1 เดือน นโยบายชัชชาติ ภาคประชาชนมองการไปต่อของ กทม.

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมแบ่งปันและติดตามความคืบหน้า 1 เดือน ทีมผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่ แนะ สร้างช่องทางมีส่วนร่วมช่วยกันทำงาน ‘รองผู้ว่าฯ ศานนท์’ ยก Open Bangkok ช่วยดิสรัปกลไกราชการได้

วันนี้ (3 ก.ค. 2565) ตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ มากกว่า 80 องค์กร และเครือข่ายภาคประชาสังคมอื่น ๆ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “จากสมุดปกขาว สู่การติดตามนโยบายผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร” (Policy Watch) ณ ห้องอเนกประสงค์ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดยมี ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. เข้าร่วมแลกเปลี่ยนในกิจกรรมดังกล่าวด้วย

สืบเนื่องจากเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ได้ร่วมจัดเวทีฟังเสียงกรุงเทพฯ เพื่อระดมความคิดเห็น คำถาม และข้อเสนอเชิงนโยบายในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ทั้งหมด 6 เวที ได้แก่ เมืองน่าอยู่ เมืองปลอดภัย เมืองทันสมัย เมืองเป็นธรรม เมืองสร้างสรรค์ และเมืองมีส่วนร่วม รวมถึงเวทีเฉพาะประเด็นอีกหลายครั้ง ได้นำมาสู่การจัดทำ “สมุดปกขาว: ข้อเสนอนโยบายภาคประชาชน (White Paper Policy)” จุดตั้งต้นที่นำมาสู่การจัดกิจกรรมในครั้งนี้

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม we! Park และกรรมการสมาคมเครือข่ายต้นไม้ในเมือง ระบุว่า ที่ผ่านมามีการนำประเด็นข้อเสนอจากภาคประชาสังคม หารือกับผู้ว่าฯ กทม. ทั้งเรื่องสวน 15 นาที การเปลี่ยนพื้นที่ว่างของเมืองเป็นสวนอาหาร การปลูกต้นไม้ล้านต้น ฯลฯ ขณะนี้ อยู่ระหว่างการหารือว่าการดำเนินนโยบายจะมีข้อติดขัดอย่างไรหรือไม่ ภาคประชาชนต้องการการสนับสนุนในเรื่องใด และมีการเชื่อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่สิ่งที่ยังเป็นช่องโหว่ คือ กลไกการจัดการต่อ

“พื้นที่รัฐตรงไหนสามารถเอามาพัฒนาได้ การมีส่วนร่วม ความพร้อม โอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องมีกลไกการทำงานเพื่อทำให้การพัฒนาพื้นที่ สามารถสร้างรายได้ให้ชุมชน… สิ่งที่ท้าทายคือการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไปในระยะยาว กระบวนการทำงานร่วมระหว่างทุกฝ่าย รัฐ เอกชน ประชาชน ถ้าเราบริหารจัดการกันไปโดยไม่เข้าใจจริง ๆ จะยากต่อการสร้างผลลัพธ์ที่ยั่งยืน”

ยศพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การทำให้พื้นที่สีเขียวเป็นสวนผักคนเมือง เป็นพื้นที่แห่งโอกาส ในเชิงรัฐก็ต้องทำให้เห็นว่ามีหลายส่วนที่จะทำรวมกันได้ เช่น การบูรณาการงานของหน่วยงานรัฐเอง เป็นการพลิกวิธีการทำงานของ กทม. ด้วย

อินทิรา วิทยสมบูรณ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายสาธารณศึกษา (Feel Trip) ที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายเด็กและเยาวชนหลายองค์กร ร่วมสะท้อนการร่วมออกแบบพื้นที่สร้างสรรค์ของเมือง ที่นอกเหนือจากสิ่งที่ผู้บริหาร กทม. ชุดใหม่ทำอยู่แล้ว เช่น กิจกรรมดนตรีในสวน หรือการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะได้มากขึ้น โดยหยิบยกตัวอย่างกิจกรรม “ห้องทดลอง 350” ที่กลุ่มเยาวชนร่วมศึกษาการใช้ชีวิตในเมืองด้วยค่าแรงขั้นต่ำ และการศึกษาปัญหาของชุมชนวัดดวงแข รวมถึงกรณีศึกษาจากปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งที่ผ่านมามีการส่งต่อข้อมูลให้กับทีมผู้บริหาร กทม. แต่ยังไม่มีช่องทางอย่างเป็นทางการ

ด้าน วรรณิกา ธุสาวุฒิ เยาวชนเครือข่าย บางกอกนี้..ดีจัง ร่วมแบ่งปันในประเด็นดังกล่าว โดยยกตัวอย่างกรณีที่สวนสาธารณะต่าง ๆ มีกิจกรรมมากมาย คนที่ใช้ชีวิตในเมืองมีความกระตือรือร้น หลาย ๆ คนมีความหวังที่จะทำอะไรต่าง ๆ แล้วพบว่าสิ่งที่เราอยากทำเหมือนกันคือการมีพื้นที่สร้างสรรค์ เช่น กลุ่มบางกอกนี้ดีจัง กิจกรรมพื้นที่สร้างสรรค์เชิงศิลปะ ก็คิดว่าทำยังไงให้ศิลปะเข้าถึงได้ และเข้าถึงง่ายมากขึ้น จึงเตรียมเข้าร่วมกิจกรรมดนตรีในสวน กับ กทม. ที่ใช้ชื่อว่า บางกอกกำลังดี

“กิจกรรมจะจัดขึ้นที่สวนบางขุนนนท์ ไม่ใช่มีแค่ดนตรี แต่ยังรวมถึงของดีชุมชน เพราะเราเข้าไปจัดในชุมชน เลยดึงจุดเด่นของชุมชนมาจัดเป็นตลาด และเราหากิจกรรมให้กับเด็กและผู้ใหญ่สามารถทำกิจกรรมร่วมกันได้”

