“มหานครแห่งความทันสมัย” หน้าตาแบบไหน?

หากเราจะมีชีวิตดี ๆ ที่ลงตัว ในกรุงเทพมหานคร

“เมืองทันสมัย” อาจไม่ใช่แค่เรื่องของเทคโนโลยี แต่เรากำลังพูดถึงเครื่องไม้เครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง รองรับทุกกิจกรรม เพื่อเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เมือง ธรรมชาติ โอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ จากหลายองค์กร เช่น มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF), สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, กลุ่ม Hack Nakhon, WeVis, Wizard of learning,โครงการ we!park, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกลุ่มดินสอสี ฯลฯ ร่วมเป็นเจ้าภาพเนรมิต “สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์” ให้ทำหน้าที่เชื่อมร้อยกันระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลของคนรุ่นใหม่กับพื้นที่สาธารณะของเมืองที่ทุกคนเข้าถึงได้ เพื่อปรับมุมมองต่อSmart City ให้เชื่อมโยงกับผู้คนมากยิ่งขึ้น

ชวนฟังเสียงกรุงเทพฯ จากผู้คนที่ร่วมสะท้อนในเวที “Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ” ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เมืองทันสมัย” ว่าพวกเขาให้นิยามกับ “มหานครแห่งความทันสมัย” ไว้อย่างไร ก่อนจะร่วมตกผลึกผ่านกิจกรรมและวงสนทนาเพื่อออกแบบเชิงนโยบายให้ถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note

ปลุกกรุงเทพฯ เมืองทันสมัย

ตัวแทน เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ และผู้เข้าร่วมกิจกรรม มองความทันสมัยของเมืองหลายมิติ เช่น เป็นเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนพิการ กลุ่มเปราะบาง ที่ต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่มในสังคม, การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือแม้แต่การมีนโยบายที่สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว

ขณะที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ในนามอิสระมองว่า โจทย์ใหญ่ของการเริ่มต้นคุย คือ การตอบคำถามให้ตรงกันก่อนว่า “นิยามเมืองทันสมัยคือแบบไหน” และจะมีแนวทางแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร

สำหรับ 5 ประเด็นหลักที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ นำเสนอ ประกอบด้วย

  • เมืองที่ทันสมัย ด้วยการสนับสนุนด้านความรู้ การแลกเปลี่ยนความเห็น เชื่อมโยงกับการเพิ่ม Public Space หรือพื้นที่สาธารณะ ให้คนเมืองไม่ต้องเสียเงินแลกพื้นที่ใช้สอย ซึ่งเป็นโจทย์ยากของ กทม. เพราะที่ดินส่วนใหญ่ถูกแปลงเป็นเชิงพาณิชย์เกือบทั้งหมด
  • เมืองที่เปิดเผยข้อมูลเชื่อมคน กับ Platform และจัดระบบบูรณาการได้จริง โดยภายในเวทีปลุกกรุงเทพฯ มีตัวอย่างเครื่องมือภาคประชาชน เช่น แพลตฟอร์ม Hack Nakhon ที่หวังจะเปิดพื้นที่ให้คนที่ต้องการแก้ปัญหาเมืองเข้ามาร่วมแลกเปลี่ยน และแจ้งเบาะแสของปัญหาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ยังหยิบยกเอาความสำคัญ ของ การเปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการเคลื่อนเมืองทันสมัย โดยมีภาพฝันอยากจะเห็น กทม. มี Open Data ช่วยวิเคราะห์แก้ปัญหาเมือง และนำเอาเทคโนโลยีของประชาชน (Civic Tech) ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีภาครัฐ (GovTech)ในอนาคต
  • เมืองทันสมัยต้องสะดวกสบาย เท่าเทียม ทุกคนเข้าถึงสิทธิพื้นฐาน ข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว มีการออกแบบระบบขนส่งมวลชน Transportation ที่เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เชื่อมโยงขนส่งสาธารณะ ให้สามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อความสะดวกสบาย การเข้าถึงการคมนาคม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง อย่างคนพิการ คนจนเมือง ฯลฯ
  • ผู้ว่าฯ กทม. ต้องทำหน้าที่เป็นผู้จัดการ Pain Point หรือปัญหาของเมืองได้
  • เมืองที่มีทางออกการแก้ปัญหาแบบใหม่ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตในเมือง เช่น จักรยานขึ้น BTS ได้ หรือการจัดทำแผนที่เดินรถ

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May