แนะเปลี่ยน “ความคิดทันสมัย” ก่อนสร้าง “เมืองทันสมัย”

เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ แนะ “ความคิดทันสมัย” เริ่มจากมองคนทุกกลุ่มเท่ากัน พร้อมชู 4 ข้อเสนอ เร่งเชื่อมเครื่องมือภาคประชาชนกับรัฐ เพื่อใช้แก้ปัญหาเมือง

เวที Bangkok Active: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 หัวข้อ “เมืองทันสมัย” จัดโดยไทยพีบีเอส ร่วมกับเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา ใช้สถานที่ สวนวัดหัวลำโพงรุกขนิเวศน์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร เพราะการนิยาม “Smart City” หรือ เมืองทันสมัย ไม่ใช่แค่เมืองที่มีความฉลาดด้านเทคโนโลยี แต่กำลังหมายถึงเครื่องมือที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมือง รองรับทุกกิจกรรม เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคน เมือง ธรรมชาติ โอกาสทางเศรษฐกิจ และสังคม

สิ่งที่ได้จากการระดมความเห็นของเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ในประเด็น “เมืองทันสมัย” ก่อนหน้านี้ พวกเขามองว่า ผู้ว่าฯ กทม. และ ประชาชนต้องร่วมมือกันทำงาน “Smart” เพื่อสร้างการอยู่อาศัยอย่างเท่าเทียมของคนทุกกลุ่ม โดยเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบาย 4 ประเด็นหลัก

  1. Technology การเข้าถึงเทคโนโลยีของคนทุกเพศ ทุกวัย และการใช้เทคโนโลยีเพื่อกลุ่มเปราะบางในการใช้ชีวิตประจำวัน
  2. Transportation การออกแบบให้เหมาะกับคนแต่ละกลุ่ม และสภาพแวดล้อมของพื้นที่ เชื่อมโยงขนส่งสาธารณะให้สามารถใช้งานร่วมกันได้เพื่อความสะดวกสบาย การเข้าถึงการคมนาคมของกลุ่มคนพิการ ผู้สูงอายุ
  3. Data Driven ช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นของหน่วยงานราชการ การเชื่อมโยงข้อมูลของแต่ละหน่วยงานให้สามารถใช้ร่วมกันได้ และช่องทางการรับเรื่องจากประชาชนที่เข้าถึงง่าย
  4. Public Space พื้นที่สาธารณะที่เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คน เมือง ธรรมชาติ โอกาสทางเศรษฐกิจ

สำหรับบรรยากาศที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมา เริ่มต้นด้วยคำถามว่า “เมืองทันสมัย หรือ Smart City คืออะไร?” เป็นคำถามแรก ในการสนทนาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายคนทำงานที่เกี่ยวข้องกับเมืองทันสมัย ซึ่งประกอบไปด้วย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ และตัวแทนผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

ตัวแทนเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ มองความทันสมัยของเมืองหลายมิติ เช่น เป็นเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะคนพิการ กลุ่มเปราะบางที่ต้องมีสิทธิขั้นพื้นฐานเท่าเทียมกับคนทุกกลุ่มในสังคม, การใช้เทคโนโลยีและข้อมูลเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วม่ในการตัดสินใจ หรือแม้แต่การมีนโยบายที่สร้างความปลอดภัยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างรวดเร็ว ขณะที่ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. จากตัวแทนผู้สมัครอิสระมองว่าโจทย์ใหญ่ของการเริ่มต้นคุย คือ การตอบคำถามให้ตรงกันก่อนว่า “นิยามเมืองทันสมัยคือแบบไหน” และจะมีแนวทางแก้ปัญหาต่อไปอย่างไร

อาทิตย์ โกวิทวรางกูร ผู้ร่วมก่อตั้งสเปซย่านสี่พระยา มองว่า ก่อนจะแก้ปัญหาเมือง ต้องรู้จักและเข้าใจโครงสร้างปัญหา และเงื่อนไขการจัดการเมืองก่อน จากนั้นจึงค่อยมาดูว่าทั่วโลก ที่มีบริบทใกล้เคียงไทยมีแนวทางแก้ปัญหาเมืองอย่างไร โดยต้องเริ่มจากการเข้าใจเมืองและคนก่อน จึงค่อย ๆ เปิดรับไอเดียต่าง ๆ เข้ามา

อาทิตย์ ยกตัวอย่างการก่อตั้งพื้นที่ย่านสี่พระยา โดยการนำพื้นที่เกือบ 30 ตารางเมตรมาเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ เพราะมองเห็นปัญหาว่า ที่ผ่านมา เมืองไม่มีพื้นที่ที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง เช่น สวนสาธารณะที่มีเวลาเปิดปิด พื้นที่ที่ต้องใช้เงินซื้อ

