที่ต่าง ๆ เราทำสวนทำสนามเด็กเล่น ระบบผังเมืองเราก็ให้พี่น้องประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม จูงใจให้พี่น้องประชาชนด้วย FAR Bonus เช่น ถ้าจะสร้างคอนโดสักแห่ง มีพื้นที่สาธารณะไว้ 30% ถ้าปลูกต้นไม้ไว้ 15% จะได้สิทธิประโยชน์หลายอย่าง”


รสนา โตสิตระกูล หมายเลข 7

รสนา โตสิตระกูล ที่ลงสนามแข่งขันในนามอิสระ บอกว่ามุ่งเน้นการใช้ประโยชน์พื้นที่สีเขียวหลากหลายมิติ เช่น การเป็นสวนผักในเมือง การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ และมีตัวชี้วัดความสำเร็จของ กทม. ในด้านนี้ด้วย

“เราจะใช้พื้นที่ว่างเปล่าของ กทม. ที่ไม่ได้ใช้อะไรทำพื้นที่ urban farm เพื่อให้ชาวบ้านที่อาหารโดยไม่ต้องไปซื้อเอง ช่วยประหยัดเงิน ส่วนพื้นที่สีเขียวไม่จำเป็นต้องเป็นสวนสาธารณะใหญ่ ควรจะเป็นสวนใกล้ชุมชนทุกคนเข้าถึงได้ ในพื้นที่สีเขียวเราควรจะทำให้มีฟังก์ชันใหม่ ๆ เช่น มีลานกิจกรรม เอ็กซ์ตรีมสปอร์ต ลู่จักรยาน งานศิละ พื้นที่แสดงดนตรี สวนจิบน้ำชา เล่นหมากรุก ทำกิจกรรมปลูกผัก ดอกไม้ สิ่งเหล่านี้สามารถทำได้ ควรมี KPI ประเมินความพึงพอใจใช้งานและตอบสนอความต้องการของประชาชน”


น.ต. ศิธา ทิวารี หมายเลข 11

การเน้นใช้ประโยชน์จากพื้นที่รกร้าง ก็เป็นวิสัยทัศน์จากน.ต. ศิธา ทิวารี แคนดิเดตจากพรรคไทยสร้างไทยเช่นกัน เขาเสนอเรื่องของการสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชนมาร่วมมือกับรัฐ สนับสนุนที่ดินหรืองบประมาณให้การร่วมสร้างพื้นที่สีเขียว เพื่อทำให้พื้นที่สีเขียวเพิ่มเป็น 9 ตารางเมตรต่อคนได้ตามมาตรฐาน โดยยกตัวอย่างกรณีการนำพื้นที่รกร้างในสนามบินสุวรรณภูมิมาทำเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์สาธารณะ

“พื้นที่รกร้างว่างเปล่า เราสามารถใช้กลไกภาษีให้เอกชนมีส่วนร่วมได้ ไม่ให้เลี่ยงภาษีจากการปลูกกล้วย เราสามารถเพิ่มพื้นที่สีเขียวตามมาตรฐานได้ ผมเคยทำพื้นที่รกร้างที่สุวรรณภูมิมาเป็นพื้นที่สนามจักรยาน สนามเด็กเล่น สนามพักผ่อนหย่อนใจ ให้พี่น้องใช้ประโยชน์ได้ เฉพาะจักรยานอย่างเดียว มีคนปั่นมากกว่า 1 ล้านครั้งต่อปี 30 ล้านเมตรต่อปี มีเอกชนมาร่วมลงทุนเกือบสองพันล้าน สามารถที่จะทำให้คนใช้สวนหย่อมสนามเด็กเล่นน่าจะล้านคนต่อปี ควรจะทำกับพื้นที่อื่น ๆ ผมจะทำไปทั้งหมดทุกพื้นที่ของ กทม. งบประมาณปลูกสร้างราคาแพงในสวนลุม ใช้งบประมาณจำนวนมาก หากไปใช้กับพื้นที่รกร้างว่างเปล่าอาจจะได้สวนอีกมากมาย”

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้