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน ChangeFusion และเป็นหนึ่งในคณะทำงาน Open Bangkok กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ได้เดินหน้านโยบาย Open Bangkok โดยการใช้เทคโนโลยีในการจัดการข้อมูลของ กทม. เพื่อให้ประชาชนเห็นโอกาสที่จะเอาไปใช้ประโยชน์ และทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับการพัฒนาเมือง โดยเร่ิมแรกจากการเปิดข้อมูลด้านงบประมาณเพื่อชวนดูว่าถูกจัดการอย่างไร

“มันเหมือนจะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ก็เห็นว่ามีคนเอาข้อมูลไปใช้ทำสื่อต่าง ๆ หรือแม้แต่การเอาไปเป็นโจทย์ hackathon (กิจกรรมเพื่อพัฒนาความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมแบบเร่งด่วน) เพื่อไปหารือในสภา กทม. ก็ให้อยู่บนข้อมูลจริง วิเคราะห์กันได้ไม่มั่ว แล้วจะไปต่ออย่างไร มันจะมีข้อมูลอื่น ๆ เช่น มิติเรื่องไฟไหม้ น้ำท่วม เทียบกับเรื่องปัญหาในพื้นที่ ทำสถิติให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การเฝ้าระวังในชุมชน หรือเรื่องอุบัติเหตุ จำนวนไม่น้อยเลยที่เกิดขึ้น ที่เกิดบ่อย ๆ ถ้ามีการเปิดข้อมูลอาจทำให้เห็นว่าเป็นเพราะอะไร จะจัดการต่ออย่างไร ทั้งหน่วยงานรัฐ และประชาชนเส้นเลือดฝอย”

นอกจากนี้ ยังมีตัวแทนเครือข่ายต่าง ๆ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติม เช่น การดำเนินนโยบายหาบเร่แผงลอยกับโจทย์ปัญหาที่มีความซับซ้อน, การปฏิรูประบบสุขภาพ กทม. ผ่านโมเดลแซนด์บอกซ์ที่เกิดขึ้นแล้วสองรูปแบบ, กระบวนการจัดกิจกรรมเมืองที่ยังต้องอาศัยกระบวนการเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง, การสร้างพื้นที่สร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม, แนวทางการอนุรักษ์พื้นที่เมืองเก่าเกาะรัตนโกสินทร์ และการจัดการน้ำท่วมเมื่อฝนตกหนัก ซึ่งยังต้องอาศัยแนวทางแก้ปัญหาทั้งในระดับเส้นเลือดฝอย คือ คลอง และ เส้นเลือดใหญ่ คือ แม่น้ำ เพื่อทำให้การระบายน้ำดีขึ้น

ศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสนทนา ระบุว่า ตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา แม้จะพบว่าโครงสร้างการบริหารงานของ กทม. บางอย่างอาจมีข้อจำกัดอยู่บ้าง แต่ก็มีการสร้างความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและภาคประชาสังคมกลุ่มต่าง ๆ ด้วยการตั้งคณะทำงานขึ้นมา พร้อมกับมองว่าข้อเสนอของเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เน้นไปที่การทำงานและติดตามนโยบายเชิงประเด็น ขณะเดียวกัน การบริหารงานของ กทม. ในระดับพื้นที่ผ่านสำนักงานเขตก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือจะวางรูปแบบการทำงานร่วมกันอย่างไร

ขณะที่ การทำงานของ Open Bangkok ที่มีทั้งหมด 5 เรื่อง 5 มิติ คือ Open Data การเปิดเผยข้อมูลที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน,Open Contract การเปิดสัญญาจัดซื้อจัดจ้างต่าง ๆ เพื่อแสดงความโปร่งใส, Open Policy ประสานเครือข่ายสร้างการมีส่วนร่วมเชิงนโยบาย, Open Innovation นวัตกรรมจากภาคประชาชนนำมาปรับใช้กับ กทม. และ Open Service คือ การทำให้การทำงานบริการพื้นฐานของ กทม. มีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้อย่างรวดเร็ว พร้อมยกตัวอย่างกรณีของ Traffy Fondue (ทราฟฟี่ ฟองดูว์) ที่แม้จะเป็นแพลตฟอร์มทั่วไปที่ใช้กันมาก่อนที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติ จะเข้ามารับตำแหน่ง แต่ก็เป็นนวัตกรรมที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาของคนกรุงเทพฯ ได้อย่างทันท่วงที สะท้อนการปรับระบบทำงานด้วยกลไกราชการแบบเดิมได้เป็นอย่างดี

“ในส่วนข้อมูลที่เกิดขึ้นจากการระดมความคิดเห็นของเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จะเอาไปเทียบกับนโยบายที่มีอยู่ของผู้ว่าฯ ชัชชาติ ว่ามีอะไรที่มันขาดหรือเกินอยู่บ้าง อาจจะเอาไปใส่เป็นนโยบายเพิ่มเติมจากที่มีอยู่ และอาจจะต้องตั้งวงหารือกันต่อเนื่อง”

นอกจาก วงเล่าสู่กันฟัง ครบ 1 เดือน ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ ใครทำอะไรกันบ้าง? ช่วงบ่ายยังมีกิจกรรมเวิร์คชอป “จากสมุดปกขาว สู่ การติดตามนโยบายผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานคร” ร่วมพัฒนาตัวชี้วัด จัดลำดับความสำคัญของข้อเสนอในการดำเนินการ โดยก้าวต่อไปของเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ คือการนำข้อสรุปในวันนี้ เสนอต่อไปยัง ผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ และทีมผู้บริหารต่อไป


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์