จะเกิดขึ้นได้ ต้องสร้างความร่วมมือและเปลี่ยนวิธีบริหารเมือง
จบไปแล้วสำหรับ Bangkok Active Forum ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ ‘เมืองทันสมัย’ หรือ Smart City ที่เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมกับ Thai PBS จัดขึ้น และออกมาเป็นข้อเสนอจากคนทำงานด้านข้อมูล และการเปลี่ยนเมืองไปสู่ความทันสมัย ตลอดจนการแลกเปลี่ยนวิธีการ วิธีคิด จากเหล่าผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งมีความหวังมากขึ้นว่าการบริหาร กทม. ในอนาคต จะสามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูล และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือช่วยให้ชีวิตของประชาชนชนดีขึ้น
แต่ความพิเศษภายในงานไม่ได้จบเพียงเท่านั้น เพราะพื้นที่แห่งการเรียนรู้ การพัฒนา และการใช้งานเครื่องมือด้านข้อมูลและเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาเมืองหลวง จากเครือข่ายภาคประชาชน องค์กรเอกชน ฯลฯ ยังมีอีกมากมาย เช่น Hack Nakhon (แฮกนคร) เครื่องมือรายงานปัญหาภายในเมืองแบบเรียลไทม์ ภายใต้แนวคิด ‘Gamification’ มาใช้ พูดอย่างง่าย ๆ ทำให้มีความเป็นเกมและมีภารกิจ เพื่อให้ทุกคนสนุกกับการแก้ปัญหาในเมืองได้ แฮกนคร คือ โปรเจกต์ใหม่ที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มคนที่เห็นถึงความสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ในเมืองนี้ ประกอบไปด้วย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า, มูลนิธิฟรีดริชเนามัน (FNF Thailand), Boonmee Lab และ STRN
เช่นเดียวกับเครือข่ายด้านข้อมูลและเทคโนโลยีภาคประชาชนอย่าง Punch Up และ WeVis ที่มีความตั้งใจอยากสร้าง Smart City ที่ไม่ได้เริ่มต้นที่เทคโนโลยีหรือข้อมูล แต่เริ่มที่ผู้คน โดยที่มีข้อมูล และเทคโนโลยีเป็นตัวช่วยยกระดับเมืองและการใช้ชีวิตของประชาชน โดยในช่วงของการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ครั้งนี้ ได้มีการจัดทำแพลตฟอร์มออนไลน์แชร์ข้อมูลปัญหาของกรุงเทพฯ ผ่าน BKK Follow-Up
โดยรูปแบบเป็นการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเมืองที่เข้าถึงและเข้าใจง่าย ทำให้ประชาชนเข้าใจและเสนอความเห็นได้ว่าอะไรเกิดขึ้นกับย่านที่ตัวเองอยู่ และอะไรเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ควรได้รับการแก้ไข ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าว ได้ยกตัวอย่างข้อมูลปัญหา 5 ด้านที่กวนใจคนกรุงเทพฯ แบบเขตต่อเขต มาตลอด 10 ปี
นอกจากนี้ ยังมี Bangkok Budgeting โปรเจกต์ที่ตั้งใจให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทดลองออกแบบงบประมาณ ที่จะผลักดันให้กรุงเทพฯ น่าอยู่ สร้างสังคมที่ดี (GOOD SOCIETY) โดยเริ่มจากกรุงเทพมหานครเพื่อเป็นต้นแบบส่งต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ภายใต้แนวคิดสำคัญที่ว่า ในฐานะประชาชนผู้เสียภาษีทางตรงและทางอ้อม ควรได้ร่วมออกแบบการใช้งบประมาณของเมืองเพื่อสร้างเมืองในแบบที่เราต้องการได้
รวมถึงกลุ่ม we!park ที่มีส่วนในการออกแบบพื้นที่สาธารณะสีเขียว ที่ทันสมัยและตอบโจทย์ชีวิตคนกรุงฯ มาแล้ว หลายแห่ง ได้ตั้งเป้าหมายเพื่อเป็นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปว่า ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับคนเมือง 10 ตร.ม. ต่อ คน นอกจากนั้นต้องเดินหน้านำพื้นที่รกร้างว่างเปล่าในกรุงเทพฯ มาออกแบบเป็นพื้นที่สาธารณะ เพื่อเชื่อมโยงคน วิถีชีวิต ชุมชน และสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน ซึ่งจะนำไปสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ และเครือข่ายที่เชื่อมโยงถึงกัน
นอกจากนั้น ภายในงานยังมีการเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการปกครองท้องถิ่น ในฐานะที่ กทม. เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ ที่บริหารจัดการตนเอง ทั้ง เรื่องคน งาน และงบประมาณ โดยเป็นการทำความเข้าใจผ่าน ‘บอร์ดเกม’ ที่เรียกว่า Local Election ซึ่งได้รับความสนใจจากนักเรียนและคนรุ่นใหม่ที่สนใจ เตรียมความพร้อมก่อนที่จะเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งในอนาคต ตลอดจนการสร้างความตระหนักรู้เรื่องสิทธิมนุษยชนผ่านการเล่นเกมส์เพื่อเข้าถึงคนรุ่นใหม่มากขึ้น ซึ่งผู้ที่สนใจยังสามารถติดต่อขอรับเกมไปเล่นที่บ้าน ผ่านทาง สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า