ปลดล็อก “เทศบัญญัติ กทม.” เพิ่มอำนาจ ประสานงาน สร้าง “เมืองปลอดภัย”

“ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรู้ทุกซอกมุมของเมือง พร้อมระงับความเสี่ยงทุกด้าน เพื่อสร้างเมืองปลอดภัยสำหรับทุกคน”

วิเคราะห์นโยบายเมืองปลอดภัย โดย ผศ.ทวิดา กมลเวชช คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เกิดขึ้นในงาน Bangkok Active Forum: ฟังเสียงกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2 ในหัวข้อ “เมืองปลอดภัย” ที่ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร โดย เครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ เพื่อออกแบบข้อเสนอเชิงนโยบาย ส่งถึงมือผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.

The Active และเครือข่ายปลุกกรุงเทพฯ ร่วมสรุปเนื้อหาในรูปแบบ Visual Note

เทศบัญญัติ กทม.

ผศ.ทวิดา อธิบายว่า ความปลอดภัยเป็นเรื่องเดียวกันกับการพัฒนา สภาวะทางเศรษฐกิจ และความเป็นอยู่ การดำรงชีวิตของประชาชน

สำหรับกรุงเทพฯ เมืองที่มีประชากรหนาแน่น แม้จะไม่มีปัจจัยแทรกซ้อนเรื่องสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) หรือโรคระบาด แต่ความวุ่นวายของคนในเมือง ก็สามารถทำให้เกิดความเสี่ยงได้ในหลายมิติ ยิ่งไปกว่านั้น วิกฤตเศรษฐกิจ และการผ่อนคลายทางสาธารณสุข คือโอกาสที่จะต้องเร่งพัฒนาเมือง บริหารจัดการให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติให้ได้มากที่สุด

ที่ผ่านมาจุดเน้นของการพัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยของ กทม. มักไม่ใช่เรื่องของการพยายามเข้าใจความเสี่ยงของภัยพิบัติอย่างถูกต้อง แต่เป็นปฏิบัติการในเชิงรับ เช่น เน้นการป้องกันเหตุอัคคีภัย หรือไฟไหม้ 

“สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาความปลอดภัยและการเป็นเมืองหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ที่บรรจุอยู่ในแผนพัฒนากรุงเทพฯ 20 ปี ระบุรายละเอียดหน้าที่ผู้ว่าฯ ชัดเจน ต่อให้มีผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่เข้ามา ก็จะต้องเอาแผนยุทธศาสตร์นี้มาใช้ เพราะครอบคลุมถึงปี 2580 และประชาชนจำเป็นต้องรู้จักแผนพัฒนากับยุทธศาสตร์เรื่องนี้ เพื่อคอยติดตามดูว่า ผู้ว่าฯ คนใหม่ที่ได้ดำรงตำแหน่ง ทำงานตามที่แผนกำหนดไว้หรือไม่”

ผศ.ทวิดา อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นใน กทม. หลายเรื่องไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กทม. ที่จะต้องจัดการก็จริง แต่คิดว่าการรับบทเป็นผู้ประสานงานยังมีอุปสรรคหลายเรื่อง ดังจะเห็นได้จาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 มีการปรับปรุงแล้ว แต่เนื้อความใหญ่ยังไม่ได้ถูกปรับ ทำให้การใช้อำนาจของเทศบัญญัติยังไม่อยู่ในอำนาจเต็ม ต้องอาศัยการปลดล็อกอำนาจเพื่อให้การทำงานที่มีประสิทธิภาพเกิดขึ้นได้

“การเป็นผู้ประสานงานไม่ใช่แค่นั้น ต้องเอาแผนการทำงานของหน่วยงานใน กทม. ทั้งหมดมาเปิดดู ต้องวางแผนปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งสำนักงานเขต ผู้อำนวยการเขต ต้องรู้ว่าพื้นที่ของตัวเองเป็นอย่างไร แล้วจะทำอะไรได้บ้าง”

ยุทธศาสตร์การสร้างเมืองปลอดภัยและหยุ่นตัวต่อวิกฤตการณ์ ประกอบไปด้วย การปลอดอาชญากรรมและยาเสพติด ปลอดอุบัติเหตุ และสร้างความปลอดภัยทางถนน ปลอดอุบัติภัยจากสิ่งก่อสร้าง และการเป็นเมืองสุขภาพดี

สำหรับผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ก็จะต้องมีความเข้าใจด้านประชากรศาสตร์ ความแตกต่างของกลุ่มคน ธรรมชาติการทำงานทางการเมือง การบริหารจัดหารที่แท้จริง คนกรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีผู้ว่าฯ ที่พร้อมจะทำงาน และเริ่มต้นได้เลย เพราะกรุงเทพฯ เป็นเมืองใหญ่ และบริหารจัดการยาก ผู้ว่าฯ เองต้องมีทีมงานที่ทำงานอย่างรวดเร็ว และทำทุกเรื่องพร้อมกันได้

“ย้ำว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องรู้ทุกซอกทุกมุมของกรุงเทพฯ”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้

Alternative Text
VISUAL NOTE TAKER

วรรวิสาข์ อินทรครรชิต

นักออกแบบ และนักการศึกษา ผู้สนุกกับประเด็นและเรื่องราวรอบโลก ชอบทำเรื่องยากให้เข้าใจได้ง่าย ผ่านศิลปะและการสื่อสารด้วยภาพแบบ Visual note, Visual Recording และวิดีโอ เป็นนักเจื้อยแจ้วแห่ง FB: Mairay May