ปัญหา คือ กทม. มีที่ดินที่ถูกแปลงเป็นพาณิชย์ทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าไปกับอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ถึงที่สุดแล้ว กลุ่มทุน หรือ กลุ่มอำนาจมองในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของคนเมือง จึงตั้งใจนำร่องพื้นที่สี่พระยา จับมือกับเจ้าของที่ดินให้ราคาที่เป็นธรรมกับผู้เช่า และเริ่มมองหาการสร้างโปรแกรม เครื่องมือให้ผู้คนเข้ามามีส่วนร่วม

อาทิตย์ มองว่าปัจจุบันมีเครื่องมือภาคประชาชนมากมาย แต่ส่วนที่ยังขาด คือ พื้นที่ที่รัฐจัดหาให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมได้ Community Center หรือ Civic Center

“สิ่งที่เราเป็น คือ เมืองที่ผุพัง ก่อนจะไปถึง เมืองทันสมัย ทำให้คุณภาพชีวิตคนระดับกลาง ๆ จะอยู่อย่างไรให้โอเคก่อนดีไหม?

ปัญหา คือ กทม. มีที่ดินที่โดนแปลงเป็นพาณิชย์ทั้งหมด และเพิ่มมูลค่าไปกับ อสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก ถึงที่สุดแล้ว กลุ่มทุน หรือ กลุ่มอำนาจมองในอีกรูปแบบที่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตของคนเมือง”

อาทิตย์ โกวิทวรางกูร ผู้ร่วมก่อตั้งสเปซย่านสี่พระยา
ธนิสรา เรืองเดช

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up / WeVis ในฐานะภาคีที่ทำงานกับข้อมูลและเทคโนโลยีเพื่อประชาชน (Civic Tech) มองว่า การดูแลทุกคนในสังคมได้ดี ต้องเริ่มจากการเปิดข้อมูล ให้ประชาชนมีข้อมูลการตัดสินใจ ที่ผ่านมา ก็ยังคงพยายามทำงานร่วมกับเครือข่ายฯ นำข้อมูลมาจาก Empower ผู้คนแทนการรับฟังการอภิปรายจากนักการเมืองในสภาฯ เพียงอย่างเดียว โดยก่อนที่เราจะไปเข้าใจ การแก้ปัญหา ต้องเข้าใจปัญหาที่มีอยู่จริงก่อน

“ก่อนจะเถียงทางออก เราเข้าใจปัญหาของเมืองจริงหรือไม่ เราจึงพยายามเปิดข้อมูลเพื่อเปิดหูเปิดตา ประชาชน…

เรามีความฝันอยากจะให้ เทคโนโลยีของประชาชน (Civic Tech) ทำงานร่วมกับเทคโนโลยีภาครัฐ (GovTech) อย่างในไต้หวันได้ ในอนาคตอาจจะเริ่มที่ กทม.”

ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Punch Up/WeVis

ด้าน ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้ง บุญมีแล็บ แบ่งปันประสบการณ์ส่วนตัวที่เคยใช้ “ศูนย์ข้อมูลในเกาหลีใต้” (Seoul Data Center) ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี โดยการนำข้อมูลจากฝ่ายของเมือง เช่น กล้อง CCTV, พื้นที่สีเขียว ฯลฯ จับมือกับภาคเอกชน เก็บข้อมูลโทรศัพท์มือถือที่จำเป็นมาทำงานร่วมกัน โดยเปิดใช้บริการทางเว็บไซต์ ข้อมูลบางชุดอาจจะมีความละเอียดอ่อน โดยประชาชนสามารถแสดงตัวตน และใช้ข้อมูลเปิดภายในศูนย์ได้ โดยนายกเทศมนตรี มีการขับเคลื่อนประเด็นนี้ผ่านการประกวด หาไอเดียแก้ปัญหากรุงโซล ผ่านการวิเคราะห์ข้อมูล โดยย้ำว่าการเปิดข้อมูลจะทำให้นักพัฒนา และหน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาได้ทันทีผ่านชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้ว

“ฝันอยากจะเห็น กทม. มี Open Data ช่วยวิเคราะห์แก้ปัญหาเมือง เช่นเดียวกับในเกาหลีใต้ ที่มีศูนย์ข้อมูลจากฝ่ายการเมือง จับมือกับเอกชน แก้ปัญหาเมือง และเปิดโอกาสให้หน่วยงานอื่นเข้ามาช่วยแก้ปัญหาเมืองได้อย่างทันท่วงที”

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้ก่อตั้ง บุญมีแล็บ

ขวัญข้าว คงเดชา เครือข่าย Hack Nakhon มองว่าเมืองที่ดีควรมีโครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรมที่มีอยู่แล้ว การที่ประชาชนจะเข้าไปมีส่วนร่วมได้อย่างไร ต้องมั่นใจว่า ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานได้อย่างเท่าเทียม ติดตามและตรวจสอบได้

