Smart & Tools: 4 นวัตกรรม สู่เมืองฉลาดและทันสมัย

จะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างความร่วมมือและเปลี่ยนวิธีบริหารเมือง

จบไปแล้วสำหรับ Bangkok Active Forum ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘เมืองทันสมัย’ หรือ Smart City ที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมกับ Thai PBS จัดขึ้น และออกมาเป็นข้อเสนอจากคนทำงานด้านข้อมูล และการเปลี่ยนเมืองไปสู่ความทันสมัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวิธีการ วิธีคิด จากเหล่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีความหวังมากขึ้นว่าการบริหาร กทม. ในอนาคต จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยให้ชีวิตของประชาชนชนดีขึ้น

แต่ความพิเศษภายในงานไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การพัฒนา และการใช้งานเครื่องมือด้านข้อมูลและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเมืองหลวง จากเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรเอกชน ฯลฯ ยังมีอีกมากมาย เช่น Hack Nakhon (แฮกนคร) เครื่องมือรายงานปัญหาภายในเมืองแบบเรียลไทม์ ภายใต้แนวคิด ‘Gamification’ มาใช้ พูดอย่างง่าย ๆ ทำให้มีความเป็นเกมและมีภารกิจ เพื่อให้ทุกคนสนุกกับการแก้ปัญหาในเมืองได้ แฮกนคร คือ โปรเจกต์ใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ในเมืองนี้ ประกอบไปด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (FNF Thailand), Boonmee Lab และ STRN

เช่นเดียวกับเครือข่ายด้านข้อมูลและเทคโนโลยีภาคประชาชนอย่าง Punch Up และ WeVis ที่มีความตั้งใจอยากสร้าง Smart City ที่ไม่ได้เริ่มต้นที่เทคโนโลยีหรือข้อมูล แต่เริ่มที่ผู้คน โดยที่มีข้อมูล และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยยกระดับเมืองและการใช้ชีวิตของประชาชน โดยในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์แชร์ข้อมูลปัญหาของกรุงเทพฯ ผ่าน BKK Follow-Up

โดยรูปแบบเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเมืองที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย ทำให้ประชาชนเข้าใจและเสนอความเห็นได้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับย่านที่ตัวเองอยู่ และอะไรเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างข้อมูลปัญหา 5 ด้านที่กวนใจคนกรุงเทพฯ แบบเขตต่อเขต มาตลอด 10 ปี

นอกจากนี้ ยังมี Bangkok Budgeting โปรเจกต์ที่ตั้งใจให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทดลองออกแบบงบประมาณ ที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ สร้างสังคมที่ดี (GOOD SOCIETY) โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นต้นแบบส่งต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ภายใต้แนวคิดสำคัญที่ว่า ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงและทางอ้อม ควรได้ร่วมออกแบบการใช้งบประมาณของเมืองเพื่อสร้างเมืองในแบบที่เราต้องการได้

รวมถึงกลุ่ม we!park ที่มีส่วนในการออกแบบพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ชีวิตคนกรุงฯ มาแล้ว หลายแห่ง ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมือง 10 ตร.ม. ต่อ คน นอกจากนั้นต้องเดินหน้านำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ มาออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงคน วิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน

นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการปกครองท้องถิ่น ในฐานะที่ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่บริหารจัดการตนเอง ทั้ง เรื่องคน งาน และงบประมาณ โดยเป็นการทำความเข้าใจผ่าน ‘บอร์ดเกม’ ที่เรียกว่า Local Election ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอนาคต ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านการเล่นเกมส์เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจยังสามารถติดต่อขอรับเกมไปเล่นที่บ้าน ผ่านทาง สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

ธีร์วัฒน์ ชูรัตน์

เรียนจบกฎหมาย มาเป็นนักข่าว เด็กหลังห้อง ที่มักตั้งคำถามด้วยความไม่รู้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May