เวทีครั้งนี้ ขวัญข้าวได้นำแพลตฟอร์ม Hack Nakhon มาแบ่งปันการใช้งานบนเวทีสนทนา แอปพลิเคชันไลน์ เห็นปัญหา ก็เพียงถ่ายภาพและแจ้งข้อมูลเข้าไป ในการแก้ปัญหา ต้องการสร้างสังคมที่ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ และสามารถเก็บคะแนนแข่งขันกับเพื่อนได้ จึงมีความฝันอยากจะเห็นการนำแพลตฟอร์มนี้ไปต่อยอดในอนาคต

ขวัญข้าว คงเดชา

“เมืองที่ดี ต้องมั่นใจว่า ประชาชนเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน และนวัตกรรมของเมืองอย่างเท่าเทียม ติดตาม และตรวจสอบได้…

ปัญหาที่เจอทุกวัน ต้องการสร้างสังคมที่มีส่วนร่วม และใช้แพลตฟอร์มช่วยสานต่อให้แก้ปัญหาได้จริง”

ขวัญข้าว คงเดชา เครือข่าย Hack Nakhon

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เครือข่าย Accessibility Is Freedom ในฐานะที่เรียกร้องประเด็นปัญหาเพื่อคนพิการมาอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 ปี มองว่า เมืองทันสมัยคือเมืองที่โอบรับคนทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการ กลุ่มคนเปราะบาง มานิตย์ ทิ้งท้ายว่า ข้อเรียกร้องที่ไม่เคยถูกแก้ไขให้เท่าเทียมมาอย่างยาวนาน จุดสำคัญคือ แนวคิด หรือวิสัยทัศน์ที่ไม่ได้มองคนเท่ากัน เป็นอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาไปสู่การเป็น เมืองทันสมัย พร้อมแนะนำเว็บไซต์ Accessibility Is Freedom ที่รวบรวมฐานข้อมูลของความเป็นเมืองเท่าเทียมเอาไว้ให้ผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. และประชาชนทั่วไปได้เข้าไปดูข้อมูลเพื่อต่อยอดแนวคิดการแก้ปัญหาร่วมกันได้

มานิตย์ อินทร์พิมพ์

“เรื่อง Smart ขอให้ความคิด Smart ก่อน การแก้ปัญหาจึงเกิดขึ้นได้ ตราบใดที่ มองเห็นคนทุกกลุ่ม ทุกนโยบายจะแก้ปัญหาได้จริง”

มานิตย์ อินทร์พิมพ์ เครือข่าย Accessibility Is Freedom

ขณะที่ตัวแทนผู้สมัคร ผู้ว่าฯ กทม. ที่มาร่วมรับฟังความคิดเห็นผ่านเวทีสนทนาครั้งนี้มี 3 คน คือ ผู้แทน พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง, วีรชัย เหล่าเรืองวัฒนะ และประพัฒน์ บรรจงศิริเจริญ โดยมีข้อเสนอคล้ายกัน

วีรชัย มองว่าควรนำแพลตฟอร์มภาครัฐ และภาคประชาชน มาทำงานร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนของข้อมูล ขณะที่ ประพัฒน์ ชื่นชมการทำงานของภาคประชาชน โดยมองว่า กทม. กำลังพัฒนาไปพร้อมกับความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น จึงมีข้อเสนอสร้าง กทม. เป็นมหานครแห่งโอกาส 9 ด้าน มีแพลตฟอร์ม และเวทีให้ปล่อยของ ส่วน จิรวัฒน์ จังหวัด จากทีมคนลุยเมือง ผู้แทน พล.ต.อ. อัศวิน ยืนยันจะช่วยเดินหน้าการทำ Open Data หากได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

ขณะที่ พรรคก้าวไกล นิธิกร บุญยกุลเจริญ ผู้สมัคร ส.ก. เขตบางบอน พรรคก้าวไกล ที่เดินทางมาร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความเห็นในเวทีด้วย ระบุว่า พรรคก้าวไกล มีข้อเสนอเรื่องการใช้งบประมาณใน กทม. โดยยกตัวอย่างการพบข้อมูลลูกหลานขาดแคลนคอมพิวเตอร์ สะท้อนความขาดแคลนเทคโนโลยี ที่อาจจะไม่สามารถพัฒนาไปสู่เมืองทันสมัยได้หากไม่มีงบประมาณสนับสนุนเรื่องนี้


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

บุศย์สิรินทร์ ยิ่งเกียรติกุล

เรียนจบสายวิทย์-สังคมฯ-บริหารรัฐกิจฯ ทำงานไม่ตรงสาย และกลายเป็น "เป็ด" โดยไม่รู้ตัว สนใจการเมือง จิตวิทยาเด็ก วิธีคิดการมองสังคม และรักการสัมภาษณ์ผู้คน

Alternative Text
PHOTOGRAPHER

วราพร อัมภารัตน์